เรียนรู้จากการปฏิบัติ



          นสพ. International Herald Tribune ฉบับวันที่ ๙ - ๑๐ มี.ค. ๕๖ ลงข่าว Learning from doctors, law schools hope to solve 2 acute problems  อ่านแล้วนึกถึงสหกิจศึกษา  เป็น “สหกิจศึกษา” แนวใหม่  เลียนแบบโรงเรียนแพทย์ ที่มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาแพทย์  และแหล่งปฏิบัติงานของอาจารย์  วิชาชีพต้องเรียนโดยฝึกปฏิบัติ  และดีที่สุดคือมีสถานประกอบการให้ฝึกปฏิบัติในชีวิตจริง

          ข่าวบอกว่า คณะนิติศาสตร์ใน สรอ. เผชิญปัญหาว่า นายจ้างของบัณฑิตต้องการจ้างคนที่มีทักษะในการเขียนเอกสาร และทักษะในการคุยกับลูกค้า (ลูกความ?)  เมื่อคณบดีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย อะริโซนาสเตท (ชื่อ Douglas J. Sylvester) ไปเยี่ยม เมโย คลินิก ที่รัฐมินนีโซตา เมื่อ ๒ - ๓ ปีที่แล้ว  ได้ปรารภว่า เวลานั้นบัณฑิตนิติศาสตร์หางานยาก  และนายจ้างต้องการให้มีทักษะด้านการเขียนเอกสา และคุยกับลูกค้า ดังกล่าวแล้ว

          คณบดีของคณะแพทยศาสตร์ ของ เมโยคลินิก ตอบว่า ในโรงเรียนแพทย์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์โดยการทำงานเป็นทีมดูแลผู้ป่วย ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์แพทย์

          คณบดีคณะนิติศาสตร์ จึงถึงบางอ้อ  ว่าคณะนิติศาสตร์ ต้องการ “โรงพยาบาล” สำหรับการฝึกปฏิบัติงานของ นศ. นิติศาสตร์ ในรูปของสำนักงานกฎหมาย

          จึงกลายเป็นกระแสในสหรัฐอเมริกา  ที่คณะนิติศาสตร์เปิดสำนักงานกฎหมาย ให้ นศ. ทำงานภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์หรือนักกฎหมายที่มีประสบการณ์สูง 

          เขาบอกว่า การริเริ่มนี้จะช่วยแก้ปัญหาอีก ๒ อย่าง  คือช่วยลดหนี้ของบัณฑิตนิติศาสตร์  เพราะในการฝึกงานนี้ นศ. จะได้ค่าตอบแทนด้วย ในอัตราไม่สูงนัก  และประโยชน์อีกข้อหนึ่งคือ ช่วยคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าทนายที่คิดค่าบริการสูง  เพราะสำนักงาน หรือคลินิกกฎหมายของคณะนิติศาสตร์คิดค่าบริการต่ำกว่าอัตราของสำนักงานกฎหมายโดยทั่วไป

          ทำให้ผมนึกถึงเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน สมัยผมทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  อ. วีระพันธุ์ มุสิกสาร ซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์  บอกผมว่าพวกอาจารย์คณะแพทย์โชคดีที่มีโรงพยาบาลให้อาจารย์ปฏิบัติวิชาชีพและสอนนักศึกษาแพทย์  แต่อาจารย์คณะวิศวโชคไม่ดี ไม่มีสถานปฏิบัติวิชาชีพให้อาจารย์ทำงานและเรียนจากประสบการณ์ รวมทั้งใช้ฝึกนักศึกษาวิศว  ยิ่งนับวันผมก็ยิ่งเห็นจริงกับข้อคิดเห็นนี้ของ อ. วีระพันธุ์  ผมเอาบทความนี้ให้ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน อ่าน  และเล่าเรื่องความเห็นของ อ. วีระพันธุ์ ให้ท่านฟัง  

          ข่าวบอกว่า เวลานี้เป็นยุคตกต่ำของอาชีพนักกฎหมาย  เพราะคนสามารถค้นหาความรู้ทางกฎหมายได้ทาง อินเทอร์เน็ต  ผู้สมัครเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ลดลงอย่างมากมาย  จึงเป็นยุคที่วงการวิชาชีพนักกฎหมาย และคณะนิติศาสตร์ จะต้องปรับตัว

          ตัวอย่างของการปรับตัวอีกแบบหนึ่ง ดำเนินการโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย เพนซิเวเนีย  คือ ให้ นศ. นิติศาสตร์เรียนด้านบริหาร และบัญชี ควบไปด้วย  ได้ทั้งปริญญากฎหมาย และประกาศนียบัตรด้านการจัดการ  


วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๕๖


หมายเลขบันทึก: 534506เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท