4 พฤศจิกา วันพัฒนาประจำปี


4 พฤศจิกา
วันพัฒนาประจำปี

             ดังได้กล่าวแล้วว่าชาวอำเภอหนองบัว โดยเฉพาะตำบลหนองบัวและตำบลหนองกลับ ชุมชนใหญ่ล้อมรอบวัดหนองกลับ ในอดีตนั้นเป็นชายแดนประชิดติดกันระหว่างอำเภอบางมูลนาถ และอำเภอชุมแสง  หรือระหว่างจังหวัดพิจิตร กับจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชนทำบุญวัดเดียวกัน วัดชื่อวัดหนองกลับ ชาวตำบลหนอบัวมักเรียกชื่อวัดว่า วัดหนองบัว ชาวตำบลหนองกลับไม่ถือ เพราะชื่อบอกอยู่แล้วว่าวัดหนองกลับ ทำงานวัดก็ช่วยกันทำหลวงพ่อเดิมมาพาพัฒนาสร้างวัดหนองกลับ มีศาลา โบสถ์ช่วยกันไม่เกี่ยงงอน เมื่อปี พ.ศ. 2502 นายอำเภออรุณมาเป็นนายอำเภอ พาพัฒนาสร้างถนน ขุดสระน้ำก็พัฒนาตำบลของตนแข่งกัน ปี พ.ศ. 2508 หมดยุคนายอำเภออรุณแล้ว ว่างเว้นการพัฒนามานาน

            ปี  พ.ศ. 2524 เมื่อนายสมหมาย ฉัตรทอง มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว มองเห็นพลังความสามัคคีของทั้งสองตำบลในอดีต ต้องการปลุกพลังความสามัคคีที่เคยมีมาให้แสดงออกมาเป็นรูปธรรมอีกครั้ง โดยใช้รถแทรกเตอร์ดี 8 เป็นสื่อชี้นำให้เห็นว่า ผลแห่งความสามัคคีในอดีตทำให้ชาวอำเภอหนองบัวซื้อรถแทรกเตอร์ดี
8 คันนี้มาได้ ในขณะเดียวกันปัจจุบันจัดมวยการกุศลหาเงินประชาชนก็ยังให้ความร่วมมือได้เงิน 7 หมื่นบาท ซื้อรถแทรกเตอร์คืนมาราคา 35,000 บาท และยังเหลือเงินอีก

            ขณะนี้ต้องการรวมพลังความสามัคคีให้ออกมาเป็นรูปแบบในกิจกรรมการพัฒนาร่วมกัน มีเป้าหมายว่าในอนาคตเมื่อสร้างอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์และรูปปั้นนายอำเภออรุณแล้ว จะใช้อนุสาวรีย์และรูปปั้นนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจ เพื่อระลึกถึงความดีของท่าน และความสามัคคีที่เคยมีมาในอดีต โดยปีต่อๆ ไปจะชักชวนชาวหนองบัว หนองกลับมารวมตัวกันหน้าอนุสาวรีย์ และทำกิจกรรมการพัฒนาร่วมกัน 1 วัน ให้เป็นประเพณีสืบไป

            ปี พ.ศ. 2525 ได้เริ่มจัดงานขึ้นเป็นปีแรก โดยประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งสองตำบลปรารภถึงพลังความสามัคคีที่เคยมีมาในอดีตและชี้นำถึงความต้องการที่จะรวมพลังให้เกิดเป็นประเพณีสืบไป
ได้รับความเห็นชอบจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งสองตำบล และระยะเวลาความพร้อมเพรียง ที่ประชาชนทั้ง 2 ตำบล ว่างจากการงานในอาชีพทำนา อากาศสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป พบว่าปลายฝนต้นหนาว คือ วันที่ 4 พฤศจิกายน เป็นวันที่พร้อมที่สุดเพราะ

            1.  หมดฝนแล้วอากาศเริ่มหนาว

            2.  ข้าวในนาเริ่มจะแก่ อย่างช้าอีกไม่เกิน 7-10 วันประชาชนจะเตรียมตัวไปลงนา หรือไปอยู่ห้างนา

             อุปกรณ์ในการพัฒนาสำรวจดูแล้ว ขณะนั้นประชาชนทั้ง 2 ตำบลมีรถอีแต๋นกันมาก แต่ละตำบลมีไม่น้อยกว่า 100 คัน 2 ตำบล รวมกันประมาณ 200 คัน

กำหนดเป้าหมายการพัฒนาครั้งแรก

               -ให้ชาวตำบลหนองกลับนำรถอีแต๋นที่มีอยู่ในตำบลขนดินถมบริเวณวัดเทพสุธาวาส

               -ให้ชาวตำบลหนองบัวนำรถอีแต๋นที่มีอยู่ในตำบลขนดินถมบริเวณวัดหนองกลับ

               -ให้ประชาชนทั้งสองตำบลถือจอบมาโกยดินลงจากรถและเกลี่ยให้เรียบในวัดของตำบลที่รับผิดชอบ

               -ขอความร่วมมือจากโรงสี และบริษัทรับเหมาสร้างทางสนับสนุนรถแทรกเตอร์ตักดิน แยกย้ายประจำบ่อดินหลายจุด เพื่อตักดินให้รถอีแต๋น

               การพัฒนาประจำปีครั้งแรกได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกฝ่าย นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด มีรถอีแต๋นและประชาชนถือจอบมาร่วมพิธีเปิดเต็มสนามหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัว เมื่อเปิดแล้วแยกย้ายไปทำงานตามพื้นที่เป้าหมาย มีโรงครัวเลี้ยงอาหารกลางวันที่ศาลาวัดทั้ง 2 วัด สำหรับรถอีแต๋นกำหนดว่า

           1.  รถที่มาถึงที่รวมพลหน้าอำเภอ 10 คันแรกมีรางวัล

           2.  รถทำเที่ยวได้มากรับคูปองจำนวนเที่ยวมาจับรางวัล

           ในปีต่อมาแจกเสื้อยืดคอกลมพ่นตราสัญญาลักษณ์การพัฒนาแจกรถอีแต๋นทุกคันเป็นของชำร่วย และพ่นสีป้ายท้ายรถว่า รถร่วมพัฒนาอำเภอหนองบัว” เริ่มเปิดงานประมาณ 2 โมงเช้า พักเที่ยง บ่ายเริ่มงาน เลิกงาน 5 โมงเย็น เสร็จงานแล้วรวมมวลชนที่วัดหนองกลับ จับสลากรางวัลรถอีแต๋นที่ทำเที่ยวได้ตามเป้าหมาย เป็นถังแกลลอน 200 ลิตร ยางรถยนต์ มีด ค้อน เคียว จอบ เสียม และอื่นๆ อีกมาก

           4 พฤศจิกา พัฒนาประจำปี ในปีที่ 2 ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์สำเร็จไป 80% เหลือการติดกระเบื้องด่านเกวียน แผ่นหินอ่อนสลักข้อความ และการตั้งรูปปั้นท่านนายอำเภออรุณที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แต่ได้ใช้บริเวณหน้าอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ เป็นสถานที่ทำพิธีเปิดงาน 4 พฤศจิกา พัฒนาประจำปี นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ติดราชการภาคเช้า มอบหมายให้นายยุทธนา บ้วนวงศ์ ปลัดจังหวัดมาเป็นประธานทำพิธีเปิด เมื่องานเปิดผ่านไปประมาณชั่วโมงเศษ นายสนอง รอดโพธิ์ทอง เสร็จภารกิจแล้ว
ท่านชอบมวลชนหนองบัวได้มาร่วมงานกับมวลชนร่วมเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่พัฒนาอย่างเป็นกันเอง

           4 พฤศจิกา พัฒนาประจำปี พ.ศ. 2526 เป็นปีที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลิมิเร่อร์นำไปเสนอข่าวดังนี้

           -หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 พาดหัวตัวไม้ข้อความว่า สร้างอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ ใต้ภาพประกอบข้อความว่า ความดี: แทรกเตอร์คันนี้ชาวบ้านร่วมใจกันจัดสร้างเป็นอนุสาวรีย์หน้าที่ว่าการ อ.หนองบัว  นครสวรรค์ เพื่อระลึกถึง นายอรุณ วิไลรัตน์ อดีต นอภ. ผู้สร้างสรรค์

            - หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 พาดหัวตัวไม้ข้อความว่า ตื่นตะลึงอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์” ใต้ภาพประกอบข้อความว่า “พลังสามัคคี : ชาวหนองบัวนับหมื่นร่วมใจทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์เมื่อ 4 พ.ย. เป็นผลให้ศึก 2 ตระกูลที่ตามล้างกันแรมปีกลับใจมาดีกัน

            - หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 หน้าคอลัมน์เหะหะพาที แอะอะโดยซูม ในหัวข้อเรื่อง อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์

            - หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 หน้า 2 บทนำ ในหัวข้อนายอำเภอตัวอย่าง

            - หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 (ใน 7 ปีต่อมา) หน้าในคอลัมน์ทั่วเมืองไทย โดย เชาวลิต ซิ้มเจริญ นำเสนอ อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์

           จึงเป็นที่โด่งดังมากในอดีต (ตามภาพข่าวประกอบ)

            งานปีแรกประสพผลสำเร็จ จึงนำมาเป็นแนวทางปรับปรุงการจัดงานให้ดีขึ้นในปีต่อๆ มา จังหวัดให้ความสนใจส่งเครื่องจักรกลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาสนับสนุน เป็นที่กล่าวขวัญไปทั้งจังหวัดในความสามัคคีของชาวหนองบัว

            งานนี้ได้ทำกันสืบมาโดยการนำของนายอำเภอหนองบัวและภายใต้การสนับสนุนของพระนิภากรโสภณเจ้าคณะอำเภอหนองบัว ฉะนั้นถ้าปีใดหรือสมัยใดท่านนายอำเภอไม่สนใจ ท่านพระนิภากรโสภณก็จะเป็นผู้นำไห้เป็นประเพณีสืบมา

วิเคราะห์เชิงอรรถ
          งานนี้ อาศัยเจ้าคณะอำเภอนักพัฒนาจึงสืบทอดประเพณีมาได้ แต่งานจะไปได้ดีต้องร่วมมือทั้งนายอำเภอหลวงและนายอำเภอพระ ถ้าผู้นำ 2  ฝ่ายร่วมมือกันงานไปโรจน์ แต่นักปกครองบางท่านก็มีความคิดไม่อยากเดินตามแนวคิดคนเก่าจึงรักษาประเพณีดีงามไว้ยาก ดังนั้นประเพณีจึงจืดจางไป



หมายเลขบันทึก: 534344เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2013 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นความตั้งใจของท่านรองผวจ.สมหมาย ฉัตรทอง ที่จะพัฒนาชุมชนหนองบัวในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมาแล้ว ต้องบอกว่าทำได้ในระดับดีน่าพอใจ แม้ต่อมาจะขาดหายไปบ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นการริเริ่มและฝากร่องรอยความดีไว้ให้คนหนองบัวรุ่นหลังที่คิดจะทำ ได้เห็นแนวทางและเดินตามได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

หนองบัว สิ่งดีๆมีความดี ที่คนดีรุ่นเก่าก่อน สร้างสรรไว้ให้มากมาย อยู่ที่คนรุ่นหลังจะสามารถหยิบมาใช้เป็นแนวทางแห่งการสร้างสรรได้มากน้อยเพียงใด

สมัยนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์(พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๐๘) พัฒนาชุมชนหนองบัวโดยการใช้เกวียนเป็นเครื่องมือ
                            
                            
                            
                                                                  ภาพ : จากอดีตสจ.อุปถัมภ์ อินสุธา
                             ในภาพเป็นการระดมรวมพลังคนหนองบัว หนองกลับ สร้างอารคารเรียนโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(โรงเรียนอนุบาลหนองบัว)

อีกสองทศวรรษต่อมา สมัยนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง(พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๘) พัฒนาชุมชนโดยรถตุ๊กตุ๊ก

                                                              
                                                               รถตุ๊กตุ๊ก : อำเภอหนองบัว จ.นครสวรรค์

ภาพรถตุ๊กตุ๊ก นำมาจากประวัติอำเภอหนองบัวในเว็บไซต์ : (http://th.wikipedia.org/wik ) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท