มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ ตอนที่ 1 ปรัชญาของเฮเกล


เมื่อวันก่อน ผมได้เขียนมานุษยวิทยามาร์กซิสต์ ซึ่งได้รวบรวมหลักการเกี่ยวกับมาร์กซิสต์ที่นำมาใช้ในมานุษยวิทยา แต่ผมเห็นว่าในช่วงนี้ มาร์กซิสต์เริ่มมีชื่อเสียงหรือมีการตีความใหม่ๆขึ้นในประเทศไทย จริงๆแล้วมาร์กเป็นนักสังคมวิทยาหรือนักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของโลก (นอกจากจะเป็นนักเศรษฐศาสต์การเมืองที่มีชื่อเสียง)  ผมจึงอยากจะแนะนำสังกัปทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่นำมาใช้ในมาร์กซิสต์ เริ่มจากปรัชญาของเฮเกลก่อนนะครับ

ปรัชญาของเฮเกล

ปรัชญาของเฮเกล คือ ลัทธิจิตนิยม (idealist) เฮเกลเชื่อว่า สิ่งที่เป็นความจริงจะต้องมีลักษณะสมบูรณ์ทั่วด้าน ที่เรียกว่า จิตสัมบูรณ์ (absolute spirit ) จิตสมบูรณ์นี้คือตัวตนสมบูรณ์ ครอบงำสรรพสิ่ง และเป็นสิ่งตรงข้ามกับโลกความเป็นจริงที่มนุษย์เห็นอยู่โดยทั่วไป หรือสัมผัสได้

อำนาจจิตของมนุษย์คือสิ่งที่สร้างประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์ของมนุษย์เกิดเพราะความขัดแย้งของ จิต (mind) ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่ธรรมชาติภายนอก จิตจะมีผลต่อการกระทำ โดยการกระทำนั้นๆเกิดขึ้นตามหลักการทางตรรกศาสตร์หรือหลักเหตุผล ดังนั้นโลกจึงก้าวไปข้างหน้าด้วยการกระทำอันมีผลมาจากจิตหรือความคิด ความขัดแย้งใดๆจึงเป็นความขัดแย้งในเรื่องของความคิด ทุกๆความขัดแย้งส่งผลให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งเชิงคุณภาพและเหตุผล ประวัติศาสตร์ทั้งหมดจึงคือประวัติศาสตร์ของความคิด และ พลังที่ผลักดันประวัติศาสตร์คือเหตุผล แต่อารมณ์ที่ดูไร้เหตุผลก็มีอิทธิพลต่อการใช้เหตุผลของมนุษย์ เพียงแต่มนุษย์ก็จะไม่สามารถใช้อารมณ์ตัดสินทุกสิ่งเพราะเหตุผลคอยควบคุมอารมณ์เอาไว้ ความคิดดังกล่าวนี้เฮเกลเรียกว่าวิภาษวิธี

คำว่าวิภาษวิธี หมายถึงการดำเนินการอภิปรายหรือโต้วาทีเป็นกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การตระหนักรู้อย่างแจ่มแจ้งถึงข้อจำกัดของเหตุผล  โดยทั่วไปการเคลื่อนไหวทางความคิดในลักษณะนี้มักจะดำเนินไปใน  2 รูปแบบ  คือ 1.   เพื่อปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดอื่นเป็นหลัก  โดยเป็นวิธีการเชิงปฏิเสธและหักล้าง 2.เพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดของผู้นำเสนอ  โดยพยายามหาบทสรุปหรือเป้าหมายที่เป็น  สัจธรรมเนื่องจากเฮเกลเป็นพวกจิตนิยม ก็เลยตั้งวิภาษวิธีนี้ว่าจิตนิยมวิภาษวิธี

จิตนิยมวิภาษวิธีที่เฮเกลนำเสนอนั้นมีใจความว่า จิต หรือ ตัวตนสมบูรณ์ นี้แสดงออกในรูปของความขัดแย้ง 2 ด้าน คือ ด้าน สนับสนุน และ ด้านปฏิเสธ ด้านหนึ่ง เป็นบทเสนอ (thesis) ส่วนอีกด้านหนึ่ง เป็นบทแย้ง (antithesis) และวิวัฒนาการการต่อสู้ระหว่าง 2 ด้านที่ขัดแย้งนี้เอง จะนำมาสู่การพัฒนาของสิ่งใหม่ ที่จะเรียกว่า บทสรุป (synthesis) และบทสรุปนี้ก็จะกลายเป็นบทเสนอ (thesis) ใหม่ ก่อให้เกิดบทแย้ง (antithesis) ใหม่ และนำมาสู่บทสรุป (synthesis) ใหม่ ไปจนสิ้นสุดกระบวนการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความเป็น จิตสมบูรณ์อันแท้จริง

เฮเกลเสียชีวิตในปีค.ศ. 1831 เขาเป็นคนเชื่อว่าลำดับการวิภาษทางประวัติศาสตร์นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และสังคมปรัสเซีย ที่ถึงพร้อมด้วยการบริการพลเมือง มหาวิทยาลัยที่ดีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม และอัตราการจ้างงานที่สูง เป็นผลสรุปของการพัฒนาการทางสังคมดังกล่าว กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ที่มาร์กซ์สังกัดอยู่ด้วยนั้นเชื่อว่ายังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบวิภาษอีก และสังคมปรัสเซียในขณะนั้น ยังมีความไม่สมบูรณ์อีกมาก ทั้งนี้เนื่องจากสังคมยังมีความยากจน รัฐบาลยังคงใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มแข็ง และกลุ่มคนที่มิได้นับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเธอร์ยังคงโดยกีดกันทางสังคม

นอกจากนี้เฮเกลยังเชื่ออีกว่าทิศทางของประวัติศาสตร์นั้นสามารถพิจารณาได้เป็นช่วง ๆ ที่มีเป้าหมายไปสู่ความสมบูรณ์และจริงแท้ เขากล่าวว่าหลายครั้งพัฒนาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็อาจมีบางช่วงที่ต้องมีการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงผู้ที่อยู่ในอำนาจเดิม มาร์กซ์ยอมรับภาพรวมของประวัติศาสตร์ตามที่เฮเกลเสนอ อย่างไรก็ตามเฮเกลนั้นเป็นนักปรัชญาแนวจิตนิยม ส่วนมาร์กซ์นั้นต้องการจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในรูปของวัตถุ เขาได้เขียนว่านักปรัชญาสายเฮเกลนั้นวางความเป็นจริงไว้บนหัว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจับมันให้วางเสียใหม่บนเท้าของตนเอง ในการยอมรับวิภาษวิธีเชิงวัตถุ ซึ่งเป็นการปฏิเสธแนวคิดแบบจิตนิยมของเฮเกลนั้น มาร์กซ์ได้รับอิทธิพลมาจาก ลุกวิก ฟอยเอร์บาค (Ludwig Feuerbach)  ในหนังสือ "The Essence of Christianity" ฟอยเออร์บาคได้อธิบายว่าพระเจ้านั้น คือผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ และคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ผู้คนยกย่องพระเจ้านั้น แท้จริงแล้วเป็นคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์นั่นเอง. มาร์กซ์ยอมรับแนวคิดเช่นนี้ และได้อธิบายว่า โลกวัตถุนั้นเป็นโลกที่แท้จริง ส่วนแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกวัตถุ แม้ว่ามาร์กซ์จะเชื่อเช่นเดียวกับเฮเกิลและนักปรัชญาคนอื่น ๆ ในการแบ่งแยกโลกที่ปรากฏกับโลกที่แท้จริง เขาไม่เชื่อว่าโลกวัตถุนั้นจะซ่อนโลกที่แท้จริงทางจิตเอาไว้ ในทางกลับกัน มาร์กซ์ยังเชื่อว่าุอุดมการณ์ที่ถูกสร้างผ่านทางประวัติศาสตร์และกระบวนการสังคมนั้น เป็นสิ่งที่ปิดบังไม่ให้ผู้คนเห็นสภาพทางวัตถุที่แท้จริงในชีวิตของพวกเขา  ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงแนวคิดของเฮเกลของมาร์กซ์ คือ หนังสือที่เขียนโดยฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) ชื่อว่า "The Condition of the Working Class in England in 1844" (สภาพของชนชั้นกรรมาชีพในอังกฤษในปี 1844) หนังสือเล่มนี้ทำให้มาร์กซ์มองวิภาษวิธีเชิงประวัติศาสตร์ออกมาในรูปของความขัดแย้งระหว่างชนชั้น  และมองเป็นว่าชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่จะเป็นแรงผลักดันที่ก้าวหน้าที่สุดสำหรับการปฏิวัติ

หนังสืออ้างอิง

ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้. แนวคิดสังคมนิยม คาร์ล มาร์กซhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=595137 เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

จักวัน แก้วจันดา, กนิษฐา หอมกลิ่น, ประภัสสรา คงศรีวรกุลชัย. เกออร์ก เฮเกล http://www.baanjomyut.com/library_2/socialist_and_communist_zionist/01.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.คาร์ล มาร์กซ์. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A5_%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B9%8C เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ลัทธิมาร์กซ์ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B9%8C เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

อรทัย ปิ่นเกตมณี.วัตถุนิยมประวัติศาสตร์.http://firelamtung.com/index.php?option=com_content&view=article&id=18&catid=1&Itemid=19 เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

หมายเลขบันทึก: 534177เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2013 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2014 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คิดถึงตอนเรียนปรัชญาเบื้องต้นจริงๆ.....แต่ละกระบวนการคิดมีวิธีการ ทั้ง ออกัวก้อง เดริดา ...หรือ....ท่านอื่นๆ ขอบคุณครับ..

ตอนที่ผมเรียนก็เป็นชั้นปี 1 เหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท