ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๐๒. วางแนวทางระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ



          ดังเล่าในบันทึกที่แล้ว ว่า ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ในคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน  ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สร. ๑๙๗/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๕ ก.พ. ๕๖  และนัดประชุมระดมความคิด ในวันเสาร์ที่ ๙ มี.ค. ๕๖ 

          คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ “กำหนดวิสัยทัศน์ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  วางแนวทางระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ  และให้ความเห็นชอบระบบการจัดการศึกษา  และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้ทำการพัฒนาและยกร่าง” 

          ผมติดใจคำว่า “วางแนวทางระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ”  จึงเตรียมตัวไปบอกว่า การเริ่มที่หลักสูตร ซึ่งเป็นการจัดที่ส่วนกลาง  มีความเสี่ยงหลายอย่าง ที่จะไม่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนดีขึ้น  วงการศึกษาไทยตกหลุมพรางนี้มาตลอด 

          ความเสี่ยงแรกคือหลงจัดตัวหลักสูตร  ไม่แก้ที่จุดสัมผัสระหว่างเด็กกับครู

          ความเสี่ยงที่สอง บริหารแบบ top down  ครูยังหมดแรงไปกับการทำงานรับใช้หน่วยเหนืออย่างเดิม  ไม่ได้มีเวลาทุ่มเทที่การทำหน้าที่ “คุณอำนวย” แก่ศิษย์ 

          ความเสี่ยงที่สาม คือตัวหลักสูตร ทำให้ทั้งวงการศึกษาจับประเด็นผิด ไปหลงเน้นที่การสอน  แทนที่จะเน้นการเรียน 

          ความเสี่ยงที่สี่คือเกิดโครงการใช้เงินจำนวนมาก แล้วทุจริตคอรัปชั่นก็ตามมา

          ข้างบนนั้น เขียนก่อนการประชุม

          ในการประชุม พบว่า หัวหน้าคณะก่อการก็คือ ศ. (พิเศษ) ดร. ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว. ศึกษาธิการ  ท่านเป็นคนออกความคิดและระดมกำลังคนจากมหาวิทยาลัย, สพฐ., โรงเรียน, และ สกศ. มาเป็นคณะกรรมการคณะที่ ๒ เรียกว่า คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาพื้นฐาน  โดยตัวท่านเองเป็นประธาน

          ช่วงเช้า เป็นเวลากว่า ๓ ช.ม. มีการนำเสนอผลการค้นคว้า ๔ เรื่อง คือการปฏิรูปหลักสูตรในต่างประเทศ ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูง  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การปฏิรูปหลักสูตรตามกรอบแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และ การวิเคราะห์การศึกษาไทย จากหลักสูตรสู่ชั้นเรียน  สรุปได้ว่า ประเทศที่ผลการศึกษาสูง เขามีวิธีคิดในการกำหนดหลักสูตรสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก  และครูมีวิธีจัดการเรียนรู้ ให้เด็กได้ฝึกทักษะการคิดขั้นสูง  และใช้หลักการ สอนน้อย - เรียนมาก  ในขณะที่ของไทยเราคิดหลักการดี แต่นำไปปฏิบัติไม่ตรงกับหลักการที่เขียนไว้  และสอนมาก - เรียนน้อย 

          ที่น่าชื่นชมคือ ทาง สพฐ. และ สกศ. เข้ามาร่วมงานนี้อย่างกระตือรือร้น  ผมคิดว่า เรายอมปล่อยให้การศึกษาของเราตกต่ำกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว  เพราะจะทำให้เรา “เสียเมือง” ให้แก่ศึกภายในชาติกันเอง  จากความเขลาและเห็นแก่ตัวจัด  เราต้องช่วยกันกลับทางวิธีการจัดการศึกษาไทย ที่เดินผิดทาง ผิดยุค  ให้กลับมาเดินตามสัมมาทิฐิให้จงได้

          ผมขอให้ความเห็นในที่ประชุมในตอนบ่าย เป็นคนแรก แล้วขอตัวกลับ  เพราะต้องมาเตรียมตัวทำการบ้านต่างๆ ให้เสร็จสิ้น แล้วเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในคืนนี้

          ผมให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการคิดปรัชญา เป้าหมาย และ โครงสร้างหลักสูตรใหม่ ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑  ผมเรียกว่า เป็นยุทธศาสตร์ From C (Conceptual) to A (Actual - Action)  และเสนอความเห็น ๒ ข้อ  คือ

๑.  ต้องจับหลักให้ถูกที่ คือเป้าหมายที่เด็ก  ไม่ใช่ที่การปฏิรูปหลักสูตรเท่านั้น  เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทาง การศึกษาดีขึ้น  ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ที่หลักสูตร

๒.  สิ่งที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นตัวกุญแจ  คือ

   ๒.๑ การทุจริตในวงการศึกษา  หลากหลายแบบ และหลากหลายตัวการ  และทำกันเป็นขบวนการ เป็นระบบ  ต้องกำจัดให้ได้  มิฉนั้นที่บอกว่าจะฝึกเด็กให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ก็เป็นการกล่าวอย่างเลื่อนลอย  จะไม่สามารถฝึกทักษะด้านคุณธรรมความดีงาม ให้แก่เด็กได้ 

   ๒.๒ อย่าหลงเน้นการสอน  การเริ่มที่หลักสูตรทำให้เป๋ง่าย  ต้องเน้นที่จุดสัมผัสระหว่างศิษย์กับครู  เน้นที่การเรียน เรียนให้ได้ skills ไม่ใช่แค่ระดับ knowledge :  Flip the Classroom

   ๒.๓ อย่าหลงบริหารการศึกษาแบบ top down  ผลการศึกษาจะดีขึ้นได้ต้อง liberate ครูดี และจัดการเรียนรู้ได้ผลดี  ให้มีเวลาทำงานใกล้ชิดเด็กมากขึ้น  ลดการต้องสนองข้างบนลง  ครูที่ยังไม่ดี ต้องหาทางให้เปลี่ยนแปลง  การบริหารการศึกษาที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ครูอ่อนแอ  ครูไม่กล้าคิด  ไม่กล้าคิดต่างจากผู้ใหญ่ แล้วศิษย์จะกล้าคิดฝึกคิดให้ได้ทักษะการคิดระดับสูงได้อย่างไร 

   ๒.๔ ต้องพัฒนาความสามารถของครู ในการประเมินการเรียนรู้ของศิษย์  ต้องย้ายการประเมิน จากเน้น summative evaluation ไปเน้นที่ formative assessment  ประเมินพัฒนาการครบด้าน  ของศิษย์เป็นรายคน  และเข้าช่วยตามที่เหมาะสม 

   ๒.๕ การตอบแทนครู  การเลื่อนวิทยฐานะครู  ต้องเปลี่ยน ไปดูที่ผลงานการเรียนรู้รอบด้านของศิษย์ ไม่ใช่ผลงานในกระดาษ  ไม่ใช่ดูที่การเอาอกเอาใจนาย

   ๒.๖ ความสูญเปล่าทางการศึกษาเช่น ผอ. รร. ไม่ต้องรับผิดชอบผลการเรียนของ นร.  การมีรอง ผอ. เขตพื้นที่ ๑๑ คน  การใช้เงินพัฒนาครูด้วยวิธีการผิดๆ ที่เน้น training  การพัฒนาครูที่ถูกต้องในยุคศตวรรษที่ ๒๑ คือการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ใน PLC

   ๒.๗  เปลี่ยนแปลงการเรียนของครูของครูให้เป็นแบบ Flip the Classroom  และเปลี่ยนแปลงการพัฒนาครูประจำการเป็นใช้ PLC 80-90%  ใช้ training 10-20%  

   ๒.๘ ลดขนาดของกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนหน้าที่ เป็นเน้น Empowerment  ตั้งหน่วย ESRI (Education Systems Research Institute) ทำหน้าที่วิจัยระบบการศึกษา  เพื่อสนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา และการปฏิรูปการเรียนรู้ 

   ๒.๙  นอกจากศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ ขอเสนอให้ไปศึกษา รร. ของไทย ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว  ได้แก่กลุ่ม รร. ทางเลือก ที่เวลานี้ควรเป็นทางหลักแล้ว เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา, เพลินพัฒนา, รุ่งอรุณ, สัตยาศัย, ดรุณสิกขาลัย, เป็นต้น

   ๒.๑๐ เปลี่ยนระบบการประเมินทางการศึกษา  ตั้งเป้ายุบ สมศ. ภายใน ๒๐ ปี  เพื่อลดน้ำหนักของ summative evaluation จากภายนอกลง  ค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักของ formative assessment โดยครู พ่อแม่ และตัวนักเรียนเอง 


วิจารณ์ พานิช

๙ มี.ค. ๕๖ 



หมายเลขบันทึก: 534504เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท