ปราสาทเขาพระวิหาร ตอนที่ 5 คำประท้วงของไทยต่อคำพิพากษา


คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษา

     ประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ศาลโลกมิได้วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารตามกระบวนการที่ชอบ และได้ตัดสินคดีโดยขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้ประกาศจุดยืนของประเทศไทยให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ของศาลโลก  แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ  จึงได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ 94 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ  ทั้ง นี้โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนว่า ไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการครอบ ครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี

     ดังนั้น รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 และในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชนในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ยอมรับผลคำพิพากษาของศาลโลก แต่ให้สัญญากับพี่น้องชาวไทยที่รักวา “ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้...  สวัสดี”

    และวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย

โดยมีคำประท้วงดังนี้

     ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

     ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

     ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น  รัฐบาล ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่ง สิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้ ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

     ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย

     นอกจากนี้นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช นักกฎหมายชาวไทย ตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินคดีในศาลโลก ในคดีทำนองเดียวกันนี้ ทั้งก่อนหน้าและหลังคดีพระวิหาร มีเพียงคดีนี้เพียงคดีเดียวที่ผู้พิพากษาให้ความสำคัญกับแผนที่เหนือสนธิสัญญา ในคดีอื่นศาลจะให้น้ำหนักกับแผนที่ก็ต่อเมื่อเป็นแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญา หรือเป็นแผนที่ที่ทำโดยฝ่ายที่เสียสิทธิ์ จะไม่ให้ความสำคัญกับแผนที่ฝ่ายเดียว ซึ่งถือเป็นพยานบอกเล่า

หนังสืออ้างอิง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 1)  http://www.dailynews.co.th/article/224/194421. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 2)

http://www.dailynews.co.th/article/224/195958. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาสตราจารย์ ดร. สมปองสุจริตกุล.ปราสาทพระวิหาร. http://www.praviharn.net/index.php?option=com_content&view=article&id=94. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ปานเทพ พัวพันธ์พงศ์. 33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน.http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175081 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2505 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย .ปราสาทพระวิหาร. h.ttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 532994เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท