เดี๋ยวนะครับ.....แม่


 ใครที่มีลูกโตสักหน่อย  อาจเคยเจอกับเหตุการณ์ประมาณนี้ 

แม่  ดีโด้ครับ  ช่วยไปหยิบน้ำมันหอยในตู้เย็นให้แม่หน่อยครับ   (ปัจจุบันจะ 6 ขวบแล้วค่ะ)

แม่กำลังทำกับข้าวและลืมหยิบน้ำมันหอยออกมาด้วย มารู้ตัวตอนทุกอย่างลงกระทะหมดแล้ว  จึงขอความช่วยเหลือจากลูกชายคนดี ซึ่งก่อนหน้านี้ ส่วนมากแม่พูดแค่นี้ ก็จะกุลีกุลจอมาหยิบให้ทันที  เรียกเขาว่า พนักงานหยิบน้ำมันหอย เพราะแม่ลืมบ่อยมากฮ่าๆๆ

ลูก  ครับ 

ตะโกนตอบด้วยเสียงดัง ซึ่งขณะนั้นยังเล่นของเล่นเพลินอยู่เชียว  แต่แม่เข้ามาขัดจังหวะความสำราญ  และ หลังจากขานรับแล้วเขาก็ไม่ได้ขยับตัวมาหยิบแต่อย่างใด  แม่รออย่างใจจดจ่อ และเริ่มร้อนรน  และ

แม่  ดีโด้ครับ  น้ำมันหอยล่ะครับ แม่รออยู่นะ  เร็วหน่อยลูก  (ยังคงเป็นเสียงที่ขอความช่วยเหลือ ไม่ได้สั่งการแต่อย่างใด)

ลูก  ครับ... เดี๋ยวนะแม่ 

และน้ำมันหอยก็ยังอยู่ในตู้เย็นเช่นเดิม  เริ่มเกิดอาการร้อนใจด้วยทุกอย่างคากระทะอยู่ บวกกับหงุดหงิดลูกที่นิ่งดูดาย  ให้ช่วยแค่นี้ก็ไม่ได้ แอบเคืองลูกแบบนี้ในใจ และ

แม่  ดีโด้ แม่ขอความช่วยเหลือลูกแค่นี้ ทำให้แม่ไม่ได้ใช่ไหม  (นั่นไง อารมณ์มาล้วน ๆ )  ได้แม่ไปหยิบเองก็ได้

ปิดแก๊ส ไฟเตาแก๊สดับ  แต่ไฟในใจลุก ฮ่าๆๆๆ เดินฉับ ๆ ไปหยิบด้วยตัวเอง และงอนลูก 

ลูก  อ้าว.......แม่หยิบเองทำไม  ดีโด้บอกแล้วไงว่า เดี๋ยวจะหยิบให้  เอาขวดกลับมาคืนที่เดิมเลยนะ ดีโด้จะหยิบให้แม่เอง  (พูดด้วยอาการโวยวาย และงอแงในคราวเดียวกัน)

แม่  ไม่ต้องแล้ว  แม่ให้ช่วยแค่นี้ทำให้แม่ไม่ได้ และแม่ไม่พร้อมจะคุยกับลูกตอนนี้ (งอนลูกซะงั้น)

นี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง โกรธจริง งอนจริง ทะเลาะกันจริง ไม่ใช่แสตนอินฮ่าๆๆ  เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก เราใช้ความเข้าใจ ไม่ใช่อำนาจความเป็นแม่ครอบงำจิตใจ  “ในฐานะที่ฉันเป็นแม่ ฉันต้องสั่งได้”  ความคิดแบบนี้ทำให้ความโกรธ ความไม่พอใจ หงุดหงิดใจ ปะทุได้ง่ายกันทั้งแม่และลูก   อย่างเหตุการณ์นี้จะไม่เกิด หากแม่เข้าใจลูก ว่าลูกกำลังเล่นเพลินอยู่  ปิดแก๊สแต่แรกแล้วก็เดินไปหยิบเองจบ

ที่นี่หากลองเปลี่ยนความคิดแบบนี้ค่ะ  ตัวเราเองหากกำลังตั้งใจหรือมีสมาธิกับการทำอะไรสักอย่างอย่างใจจดจ่อ แล้วอยู่จู่ๆ ก็มีใครสักคนในครอบครัวเราเข้ามาขัดจังหวะ อาจจะเป็นขอความช่วยเหลือ  พูดคุย  หรืออะไรก็ตาม  เราจะรู้สึกอย่างไรค่ะ  เด็กเองเขาก็คิดแบบเดียวกับเรานี่แหละค่ะ  เขาอาจกำลังเล่นอยู่ ดูทีวี หรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างอยู่อย่างเพลิดเพลินแล้วเราไม่ได้ดูจังหวะเข้าไปขอร้อง หรือบอกให้เขาทำอะไร ณ ตอนนั้น และด้วยความเป็นเด็ก เขาก็อาจจะไม่มีความยับยั่งชั่งใจมากพอที่จะหยุดตัวเองได้  ยังเลือกที่จะทำตามใจตัวเองมากกว่า  ซึ่งบางทีเราก็ทำแบบนั้นจริงไหม อิอิ 

ใครที่เกิดปัญหาบอกอะไรลูกแล้วลูกไม่ทำ หรือแก้ตัวว่า “ก็ไม่ได้ยิน” ลองวิธีนี้ดูนะคะ

1.  ควรตกลงกันไว้เลยว่า หากเวลาแม่เรียก แม่อยากให้ลูกขานรับ เพื่อเป็นการยืนยันว่าลูกได้ยินแม่แล้ว  เพื่อกันข้ออ้างที่ว่า “ก็ไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่อง” 

2.  หากลูกกำลังมีสมาธิกับการทำกิจกรรมอะไรสักอย่างอยู่ ควรไปสะกิด ให้เขารู้สึกตัวก่อน และพูดในระดับสายตากันและกัน เพื่อจะได้รู้ว่าเขาจะฟังเราแน่ๆ แล้วค่อยพูด และควรมีระยะเวลาพอสมควรให้ลูกด้วย  หรือจะให้ทางเลือกเชิงบวกกับลูกก็ได้นะคะ เช่น อีก 10 หรือ 15 นาทีลูกจะ........................ให้แม่ครับ”

3.  อย่าสั่งเยอะ เอาทีละอย่าง ให้เสร็จที่ละเรื่องแล้วค่อยบอกลำดับต่อไป แต่หากโตหน่อย ก็บอกได้นะคะ เช่น เก็บจานเสร็จแล้วเช็ดโต๊ะทานข้าวด้วยนะคะลูก และอย่าลืมขอบคุณลูกทุกครั้งด้วยนะคะ

ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการเลี้ยงลูก ทุกอย่างต้องเอาไปลองใช้ ลองปรุงกันใหม่ให้เข้ากับครอบครัวของเรานะคะ


หมายเลขบันทึก: 533807เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2013 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท