จาก "ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองด้านอาหารและพลังงาน" ถึง "บ้านเห็ดศรีวิชัย"


    เมื่อผมอพยพออกจากกรุงเทพฯไปอยู่บ้านเกิดที่ไชยา หลังจากใช้ชีวิต ทำหน้าที่การงาน สั่งสมประสบการณ์อยู่ในเมืองหลวงกว่า 30 ปี มีเรื่องชวนให้คิดและทำมากมายครับ


    แม้ชีวิตส่วนตัวผมเหมือนถูกโจรปล้น 2 ครั้ง และแถมด้วยไฟไหม้บ้านอีกหนึ่งครั้ง จนไม่มีอะไรเหลือในทางวัตถุ แต่ผมก็ออกจากกรุงเทพฯไปด้วยรอยยิ้ม ไม่ได้อาลัยในอดีต หรือวิตกกังวลต่ออนาคต ยังคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตที่เหลือนั้น "อยู่อย่างเย็น และ เป็นประโยชน์" ให้ได้มากๆ หากจะทำอะไรเพียงเพื่อตัวเอง ก็คงไม่ต้องวุ่นวายอะไรมาก เพราะผมอยู่ง่าย กินง่าย และมีความรู้ มีทักษะในการทำงานหลายๆด้าน เพียงพอที่จะไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีอยู่มีกิน  แต่การมีกิน มีใช้อย่างสะดวกสบาย ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตนี่ครับ ผมก็เลยมีเรื่องให้คิดให้ทำไม่รู้จักจบ ยิ่งเห็นผู้คนในสังคมหลงทางกันมากๆ ก็ยิ่งมีเรื่องให้คิดว่าจะเข้าไปอยู่ตรงไหน เพื่อช่วยอะไรได้บ้าง แรกๆจึงไม่ปฏิเสธเมื่อใครเชิญชวนให้เป็นที่ปรึกษา เป็นวิทยากรไปบรรยาย-จัดฝึกอบรม หรือเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ โรงเรียน วัด ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ชมรมพุทธศาสน์ ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอาวุโส เป็นต้น  แต่หลายจุดที่ได้เข้าไปสัมผัส พบว่าระบบคิดแบบเดิมยังมีอยู่เหนียวแน่น ยากแก่การรื้อถอน หรือปรับเปลี่ยน จึงต้องถอยห่างออกมาเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเปลืองแรง เปลืองเวลาโดยไม่เกิดประโยชน์ ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ความถูกต้อง ผิดพลาดกันไปก่อน


  สิ่งที่ผมมองเห็นชัดเจนโดยเฉพาะในสังคมคนภาคใต้ก็คือ "การร่ำรวยรวดเร็วอย่างน่าเป็นห่วง" ผ่านการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ คือป่าเขา ดิน และน้ำ พืชเศรษฐกิจสองชนิดที่มารุกไล่ทุกสิ่งทุกอย่างออกไปก็คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพราะเป็นพืชทำเงินให้กับผู้คนจำนวนมากมาย เมื่อเงินมาง่าย อะไรๆก็ง่ายไปหมด ง่ายจนมีความ "มักง่าย" เข้ามาสู่แต่ละชีวิตและครอบครัวโดยไม่รู้ตัว คนใช้เงินแบบฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยมีให้เห็นทั่วไป เมื่อใส่ทองเส้นใหญ่ๆแล้วยังไม่พอก็แข่งกันสร้างบ้านเรือนใหญ่โตราวคฤหาสน์ โดยไม่สนใจว่าเหมาะกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนหรือไม่ การพนันและยาเสพติดมีแพร่หลายมาก การออกแรงทำอะไรให้ต้องเสียเหงื่อดูจะเป็นเรื่อง "ควรละเว้น" แม้กระทั่งการปลูกพืชผักสวนครัวกิน มักจะมาลงตรงที่ "ซื้อเอาสะดวกกว่า" ทั้งๆที่พืชผักที่ซื้อหามานั้นล้วนเคลือบพิษมาให้ด้วยเป็นส่วนมาก


  ด้านเด็กๆเยาวชนนั้นเล่าก็ "สบายเสียจนน่าสงสาร"  พ่อแม่สร้างสวนยาง สวนปาล์ม ขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ โดยใช้แรงงานมอญ-พม่าเป็นผู้ทำ ส่วนลูกหลานส่วนมากทำหน้าที่ "ผลาญเงินแข่งกัน" รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ป้ายแดงแน่นขนัดไปทุกครั้งที่มีงานเช่นงานบุญงานบวช โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ราคาแพงแพร่ไปสู่เยาวชนง่ายและ เร็วอย่างน่าตกใจ สรุปรวมว่าพวกเขาต่างตั้งอยู่ในความประมาทอย่างน่าเป็นห่วงยิ่งนัก


  ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ผมจึงกระเสือกกระสนเพื่อทำอะไรบางอย่าง เพื่อจุดประกายให้คนหันมามอง และเริ่มคิดอะไรใหม่ๆกันบ้าง โดยมีเป้าหมายที่ครู นักเรียนและชาวบ้านทั่วๆไป  ผมรู้ว่าอีกไม่นาน ความเดือดร้อนมากมายจะมาถึงผู้คนที่ตั้งอยู่ในความประมาทเหล่านั้น เนื่องจากพวกเขาเป็น "นักเสวยผล" โดยไม่รู้จักการ "สร้างเหตุ" ที่ถูกต้อง คู่ควร ทั้งเรื่องอาหารที่สะอาดปลอดภัย และการขาดแคลนพลังงาน จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่พูดอย่างไรก็เห็นมีแต่คนฟังและพยักหน้า แต่มองหาการกระทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นแสนยากเย็น นั่นคือที่มาของความคิดการทำ "ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองด้านอาหารและพลังงาน" ที่ผมถลำตัวด้วยการยืมเงินพี่สาว 1.2 ล้านบาทซื้อที่นาเก่าขนาด 3 ไร่ 1 แปลงไปเรียบร้อยแล้ว โดยมุ่งมั่นจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองให้ได้มาก ที่สุดไปตามลำดับ ขณะเดียวกันก็จะเป็นแหล่งแสดงให้เห็นความพยายามในการนำพลังงานธรรมชาติเช่น แสงแดดและแรงลมมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อการพึ่งตนเองให้ได้ทั้งเรื่องอาหารและพลังงาน พร้อมๆกันนั้นเราจะปลูกไม้ยืนต้นที่หลากหลาย เพื่อเรียกป่ากลับคืนมาเท่าที่จะทำได้ในที่แคบๆแปลงนั้น


  พูดถึงเรื่องอาหาร การเพาะเลี้ยงเห็ด เป็นเรื่องที่ผมสนใจใคร่รู้มานาน แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ จนกระทั่งมีกัลยาณมิตรคือคุณตฤณ  ตัณฑเศรษฐี ลงทุนซื้อุปกรณ์ชุด ULEM และขับรถพาผมไปที่สวนป่า มหาชีวาลัยอีสานของครูบาสุทธินันท์ เพื่อให้ศึกษาและทดลองติดตั้ง ทำให้ผมได้รู้จัก ULEM เป็นครั้งแรก และได้คิดดัดแปลงพัฒนาระบบควบคุมและจ่ายพลังงานให้ ULEM หลายรุ่น หลายแบบในเวลาต่อมา ผมเผยแพร่แบ่งปันความรู้และผลงานไปสู่บุคคลในเครือข่ายมา 3-4 ปี ก็ยังเป็นที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง ULEM ทำให้ผมได้รู้จักและพูดคุยกับท่าน รศ.ดร.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ ผู้คิดค้น ULEM ได้สัมผัสความดีงาม ความน่าเคารพศรัทธาในตัวท่านอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ ULEM ยังชักนำให้ผมได้รู้จัก อ.ทวียศ ศรีสกุลเมฆี ที่ทำหน้าที่ค้นคว้าพัฒนา ULEM อย่างชนิด "กัดไม่ปล่อย"


  การประยุกต์ใช้ ULEM ที่อ.ทวียศทำ และโดนใจผมที่สุดก็คือการใช้ในโรงเพาะเลี้ยงเห็ดแบบอัตโนมัติ ซึ่งอาจารย์ทำมาจนเป็นเจ้าพ่อเรื่องเห็ดไปแล้วในปัจจุบัน  ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อมีการเชิญชวนไปร่วมงานวันเปิดศูนย์เรียนรู้บ้านเห็ด ที่บางขุนเทียน ผมจึงตัดสินใจขับรถไปเองจากไชยา ระยะทางกว่า 600 กม. เพื่อร่วมงานดังกล่าวทั้งๆที่ผมกับอ.ทวียศยังไม่เคยพบกันมาก่อนเลย ซึ่งผมก็ได้พบท่านอาจารย์ปองวิทย์และคุณแม่ของท่านด้วยในวันเดียวกัน


  ผมตั้งใจมั่นว่าจะนำความรู้ ความจริงเรื่อง "บ้านเห็ด" ของอ.ทวียศ ไปเผยแพร่เพื่อขยายผลให้ได้ แต่ก็ใช้เวลามาค่อนข้างนาน เหตุเพราะผมต้องทำอะไรอีกหลายอย่างทั้งเรื่องส่วนตัวและประเภท "คุณขอมา" จนมาถึงวันนี้ผมเห็นว่าเรื่อง "โรงเห็ดอัตโนมัติ" และอีกหลายๆเรื่องของอ.ทวียศ แห่งศูนย์การเรียนรู้บ้านเห็ด เป็นสิ่งที่ผมไม่จับไม่ได้แล้ว โดยมุ่งที่จะลองทำเอง แสดงให้ผู้คนเห็น และชักชวนให้เขาลองทำ ขยายวงไปเรื่อยๆ  ผมเชื่อว่าเมื่อทำเรื่องเห็ด นอกจากคนทำจะได้อาหาร ได้เงินแล้ว ของแถมที่มีค่ามากอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาคน นั่นคือลูกหลานเราจะได้มีเรื่องดีๆทำ ได้เรียนรู้ธรรมชาติ ได้ความภาคภูมิใจ ได้เป็นนักสังเกต รู้จักการอดทนรอคอย เป็นคนรักการเรียนรู้ ฯลฯ โดยสามารถปลีกตัวออกมาจากการไม่ลืมหูลืมตา เล่นแต่เกมส์ทั้งวัน หรือหมกมุ่นอยู่กับเรื่องไร้สาระอื่นๆ


  ด้วยความคิดความเชื่อดังกล่าวมาทั้งหมด ผมจึงขอมี "บ้านเห็ด" ด้วยอีกคน และโดยที่เมืองไชยานั้นเชื่อกันว่าเคยเป็นศูนย์กลางแห่งความรุ่งเรืองทางพระ พุทธศาสนา ตั้งแต่ครั้งยังเป็นอาณาจักรศรีวิชัย หลายท่านยังเรียกไชยาว่า "ศรีวิชัย" บ้านเห็ดของผมจึงกลายเป็น "บ้านเห็ดศรีวิชัย" ด้วยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 533813เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2013 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2013 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ  

                ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องดี ๆ  ครับ     น่าสนใจในเนื้อหามากครับ  ประการแรกคือเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นเคยนั่นเอง  ถ้าได้เห็นภาพบ้างน่าจะดีครับ  ขอบคุณที่แบ่งปันครับ       

ดีใจที่ได้ทราบข่าวจากพี่บ่าว  รอศึกษาเรียนรู้ต่อครับ...

ขอบคุณครับน้องบ่าว  คิดถึง ไม่ได้เจอกันนานแล้วนะ


อาจารย์บรรยายได้เห็นภาพปัญหาในภาคใต้ตอนนี้ชัดเจนมากเลยครับ ที่น่าคิดก็คือปัญหาเหล่านี้หลายคน (รวมถึง "นักวิชาการ" โดยส่วนใหญ่) มองว่าไม่ใช่ปัญหาครับ

ผมชื่นชมอาจารย์ในการทำ "ศูนย์เรียนรู้ฯ" มากเลยครับ ที่จริงแล้วภาคใต้เรานั้นสมบูรณ์มาก ปลูกอะไรก็ขึ้นงดงามกินกันไม่ทัน ผมเองก็อยากทำสวนสบายๆ สักแห่งเหมือนกันครับ แต่ที่ดินแถวหาดใหญ่นี้นั้นแพงเหลือเกิน ถ้าไปซื้อที่ดินไกลกว่านี้ก็ลำบากในการดูแลครับ

ชื่นชมความคิดของอาจารย์มาก ๆ จ้ะ  ขอเป็นกำลังใจให้

ผมเพิ่งได้มาอ่านบทความ โดยบังเอิญ พอดีจะหาวิธีซ่อมเตาไมโครเวฟเอง เลยได้อ่านบทความอื่นๆ

ที่อาจารย์ เขียนไว้ ถือเป็นเรื่่องดีๆ ที่อยู่ในใจผมแทบทุกเรื่อง อยากจะทำแต่ไม่ได้ทำซักทีด้วยเหตุผลหลายอยาง จนเวลาผ่านไปเรื่อยๆ บทความของอาจารย์ ช่วยจุดประกาย ไฟที่กำลังจะมอดดับชึ้นมาอีกครั้ง ขอบคุณครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท