กรณีศึกษา : เด็กชายเอกลักษณ์ อาโบ เด็กชาวเขาชาติพันธุ์อาข่า ไร้สัญชาติ และพิการทางสมอง


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีเด็กชายเอกลักษณ์ อาโบ เด็กชาวเขาชาติพันธุ์อาข่า ไร้สัญชาติ และพิการทางสมอง

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ซึ่งแก้ไขปรับปรุงวันที่ 22 เมษายน 2556

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

กรณีศึกษานี้เป็นเรื่องจริงที่ได้จากการลงพื้นที่อบรมและรับฟังปัญหาความด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ของหมู่บ้านแม่น้ำโขง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

---------------------------------

กรณีศึกษานี้จะใช้ในการนำเสนอเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรมภายใต้ “โครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ (Training of Hard Core Team on knowledge of the Right to legal Personality : For Networks of National Child Protection Committee)” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 – 26 เมษายน 2556 ณ โรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร

---------------------------------

เด็กชายเอกลักษณ์ อาโบ เด็กชาวเขาชาติพันธุ์อาข่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งป่วยพิการทางสมอง แขนขาอ่อนแรงจนไม่สามารถเดินเป็นปกติด้วยตนเอง เซื่องซึม สมาธิสั้น ไม่สามารถพูด ฟังและสื่อสารกับผู้อื่นได้

น้องเอกลักษณ์ เกิดนอกโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 ในบ้านเลขที่ x หมู่ xx ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เลขประจำตัวประชาชนเลขที่ 7-xxxx-xxxxx-xx-x (ปรากฏรายละเอียดตามสูติบัตร)

ครอบครัวในรุ่นปู่ย่าตายายของน้องเอกลักษณ์เป็นคนชาวเขาชาติพันธ์อาข่า ซึ่งอพยพเดินทางมาจากประเทศพม่าเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำสวนอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บิดาและมารดาของน้องเอกลักษณ์ ซึ่งทั้งบิดาและมารดาเกิดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2509 ที่บ้านแสนสนุก หมู่ที่ 9 ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย ทั้งนี้ แม้ว่าบิดาและมารดาของน้องเอกลักษณ์เกิดในประเทศไทย แต่ไม่เคยได้รับการรับรองทางทะเบียนราษฎรไทย หรือทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก

บิดาและมารดาของน้องเอกลักษณ์อยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2528 บิดาและมารดาได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย โดยอาศัยอยู่บนภูเขาห่างไกล ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อยประมาณ 40 – 50 กิโลเมตร

ในวันที่ 4 มีนาคม 2534 บิดาและมารดาได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงโดยสำนักงานทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงนับได้ว่าการจัดทำแบบพิมพ์ประวัติดังกล่าว เป็นการบันทึกรับรองตัวบุคคลทางทะเบียนของบิดาและมารดาเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาหนึ่งบิดาและมารดาได้ย้ายไปทำงานที่หมู่บ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และย้ายกลับมาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อยเช่นเดิม

ต่อมาบิดาและมารดาได้ทราบข่าวจากป้าของน้องเอกลักษณ์ ว่าตนสามารถไปยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอ เพื่อขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านและทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ (ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543) ในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 บิดาและมารดาของน้องเอกลักษณ์จึงไปดำเนินการทำหนังสือรับรองการเกิด และสำนักทะเบียนอำเภอแม่สะเรียงได้พิจารณาออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่บุคคลทั้งสองเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเกิดในประเทศไทย

ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2554 บิดาและมารดาของนายบัญชา จึงยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อขอให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 ซึ่งเมื่อนายอำเภอแม่ลาน้อยได้ตรวจสอบพยานหลักฐาน จึงฟังได้ว่าบิดามารดาของน้องเอกลักษณ์เป็นคนบนพื้นที่สูงซึ่งมีชาติพันธ์อาข่า จึงมีคำสั่งอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร บิดาและมารดาของน้องเอกลักษณ์จึงได้รับบัตรประจำตัวประชาชนในปี พ.ศ. 2555

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องเอกลักษณ์เด็กพิการทางสมอง ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2549 และได้รับการบันทึกรับรองในสูติบัตร (ทร.3) ประเภทบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะชั่วคราว ต่อมาเมื่อน้องเอกลักษณ์ไม่ได้รับการแจ้งชื่อเพื่อขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านและทำบัตรประจำตัวประชาชนไปพร้อมกับบิดามารดาในปี พ.ศ. 2554 ดังนั้น ปัจจุบันหลักฐานของน้องเอกลักษณ์จึงปรากฏเพียงรายละเอียดตามสูติบัตร กล่าวคือ

(1) ระบุสถานะที่เกิดว่า “บ้านเลขที่ x หมู่ xx ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่”

(2) ระบุวันเกิดว่า “28 สิงหาคม 2549”

(3) ระบุสัญชาติว่า “ไม่ได้สัญชาติไทย” และ

(4) ระบุว่า บิดามารดาเป็นคน “สัญชาติอาข่า”

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

1. ปัจจุบันน้องเอกลักษณ์มีสถานะบุคคลตามกฎหมายอย่างไร?

2. การที่บิดาและมารดาของน้องเอกลักษณ์ถูกบันทึกตามสูติบัตรว่าเป็นคน “สัญชาติอาข่า” ส่งผลให้น้องเอกลักษณ์มี “สิทธิในสัญชาติอาข่า” ด้วยหรือไม่ อย่างไร?

3. น้องเอกลักษณ์มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร?

4. แนวทางการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติของน้องเอกลักษณ์เป็นอย่างไร?

5. ใครเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติของน้องเอกลักษณ์บ้าง?

6. แม้ปัจจุบันน้องเอกลักษณ์ถูกบันทึกว่าเป็น “คนไม่มีสัญชาติไทย” น้องเอกลักษณ์มีสิทธิตามกฎหมายประการใดบ้าง

7. สิทธิตามกฎหมายประการใดที่ต้องส่งเสริมให้น้องเอกลักษณ์เข้าถึงสิทธิได้เป็นอันดับแรก และใครเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมสิทธินั้น


หมายเลขบันทึก: 533639เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013 02:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2013 02:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท