ปราสาทเขาพระวิหาร ตอนที่ 4 การตัดฟ้องอำนาจของศาลโลกและคำให้การของทั้งไทยและกัมพูชา


การตัดฟ้องของไทยเรื่องอำนาจศาลโลก
        ฝ่ายไทยเริ่มคดีด้วยการยกข้อต่อสู้ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก (ICJ) ไม่มีอำนาจเพราะไทยเคยรับอำนาจของ ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice) ของ สันนิบาตชาติ (The League of Nations) เมื่อ 20 กันยายน 2472 เป็นเวลา 10 ปี ต่อมาเราก็ขยายเวลาไปอีก 10 ปี เมื่อ 3 พฤษภาคม 2483 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2493
        แต่ปรากฏว่าศาลดังกล่าวได้ยุบเลิกไปเมื่อ 18 เมษายน 2489 (ค.ศ. 1946) โดยมติของสันนิบาตชาติ แต่ใน วันที่ 20 พฤษภาคม 2493 ไทยก็ยอมรับอำนาจของศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (ซึ่งถูกยุบเลิกไปแล้ว) ไปอีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2493 (ซึ่งครบในวันที่ 2 พฤษภาคม 2503)
ไทยเราได้ต่อสู้ว่า เมื่อศาลดังกล่าวยุบไปแล้ว คำรับรองของไทยในปี 2493 ก็เท่ากับไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น จึงเท่ากับ เราไม่เคยรับรองศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ของสหประชาชาติ (United Nation) เลย
        ศาลโลกโดย มติเอกฉันท์ยกคำคัดค้านของไทย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2504 โดยศาลเห็นว่าหากไทยไม่มีคำประกาศเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2493 (ค.ศ. 1950) เราก็ไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลโลกปัจจุบัน แต่การประกาศเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ถึงแม้จะระบุว่ารับรองอำนาจศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (PCIJ) ก็ถือว่าเป็นการรับรองอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวรรค 2-4 และไม่ใช่กรณีตามวรรค 5 กรณีของไทยเราไม่เหมือนคดีที่อิสราเอลฟ้องบัลแกเรีย ซึ่งศาลเห็นว่าบัลแกเรียรับรองอำนาจศาล PCIJ ไว้เมื่อ พ.ศ.2463 (ค.ศ.1920) โดยไม่ได้ทำอะไรอีกเลย เมื่อศาล PCIJ ยกเลิกไปจึงถือว่าบัลแกเรียไม่ได้ยอมรับอำนาจศาล ICJ หรือศาลโลกปัจจุบัน
เนื้อหาคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องกัมพูชา

        คำฟ้องที่กัมพูชาฟ้องในวันที่ 6 ตุลาคม 2502 กัมพูชาอ้างว่าปราสาทพระวิหาร หรือที่เรียกภาษากัมพูชาว่า เปรี๊ยะวิเฮียร์ (Prea Vihear) เป็นของกัมพูชาด้วยเหตุ 3 ประการ คือ 

      ประการแรก กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1904 และ ปี ค.ศ. 1907 โดยกัมพูชาอ้างแผนที่ผนวก 1 มาตรา ส่วน 1 : 200,000 ซึ่งร้อยเอกแกเลย์ และ ร้อยเอกอุ่ม ทำขึ้น และยืนยันว่าสนธิสัญญาภายหลัง เช่น สัญญาทางไมตรีฯ ปี 2468 (ค.ศ. 1925) หรือปี 2480 (ค.ศ. 1937) ก็รับรองสิ่งที่ตกลงกันในปี ค.ศ. 1904 และ  ค.ศ. 1907 แต่มีการเปลี่ยนแปลงเขตแดนนี้ในปี 2484 (ค.ศ.1941) โดยสนธิสัญญาโตเกียวที่ไทยทำกับฝรั่งเศสภายใต้การไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น หลังสงครามอินโดจีน โดยปราสาทได้ตกกลับมาเป็นของไทย และกรมโฆษณาการก็พิมพ์หนังสือเรื่อง “ไทยในสมัยสร้างชาติ” ว่าไทยได้ปราสาทนี้คืนมา ต่อมาสนธิสัญญานี้ถูกยกเลิกโดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสที่ลงนามที่กรุงวอชิงตัน เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2489 (ค.ศ.1946) และสนธิสัญญาดังกล่าวตั้งคณะกรรมการประนีประนอมมีผู้แทนสยาม-ฝรั่งเศส และคนกลางจาก 3 ชาติ (อเมริกัน อังกฤษ และเปรู) ซึ่งไทยได้เรียกร้องดินแดนหลายส่วน อาทิ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ลานช้าง จำปาศักดิ์ พระตะบอง แต่ไม่ได้มีข้อเรียกร้องเรื่องปราสาทเลย ทั้งแผนที่ที่เราส่งให้คณะกรรมการประนีประนอมก็แสดงว่าปราสาทอยู่ในเขตกัมพูชา
  ประการที่สอง กัมพูชาอ้างว่าตนได้ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพเหนือปราสาท เช่น การตรวจท้องที่ รวมถึงการที่นายปาร์มังตีแอร์ และนายการ์ดไปรับเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมทั้งการขึ้นบัญชีปราสาทว่าเป็นโบราณสถานของกัมพูชา และอนุญาตให้คนเข้าไปศึกษาปราสาทมาตลอด
  ประการที่สาม ไทยไม่เคยกระทำการใดที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะทำให้กัมพูชาเสียสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าว โดยอ้างว่าไทยไม่เคยโต้แย้งแผนที่ 1: 200,000 ที่กัมพูชาอ้าง และแผนที่ที่กรมแผนที่ไทยทำมาตราส่วน 1:200,000 เองก็ยอมรับว่าปราสาทอยู่ในเขตกัมพูชา ทั้งไทยไม่เคยประท้วงว่าปราสาทไม่ได้เป็นของกัมพูชา อาทิ เมื่อคราวสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปเยือนปราสาท เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสก็มาต้อนรับ แต่ตรงกันข้ามเมื่อฝรั่งเศสและกัมพูชาพบว่าไทยส่งทหารเข้าไปรักษาปราสาทก็ได้ประท้วงไทยมาตั้งแต่ปี 2492 (ค.ศ. 1949)
  ดังนั้น กัมพูชามี คำขอท้ายฟ้อง (ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะตามหลักกฎหมายถือว่าเป็นบทปฏิบัติการ (operative clause) ที่จะสั่งให้คู่พิพาทปฏิบัติ และ หากจะมีการตีความก็ต้องตีความส่วนนี้) 2 ข้อ คือ
     1.ราชอาณาจักรไทยมีพันธะที่จะต้องถอนหน่วยทหารที่ได้ส่งไปตั้งประจำ ณ บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหารตั้งแต่ ค.ศ.1954 (พ.ศ. 2497)
      2. อำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา

คำให้การของไทย
       ไทยยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าแผนที่ 1:200,000 ในภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้างเป็นเอกสารที่ผูกพันคู่สัญญานามสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1904 เพราะแผนที่ดังกล่าวไม่ได้จัดทำและเผยแพร่ในนามคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมตามสัญญาปี ค.ศ. 1904 แต่แผนที่นั้นทำโดยสมาชิกคณะกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสฝ่ายเดียว ทั้งยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าสองประเทศยอมรับว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ และไม่มีความตกลงใดของคู่กรณีที่มีผลทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาตรงกันข้ามตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1904 ให้ถือสันปันน้ำตรงขอบหน้าผาเป็นเส้นเขตแดน แม้ว่าบางส่วนสันปันน้ำจะไม่ตรงกับหน้าผานัก ก็เป็นข้อแตกต่างเล็กน้อยที่ไม่สำคัญ นอกจากนั้นตามลักษณะภูมิศาสตร์ทางขึ้นสู่ปราสาทก็ขึ้นจากประเทศไทย หากจะขึ้นจากฝั่งกัมพูชาก็ต้องปีนหน้าผาสูงชันขึ้นมา  ยิ่งกว่านั้น มีข้อเท็จจริงเป็นอันมากที่แสดงให้เห็นว่า ไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทมาตลอด อาทิ การเก็บภาษีบำรุงท้องที่ การขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นโบราณสถาน การตรวจราชการ ฯลฯ
ไทยจึงขอให้ศาลยกฟ้อง
  ต่อมาเมื่อศาลโลกอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายแถลงปิดคดีก่อนพิพากษา ฝ่ายกัมพูชาได้ขยายคำขอท้ายฟ้องจาก 2 ข้อเป็น 5 ข้อ โดยยื่นต่อศาลเมื่อ 5 มีนาคม 2505 (ค.ศ. 1962) และ 20 มีนาคม 2505 (ค.ศ. 1962) เพิ่มคำขออีก 3 ข้อ คือ
  1. พิพากษาชี้ขาดว่า แผนที่ตอนเขาดงรัก (ภาคผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของประเทศกัมพูชา) นั้นได้ถูกจัดทำและพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ในนามของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมที่ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1905 และว่าแผนที่นี้แสดงรายละเอียดตรงตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว โดยเหตุผลจากความจริงข้อนี้ และด้วยความตกลงและการปฏิบัติต่อมาของภาคีในสัญญา แผนที่นี้จึงมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาอย่างหนึ่ง
  2. พิพากษาและชี้ขาดว่า เส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทยในเขตพิพาทกันในบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยาม (ภาคผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องกัมพูชา)
  3. พิพากษาและชี้ขาดว่า สิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์ รูปหินทราย และเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ซึ่งได้ถูกโยกย้ายไปจากปราสาทพระวิหารโดยเจ้าหน้าที่ไทยนับแต่ ค.ศ.1954 นั้น รัฐบาลไทยจะต้องส่งคืนให้แก่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
  ไทยเราขอให้ศาลไม่รับคำร้องทั้ง 3 ข้อ เพราะยื่นล่าช้ามาก และไม่ได้รวมอยู่ในคำขอเมื่อเริ่มคดี และเป็นการขยายคำร้องเดิม
  ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตตรงนี้ให้ดี เพราะคำขอที่กัมพูชายื่นเมื่อ 6 ตุลาคม 2502 มีเพียง 2 ข้อ แต่มายื่นเดือนมีนาคม 2505 ในการแถลงปิดคดีก่อนศาลตัดสินเพียง 3 เดือน และศาลจะไม่รับตัดสินให้ ดังจะเห็นต่อไป
การพิจารณาและคำพิพากษาของศาล
  ศาลได้นั่งพิจารณาเปิดเผยในเดือนมีนาคมเกือบทั้งเดือน โดยฟังพยานทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ และมีการฉายภาพยนตร์โดยกัมพูชาด้วย และศาลได้ทำคำพิพากษาลงวันที่ 15 มิถุนายน 2505 (ค.ศ. 1926) โดยศาลเห็นว่าคำร้องที่ยื่นเพิ่มเติม 3 ข้อนั้น ศาลไม่พิพากษาให้ 2 ข้อแรกที่ขอเพิ่มมา คงพิจารณาแต่ให้คืนสิ่งขอตามข้อ 3 โดยศาลระบุว่า
  “ในประการสุดท้าย เมื่อพิจารณาถึงคำแสดงสรุปที่คู่ความได้ยื่นต่อศาลเมื่อตอนจบกระบวนพิจารณาภาควาจา ศาลมีความเห็นดังเหตุผลที่ได้บ่งไว้ในตอนต้นของคำพิพากษานี้ว่าคำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สองของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา
  ผู้อ่านต้องสังเกตให้ดี ๆ และจำไว้ เพราะคำขอ 2 ข้อที่ยื่นมาล่าช้าและศาลปฏิเสธไม่ตัดสินให้นี่แหละ จะเป็นเหตุให้กัมพูชาขอมาตีความใหม่ในปี 2554 เมื่อ 50 ปี ล่วงไปแล้ว และศาลโลกในปี 2556 จะต้องตีความในท้ายที่สุด ศาลจึงพิพากษาว่า
  “ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วนี้ ศาลโดยคะแนนเสียง เก้าต่อสาม ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยเหตุนี้ จึงพิพากษาโดยคะแนนเสียง เก้าต่อสาม ว่า ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา โดยคะแนนเสียง เจ็ดต่อห้า ว่า ประเทศไทยมีพันธะที่ต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชาซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ.1954”

กล่าวอย่างง่ายๆก็คือไทยมิเคยโต้แย้งแบะยอมรับการใช้แผนที่ภาคผนวก 1 และการที่ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง แม้ในระหว่าง  เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก(estoppel)

หนังสืออ้างอิง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 1)  http://www.dailynews.co.th/article/224/194421. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 2)

http://www.dailynews.co.th/article/224/195958. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาสตราจารย์ ดร. สมปองสุจริตกุล.ปราสาทพระวิหาร. http://www.praviharn.net/index.php?option=com_content&view=article&id=94. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ปานเทพ พัวพันธ์พงศ์. 33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน.http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175081 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2505 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย .ปราสาทพระวิหาร. h.ttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 532993เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท