โยนคำถาม...ให้เลือกข้าง...


เมื่อประมาณสองเดือนที่แล้วผมไปประชุม

เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชน”

มีหลายเทคนิคที่อาจารย์วิทยากรได้ถ่ายทอดเพื่อให้ผม

มีทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

และการสื่อสารเรื่องเพศกับคนในชุมชน

เรื่องเพศ...เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ยากให้การพูดคุยกัน...




หนึ่งในนั้น...มีเทคนิค...การเลือกข้าง

อาจารย์ให้กระดาษขนาดแบงก์มาจำนวนสองใบ

สมมติใบหนึ่ง-สีส้ม...ใบที่สอง-สีเขียว

สีส้ม แทนคำตอบว่า...เห็นด้วย

ส่วน สีเขียว แทนคำตอบว่า...ไม่เห็นด้วย



จากนั้น...อาจารย์ก็ถามคำถามพวกเรา

แล้วให้คำถาม...และให้ทุกคนยกแผ่นกระดาษ สีส้ม หรือ สีเขียว

พวกเราที่นั่งกันเป็นรูปตัวยู...จึงเห็นเพื่อนๆ ยกสีอะไรบ้าง

จากนั้น...อาจารย์ก็บอกว่า...ใครอยากแสดงเหตุผลบ้าง

ทุกคนต่างแย่งกันตอบ...ต่างมีเหตุผล...และสนุกสนานมาก...



อาจารย์ให้พวกเราสรุปกิจกรรมนี้..

พวกเราได้อะไรจากเทคนิคนี้เพียบเลยครับ

- ทัศนะเรื่องเพศ  หญิง ชาย แตกต่างกัน

-ผู้ชายมีอิสระทางเพศมากกว่าหญิง

-ทัศนะต่อไม่เรื่องเพศของคนในสังคมไม่เหมือนกัน

-การไม่ตัดสินคนอื่น



เมื่อผมลองนำเทคนิคนี้...ประยุกต์

ใช้ในการประชุมระดมสมองต่างๆ

ทั้งเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่  กลุ่ม อสม.  กลุ่มผู้นำชุมชน นักเรียน และประชาชนทั่วไป

หรือรวมกลุ่มทั้งหมด

ต่างบอกว่า...สนุกและเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ

และเคารพการตัดสินใจของตนเอง และของผู้อื่น




คำถามในการ “เลือกข้าง” มีดังนี้

ชุดที่หนึ่ง

ลูกชายของท่านจะแต่งงานกับผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นมาก่อน(เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)

ลูกสาวของท่านจะแต่งงานกับผู้ชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นมาก่อน (เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)



 ชุดที่สอง

ฉันทำใจได้ถ้าเห็นลูกสาวยังโสดพกถุงยางอนามัย(เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)

ฉันทำใจได้ถ้าเห็นลูกชายที่ยังโสดพกถุงยางอนามัย (เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)



ชุดที่สาม

ฉันทำใจได้ถ้าคู่ครองของฉันบอกว่ายังมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่เวลานี้(เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)

ถ้าทำใจไม่ได้จะเลิกกับคู่ครองหรือไม่(เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)



ชุดที่สี่

ถ้าตกลงเป็นคู่ครองของใครแล้ว คุณจะไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นอีกเลย(เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)

ฉันจะบอกคู่ ถ้าไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น (เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)



แล้วท่านหล่ะครับ...อยากตอบคำถามสักชุดไหมครับ?


หมายเลขบันทึก: 534179เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2013 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เป็นเทคนิคเปิดใจที่น่าสนุกมากคะ  ขอลองข้อง่ายๆ

ฉันทำใจได้ถ้าเห็นลูกสาวยังโสดพกถุงยางอนามัย(เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย) -> ไม่เห็นด้วย
เพราะ กรณีฉุกเฉิน มีก็ดีกว่าไม่มี... แต่ถุงยาง ฝ่ายชายเป็นผู้ใช้ แม้ตัวเราพก ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมใช้ ก็ไม่มีประโยชน์  การที่ฝ่ายชายขอมีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยที่ตัวเขาไม่พกถุงยาง แบบนี้ไม่แน่ใจในความรับผิดชอบ
ควรคิดให้ดี ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงอย่ายุ่งเกี่ยวดีไหม

ฉันทำใจได้ถ้าเห็นลูกชายที่ยังโสดพกถุงยางอนามัย (เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย) -> เห็นด้วย
ถือเป็นความรับผิดชอบหนึ่ง ทำนองเดียวกับเมาไม่ขับ 


                 สวัสดีค่ะคุฯหมอ

พี่ทิมดาบ กระบวนการแบบนี้สนุกนะครับ เลือกข้างอะไรอีกเยอะในกิจกรรม กิจกรรมพวกนี้พัฒนามาจากหลักสูตรเพศศึกษาองค์การแพธ  มีอีกนะครับผมได้คู่มือมา มีกิจกรรมเมื่อฉันยังเยาว์ และอื่นๆอีก เห็นพี่สนุกแล้วก็สนุกตาม..

สรุปกิจการรมนี้  ชอบ   การไม่ตัดสินคนอื่น  

 

(ปล.  คู่กรณี มาเม้าสกันสองต่อสอง  ไม่ต้องไปยกพวกมา รุมชี้เป็นชี้ตาย  เราเป็นชาวศิวิไลซ์ มีการศึกษา  ฮิ ฮิ )

ดิฉันขอโทษค่ะ อาจพูดเลยเถิดไป จะลบก็ไม่ได้ซะแล้ว

ในเรื่องของชายหญิง  เมื่อเสียจังหวะไปแล้ว มักมีข่าวพัดกระพืออย่างรวดเร็ว  เรื่องคู่ครองเมื่อผิดพลาดไปแล้วเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิม  จะทดลองก่อนก็ไม่ได้  ในวัยเจริญพันธุ์ พูดสอนมักไม่เข้าใจเท่าภาคปฏิบัติที่อาจเห็นในภาพยนต์  แต่ว่าเป็น long run ไม่ใช่จบง่ายๆ เหมือนในหนัง  ศิลปะการใช้ชีวิตล้วนต้องผ่อนสั้นผ่อนยาวยืดหยุ่นเป็นหนังสต๊ก  พร้อมกับต้องคิดดีๆ หวังดีต่อกันเป็นที่ตั้ง  มีคำพูดหนึ่งว่า  คนเราต้องมีหลุมหลบภัย คิดดี ทำดี ก็จะมีเทพเทวดามาช่วยกำบังภัยผ่อนหนักเป็นเบา ถ้าเคราะห์เบาๆ ก็ข้ามฝั่งไปได้เลย  ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านนะคะ  

ปล.   อีกนิดหนึ่ง  มีความเห็นว่า  มักเห็นวัยรุ่นเมื่อผิดพลาดจะถลำลึก  ดังนั้น ให้ความรู้ไว้ก่อน รับได้แค่ไหนถือเป็นวาสนา  มองว่า การป้องกันจะดีกว่าแก้ปัญหา  แต่ไม่มีอะไรง่าย แต่ละครอบครัวก็สำคัญมากๆ 



สามารถนำกิจกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนเนื้อหาอื่น ๆ ได้นะ  ขอบคุณจ้ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะ

ขออนุญาต คุณหมอจิตสาธารณะเจ้าของบันทึก โยนคำถาม...ให้เลือกข้าง...

นำมุมมองอื่นมาเพื่อโปรดพิจารณา  ขอบคุณค่ะ  และ  ขอขอบคุณ  

ข่าวสดออนไลน์   วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 15:06 น. 

ในแดนสวรรค์ของ “เพศที่สาม” : นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล

“พื้นฐานวัฒนธรรมแบบพุทธนั้น ทำให้ความรุนแรงที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศในสังคมไทยมีลักษณะพิเศษและแตกต่าง คือ สังคมไทยจะวางเฉย ปฏิเสธโอกาสของชนกลุ่มทางเพศแทนที่จะทำร้ายอย่างรุนแรงและชัดเจน” 

ในแดนสวรรค์ของ “เพศที่สาม”

นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล

จากเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน "กลางวันมืด กลางคืนกลับสว่าง"

สังคมไทยถูกเชื่อว่าเป็นสังคมที่ให้การยอมรับ เปิดใจ และ เป็นมิตรต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศที่คนไทยมักคุ้นเคยกับคำว่า “เพศที่สาม” หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพบและรู้จัก “เพศที่สาม” มาบ้างและดูเหมือนว่าพวกเขาก็มีความสุขดีภายใต้อ้อมกอดของดินแดนสยามแห่งนี้ โดยส่วนมาก ผมจะทราบว่า “เพศที่สาม” ได้รับโอกาสที่ได้แสดงความสามารถและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในพื้นที่เฉพาะที่สังคมไทยจัดให้อย่างเช่น วงการบันเทิง วงการความสวยความงาม และวงการการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันสื่อภาพยนตร์ ละคร โฆษณาจำนวนมากได้มีการนำเสนอตัวละครที่เป็นตัวแทนของ “เพศที่สาม” มากขึ้น สื่อที่มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตของคนกลุ่มนี้ก็มีให้พบเห็นมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้นเมื่อกล่าวถึงคำว่า “กะเทย” คนไทยหลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งคนไทยจำนวนหนึ่งให้ความเอ็นดูและชมเชย แม้แต่ในสายตาชาวต่างชาติเองกะเทยไทยก็ขึ้นชื่อว่า “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” แล้วเช่นนี้จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าประเทศไทยรักและเข้าใจเพศที่สาม

ในขณะที่ผมศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น ผมเลือกที่จะทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางเพศในสังคมไทย เพื่อนชาวต่างชาติของผมคนหนึ่งถามผมด้วยความสงสัยว่า ทำไมผมจึงเลือกทำงานวิจัยในหัวข้อนี้ทั้งๆ ที่สังคมไทยไม่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่หรือ? สาเหตุที่ผมเลือกทำวิจัยในหัวข้อนี้คงเป็นเพราะผมมีโอกาสได้เห็นว่าใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของสังคมไทยกลับซ่อนความกลัวและอคติไว้อย่างแนบเนียน ผมได้ให้คำตอบแก่เพื่อนผมว่า “ภาพลักษณ์เหล่านั้นเป็นแค่ฉากเท่านั้น สังคมไทยยังซ่อนอะไรไว้อีกมากมายที่คนหลายคนมองข้าม” ผมเองคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยให้การยอมรับและมีความใจกว้างในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว (Winter, 2006, หน้า 59) ทำให้เราอาจเข้าใจเสมอว่าสังคมไทยสามารถรับมือความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างดี อย่างไรก็ตามการมองว่าประเทศไทยเป็น “สวรรค์” ของชนกลุ่มน้อยทางเพศนั้นอาจเป็นภาพที่เกินจริงไปเสียหน่อย เช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ สังคมไทยเองยังคงมีปัญหาการกีดกัน ความรังเกียจอย่างไร้เหตุผล รวมถึงความเชื่อผิดๆ และความไม่เข้าใจที่มีต่อ การรักร่วมเพศ การข้ามเพศ และประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ (Winter, 2011, หน้า 252-253) ที่ผมคิดว่าคงมองข้ามไปไม่ได้

ตอนที่01: อัตลักษณ์ทางเพศกับพุทธศาสนาแบบไทย – โซ่ตรวนแห่งการชดใช้กรรม

ก่อนอื่นผมต้องยอมรับว่าการเขียนบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนามีความเสี่ยงต่อการถูกต่อว่า เพราะการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสนามักถูกตีความว่าเป็นการท้าทายอำนาจหรือลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ แต่ในฐานะที่ “พุทธศาสนิกชน” เป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่ผมนำมาผูกกับตนเอง ผมเชื่อการตั้งข้อสงสัยต่อค่านิยมในสังคมพุทธนั้นไม่บาปตามที่คนไทยหลายคนเชื่อ พระโคตมพุทธเจ้าเองยังได้ตรัสไว้ว่า “อย่าเชื่อสิ่งใดเพียงเพราะท่านได้ยินสิ่งนั้น อย่าเชื่อสิ่งใดเพียงเพราะผู้คนพูดต่อๆ กันมาหรือลือต่อๆ กันมา อย่าเชื่อสิ่งใดเพียงเพราะสิ่งนั้นถูกจารึกในคัมภีร์ทางศาสนา จงอย่าเชื่อเพียงเพราะอำนาจที่สูงส่งกว่าของครูบาอาจารย์หรือของผู้ที่อาวุโสกว่า อย่าเชื่อในธรรมเนียมเพียงเพราะถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยๆ ปี แต่เมื่อได้ไตร่ตรองจนพบว่าสิ่งนั้นไม่ขัดแย้งกับหลักเหตุผลและมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของตัวบุคคลและทุกสรรพสิ่งแล้ว จึงยอมรับและยึดถือในสิ่งนั้น” (Briones, 2008, หน้า 6) ซึ่งทั้งหมดปรากฏในหลักกาลามสูตรที่สนับสนุนการใช้สติก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด ดังนั้น ผมเชื่อว่าการตั้งข้อสงสัยต่อค่านิยมเชิงพุทธในสังคมไทยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการหาคำตอบและเป็นการแบ่งปันการตั้งคำถามให้กับผู้อื่นเพื่อกระตุ้นให้เราได้มองค่านิยมที่เราคุ้นเคยจากมุมมองใหม่ๆ อีกครั้ง

เจตนาในการเขียนบทความชิ้นนี้ ผมไม่อยากให้ถูกตีความว่าเป็นการปะทะระหว่าง “อนุรักษ์นิยมแบบไทย” กับ “เสรีนิยมแบบตะวันตก” เพราะผมวิพากษ์สังคมพุทธแบบไทยด้วยสายตาของพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะ “เด็กจบนอก” หรือคนที่ถูก“ล้างสมองด้วยค่านิยมแบบตะวันตก” แม้กรอบการมองบางส่วนผมจะยืมจากสำนักคิดที่พบมากในโลกตะวันตกอย่างสตรีนิยมและสำนักคิดที่สนใจเรื่องเพศสภาวะ แต่จุดประกายหลักในการคิดวิพากษ์นั้นมีรากฐานมาจากคำสอนทางพุทธศาสนาที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้จากทั้งหนังสือและจากผู้รู้อื่นๆ และได้นำความรู้เหล่านั้นมาคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยของตนเอง ผมเชื่อว่าพุทธศาสนามีอะไรมากกว่าแค่สิ่งที่คนไทยหลายคนเชื่อและพูดกันจนชินปาก ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาเปิดโอกาสให้เราได้ลองคิดและหาข้อสรุปด้วยตนเองตามหลักเหตุผลเพื่อไม่ให้เชื่ออะไรอย่างมงาย แต่บ่อยครั้งพุทธศาสนามักถูกกล่าวอ้างและนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองสำหรับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยที่พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยกลัวกับการตั้งคำถามต่อความเชื่อบางอย่างเพราะกลัวคำว่า “บาป” ในความคิดเห็นของผม “ธรรมะ” ตามแนวทางพุทธมีความแตกต่างจาก “อคติ” ที่สังคมสร้างขึ้นมาอย่างมาก และไม่ว่าอคติจะพยายามซ่อนตัวเองไว้หลังธรรมจักรก็ตาม แต่อคติก็คงยังเป็นอคติอยู่วันยังค่ำ

อัตลักษณ์ทางเพศผ่านกรอบพุทธศาสนานิกายเถรวาท

เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมมาจากพุทธศาสนานิกายเถรวาท ด้วยพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบพุทธนี่เองที่ทำให้การรับมือชนกลุ่มน้อยทางเพศของสังคมไทยนั้นมีความแตกต่างจากอีกหลากหลายสังคม ในยุคปัจจุบันเราจะพบว่าประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันและการแต่งตัวเป็นเพศตรงข้ามนั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย (Morris, 1994, หน้า 29) ความเชื่อเรื่อง “กรรม” ทำให้คนไทยโดยทั่วไปเกรงกลัวต่อการทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นใครหรือเพศไหนก็ตาม ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังคมไทยนั้นไม่มีมาตรการทางกฎหมายใดที่สนับสนุนการทำร้ายหรือลงโทษ “เพศที่สาม” เหมือนกับอีกหลากหลายสังคม อย่างไรก็ตาม พื้นฐานวัฒนธรรมแบบพุทธนั้น ทำให้ความรุนแรงที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศในสังคมไทยมีลักษณะพิเศษและแตกต่าง คือ สังคมไทยจะวางเฉย ปฏิเสธโอกาสของชนกลุ่มทางเพศแทนที่จะทำร้ายอย่างรุนแรงและชัดเจน (Winter, 2011, หน้า 254) ซึ่งรูปแบบการกีดกันนี้ไม่ปรากฏในสถาบันทางสังคมอย่างเป็นทางการ แต่กระจายทั่วไปในสังคมไทยเป็นวงกว้าง (Jackson, 1995, หน้า 141) ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อคติและความเกลียดชังที่มีต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศในสังคมไทยนั้นไม่ปรากฏเด่นชัดหรือมีความรุนแรงเหมือนกับสังคมอื่นๆ และทำให้หลายคนเชื่อว่าอคติต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศในสังคมไทยเบาบางหรือแทบไม่มีเลย

ด้วยความเชื่อพื้นฐานจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ผ่านการตีความและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบททางสังคมไทยแล้ว ทำให้ประเด็นในเรื่องความสุขทางเพศ รักร่วมเพศ และการข้ามเพศ เป็นประเด็นที่น่าอายหรือไม่เหมาะสมที่จะพูดถึงและไม่มีการสนับสนุนให้เรื่องในประเด็นข้างต้นอยู่ในระบบการศึกษาของไทย (Morris, 1994, หน้า 16) ส่งผลให้คนส่วนมากในสังคมไทยนั้นไม่มีความสนใจต่อการศึกษาในหัวข้อเหล่านี้ ความไม่รู้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและถูกแทนที่ด้วยความเชื่อที่ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในสังคมแทน ในปัจจุบันแม้มีคำอธิบายว่าการรักร่วมเพศและการข้ามเพศไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดเรื่อง “กรรม” ก็กลายเป็นหนึ่งคำอธิบายหลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อบอกว่าทำไมคนถึงเกิดมาเป็น “เพศที่สาม”

โดยดั้งเดิมแล้วกิจกรรมทางเพศระหว่างคนเพศเดียวกันนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกตามความเชื่อของพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาพระวินัยปิฎกสายเถรวาทแล้วพบว่ากิจกรรมทางเพศทั้งหมดไม่ว่าจะผ่านช่องคลอด ทวารหนัก หรือปากนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยของสงฆ์โดยไม่มีการระบุว่าเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนักละเมิดวินัยสงฆ์รุนแรงกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดแต่อย่างใด (Jackson, 1995, หน้า 143) ดังนั้น มุมมองโดยทั่วไปของพุทธศาสนาที่มีต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันนั้น มีความเป็นกลาง กฎระเบียบเรื่องความเหมาะสมทางศาสนาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเพศสัมพันธ์แบบใดเหมาะสมกว่า แต่อยู่ที่การสนับสนุนการละเว้นจากกิจกรรมทางเพศทุกประเภทเพื่อเป็นหนทางในการลดละกิเลส สำหรับผู้ที่อยู่ในสถานภาพสงฆ์

ในเวลาเดียวกันเรายังพบว่าเนื้อหาของพระวินัยปิฎกไม่สามารถครอบคลุมถึงบริบทของสังคมในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากพระวินัยปิฎกนั้นได้จัดประเภทคนออกเป็น 4 กลุ่มเพศ ได้แก่ ชาย หญิง บัณเฑาะว์ (ชายแต่งหญิง ขันที) และ อุภโตพยัญชนก (ผู้ที่ปรากฏลักษณะทางกายของทั้งชายและหญิง) เท่านั้น (Jackson, 1995, หน้า 143) โดยที่ประเด็นเรื่องการแต่งตัวข้ามเพศและการรักร่วมเพศนั้นไม่ถูกแบ่งแยกจากกันอย่างชัดเจน (Jackson, 1995, หน้า 142) ทำให้อัตลักษณ์ของกะเทยสามารถถูกนำไปโยงกับบัณเฑาะว์หรืออุภโตพยัญชนกได้ แต่ก็ไม่อาจครอบคลุมถึงชายรักชายในสังคมปัจจุบันที่ไม่มีความต้องการที่จะผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ต้องการแต่งตัวหรือแสดงออกเป็นผู้หญิง และยังไม่รวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ เช่น หญิงรักหญิง ทอม ดี้ ผู้ที่ชอบทั้งชายและหญิง เกย์ที่ชอบทอม ทอมที่ชอบตุ๊ด และอีกมากมาย ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ทางเพศในบริบทสังคมสมัยใหม่ ดังนั้น จึงยากที่จะอ้างว่าพระวินัยปิฎกนั้นได้พูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศตามบริบทสังคมปัจจุบันไว้อย่างไรบ้าง (Jackson, 1995, หน้า 142)

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาบางส่วนในพระวินัยปิฎกนั้นได้กล่าวถึงลักษณะแง่ลบของชนกลุ่มน้อยทางเพศไว้ เช่น ธรรมเนียมการไม่อนุญาตให้ “กะเทย” บวชมาจากความเชื่อที่ว่าบัณเฑาะว์ขาดความสามารถในการเข้าถึงนิพพาน เพราะขาดความสามารถในการควบคุมความต้องการทางเพศของตนเอง โดยให้คำเปรียบเทียบว่าคนกลุ่มนี้มีความต้องการทางเพศประดุจโสเภณีหรือสุวรรณมาลี (Jackson, 1995, หน้า 144) การอนุญาตให้คนกลุ่มนี้บวชและอยู่ร่วมกับสงฆ์รูปอื่นๆ จะก่อให้เกิดปัญหาเพราะอาจกระทบต่อการละเว้นจากกิจกรรมทางเพศของสงฆ์รูปอื่นๆได้ (Jackson, 1995, หน้า 144) ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้เองอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมไทยนั้นมอง “กะเทยและตุ๊ด” ในภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ขาดความสามารถในการเข้าถึงธรรมเพื่อชำระจิตใจ มีธรรมชาติอันหยาบกร้าน แสวงหาเรื่องราคะอยู่ร่ำไปและถือว่าเป็นกลุ่มคนที่อาจพาเพศชายไปในทางที่ผิดได้

ถึงแม้ว่าเนื้อหาจากพระวินัยปิฎกนั้นอาจไม่สนับสนุนให้กลุ่มเพศที่สามได้มีทางพ้นทุกข์ผ่านการบวชเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ก็ไม่มีการสนับสนุนให้มีการทำร้ายหรือต่อต้านคนกลุ่มนี้แต่อย่างใด แม้จะมองว่าบัณเฑาะว์และอุภโตพยัญชนกเป็นกลุ่มคนที่ต่ำต้อยกว่าด้วยความสามารถในการเข้าถึงธรรม แต่คนกลุ่มนี้ก็ควรจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่นเช่นเดียวกัน (Jackson, 1995, หน้า 144)

ความรังเกียจที่มีต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศนั้นเริ่มต้นขึ้น เมื่อสังคมไทยได้เปิดรับค่านิยมแบบตะวันตกผ่านการพัฒนาสู่สังคมสมัยใหม่ เช่น ในช่วงปี พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้หญิงและผู้ชายถูกบังคับให้แต่งตัวตามเพศของตนเอง คือ ผู้ชายต้องใส่กางเกงและผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ตามค่านิยมแบบตะวันตกส่งผลให้การแต่งตัวไม่ตรงกับเพศทางกายภาพของตนนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นต้น (Morris, 1994, หน้า 33) การที่สังคมไทยเปิดรับแนวคิดจากสังคมตะวันตกซึ่งแฝงไว้ด้วยค่านิยมชายเป็นใหญ่และเชิดชูค่านิยม “ชายจริงหญิงแท้” ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่รสนิยมชอบเพศเดียวกัน การข้ามเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศที่นอกเหนือไปจาก “ชายจริงหญิงแท้” ถูกต่อต้านจากสังคมและถูกผูกโยงกับความผิดปกติทางจิต (Morris, 1994, หน้า 27-28)

การเปลี่ยนแปลงจุดยืนทางความเชื่อของวัฒนธรรมแบบพุทธในสังคมไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อกระแสความตระหนักเรื่องเอดส์เพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 2525 และรสนิยมชอบเพศเดียวกันถูกผูกโยงกับการเพิ่มจำนวนของการระบาดของโรคเอดส์ในสังคมไทย (Jackson, 1995, หน้า 152) สถาบันทางศาสนากลายเป็นตัวแทนผู้ที่ให้คำอธิบายและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการระบาดของโรคเอดส์ที่เชื่อว่ามาพร้อมกับการรักร่วมเพศ (Jackson, 1995, หน้า 151) แนวคิดเรื่อง “กรรม” ถูกนำมาใช้เป็นกรอบการอธิบายว่าทำไมบุคคลหนึ่งจึงเกิดมาเป็นกะเทย โดยชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่อยากเป็นเพศตรงข้ามและรสนิยมการชอบเพศเดียวกันนั้นถือเป็นความผิดปกติและขัดต่อกฎธรรมชาติ (Jackson,1995, หน้า 147) ถือเป็นเรื่องที่น่าละอายและไม่เหมาะสม รสนิยมที่ชอบเพศเดียวกันนั้นยังถูกอธิบายว่ามีคุณสมบัติในการมอมเมาและทำให้มนุษย์หลงผิดเช่นเดียวกับยาเสพติดและสุรา (Jackson, 1995, หน้า 148) บุคคลที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันจึงถือเป็นผู้ที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจต่อกิเลสตัณหาของตนเองได้ จนถึงในระดับที่การมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงนั้นไม่สามารถตอบสนองตัณหาที่ไม่สิ้นสุดของคนกลุ่มนี้ได้(Jackson,1995, หน้า 150) ด้วยสาเหตุนี้โรคเอดส์จึงถูกอธิบายว่าเป็นบทลงโทษต่อผู้ที่มีรสนิยมที่ชอบเพศเดียวกันซึ่งถูกเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่ถูกครอบงำด้วยตัณหาราคะ (Jackson, 1995, หน้า 148) เป็นการตอกย้ำว่ารักร่วมเพศ การแต่งตัวข้ามเพศ เพศสัมพันธ์ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการสืบพันธุ์ เป็นสิ่งที่บาปและต้องถูกกำจัดออกไป

ถึงแม้ว่าแนวคิดที่ต่อต้าน “เพศที่สาม” ผ่านความวิตกเกี่ยวกับการระบาดของโรคเอดส์นั้นจะลดความสำคัญลง เนื่องจากสังคมไทยเริ่มตระหนักว่าโรคนี้ไม่ได้ระบาดแค่ในกลุ่มเพศที่สามเท่านั้น แต่ระบาดในกลุ่มคนทั่วไปด้วย (Jackson, 1995, หน้า 152) แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของเพศที่สามที่ถูกมองในแง่ลบนั้นยังคงแทรกซึมไปทั่วในสังคมไทย จากประสบการณ์ส่วนตัวผมยังคงพบเห็นการผูกโยง “เอดส์” หรือ “การเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อย” กับกลุ่มชายรักร่วมเพศอยู่บ้าง แม้คนกลุ่มนี้อาจถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงตามสถิติแต่บ่อยครั้งที่ความตระหนักในเรื่องเอดส์นั้นถูกเชื่อมโยงกับอคติที่มีต่อเกย์ ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบว่าโรคเอดส์ระบาดได้ในคนทุกกลุ่มไม่จำกัดว่ารสนิยมทางเพศจะเป็นเช่นใด แม้แต่พฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ นั้น ก็ไม่ได้จำกัดแค่คนรักเพศเดียวกันเท่านั้น

อัตลักษณ์ทางเพศ: กรรมหรืออคติ?

ข้อสังเกตสำคัญที่มีต่อทัศนคติแง่ลบต่อ “เพศที่สาม” ในสังคมไทยนั้นผมเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ ค่านิยมความเป็นชายนั้นได้สร้างกฎเกณฑ์ที่แบ่งประชากรออกเป็นสองกลุ่มคือ “ชาย” และ “หญิง” โดยใช้อวัยวะเพศที่ติดตัวมาแต่เกิดในการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของคนแต่ละคน และค่านิยมชุดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆที่อยู่นอกกรอบการมองโลกแบบ “ชาย-หญิง” (Theodore และBasow, 2000, หน้า 32) ซึ่งผมเชื่อว่าค่านิยมชายเป็นใหญ่นั้นมีความสอดคล้องกับค่านิยมในสังคมพุทธแบบไทยๆ ที่วางผู้หญิงให้อยู่ในสถานภาพที่ต่ำกว่าผู้ชายและมีทัศนคติในแง่ลบต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศ

คนในสังคมพุทธเชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้ที่ถูกคัดสรรมาเพื่อสานต่อศาสนาให้แก่คนรุ่นหลังในขณะที่ผู้หญิงถูกเชื่อว่าไม่มีความสามารถในการบรรลุธรรมเยี่ยงชาย และบางครั้งถือเป็นเครื่องกีดขวางให้ผู้ชายอยู่ห่างไกลจากทางพ้นทุกข์อีกด้วย (Wawrytko, 2009, หน้า 305) นอกจากนั้นค่านิยม “กีดกันเพศหญิง” สามารถสะท้อนออกมาผ่านการไม่ยอมรับให้บัณเฑาะว์และอุภโตพยัญชนกบวช ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของ “เพศชายที่ไม่สมบูรณ์” จากตัวอย่างข้างต้นจะพบว่าคำเปรียบเทียบต่อการขาดความสามารถในการควบคุมความต้องการทางเพศถูกเปรียบเทียบกับ “เพศหญิง” (โสเภณีและสุวรรณมาลี) แทนที่จะเปรียบความต้องการทางเพศนั้นกับคุณสมบัติของเพศชาย

ผมเชื่อว่าโดยธรรมชาตินั้นมนุษย์ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศแบบใดหรืออัตลักษณ์ทางเพศใดย่อมมีความต้องทางเพศทั้งสิ้น และความคิดที่มองว่าความต้องการทางเพศของเพศหญิงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและต้องควบคุมนั้นถูกอธิบายว่าเป็นการสร้างสรรค์ของสังคมชายเป็นใหญ่ กรอบการมองเชิงวิวัฒนาการทางสังคมเพื่อสร้างความมั่นคงให้สถานภาพความเป็นพ่ออธิบายว่า การควบคุมความต้องการทางเพศของผู้หญิงนั้นถูกใช้เพื่อลดความหวาดกลัวของผู้ชาย และสร้างความมั่นใจว่าผู้หญิงและลูกจะต้องเป็นของเขาเพียงผู้เดียว เป็นการผูกขาดให้ผู้หญิงเป็นทรัพย์สินของเขาอย่างสมบูรณ์ เพราะผู้หญิงจะรู้สึกว่าการที่ตนเองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นเป็นสิ่งที่ผิด (Baumeister และ Twenge, 2002, หน้า 168) ในขณะที่เราจะเห็นได้ว่าโดยทั่วไปการที่ผู้ชายมีผู้หญิงจำนวนมากถูกมองว่าเป็น “สัญชาตญาณโดยธรรมชาติที่อยากมีผู้สืบตระกูล” ที่ผู้หญิงต้องเข้าใจหรือทำใจยอมรับ ในขณะที่ความรู้สึกทางเพศของผู้หญิงกลายเป็น “สิ่งต้องห้ามและชั่วร้าย” ที่ต้องถูกควบคุมและกำราบ

ในขณะเดียวกันทัศนคติที่ต่อต้านชนกลุ่มน้อยทางเพศผ่านการทำร้ายร่างกายหรือการใช้ภาษาที่รุนแรงนั้น ถูกอธิบายว่ามีความเกี่ยวโยงอย่างมากต่อการแสดงออก “ความเป็นชาย” ซึ่งสังคมได้ตีกรอบไว้แล้วว่าความเป็นชายที่ “สมบูรณ์” นั้นย่อมมาพร้อมรสนิยมทางเพศที่ชอบเพศหญิงเท่านั้น โดยที่ชนกลุ่มน้อยทางเพศที่เป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีคือผู้ที่เกิดมาพร้อมอวัยวะเพศชายแต่กลับไม่ได้มีลักษณะตรงกับ “ชายแท้” ที่สังคมวาดไว้ (Theodore และ Basow, 2000, หน้า 32) การต่อต้านชนกลุ่มน้อยทางเพศ โดยเฉพาะ “ชายไม่แท้” ถือเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความตึงเครียดที่ผู้ชายเกรงกลัวว่าพวกเขาไม่สามารถทำตามความคาดหวังของสังคมในเรื่อง “ความเป็นชายที่สมบูรณ์” ได้ ยิ่งรู้สึกตนเองบกพร่องมากเท่าไร แรงต่อต้านที่มีต่อ “คุณสมบัติเพศหญิง” หรือ “ความเป็นชายที่บกพร่อง” ในบุคคลอื่นย่อมรุนแรงมากไปเท่านั้น ความรังเกียจต่อรักร่วมเพศนั้นได้รับการศึกษาว่ามีความเกี่ยวโยงกับปัญหาการขาดความมั่นใจของบุคคลนั้นๆด้วย (Theodore และ Basow, 2000, หน้า 43-44) ดังนั้นกระแสการต่อต้านชนกลุ่มน้อยทางเพศนั้นจึงมีความสอดคล้องต่อการรักษา “ความเป็นชายที่สมบูรณ์แบบ” ตามนิยามของสังคมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงที่มีต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศจึงกลายเป็นหน้าที่หนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการแสดงออกว่าพวกเขาไม่บกพร่องต่อสิ่งที่สังคมคาดหวังไว้

ถ้าผมหยุดเขียนบทความไว้ที่ตรงนี้จะเท่ากับเป็นการสรุปว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยกให้ชายเป็นใหญ่ กดขี่เพศหญิง และต่อต้านชนกลุ่มน้อยทางเพศ ซึ่งนี่ไม่ใช่บทสรุปที่ผมตั้งใจไว้ เพราะในความเป็นจริงแล้วพุทธศาสนาได้เสนอแนวทางที่แตกต่างไปจากนั้นมาก

อัตลักษณ์แบบพุทธ: ความว่างเปล่าที่อยู่เหนือทุกสิ่ง

“สังคมชายเป็นใหญ่” นั้นเป็นรูปแบบสังคมที่พบได้ทั่วไปในหลากหลายอารยธรรมในยุคโบราณไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกหรือตะวันออก (Wawrytko, 2009, หน้า 294-296) เพศหญิงถูกกีดกันออกจากพื้นที่ของ วิชาการ ศาสนาและปรัชญาในหลากหลายสังคม (Wawrytko, 2009, หน้า 293-294) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ชายจะสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างชายและหญิงให้ชัดเจนขึ้น เพื่อแบ่งแยกบทบาทว่าเพศชายและเพศหญิงควรทำหน้าที่ใด ค่านิยมชายเป็นใหญ่นั้นเป็นการสรรค์สร้างของค่านิยมในสังคมโบราณที่ตีกรอบพฤติกรรมมนุษย์ ก่อนที่มนุษย์จะได้รับโอกาสมองโลกผ่านกรอบพุทธศาสนาที่ชี้ให้เห็นว่า “อัตลักษณ์ของมนุษย์” เป็นแค่เปลือกเท่านั้น (Wawrytko, 2009, หน้า 299)

ผมเชื่อว่าอคติต่อเพศหญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศนั้น เป็นค่านิยมที่มนุษย์สร้างขึ้นเท่านั้น ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์จำนวนมากได้ให้คำตอบไว้แล้วว่า “อคติ” ในสังคมชายเป็นใหญ่นั้นมีวิวัฒนาการ โครงสร้าง และที่มาที่ไปอย่างไร ผมจึงคิดว่าอคติที่คนกลุ่มหนึ่งสร้างขึ้นไม่น่าจะถูกนำไปวางเทียบสถานะกับ “กฎจักรวาล” หรือ “กฎธรรมชาติ” ได้ ถ้าหากนั่นคือกฎที่นำไปใช้ได้กับทุกคน ทำไมคนบางกลุ่มถึงได้รับการยกเว้นให้อยู่เหนือกฎและได้รับผลประโยชน์มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ถ้าไม่ใช่เพราะคนกลุ่มนั้นคือผู้สร้างกฎเสียเอง

เมื่อเรามองไปที่วัตถุประสงค์ของพุทธศาสนาแล้ว เราจะพบว่าการแบ่งมนุษย์ออกเป็นกลุ่มๆ นั้นไม่ได้สอดคล้องกับมุมมองแบบพุทธแต่อย่างใด (Wawrytko, 2009, หน้า 299) พุทธศาสนานั้นมองไปไกลกว่าการจำกัดตัวเองภายใต้กรอบของการแบ่งขั้วออกเป็นชายหรือหญิง เพศที่หนึ่ง สอง หรือ สาม เพราะในธรรมชาติ “สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนไม่มีชาย ไม่มีหญิง” (Wawrytko, 2009, หน้า 306) ทุกอย่างล้วนเป็นการเกิดดับของรูปธรรม (ร่างกาย) และนามธรรม (การให้คุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อจิตของมนุษย์) ที่ไม่สิ้นสุดดังนั้น เครื่องกีดขวางไม่ให้บุรุษเพศเข้าสู่ทางแห่งธรรมอาจไม่ใช่ปัจจัยภายนอก อย่างเสน่ห์อันยั่วยวนของสตรีเพศหรือการชักจูงที่ผิดของบัณเฑาะว์หรืออุภโตพยัญชนก สาเหตุที่แท้จริงอาจอยู่ภายในจิตใจของผู้ชายเองที่หลงอยู่กับการให้คุณค่าของสิ่งสมมติ (Wawrytko, 2009, หน้า 306)

การยึดติดกับอัตลักษณ์ที่แบ่งคนออกเป็นกลุ่มและวางคนในลำดับขั้นอำนาจที่ต่างกันสร้างผลกระทบต่อมนุษย์ทุกกลุ่ม ในขณะที่เพศหญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศถูกกักขังในความต่ำต้อยของตนเองที่สังคมสร้างขึ้น เพศชายกลับหลงมัวเมา ผยองกับความเหนือกว่าของตน และหลงเชื่อว่า “กฎนี้คือกฎธรรมชาติที่เที่ยงแท้” บ่อยครั้งผู้ชายก็ต้องรับกับแรงกดดันจากความคาดหวังทางสังคมเช่นกัน ด้วยสาเหตุนี้ไม่ว่าจะ “สูง” หรือ “ต่ำ” มนุษย์ทุกคนย่อมไม่เห็นตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง โดยเนื้อแท้แล้ววัตถุประสงค์ของพุทธศาสนาคือการสนับสนุนให้มนุษย์มีสติรู้ทันจิตใจตนเพื่อแสวงหาความจริงของชีวิต (Briones, 2008, หน้า 4-6) ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอยู่ที่การมีสติรับรู้ถึงจิตใจของตนเองเพื่อให้เราไม่หลงผิดที่จะกระทำ พูดหรือคิดในสิ่งที่ไม่ดี ละเว้นจากการสร้างทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นการที่ใครจะชอบสิ่งใด อยากเป็นสิ่งใด เคยละเมิดใคร ล้วนเป็นสิ่งที่เจ้าของการกระทำนั้นควรสนใจ ไม่ใช่ปัญหาของเราที่จะต้องไปรู้สึกโกรธแค้นหรือรังเกียจใครเพียงเพราะเขามีรสนิยมทางเพศแบบหนึ่ง มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบหนึ่ง หรือแม้แต่ว่าชาติที่แล้วเขาจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม

เป้าหมายหลักของพุทธศาสนาอยู่ที่การเข้าสู่สภาวะที่หลุดพ้นจากสังสารวัฏหรือวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด (Wawrytko, 2009, หน้า 305) การเกิดอาจนำไปสู่การให้นิยามการให้ความหมายว่าใครดีหรือไม่ดี แต่เมื่อปลายทางของพุทธศาสนาอยู่เหนือการเกิดและการตาย ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่มีอัตลักษณ์ใดๆ ทำไม “การมองแบบพุทธ” ที่คนในสังคมไทยหลายคนยึดถือถึงได้ให้คุณค่าแก่อัตลักษณ์ที่เราสมมติกันขึ้นมา? ทั้งๆ ที่บ่อยครั้งเรามักพูดกันชินปากว่าพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อการมีสติอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้วทำไมผลกรรมจากอดีตชาติจึงถูกยกขึ้นเมื่อเพื่อตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดี ตัดสินว่าใครสามารถบรรลุธรรมได้หรือไม่ได้? เราคุ้นเคยกับแนวคิดที่พูดเสมอว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา แม้แต่ร่างกายของเราเองก็บังคับไม่ให้แก่ตัวและเสื่อมถอยตามเวลาได้ วันหนึ่งเราก็ต้องจากร่างกายนี้ไปและขาดอำนาจในการควบคุมสังขารนี้ในที่สุด เรามักพูดเสมอๆ ว่าศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ ไม่ว่าจะสูงส่งแค่ไหนย่อมเป็นของนอกกาย ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ แล้วด้วยสาเหตุใดพุทธศาสนิกชนจึงควรให้ความสำคัญต่ออวัยวะที่อยู่ระหว่างขาและคุณสมบัติความเป็นชายแท้ที่ไม่จีรังยั่งยืน? อวัยวะเพศชายและความเป็นชายนั้นยิ่งใหญ่ถึงขนาดบังคับกฎธรรมชาติและขับเคลื่อนจักรวาลได้เช่นนั้นจริงหรือ?

พุทธศาสนานั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แบ่งเป็นขาวดำอย่างชัดเจน การหาคำตอบนั้นย่อมคำนึงถึงเงื่อนไขธรรมชาติของแต่ละบุคคลและในแต่ละสถานการณ์ ศาสนาพุทธไม่ได้ให้ฐานข้อบัญญัติที่สนับสนุนให้ผู้นับถือตัดสินว่าใครถูกหรือผิด พระโคตมพุทธเจ้าเองยังตรัสไว้ว่า พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ทางที่เหมาะสมให้กับผู้อื่นเท่านั้น พระองค์ไม่มีสิทธิบังคับให้ใครทำตามที่พระองค์ต้องการและตัดสินว่าใครดีหรือเลว (Briones, 2008, หน้า 4, 6) จากความเข้าใจของผมที่มีต่อพุทธศาสนา มนุษย์ทุกคนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ล้วนมี “กรรม” และ “บุญ” ของตนเอง ผมจึงคิดว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะประเมินว่าใครมีบุญกรรมมากหรือน้อยกว่าใคร เพียงแต่บุญกรรมเรามีความแตกต่างกัน ไม่ใช่เฉพาะที่ปริมาณแต่อาจรวมไปถึงประเภทด้วย การสร้างมาตรฐานเพียงมาตรฐานเดียวในการตัดสินว่าผู้ที่เดินเส้นทางนี้เป็นบุคคลที่ดี ผู้ที่ไม่ได้เดินเส้นทางนี้เป็นคนที่ชั่ว ถือเป็นการสร้างมาตรฐานที่มองข้ามไปว่าโดยธรรมชาตินั้นแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน เส้นทางที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันออกไป จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า “ชายจริงหญิงแท้” ที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีบุญกว่าจะเกิดมามีความสุขกว่า “เพศที่สาม” เสมอ ความรักต่างเพศก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปมากกว่าหรือน้อยกว่าความรักร่วมเพศ การแต่งตัวตรงตามเพศก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากหรือน้อยกว่าคนที่แต่งตัวข้ามเพศ ผมเชื่อว่าความสุขและความสำเร็จย่อมอยู่ที่ตัวบุคคลนั้นๆ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาจะมีอัตลักษณ์ใด

ผมขอกล่าวจบบทความนี้ไว้ว่า ผมเองคงไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดมาพิสูจน์ว่าผู้ชายนั้นมีบุญกว่าผู้หญิงและเพศที่สามจริงหรือไม่ ผมทำได้ดีที่สุดคือการตั้งคำถามต่อความเชื่อบางชุดที่สังคมไทยพยายามบอกว่านี่คือ “พุทธศาสนา” ทั้งๆ ที่บางความเชื่อกลับขัดแย้งกับแก่นของศาสนาพุทธ ผมไม่สามารถบอกได้ว่ากรรมร้อยละเท่าไร บุญร้อยละเท่าไรที่จะทำให้คนเกิดมาเป็นพุทธศาสนิกชนเพศชายเพื่อจะได้พ้นทุกข์ในชาติต่อๆ ไปได้ ผมไม่มีญาณวิเศษที่จะบอกได้ว่าชนกลุ่มน้อยทางเพศทำอะไรที่มันเลวร้ายมากนักในอดีต คำตอบเหล่านี้ล้วนอยู่เหนือความสามารถของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่จากความเข้าใจอันน้อยนิดที่มีต่อจักรวาลอันยิ่งใหญ่นี้ ผมได้เรียนรู้ว่าอัตลักษณ์ต่างๆ ที่สังคมสร้างขึ้นเป็นแค่เปลือกที่ทำให้เรามองกันและกันอย่างบิดเบี้ยวเท่านั้น จริงอยู่ที่เราทุกคนมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติและสังคม แต่อัตลักษณ์และค่านิยมต่างๆ กลับซ่อน “ความเหมือน” จากสายตาของพวกเรา เราทุกคนต่างต้องการอากาศ น้ำ และอาหารเช่นเดียวกัน เราทุกคนหัวเราะได้ร้องไห้ได้ เจ็บปวดถ้าหากถูกทำร้าย ไม่พอใจถ้าหากถูกละเมิด ไม่ว่าเราจะเพศอะไร สีผิวอะไร ชนชั้นอะไร หรือนับถือศาสนาใด เราทุกคนต่างอยู่ใต้กฎธรรมชาติกฎเดียวกัน คือ เราทุกคนผ่านการเกิดและสักวันจะต้องเผชิญกับความตาย ไม่มีใครที่ได้รับการยกเว้นกฎนี้ได้หากวันหนึ่งมนุษย์สามารถมองตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริงที่อยู่เหนือการตีความทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และอคติอื่นๆ ได้แล้ว เราจะพบว่าความสูงส่ง ความต่ำต้อย ความรัก ความเกลียด มิตร ศัตรู ไม่ถาวร คาดเดาไม่ได้ และไม่สามารถรักษาสภาวะนั้นไว้ได้ตลอดไป วันหนึ่งเราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เปลือกนอกของเราหลุดลอกออกเหลือไว้แค่ “ความว่างเปล่า” ที่ทุกสรรพสิ่งมีร่วมกัน และในความว่

(ต่อ)

ผมขอกล่าวจบบทความนี้ไว้ว่า ผมเองคงไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดมาพิสูจน์ว่าผู้ชายนั้นมีบุญกว่าผู้หญิงและเพศที่สามจริงหรือไม่ ผมทำได้ดีที่สุดคือการตั้งคำถามต่อความเชื่อบางชุดที่สังคมไทยพยายามบอกว่านี่คือ “พุทธศาสนา” ทั้งๆ ที่บางความเชื่อกลับขัดแย้งกับแก่นของศาสนาพุทธ ผมไม่สามารถบอกได้ว่ากรรมร้อยละเท่าไร บุญร้อยละเท่าไรที่จะทำให้คนเกิดมาเป็นพุทธศาสนิกชนเพศชายเพื่อจะได้พ้นทุกข์ในชาติต่อๆ ไปได้ ผมไม่มีญาณวิเศษที่จะบอกได้ว่าชนกลุ่มน้อยทางเพศทำอะไรที่มันเลวร้ายมากนักในอดีต คำตอบเหล่านี้ล้วนอยู่เหนือความสามารถของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่จากความเข้าใจอันน้อยนิดที่มีต่อจักรวาลอันยิ่งใหญ่นี้ ผมได้เรียนรู้ว่าอัตลักษณ์ต่างๆ ที่สังคมสร้างขึ้นเป็นแค่เปลือกที่ทำให้เรามองกันและกันอย่างบิดเบี้ยวเท่านั้น จริงอยู่ที่เราทุกคนมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติและสังคม แต่อัตลักษณ์และค่านิยมต่างๆ กลับซ่อน “ความเหมือน” จากสายตาของพวกเรา เราทุกคนต่างต้องการอากาศ น้ำ และอาหารเช่นเดียวกัน เราทุกคนหัวเราะได้ร้องไห้ได้ เจ็บปวดถ้าหากถูกทำร้าย ไม่พอใจถ้าหากถูกละเมิด ไม่ว่าเราจะเพศอะไร สีผิวอะไร ชนชั้นอะไร หรือนับถือศาสนาใด เราทุกคนต่างอยู่ใต้กฎธรรมชาติกฎเดียวกัน คือ เราทุกคนผ่านการเกิดและสักวันจะต้องเผชิญกับความตาย ไม่มีใครที่ได้รับการยกเว้นกฎนี้ได้หากวันหนึ่งมนุษย์สามารถมองตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริงที่อยู่เหนือการตีความทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และอคติอื่นๆ ได้แล้ว เราจะพบว่าความสูงส่ง ความต่ำต้อย ความรัก ความเกลียด มิตร ศัตรู ไม่ถาวร คาดเดาไม่ได้ และไม่สามารถรักษาสภาวะนั้นไว้ได้ตลอดไป วันหนึ่งเราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เปลือกนอกของเราหลุดลอกออกเหลือไว้แค่ “ความว่างเปล่า” ที่ทุกสรรพสิ่งมีร่วมกัน และในความว่างเปล่านั้นอัตลักษณ์ย่อมไม่มีความหมาย

-----------

อ้างอิง

Baumeister R. F. and Twenge J. M., (2002). Cultural Suppression of Female Sexuality, Review of    General Psychology, 6(2), 166-203.

Briones W., (2008). Equality for All, Wheel of Dharma, 34(11), 2-6.

Jackson P. A. (1995). Thai Buddhist Accounts of Male Homosexuality and AIDS in the 1980s,          The Australian Journal of Anthropology, 6(3), 140-153.

Morris R. C. (1994). Three sexes and four sexualities: Redressing the discourses on gender       and sexuality in contemporary Thailand, Positions, 2(1), 15-43.

Theodore P. S. and Basow S. A. (2000). Heterosexual Masculinity and Homophobia: A Reaction      to the Self?, Journal of Homosexuality, 40(2), 31-48.

Waarytko S. A. (2009). Buddhism: Philosophy beyond Gender, Journal of Chinese Philosophy,       36(2), 293-312.

Wilson J. (2012) All Beings Are Equally Embraced By Amida Buddha: Jodo Shinshu Buddhism          and Same-Sex Marriage in the United States, Journal of Global Buddhism, 13, 31-59.

Winter S. (2011). Transpeople (Khon Kham-Phet) in Thailand: transprejudic, exclusion, and the       presumption of mental illness. In Peter A. Jackson (Ed.), Queer Bangkok: 21st century       media, market and rights (pp. 251-267). Hong Kong University Press


.... ตามมาให้กำลังใจ น้องชาย ค่ะ ......


        


มาเรียนรู้และพบบทความที่เป็นสาระในการเข้าใจกับเพศที่สามค่ะ

กิจกรรมที่ดีนะนี่และทำให้พี่ได้ฉุกคิดขึ้นมาว่าลูกชายพี่ก็ย่างเข้า15ปีแล้วนี่นะเราเตรียมอะไรไว้ป้องกันรึยังล่ะเนี่ยะ

ภาพสุดท้ายเหมือน "มวยหมิ่น" ของทางเหนือเลยนะครับ  

เพียงแต่ "มวยหมิ่น" จะคล้ายๆ กับการชกมวย

แต่ก็ดำเพราะผงถ่านเหมือนกันนะครับ  555

เยี่ยมมากเลยครับ ขำภาพสุดท้ายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท