สมุนไพรในครัวเรือน


                                                            สมุนไพรในครัวเรือน

                                                 นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

1.  ตะไคร้ โดยทั่วไปแบ่งตะไคร้ออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่ตะไคร้กอ ตะไคร้ต้น ตะไคร้หางนาค  ตะไคร้น้ำ  ตะไคร้หางสิงห์  ตะไคร้หอม

สรรพคุณใช้ส่วนของเหง้าและลำต้นแก่ ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารที่สำคัญหลายชนิดเช่น ต้มยำ และอาหารไทยหลายชนิด ให้กลิ่นหอม มีสรรพคุณทางยาเช่น บำรุงธาตุ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ทำให้เจริญอาหาร แก้โรคหืด แก้อหิวาตกโรค บำรุงสมอง ช่วยให้สมาธิดี ต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้อาเจียน ใช้ต้นสดโขลกคั้นเอาน้ำดื่มแก้อาการเมาในกรณีผู้ที่เมามากๆ ช่วยให้สร่างเร็ว ส่วนหัวสามารถใช้แก้โรคเกลื้อน ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคนิ่ว มากไปกว่านั้นยังสามารถทำเป็นยาช่วยนอนหลับ ช่วยลดความดันสูง น้ำมันตะไคร้หอมใช้ทากันยุงได้ ถ้าปลูกใกล้ผักอื่นๆจะช่วยกันแมลงได้และยังให้กลิ่นหอม ที่ดับกลิ่นบางชนิดใช้ตะไคร้เป็นส่วนผสมเพราะมีกลิ่นที่หอม และที่กำจัดยุงบางชนิดก็ใช้ตะไคร้เป็นส่วนผสมด้วยเนื่องจากมีกลิ่นที่แรงจึงช่วยทำให้ไล่ยุงได้ นอกจากนี้ตะไคร้ยังแก้กลิ่นคาวหรือดับกลิ่นคาวของปลา และเนื้อสัตว์ได้ดีมากๆ

สรรพคุณ ทั้งต้น ใช้เป็นยารักษาโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะและแก้อหิวาตกโรค หรือทำเป็นยาทานวดก็ได้ และยังใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่นรักษาโรคได้ เช่น บำรุงธาตุ เจริญอาหาร และขับเหงื่อหัว เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้อาการขัดเบา ถ้าใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่น จะเป็นยาแก้อาเจียน แก้ซาง ยานอนหลับลดความดันสูง แก้ลมอัมพาต แก้กษัยเส้น และแก้ลมใบ ใบสด ๆ จะช่วยลดความดันโลหิตสูง แก้ไข้ ราก ใช้เป็นยาแก้ไข้เหนือ ปวดท้องและท้องเสีย

ต้น ใช้เป็นยาแก้ขับลม แก้เบื่ออาหาร แก้ผมแตก แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว เป็นยาบำรุงไฟธาตุให้เจริญ แต่ถ้าเอาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น จะแก้โรคหนองใน และนอกจากนี้ยังใช้ดับกลิ่นคาวด้วย

2.หอมแดง (ผักสมุนไพร) หอมแดงหรือหอมหัวเล็ก ต้องการธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเจริญเติบโต คือ เป็นพืชไวแสง ช่วงเวลากลางวันสั้น เพื่อการลงหัวของแต่ละพันธุ์ไม่เท่ากัน หอมแดงพื้นเมืองไทยจะลงหัวได้ดีที่ช่วงแสงของวัน ประมาณ 11 ชั่วโมง คล้ายๆ กับหอมหัวใหญ่

ประโยชน์ทางอาหาร : คนไทยนิยมนำหอมแดง มาเป็นส่วนประกอบเครื่องแกงเผ็ด เป็นส่วนประกอบของไข่เจียวหมูสับ ซุปหางวัว รับประทานสดโดยฝานเป็นแว่นบางๆ รับประทานร่วมกับแหนมสด เมี่ยงคำ ปลาเค็มทอดบีบมะนาว หอมแดงซอย กับกุ้งพริกขี้หนูสวนหั่นฝอย เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกกะปิ หอมแดงเผาตำผสมกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกปลาทูน้ำพริกสด และเป็นส่วนประกอบของหลนทุกอย่าง เป็นส่วนประกอบของขนมหวาน เช่น หอมแดงซอยเจียว ใส่ในข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ขนมหม้อแกงถั่ว และไข่ลูกเขย ( อาหารคาวหวาน )

สรรพคุณ ทางยา หัวหอม มีรสฉุน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยและเจริญอาหาร แก้บวมน้ำ แก้อาการอักเสบต่าง ๆ ขับพยาธิ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เมล็ด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ ร่างกายซุบผอม (ใช้เมล็ดแห้ง 5-10 กรัมต้มน้ำดื่ม) ตำรายาไทยใช้หัวหอมแดง ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูก และกินเป็นยาขับลม หอมแดงมีสารเคอร์ซิติน และสารฟลาโวนอยด์ (quercetin และ flavonoid glycosides) อาจป้องกันโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ หอมแดงยังมีคุณสมบัติ เป็นยารักษาโรค ใช้ลดไข้และรักษาแผลได้ โดยเอาหัวหอมแดงมาซอยเป็นแว่นๆ ผสมกับน้ำมันมะพร้าวและเกลือ ต้มให้เดือด แล้วนำมาพอกแผล นอกจากนั้นหอมแดง ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยับยั้งเส้นเลือดอุดตัน ด้วยการบริโภคสด หรือประกอบอาหาร หรือบริโภคชนิดผง  ถ้ากินหัวหอมจำนวนมากมายเป็นประจำ อาจทำให้หลงลืมง่าย ผมหงอก มีกลิ่นตัว ฟันเสีย ตาฝ้ามัว และประสาทเสียได้

3.พริกขี้หนู ชื่ออื่น ๆ   พริกแด้ พริกแต้ พริกนก พริกแจว พริกน้ำเมี่ยง (เหนือ-พายัพ), พริก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู (ภาคกลาง-เหนือ) ดีปลี (ใต้-ปัตตานี) ดีปลีขี้นก พริกขี้นก ใต้ (ภาคใต้) ลัวะเจีย (แต้จิ๋ว) มะระตี้ (สุรินทร์) ล่าเจียว (จีนกลาง) หมักเพ็ด (อีสาน)

ลักษณะทั่วไป

สรรพคุณ ใช้ปรุงรสอาหาร ช่วยเจริญอาหาร และรักษาอาการอาเจียน รักษาโรคหิด กลาก รักษาโรคบิด โดยการใช้พริกสด 1 เม็ด หรือมากกว่านั้นใช้กิน และอาการปวดบวมเนื่องจากความเย็นจัด โดยใช้ผงพริกแห้งทำเป็นขี้ผึ้ง หรือสารละลายแอลกอฮอล์ใช้ทา
อื่น ๆ พรรณไม้นี้เป็นพรรณไม้สวนครัวที่ขาดกันไม่ได้ เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นง่าย แต่บำรุงรักษายาก เพราะใบอ่อนของพริกอร่อยทำให้แมลงต่าง ๆ ชอบกิน ผลแรกผลิใช้ผสมกับผักแกงเลียงช่วยชูรส ส่วนผลกลางแก่ใช้ใส่แกงคั่วส้ม จะได้อาหารที่มีรสเปรี้ยวอ่อน ๆ เพราะมีวิตามีซี และไส้พริกจะมีสารแคบไซซิน ที่ให้ความเผ็ดและมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อนป็นเครื่องปรุงอาหารช่วยชูรส ใส่น้ำพริก ยำ ทำเป็นน้ำปลาดองและยังเป็นยาช่วยกระตุ้นทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ หรือใช้ภายนอกเป็นยาทาถูนวดลดอาการไขข้ออักเสบ

ข้อมูลอื่นๆ รักษาอาการบวม ฟกช้ำ ให้ใช้พริกขี้หนูที่แก่จัดเป็นสีแดงแล้วตากแห้งนำมาบดเป็นผงให้ละเอียดแล้วเทลงในวาสลินที่เคี่ยวจนเหลว กวนให้เข้ากัน แล้วนำไปเคี่ยวอีกจนได้กลิ่นพริก ใช้สำหรับทาถู รักษาอาการเคล็ด ถูกชน ฟกช้ำดำเขียว และอาการปวดตามข้อ  ให้ทาตรงบริเวณที่เป็นวันละครั้งหรือสองวันต่อครั้ง
รักษาอาการปวดตามเอวและน่อง ให้ใช้ผงพริกขี้หนูและวาสลิน หรือผลพริก วาสลิน และแป้งหมี เติมเหล้าเหลืองจำนวนพอประมาณ แล้วคนให้เป็นครีม ก่อนที่จะใช้ ให้ทาลงบนกระดาษแก้วปิดบริเวณที่ปวด ใช้พลาสเตอร์ปิดโดยรอบ จะมีอาการทำให้เหงื่อออก การเคลื่อนไหวคล่องแคล่วขึ้น และรู้สึกหายปวด จากการตรวจสอบพบว่า ตามบริเวณที่พอกยาจะมีความรู้สึกร้อนและการไหลเวียนของโลหิตเพิ่มขึ้น
สารสกัดจากพริก ใช้ทาลงบนผิวหนังจะทำให้หลอดเลือด ตามบริเวณนั้นขยายตัว และการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ถ้าใช้มากเกินไปอาจจะทำให้ระคายเคืองได้

ฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและฆ่าแมลง แคปซายซินจะมีผลยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus และเชื้อ Bacillus subtilis แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Bacillus aureus และเชื้อ Bacillus coli นอกจากนี้สารที่สกัดจากพริกโดยวิธีการต้มด้วยน้ำจะมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง
ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร แคปซายซิน ทำให้เจริญอาหาร และกินอาหารได้มากขึ้น พริกสามารถช่วยกระตุ้นทำให้การเคลื่อนไหว   ของกระเพาะอาหารสุนัขเพิ่มขึ้นและน้ำสกัดที่ได้จากพริก จะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วนปลาย ileum  ของหนูตะเภาที่เกิดจากอะเซทิลโมลีนและฮีสตามีนได้ส่วนแคปซายซิน จะเพิ่มการบีบตัว ของลำไส้เล็กส่วนปลาย ileum ของหนูตะเภา   แต่ถ้าให้แคปซายซินซ้ำอีกครั้งในขนาดเท่า ๆ กัน จะมีผลน้อยมากหรือไม่มีผลเลย
ผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต แคปซายซิน ที่สกัดจากพริก สามารถกระตุ้นหัวใจห้องบนของหนูตะเภา แต่เมื่อฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำของแมวและสุนัข จะทำให้ความดันโลหิต และหัวใจเต้นช้า หายใจขัด และอาการพวกนี้จะหายไป   เมื่อเราตัดเส้นประสาทเวกัสออก (Vagotomy) ส่วนแคปซายซิน จะเพิ่มความดันโลหิตในแมว ที่ถูกตัดหัวออก (decapitated cat) ถ้าฉีดเข้าในหลอดเลือดดำของแมวที่ถูกวางยาสลบ จะทำให้ความดันโลหิตในปอดสูงขึ้น  แต่เมื่อฉีดเข้าบริเวณหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจโดยตรง จะทำให้หลอดเลือดนั้นหดตัว และฤทธิ์ของแคปซายซินต่อหัวใจ   ห้องบนของหนูตะเภานั้นจะเพิ่มทั้งความเร็ว และความแรงในการเต้น
ฤทธิ์อื่น ๆ หลังจากกินอาหารที่ใช้พริกขี้หนูแก่จัดสีแดงเป็นเครื่องปรุงแต่งนานประมาณ 3 สัปดาห์ จะทำให้สารกลุ่มคอรืติโซน ในพลาสมาเพิ่มขึ้น และปริมาณที่ขับออกทางปัสสาวะก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนสารที่สกัดได้จากพริก ถ้าฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร จะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้เดินเซ เล็กน้อย และชักตายได้ เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดจะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูขาว และมีฤทธิ์กระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกทั่วไป

ความลับของพริกขี้หนู

แก้ปวดหัว ปวดหัวเนื่องมาจากไข้หวัด หรือตัวร้อน ใช้ใบพริกขี้ หนูสดๆ ตำกับดินสอพองปิดขมับ

แก้เจ็บคอเสียงแหบใช้น้ำต้มหรือยาชงพริกขี้หนูกลัวคอแก้เจ็บคอและเสียงแหบได้โดยใช้พริกขี้หนูป่น๑หยิบมือ เติมน้ำเดือดลงไป๑ แก้ว ทิ้งไว้พออุ่นใช้น้ำกลัวคอ

ช่วยขับลม แก้อาหารไม่ย่อย เจริญอาหาร โดยกินพริกขี้หนูสวน รักษากระเพาะที่ไม่มีกำลังย่อยอาหาร

แก้ปลาดุกยักใช้พริกขี้หนูสดเขียวหรือแดงก็ได้ ขยี้ตรงที่ปลาดุก แทงจะหายปวด ขยี้แล้วจะรู้สึกเย็น(ธรรมดาพริกขี้หนูร้อน) ไม่บวม  ไม่ฟกช้ำด้วย

แก้เท้าแตกใช้พริกขี้หนูทั้ง ๕ ปูนขาว สิ่งละพอควร เอาไปต้ม เอาน้ำมาแช่เท้าที่แตก ถ้าไม่หายเอาต้นสลัดได รากหนอนตากยาก  ใส่ลงไปด้วย

แก้บวม ใบพริกขี้หนู บดผสมน้ำมะนาว พอกบริเวณที่บวม

รักษาแผลสดและแผลเปื่อย ใช้ใบพริกขี้หนู ตำพอกรักษาแผล  สดและแผลเปื่อย(อย่าใช้พริกขี้หนูปิดแผลมากเกินไปเพราะจะทำให้ร้อน

ใบ้ใบเป็นอาหาร ใบพริกขี้หนูมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เพราะมี ธาตุ แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส ไวาตามินเอ และบีอยู่มาก บำรุงกระดูก  บำรุง ประสาท

แก้พิษตะขาบและแมลงป่องกัด ใช้พริกขี้หนูแห้ง ตำผงละลาย น้ำมะนาว ทาแผลตะขาบกัด แมลงป่องต่อย หายเจ็บปวดดีนัก

มดคันไฟกัด  ใช้ใบหรือดอกพริกขี้หนูก็ได้ ถูบริเวณถูกกัด หายแล

4.เกลือในทุกครัวเรือนหรือร้านอาหารจะต้องมีเกลือเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารทุกชนิด แต่หลายคนมักจะรู้จักสรรพคุณของเกลือ เฉพาะความเค็มเท่านั้น จริงแล้วเกลือมีสรรพคุณหลายด้าน ดังนี้

  ๑. แก้ตะคริว ใช้เกลือละลายน้ำดื่มแก้ตะคริวได้บางท่านก่อนจะลงว่ายน้ำถ้าได้ดื่มน้ำเกลือก่อนจะช่วยให้ไม่เป็นตะคริว

  ๒. แก้คลื่นไส้ เมาสุรา ใช้เกลือ ๑/๒ ช้อนกาแฟต่อน้ำ ๑ แก้ว ผสมกันแล้วดื่ม อาการคลื่นไส้จะหายไป

  ๓. แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ใช้เกลือละลายน้ำสะอาด ๑ แก้ว ดื่มก่อนเข้านอนหรือตื่นนอนตอนเช้าแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้ผลดี

  ๔. รักษาโรคกระเพาะ ใช้เกลือ ๑ ช้อนชา ละลาย น้ำ ๑ แก้ว กินทุกเช้าหลังจากตื่นนอน ช่วยรักษาโรคกระเพาะได้

  ๕. แก้เป็นลม เอาเกลือทะเลละลายกับน้ำร้อน หรือน้ำเย็นดื่มแก้อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียน ตาลาย เพราะร่างกายอ่อนเพลียได้ผลดี
  ๖. แก้ถูกยาเบื่อ ใช้เกลือ ๑ ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำอุ่น ๑/๒ แก้ว กินครั้งเดียวกันอาเจียนออกมา

  ๗. แก้แผลปากเปื่อย ใส่เกลือบริเวณแผลแล้วอมไว้ ครั้งแรกจะรู้สึกแสบ ครั้งต่อไปแผลจะหาย

  ๘. แก้เผ็ด ถ้ากินอาหารรสจัด ๆ รู้สึกแสบที่ปากอมเกลือแล้วทิ้งไว้สักครู่ก็จะหาย

5.กระชาย  กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม) จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ระแอน (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ละแอน (ภาคเหนือ)  ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)

สรรพคุณ เหง้าใต้ดิน - มีรสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดท้อง มวนในท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด แก้กามตายด้าน เป็นยารักษาริดสีดวงทวารเหง้าและราก - แก้บิดมูกเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ใช้เป็นยาภายนอกรักษาขี้กลาก บำรุงธาตุ แก้โรคในปาก คอ แก้โลหิตเป็นพิษ ถอนพิษต่างๆ

1. แก้ท้องร่วงท้องเดิน ใช้เหง้าสด 1-2 เหง้า ตำหรือฝนเหง้าที่ปิ้งไฟแล้วกับน้ำปูนใส หรือคั้นให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง

2. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ปวดมวนในท้อง ใช้เหง้าและราก ประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5-10 กรัม, แห้ง 3-5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน

3. แก้บิด ใช้เหง้าสด 2 เหง้า บดให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำดื่ม

4. เป็นยาบำรุงหัวใจใช้เหง้าและรากกระชายปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ผงแห้ง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ½ ถ้วยชา รับประทานครั้งเดียว

5. ยารักษาริดสีดวงทวาร ใช้เหง้าสด 60 กรัม ประมาณ 6-8 เหง้า ผสมกับเนื้อมะขามเปียก 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง ตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว รับประทานครั้งละ ½ แก้ว ก่อนนอน รับประทานติดต่อกัน 1 เดือน ริดสีดวงทวารควรจะหาย

6.ขิง เหง้าแก่สด ต้น ใบ ดอก ผล

สรรพคุณ เหง้าแก่สด ยาแก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดได้ดี มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี เพื่อย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดันโลหิต

ต้น  ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้คอเปื่อย ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา แก้บิด แก้ลมป่วง แก้ท้องร่วงอย่างแรง แก้อาเจียน

ใบ  แก้โรคกำเดา ขับผายลม แก้นิ่วแก้เบาขัด แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา  ขับลมในลำไส้

ดอก ทำให้ชุ่มชื่น แก้โรคตาแฉะ ฆ่าพยาธิ ช่วยย่อยอาหาร แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ  แก้นิ่ว แก้เบาขัด แก้บิด

ผล - แก้ไข้

ยาแก้อาเจียน ใช้ขิงแก่สด หรือแห้ง ขิงสดขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ถ้าแห้ง 5-7 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม นำขิงสด 3 หัว หัวโตยาวประมาณ 5 นิ้ว ใส่น้ำ 1 แก้ว ต้มจนเหลือ 1/2 แก้ว (ประมาณ 15-20 นาที หลังจากเดือดแล้ว) รินเอาน้ำดื่ม

ยาขมเจริญอาหาร ใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลี ถ้าผงแห้งใช้ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 0.6 กรัม ผงแห้งชงกับน้ำดื่ม เหง้าสดต้มน้ำ หรือปรุงอาหาร เช่น ผัด หรือรับประทานสดๆ เช่น กับลาบ แหนม และอื่นๆ

แก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียดและปวดท้อง  น้ำกระสายขิง น้ำขิง 30 กรัม มาชงด้วยน้ำเดือด 500 ซีซี ชงแช่ไว้นาน 1 ชั่วโมง กรองรับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ใช้ขิงแก่ต้มกับน้ำ รินน้ำดื่มแก้โรคจุกเสียด ทำให้หลับสบาย ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำมาดื่มระหว่างอาหารแต่ละมื้อ ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลี หรือประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ชงน้ำร้อน เติมน้ำตาลดื่ม

แก้ไอและขับเสมหะ  ใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือ ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

ลดความดันโลหิต ใช้ขิงสดเอามาฝานต้มกับน้ำรับประทาน

7.ข่า สรรพคุณ  เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม  แก้อาหารเป็นพิษ เป็นยาแก้ลมพิษ

เป็นยารักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา

รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง
ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร

รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น

รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย

8.มะกรูด ราก ใบ ผล ผิวจากผล

สรรพคุณ  ราก  กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายในและแก้เสมหะเป็นพิษ  ใบ มีน้ำมันหอมระเหย  ผล น้ำคั้นจากผล ใช้แต่งกลิ่น สระผมรักษาชันนะตุ รังแค ทำให้ผมสะอาด  ผิวจากผล ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น เป็นยาบำรุงหัวใจ

ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้เสมหะฝานผิวมะกรูดสดเป็นชิ้นเล็กๆ 1 ช้อนแกง เติมการบูร หรือ พิมเสน 1 หยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือด แช่ทิ้งไว้ ดื่มแต่น้ำรับประทาน 1 ถึง 2 ครั้ง แต่ถ้ายังไม่ค่อยทุเลา จะรับประทานติดต่อกัน 2 - 3 วันก็ได้

ใช้สระผมทำให้ผมสะอาดชุ่มชื้น เป็นเงางาม ดกดำ ผมลื่นด้วย โดยผ่ามะกรูดเป็น 2 ชิ้น เมื่อสระผมเสร็จแล้ว เอามะกรูดสระซ้ำ ใช้มะกรูดยีไปบนผม น้ำมะกรูดเป็นกรด จะทำให้ผมสะอาด แล้วล้างผมให้สมุนไพรออกไปให้หมด หรือใช้มะกรูดเผาไฟ นำมาผ่าซีกใช้สระผม จะรักษาชันนะตุ ทำให้ผมสะอาดเป็นมัน


หมายเลขบันทึก: 534469เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2013 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2013 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สมุนไพรไทยประโยชน์มหาศาลนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท