ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๐๐. ชีวิตของคุณเดชา ศิริภัทร ปราชญ์คนหนึ่งของไทย


ชีวิตของคุณเดชา ศิริภัทร เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของชีวิตที่พอเพียง 

คำนิยม

หนังสือ จิตวิญญาณในเมล็ดข้าว

วิจารณ์ พานิช

.....................

          หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในโอกาสที่คุณเดชาศิริภัทร ได้รับรางวัล ชูเกียรติ อุทกพันธุ์ ประจำปี ๒๕๕๕  ในฐานะบคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมตามอุดมคติของคุณชูเกียรติอุทกพันธุ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท อมรินทร์ พริ๊นติ้งกรุป  โดยมีเกณฑ์ในการสรรหา ๔ ข้อ คือ

๑. ทำงานสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตและสังคมในวงกว้าง

 ๒. อุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าในวงงานของตนอย่างต่อเนื่อง

 ๓. มีบทบาทที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อวัฒนธรรมการเรียนรู้รวมทั้งต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คน

๔.มีผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ยอมรับให้ประจักษ์แก่สังคม

          เมื่อได้อ่านต้นฉบับผมก็รู้สึกว่า หนังสือ “จิตวิญญาณในเมล็ดข้าว” เป็นหนังสือประเภทอัตชีวประวัติที่น่าอ่านที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่าน  และแม้ผมจะเคยอ่านอัตประวัติของคุณเดชาศิริภัทร มาแล้วหลายสำเนา  แต่ก็ไม่ครบถ้วนและสะท้อนตัวตนของคุณเดชาได้ดีเท่าเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติด้านจิตวิญญาณ ที่ไปไกลกว่ามิติจิตวิญญาณมนุษย์ ไปสู่จิตวิญญาณของเทพ หรือมิติที่เหนือชีววิทยา

          คุณเดชา ศิริภัทรได้บรรยายเรื่องราวในชีวิตของตนเองแบบเปิดเผย ในลักษณะ “กระเทาะเปลือก” ตนเองออกมาให้ดู  เริ่มตั้งแต่การเป็นหลานและลูกเศรษฐีบ้านนอกที่สุพรรณบุรี  นอกจากเกิดมาสมองดีแล้วครอบครัวยังมีฐานะดีมีบ่าวไพร่มาก อีกด้วย 

          การมีสมองดีในรูปแบบของการเรียนรู้ได้เร็ว  ยังไม่เทียบเท่าสมองดีในลักษณะที่สามารถรับรู้และเรียนรู้มิติทางจิตวิญญาณจากการอ่านต้นฉบับ ๑๐๐ หน้า ผมสรุปว่า คุณเดชามีสมองที่นอกจากว่องไวกับมิติทางปัญญาหรือการเรียนรู้ทางโลกแล้ว  ยังมีสมองที่ว่องไวเป็นพิเศษกับมิติทางจิตวิญญาณ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เหนือโลก  คล้ายๆ กับว่าคุณเดชานี้มี ๒วิญญาณอยู่ในร่างเดียวกัน  วิญญาณหนึ่งเป็นของมนุษย์ปุถุชนธรรมดา  อีกวิญญาณหนึ่งเป็นเทพ หรือนักบุญ

          คุณเดชาเล่าว่าการบวชและไปจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกข์ ๓เดือน ได้เปลี่ยนจิตใจของท่านโดยสิ้นเชิง “เหมือนกับผมไปรับวิธีการมองโลกและชีวิตแบบใหม่มาจากสวนโมกข์  ทำให้เป้าหมายในชีวิตของผมเปลี่ยนไปและการเปลี่ยนแปลงภายในนี้ในที่สุดก็กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตภายนอกของผม  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาฟักตัวอยู่หลายปี”

          หลังจากค้นหาตัวเองจนอายุ ๓๖ปี คุณเดชา ก็ค้นพบตัวเอง  ว่าชอบทำงานเพื่อคนอื่นมากที่สุด  ในทางประสาทวิทยาศาสตร์เพิ่งรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม๒๕๕๕ ว่าคนแบบนี้มี altruism brain หรือสมองของผู้ชอบเสียสละแก่ผู้อื่น  ดังรายงานที่ http://www.huffingtonpost.com/2012/07/19/altriusm-brain-temporoparietal-junction_n_1679766.html

          การทำงานเพื่อสังคมหรือเพื่อผู้อื่น  มีทั้งงานเย็น และงานร้อน  คุณเดชาทำงานนี้ได้ทั้งสองประเภท  โดยมีจุดยืนอยู่ข้างคนจน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนา  ที่มักถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวง

          ผมขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านอ่านหนังสือเล่มนี้โดยตีความว่า เรื่องราวที่คุณเดชา เล่านั้น สะท้อนภาพเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้อย่างไร  และสะท้อนอุดมการณ์ของรางวัลชูเกียรติอุทกพันธุ์ อย่างไร  โดยโปรดสังเกตว่าการเป็นนักอ่านของคุณเดชามีส่วนส่งเสริมเกื้อกูลชีวิตแห่งการเรียนรู้อย่างยิ่ง

          คุณเดชามีชีวิตราชการสั้นคือเพียง๔ ปี เพราะไม่เข้าร่วมขบวนการเล่นพวก มุ่งทำงานสร้างผลงานตามความรู้ความสามารถ  จึงไม่ได้รับความดีความชอบเงินเดือนขึ้น ๒ขั้น แม้จะมีผลงานมาก  และทนความอยุติธรรมเล่นพวกในการสอบแข่งขันไปต่างประเทศไม่ได้  ความอยุติธรรมที่คุณเดชาได้รับ เป็น “พรจำแลง” ที่ในเบื้องต้นเป็นความล้มเหลวของชีวิตราชการ  แต่ในระยะยาวทำให้คุณเดชาได้ก้าวสู่งานที่ตนรักและถนัด และทำประโยชน์ให้แก่สังคมไทยมากมาย

          คุณเดชาได้เล่าเรื่องราวของการยืนหยัดในหลักการและแนวทางที่ตนเห็นว่าถูกต้อง และหลักการที่เป็นหัวใจ คือ เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการ “นิเวศน์เชิงลึก”(Deep Ecology) และเป็นสิ่งเดียวกันกับธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

          ผมตีความว่า หนังสือ จิตวิญญาณในเมล็ดข้าวเล่มนี้ บอกเราว่า ชีวิตที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมวงกว้างคือชีวิตที่เรียนรู้ธรรมะ จากปฏิบัติการและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตนั่นเอง

          ผมขอขอบคุณคุณเดชา ศิริภัทรและบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่จัดทำหนังสือที่มีคุณค่าทางการเรียนรู้ในชีวิตเล่มนี้ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย

วิจารณ์ พานิช

๘ มีนาคม ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 534348เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2020 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท