นายอรุณ วิไลรัตน์ อดีตนายอำเภอหนองบัว กับผลงานด้านปกครอง


     

งานด้านการปกครอง

         เป็นที่ยอมรับว่านายอำเภอคือนักบริหาร ซึ่งจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงด้วยตนเองผู้เดียวไม่ได้ จะต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นมือเป็นเท้าที่พร้อมจะดำเนินการตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาให้สำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าจะเทียบกับจักรพรรดิผู้ปกครองแว่นแคว้นโบราณ ต้องมีขุนพลแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว จึงจะมีอำนาจรุ่งเรืองได้ แต่ในการปกครองยุคปัจจุบัน ที่จะให้หัวหน้าผู้ปกครองมีมือ มีเท้า อันเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้เพียบพร้อมเช่น จักรพรรดิโบราณคงเป็นได้ยากจำเป็นต้องใช้ศิลปะในการบริหารงานควบคุมคนที่มีอยู่ ซึ่งมีทั้งดี ไม่ดี  และเลือกไม่ได้ ทำงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

          อำเภอหนองบัว สมัยนั้น เป็นอำเภอที่ห่างไกลจังหวัดมากที่สุด และกันดาร ข้าราชการที่สมัครใจมาอยู่ทำงานหาได้ยาก ผู้ที่โยกย้ายมาอยู่เสมือนถูกเนรเทศไม่มีความตั้งใจทำงาน ผู้เป็นนายอำเภอหรือหัวหน้า จำเป็นต้องใช้ศิลปะในการปกครองอย่างมากที่จะใช้บุคคลดังกล่าวให้ทำงาน ในสมัยนายอรุณ วิไลรัตน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภอหนองบัว ต้องประสบปัญหาอยู่มาก แต่ได้ใช้สติปัญญาอันหลักแหลม ความจริงใจ เมตตาธรรม และความอดทน แก้ปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

           สำหรับการปกครองข้าราชการอำเภอ เพื่อบริการประชาชน ได้พยายามทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาติดต่อ หากราษฎรมาติดต่อ ท่านพบจะกุลีกุจอสอบถามด้วยตนเองและรีบเอื้ออำนวยความสะดวกให้ หากบ้านอยู่ไกล  เช่นอยู่ถึงบ้านห้วยร่วม ท่านจะแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาว่าให้พวกราษฎรที่มาก่อนแต่บ้านที่อยู่ใกล้ว่า ขอให้บ้านห้วยร่วมทำก่อนเพราะจะเดินทางกลับบ้านไม่ทัน ต้องเดินลัดทุ่งกลับไปไกลจดเขตบางมูลนากไม่มีถนนเหมือนปัจจุบัน

 ปลัดคู่ใจกลายเป็นหอกข้างแคร่

          เนื่องจากนายอำเภออรุณ ยังไม่มีแม่บ้าน ร้านขายอาหารหรือแกงถุงพลาสติกยังไม่มีขายอย่างปัจจุบัน
และจะต้องออกท้องที่เป็นประจำ ความเป็นอยู่อาหารการกินต้องอาศัยครอบครัว ปลัดวินัยและนายชาญ เสมียนมหาดไทย ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจมอบหมายงานให้เป็นปลัดฝ่ายทะเบียน ควบคุมด้านทะเบียนอาวุธปืน ในสมัยนั้นร้านค้าอาวุธปืนในอำเภอหนองบัวไม่มี ปลัดวินัย ก็อำนวยความสะดวกล้ำหน้านโยบายของท่านนายอำเภอ โดยจัดหาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนมาจำหน่ายเสียเอง จนกระทั่งลืมตัวว่านายอำเภอฝากชีวิตไว้กับตัวเอง มุมหักเหจึงเกิดขึ้นจากรถจี๊ปอำเภอพาหนะที่ได้มาพร้อมรถแทรกเตอร์สีแดง วันหนึ่งคณะชาวอำเภอท่าตะโกมาเยี่ยมอำเภอหนองบัว และจะต้องพักค้าง ปกติรถจี๊ปคันดังกล่าวรับสนองงานข้าราชการทุกคนท่านนายอำเภอไม่หวง แต่ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันรับแขกต่างอำเภอ ท่านนายอำเภอจึงขอร้องว่าพรุ่งนี้ก่อนเที่ยง ใครจะใช้รถขอให้รีบใช้แล้วนำมาคืน จะต้องขับไปรับชาวท่าตะโกที่บ้านห้วยด้วน ตอนเช้าที่ดินอำเภอมีราชการสำคัญจึงขอยืมรถไปใช้แต่เช้าแล้วรีบนำมาคืนใกล้เที่ยง
ปลัดวินัย ซึ่งเป็นฝ่ายจัดสถานที่ต้อนรับชาวท่าตะโก จำเป็นต้องเอารถไปใช้ขนเครื่องใช้ที่นอนที่วัดมาจัดสถานที่ต้อนรับบนอำเภอ ขณะนั้นกำลังจัดเลี้ยงพรรคพวกข้าราชการและผู้ใหญ่บ้านบางคนบนบ้านพักข้างโรงรถดับเพลิง
เห็นที่ดินอำเภอนำรถมาคืน ก็ชวนพรรคพวกขึ้นรถจี๊ปจะไปยืมของต่อ ท่านนายอำเภอบอกว่า รถจี๊ปท่านจำเป็นต้องใช้อยู่พอดี ขอให้ใช้พาหนะอย่างอื่น สร้างความไม่พอใจให้กับปลัดวินัย ซึ่งมีความไม่พอใจที่ดิน อำเภออยู่แล้ว
และมาถูกหักหน้าไม่ให้ใช้รถต่อหน้า เพื่อนข้าราชการและผู้ใหญ่บ้านบางคน คืนนั้น ท่านนายอำเภอจัดทำน้ำพุ โดยใช้ไฟฟ้าปั้มน้ำในสระหลังอำเภอให้เกิดน้ำพุขึ้น ไฟจึงเกิดดับ ๆ ติด ๆน้ำพุจึงกลายเป็นน้ำตาอวดชาวท่าตะโกตามแผนลบลอยแค้นของปลัดวินัย โดยนายอำเภอไม่รู้ว่า ปลัดคู่ใจกลายเป็นหอกข้างแคร่ไปแล้ว เรื่องร้องเรียนบัตรสนเท่ห์ต่าง ๆ จึงเกิดตามมา กลายเป็นเรื่องไม้ซีกผุ ๆ ไปงัดไม้ซุง

            ในขณะนั้น มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นหน้าศาลเจ้าพ่อฤๅษี และไม้ในป่าด้านตะวันออกของอำเภอยังจะพอหาทำเสาไฟฟ้าได้ จึงมีการตัดเสาไฟฟ้าจากไม้ในป่ามาใช้เพื่อประหยัดการลงทุนตามหลักไฟฟ้าพัฒนาต้องใช้ไม้เสาไฟถึง 90 ต้น ท่านนายอำเภอก็ขอร้องให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปตัดมา ปลัดคู่ใจซึ่งกลายเป็นหอกข้างแคร่ไปแล้วก็เริ่มทิ่มตำโดยทำบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนไปยังกรมป่าไม้ ให้ส่งคนมาจับข้ามหน้าป่าไม้จังหวัด และป่าไม้อำเภอ  มวลชนท่านดีออกรับให้จับแทนถูกปรับแล้วประมูลกลับมา ยังไม่สมใจที่งัดนายอำเภอไม่กระเด็น ก็ต้องหาทางร้องใหม่ว่าเครื่องสูบน้ำและปืนของกลางหาย แต่โชคเข้าข้างท่านอีก ขณะนั้นจังหวัดทราบเหตุการณ์เรียกปลัดวินัยและนายชาญ ประจำจังหวัด
            บังเอิญวันหนึ่งหน้าต่างบ้านพักปลัดวินัย ด้านตะวันออกเปิดเองทางราชการสงสัยจะมีคนร้ายงัดบ้าน จึงตามผู้กองชม จิตชนะ ไปตรวจสอบพบปืนของกลางและเครื่องสูบน้ำอยู่บนบ้านพักปลัดวินัยบ้านใส่กุญแจประตูบ้านไว้เรียบร้อย ท่านจึงพ้นมลทิน

            ท่านมีความเมตตาปลัดวินัย และนายชาญ ท่านไม่อยากเอาเรื่องเห็นครอบครัวมีบุตรมาก ขอให้มาปรองดองขอขมากันเสียจะเลิกกันไปไม่เอาเรื่อง คุณปลัดไม่ยอม ท่านจึงตรวจสอบเกี่ยวกับทะเบียนอาวุธปืนปรากฏว่ามีการปลอมแปลงเอกสารลายเซ็นท่านในการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนท่านจึงแจ้งความดำเนินคดีบ้าง ปลัดวินัย และนายชาญ หนี แต่นายชาญหนีไม่พ้นถูกจับติดคุก 5 ปี ใช้หนี้กรรมที่ทำเข็ญกับผู้มีพระคุณ

 หมั่นออกตรวจท้องที่อยู่เป็นประจำ

             การออกตรวจท้องที่สมัยนั้น ท่านใช้ทั้งการเดินเท้า จักรยานสองล้อ และรถจี๊ปในสมัยนั้นท่านจะไม่ค่อยมีโอกาสปฏิบัติงานบนอำเภอมากนัก จะออกไปพบปะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีงานราชการท่านจะติดต่อสั่งงานตัวต่อตัว ทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งกว่าวิธีอื่น  ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดยแท้จริง
ทราบปัญหาและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

ปัญหากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

            ราษฎรมีปัญหาเดือนร้อน ทะเลาะวิวาทกัน เป็นปัญหาในครอบครัว หมู่บ้าน จะกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านแก้ปัญหาปรองดองกันก่อน หากแก้ไขไม่ได้ให้แจ้งกำนัน กำนันแก้ไม่ได้ จึงรายงานอำเภอเพื่อแก้ปัญหาในขั้นต่อไป
เพื่อลดปัญหาและความรุนแรงที่จะมาถึงอำเภอ หรือปัญหาที่ไม่รุนแรงก็ได้หมดสิ้นกันที่หมู่บ้าน ตำบลไม่ต้องเสียเงินทองไปอำเภอ  ยกเว้นเหตุรุนแรง หรือปัญหาใหญ่เร่งด่วน จึงจะให้รีบมาแจ้งอำเภอ

            ท่านตระหนักดีว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเสมือนมือหรือแขนที่จะยื่นไปสัมผัสประชาชน โอบอุ้มปกป้องประชาชนที่จะได้รับความเดือดร้อน หากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ตั้งใจปฏิบัติงานสร้างความเดือดร้อนท่านจะแก้ปัญหาอย่างนิ่มนวล ยกเว้นผู้ที่จะแข็งข้อ สร้างอิทธิพล สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไปท่านจะใช้วิธีเฉียบขาด

 ยุบหมู่บ้านเพื่อให้กำนันพ้นตำแหน่ง

            นายภาพ ยนต์สุข กำนันตำบลห้วยใหญ่ ชราภาพ ไม่ค่อยร่วมมือพัฒนา สมัยก่อนกำนันไม่กำหนดอายุที่พ้นตำแหน่ง ถ้าไม่ออกก็อยู่จนตาย ท่านจึงยุบหมู่ที่ 4 ตำบลห้วยใหญ่ ซึ่งกำนันภาพ ยนต์สุข เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ ไปรวมกับหมู่ที่ 2 ตำบลเดียวกัน เมื่อกำนันพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งกำนันด้วย

            นายมิตร อินทรชิต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านเนินใหญ่ ตำบลหนองบัว ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานจะบังคับให้ออก ความผิดก็ไม่ปรากฏชัด จึงยุบเลิกหมู่ที่ 5 ให้ไปขึ้นหมู่ที่ 7 ตำบลหนองบัว ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งโดยปริยาย และเอาหมู่ที่ 5 ไปตั้งใหม่ที่บ้านตาริน

 ลูกน้องตั้งใจทำงานหากพลาดท่านก็ช่วย

             ถนนสายหน้าที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินในปัจจุบัน เดินเป็นถนนพัฒนาเป็นเส้นทางไปอำเภอชุมแสง ผ่านหน้าอำเภอไปทางตะวันออกจะไปเหมืองแร่ยิบซั่ม เมื่อพัฒนาขึ้นใหม่ ๆ เป็นถนนกว้าง สวยงาม เกวียน ควาย วัว ชอบเดิน ท่านเสียดายถนน ปกติราษฎรหมู่ที่ 3 และหมู่ใกล้เคียงในตำบลหนองกลับ จะเปลี่ยนเส้นทางวัว ควาย และเกวียนมาใช้ทางใหม่นี้ ท่านจึงห้ามขอร้องกลัวว่าจะเป็นหล่มทางวัว ควาย ให้ไปใช้เส้นทางเดินในหมู่ที่เคยใช้อยู่

              นายลัพย์  ศรสุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลหนองกลับ โยมบิดาพระนิภากรโสภณจึงคิดตัดทางในหมู่บ้านเพื่อให้วัว ควาย เดินได้สะดวก จึงชักชวนราษฎรนัดหมายมาตัดทางกัน  สั่งตัดต้นไม้ริมทางเพื่อขยายถนนให้กว้างออกใครมาห้ามตัดท่านก็ด่าว่าตามประสาพ่อบ้าน ชาวบ้านหัวสมัยใหม่ไม่พอใจแจ้งจับทำลายทรัพย์ ผู้ใหญ่ลัพย์รู้ว่าชาวบ้านหัวหมอ จึงแอบไปปรึกษากำนันแหวนๆ รีบไปบอก นายอำเภอว่า  " เขากำลังตามจับผู้ใหญ่ลัพย์ครับท่าน"  ท่านรีบเรียกตำรวจมาพบให้ระงับเรื่องไว้ก่อนแล้วรีบไปเจรจากับชาวบ้านออกรับหน้าแทนว่าท่านสั่งให้ตัดต้นไม้เอง ไม่ทราบว่ามีต้นมะม่วงหรือไม้มีค่าอยู่ด้วยขอโทษอย่าได้เอาเรื่องกันเลย ชาวบ้านมีความเคารพนายอำเภออยู่แล้วจึงได้เลิกเรื่องกัน ปีนั้นผู้ใหญ่ลัพย์ ได้ขึ้นเงินเดือนตอบแทน 2 ขั้น เป็นรางวัลปลอบใจ

 มือไม่ดีต้องจำใจตัดทิ้ง

               ท่านใช้ให้กำนันตำบลหนองกลับ ยุคนั้น และ ผู้ใหญ่เทียน ท้วมเทศ (ตำแหน่งขณะนั้น) พัฒนาเปิดทางจากบ้านหัวทำนบมาบ้านหนองกลับ ตะวันตกวัดเทพสุทธาวาส ที่ของคนอื่นเปิดมาได้ตลอดชาวบ้านยินดีให้เมื่อมาถึงที่ดินของกำนันตำบลหนองกลับ ยุคนั้น กำนันให้ไม่ได้ นายอำเภอใช้คนไปตามมาพบ ก็ไม่พอใจด่าว่า  ท่านจึงให้ออกจากตำแหน่งกำนัน ตั้งนายเทียน ท้วมเทศ เป็นกำนันแทน

ผู้ใหญ่บ้านไม่ดี-ท่านอยู่-ไม่ยอมให้เป็นกำนัน

             คำพังเพยสมัยนี้กล่าวว่า  ผู้ใหญ่บ้านเงินหมื่น กำนันเงินแสน ผู้แทนเงินล้าน” นั้นพอมีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่สมัยก่อนหรือสมัยนายอำเภออรุณ “ตำแหน่งกำนันแลกกันด้วยลูกปืนลูกเดียว” ก็มีเหมือนกัน 

           ผู้ใหญ่ช่อ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลห้วยใหญ่ วางแผนฆ่ากำนันไปล่ กลิ่นสุคนธ์ กำนันตำบลห้วยใหญ่ เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่ง กำนันไปล่จะไปอำเภอ พบมือปืนกำลังเก็บผักบุ้ง

            กำนันไปล่เห็นว่าเป็นคนรู้จักจึงร้องถามไปว่า เฮ้ยมึงมาทำอะไรอยู่แถวนี้วะ”

            มือปืน ผมมาเก็บผักบุ้ง”

            กำนันไปล่ไม่ว่าอะไร พอเดินคล้อยหลังขึ้นถนนสายหนองบัว ชุมแสง ที่บ้านสระงาม มือปืนก็ลั่นไกยิงกำนันไปล่ ระยะเผาขนด้วยปืนลูกซอกพกสั้น กระสุนตัดขั้วหัวใจตายทันที พรรคพวกผู้ใหญ่ช่อวิ่งเข้าหาคุณนายเล็บแดง ให้ช่วยเหลือเป็นผลให้ดำเนินคดีมือปืนและผู้จ้างวานไม่ได้ นายอำเภออรุณเก็บความขมขื่นไว้ในใจ แต่ตั้งใจว่าหากท่านเป็นนายอำเภอหนองบัวต่อไป ผู้ใหญ่ช่อจะเป็นกำนันไม่ได้ ผู้ใหญ่ช่อพยายามใช้คนมาติดต่อนายอำเภอจะเป็นกำนันก็ไม่ได้ผล  เมื่อมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านแทนกำนันไปล่ นายพร บุตรแก้ว ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วมีการกำหนดนัดหมายผู้ใหญ่บ้านตำบลห้วยใหญ่ เลือกกำนันที่อำเภอ

            เมื่อผู้ใหญ่บ้านมาพร้อมกันท่านนายอำเภออรุณ เปิดประชุมแล้วกล่าวนำว่า 

             คนที่เป็นกำนัน ก็ต้องเป็นคนที่นายอำเภอใช้ได้ ชาวบ้านรัก มีฐานะดีพอสมควร ไม่ใช่เป็นนักเลง การพนัน ไม่เป็นคนกินเหล้าหัวราน้ำจนกระทั่งเขาเชื่อถืออะไรไม่ได้”

             ท่านพูดแวดล้อมไว้หมดท่านกล่าวต่อไปอีกว่า ในฐานะผมเป็นประธานวันนี้ ผมมีสิทธิ์ที่จะชี้ขาดเมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน หรือผมอาจเสนอใครขึ้นมาก่อนก็ได้ ผมมีสิทธิได้คนหนึ่ง”

             ท่านแอบลอบบี้ (Lobby) ผู้ใหญ่บ้านไว้ก่อนหมดแล้วจึงไม่มีใครเสนอ

             นายอำเภอ  เมื่อไม่มีใครเสนอ ผมขอเสนอผู้ใหญ่พร บุตรแก้ว เป็นกำนันตำบลห้วยใหญ่ ถ้าหากว่าผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใด เห็นว่าผู้ใหญ่พร ไม่มีสมรรถภาพ หรือเป็นคนขาดคุณสมบัติ หรือเขาไม่ดีอย่างไร ขอให้ผู้ใหญ่บ้านชี้แจงคัดค้านได้ ให้เวลา 10 นาที ให้เวลาตรึกตรอง ใครจะเสนอใครก็ได้”

             ที่ประชุมนั่งเงียบ 10 นาที ไม่มีใครเสนอ ผู้ใหญ่พรจึงได้เป็นกำนันสืบต่อจากกำนันไปล่ สืบมาจนสิ้นสมัยนายอรุณ วิไลรัตน์ แล้วจึงลาออกจากตำแหน่ง เพราะว่าหากเป็นกำนันต่อไป คงจบชีวิตลงแบบเดียวกับกำนันไปล่

              ขอเล่าต่อเกี่ยวกับการปกครองกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของท่าน เพิ่มเติมเกี่ยวกับมารยาทในการเข้าสังคม ปรากฏว่าในปี พ.ศ.2505  มีการอบรมกำนันทั่วราชอาณาจักรที่วัดสามพระยา กรุงเทพฯ   ท่านก็เรียกกำนันทั้งอำเภอหนองบัว มาจัดเลี้ยงที่บ้านแนะนำมารยาทในโต๊ะอาหาร เพราะทราบว่ากำนันในอำเภอหนองบัวนั้น น้อยคนที่จะมีโอกาสไปกรุงเทพฯ อย่าว่าแต่กรุงเทพฯ เลย จังหวัดนครสวรรค์ในยุคนั้นกำนันบางคนยังไม่เคยไปก็มี 

 

พัฒนาให้มีไฟฟ้าใช้ในชุมชนหนองบัว

             ก่อนปี  2502 อำเภอหนองบัวไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังไม่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายไฟฟ้าแรงสูงไปทั่วทุกภูมิภาคดังในปัจจุบันตะเกียงเจ้าพายุเป็นสุดยอดของแสงสว่าง  นายอำเภออรุณต้องการให้เกิดการทันสมัยเหมือนอำเภอชุมแสง ซึ่งมีโรงปั่นไฟฟ้าของการไฟฟ้าภูมิภาคแล้ว ที่ฝั่งที่ว่าการอำเภอชุมแสง  (ที่ว่าการอำเภอชุมแสงเก่าอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน) ตรงข้ามตลาด ท่านได้วิ่งเต้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้มาตั้งโรงปั่นไฟฟ้าที่บริเวณด้านตะวันออกของเกาะลอย หน้าศาลเจ้าพ่อฤาษี แต่ทางอำเภอจะต้องหาเสาพาดสายมาช่วยเป็นการร่วมพัฒนาจำนวน 90
ต้น จึงเกิดกรณีดังลูกน้องร้องกรมป่าไม้ให้มาจับท่านและชาวบ้านจึงร่วมรับผิดแทน แล้วขายทอดตลาดซื้อคืนมา คนหนองบัวจึงมีไฟฟ้าใช้ในสมัยท่านเป็นนายอำเภอ โดยใช้เครื่องปั่นน้ำมันโซล่า เปิด 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม ต่อมามีคนใช้มากขยายไปเที่ยงคืน ขยายไปถึงหกโมงเช้า ท่านได้ย้ายไปแล้วจึงเพิ่มความสมบูรณ์แบบขึ้นเหมือนปัจจุบัน
โรงปั่นและเครื่องยนต์ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้เป็นเศษเหล็กของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  มิมีหลักฐานทิ้งไว้ให้ดูมีแต่ตำนานเล่าขานดังนี้แล



 

หมายเลขบันทึก: 535180เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท