ปราสาทเขาพระวิหาร ตอนที่ 6 ทัศนะของศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สมปอง สุจริตกุล


      ศ. ดร. สมปอง สุจริตกุล กล่าวว่า ปัญหาเรื่องปราสาทเขาพระวิหารเป็นปัญหาเรื่องเขตแดน เพราะแม้เสียงข้างมากจะตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา  แต่ ยังมีผู้พิพากษาอีกหลายท่านที่เขียนคำพิพากษาแย้งไว้ว่าประสาทพระวิหารยังคง อยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทยตามหลักสันปันน้ำที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ค.ศ.  1904

    พื้นที่ทับซ้อนในปัจจุบันของไทยกับกัมพูชานั้นได้แก่ตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น  แม้ในแผนที่อีกหลายฉบับลากเส้นเขตแดนไทยไม่ตรงกัน กัมพูชาถือว่าอยู่ในเขตของกัมพูชาโดยอ้างคำพิากษาของศาลยุติธรรมระหว่าง ประเทศ ไทยก็ถือว่าปราสาทพระวิหารเป็นเขตในอำนาจอธิปไตยของไทยโดยยึดสันปันน้ำเป็น เส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญาทวิภาคีกับฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒  มีใจความดังต่อไปนี้

     ข้อ ๑  กำหนดเขตแดนบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ให้เป็นไปตามยอดภูเขาปันน้ำระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง  กับดินแดนน้ำตกน้ำมูลอีกฝ่ายหนึ่งจนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง  ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไป แม่โขงเป็นเขตแดนของกรุงสยาม ตามความข้อ 1 ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 112

   จึงสรุปได้ว่า ในบริเวณเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขาบันทัดหรือเขาดงรัก เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาอยู่ที่สันปันน้ำซึ่งเป็นพรมแดนธรรมขาติตามหลักกฏหมาย ระหว่างประเทศ  และสนธิสัญญาข้างต้นโดยกัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศส

    นอกจากนี้การปักปันเขตแดนต้องการปักปันดินแดนระหว่างสองประเทศแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน  ขั้นนแรกได้แก่บทนิยาม (definition) ขั้นที่สองคือการลากเส้นบนแผนที่ตามบทนิยาม (delimitation) และขั้นสุดท้าย (demarcation) ในกรณีที่เป็นเขตแดนตามธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำ ให้ถือร่องน้ำลึกหรือฝั่งแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขต  หากเป็นภูเขาก็ต้องเป็นไปตามยอดเขาหรือเส้นสันปันน้ำ ในกรณีที่ไม่มีพรมแดนทางธรรมชาติ  คณะกรรมการผสมของทั้งสองประเทศจะเป็นผู้ปักหลักเขตแดนร่วมกันด้วยความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย

    ศ. ดร. สมปอง สุจริตกุลยังได้กล่าวอีกว่าเป็นที่น่าสังเกตุว่าปัจจุบันมีการอ้างถึงแผนที่มากมายหลายฉบับในวาระต่างๆ  ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าแผนที่ฉบับเดียวที่อยู่ในประเด็นปัญหาได้แก่แผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องกัมพูชา  แผนที่ ดังกล่าวคือแผนที่ที่ทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนฝรั่งเศสฝ่ายเดียว เมื่อปี ค.ศ. 1907 โดยไทยไม่มีโอกาสทดสอบความถูกต้องเนื่องจากไทยยังไม่ได้ก่อตั้งกรมแผนที่ ทหารบก  ไทยค้นพบภายหลังว่าแผนที่ดังกล่าวผิดพลาดเพราะการลากเส้นเขตแดนมิได้เป็นไปตามสันปันน้ำแต่คลาดเคลื่อนไปหลายกิโลเมตร  ทำ ให้ปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ในเขตไทยไปปรากฏในเขตแดนฝรั่งเศส ฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดอ้างว่าแผนที่ผนวกคำฟ้องของกัมพูชาเป็นแผนที่แสดงเขตแดน จึงผิดพลาดจากความเป็นจริง  และยังได้กล่าวเสริมอีกว่าโดยที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีมาตรการบังคับคดี  จึงสุดแต่ความสมัครใจของคู่คดีที่จะพิจารณาดำเนินการ หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  ศาลโลกก็ไม่มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแต่ประการใด

    ฉะนั้น ถึงแม้คำพิพากษาของศาลโลกจะถึงที่สุด  แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการระงับกรณีพิพาท  หากคู่กรณีโต้แย้ง คัดค้านและไม่ยอมรับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม  กรณี พิพาทนั้นๆก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่หรือจนกว่าจะ ระงับไปโดยสันติวิธีอื่นๆ อาทิ โดยการเจรจา การประชุมปรึกษาหารือ หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน  ไกล่เกลี่ย กรรมการประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ตามข้อ 33 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

สำหรับผลของคำพิพากษาของศาลโลกและการปฏิบัติของรัฐคู่กรณี

    มีความเห็นว่าผลผูกพันของคำพิพากษา ข้อ 59 ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า

คำพิพากษาของศาลฯไม่มีผลผูกพันผู้ใดนอกจากคู่กรณีและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น”

    ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลโลก จึงผูกพันเฉพาะไทยและกัมพูชา ใช้อ้างยันกับผู้อื่นมิได้ และไม่ผูกพันประเทศที่ 3 หรือองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลก และไม่มีผลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด เนื่องจากการขึ้นทะเบียนมิใช่ข้อพิพาทในคดีที่ศาลโลก ตัดสิน ดังนั้นการที่กัมพูชาเอาปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นเป็นมรดกโลกจึงไม่มีผล เพราะไม่มีผลพูกพันกับยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลก

ปฏิบัติการของไทยต่อจากฟังคำพิพากษา

  แม้ศาลยุติธรมระหว่างประเทศจะไม่มีอำนาจบังคับคดี แต่เพื่อแสดงความเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติ ไทยได้ดำเนินการถอนบุคลากรจากปราสาทพระวิหารและได้ล้อมรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืน ผ้ารอบตัวปราสาทตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย  และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง  ทั้ง นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาทโดยไทยมิได้สละ อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ หรือยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด  บริเวณที่ตั้งของตัวปราสาทจึงเป็นพื้นที่เดียวซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น พื้นที่ทับซ้อน”

ปฏิบัติการของกัมพูชาหลังจากฟังคำพิพากษา

  หลัง จากไทยได้ถอนบุคลากรจากประสาทพระวิหารตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่าง ประเทศ กัมพูชาก็ยอมรับสภาพโดยดี และมิได้โต้แย้งในการที่ไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและตั้งข้อ สงวนไว้อย่างชัดเจน กัมพูชานิ่งเฉยตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษโดยมิได้เรียกร้องอะไรอื่นอีก

   กัมพูชา เริ่มมีปฏิกิริยาเมื่อประมาณ 8-9 ปีมานี้ โดยแสดงเจตน์จำนงที่จะขยายอาณาเขตรุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขตของประเทศไทย เริ่มจากรื้อรั้วที่ไทยสร้างไว้รอบปราสาท  นอกจากนั้นคนชาติกัมพูชายังลอบเข้ามาตั้งถิ่นฐานในวนอุทยานเขาพระวิหารในเขตแดนไทยรวม ทั้งตั้งร้านค้าและแผงลอยซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเพื่อขายสินค้าให้นัก ทัศนาจร โดยที่พยายามจะการกล่าวถึง “พื้นที่ทับซ้อน” ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น  กัมพูชาได้พยายามขยายขอบเขตคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยแอบอ้างว่าศาลให้ความเห็นชอบแผนที่ผนวก 1 ซึ่งปราศจากมูลความจริง ทั้งนี้ เนื่องจากในคำพิพากษานั้นเอง ศาลฯ ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าแผนที่ผนวก 1 ท้ายคำฟ้องของกัมพูชามีข้อผิดพลาดตามที่ปรากฏในรายงานคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกัมพูชาไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่า “เส้นสันปันน้ำ” บนขอบหน้าผาคือเส้นเขตแดนที่แท้จริงระหว่างไทยกับกัมพูชา เส้นเขตแดนดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนไทย

อายุความฟ้องร้องและอายุความข้อสงวน

     ปัญหาเรื่องอายุความฟ้องร้องไม่เป็นประเด็นในกฏหมายระหว่างประเทศนอกจากในกรณีที่ เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่อศาลหนึ่งศาลใดที่มีอำนาจพิจารณาข้อขัดแย้ง ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หากจะกล่าวถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน อายุความ 10 ปีมีอยู่กรณีเดียว  กล่าวคือการร้องขอให้ทบทวนคำพิพากษาตามข้อ 61 วรรค 5 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรม

    ในกรณีปราสาทพระวิหาร การกล่าวถึงอายุความ 10 ปีนั้นใช้เฉพาะสิทธิของคู่คดีซึ่งได้แก่ไทยหรือกัมพูชาที่จะร้องเรียนให้ศาล ทบทวนคำพิพากษาเดิมเท่านั้น  ฉะนั้น หากไทยหรือกัมพูชาดำริให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทบทวนคำพิพากษาปีพ.ศ. 2505 ก็จะเป็นการสายเกินไป  ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำริที่จะกระทำเช่นนั้น

    ส่วนกรณีอื่นๆ เช่นการเพิกถอนหรือตีความคำพิพากษา การฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ หรือระงับกรณีพิพาทโดยอาศัยกลไกอื่น อาทิ ศาลอนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ซึ่งไทยหรือกัมพูชามิได้กระทำการแต่อย่างไร  ปัญหาเรื่องอายุความจึงยังไม่เป็นประเด็น

   สำหรับอายุความข้อสงวนนั้น ศ. ดร. สมปอง เสนอให้เห็นว่าข้อสงวนของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษาของศาลในคดีปราสาทพระวิหารซึ่งไทยได้แจ้งไปยัง เลขาธิการสหประชาชาติในหนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พร้อมทั้งส่งเวียนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับทราบทั่วกันโดยไม่ปรากฏว่า มีประเทศหนึ่งประเทศใดโต้แย้ง ทักท้วง หรือคัดค้านแต่ประการใดนั้น  เป็นข้อสงวนที่ปลอดอายุความ  มี ผลตลอดกาลตราบใดที่ยังอยู่ใต้บังคับของกฏหมายระหว่างประเทศ การที่ข้อสงวนดังกล่าวมิใช่เป็นการทบทวนคดีเก่าซึ่งต้องกระทำภายในกำหนดเวลา ที่จำกัดไว้ จึงยังมีผลบังคับจนทุกวันนี้ยกเว้นจะถูกเพิกถอนหรือยกเลิกอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทย

หนังสืออ้างอิง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 1)  http://www.dailynews.co.th/article/224/194421. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 2)

http://www.dailynews.co.th/article/224/195958. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาสตราจารย์ ดร. สมปองสุจริตกุล.ปราสาทพระวิหาร. http://www.praviharn.net/index.php?option=com_content&view=article&id=94. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ปานเทพ พัวพันธ์พงศ์. 33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน.http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175081 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2505 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย .ปราสาทพระวิหาร. h.ttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 532995เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท