ปราสาทเขาพระวิหาร ตอนที่ 3 สถานการณ์ทั่่วไปในไทย-กัมพูชา


วิวาทะระหว่างไทยกับกัมพูชาในเรื่องเขาพระวิหาร

       อันที่จริงแล้ว เมื่อกัมพูชาประกาศเอกราชเมื่อ 19 ธันวาคม 2493 (ค.ศ. 1950) นั้น ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา ไทยเป็นประเทศแรก ที่ประกาศรับรองทันทีและในปี 2500 รัฐบาลไทยก็แจ้งว่าพร้อมจะเจรจาปัญหาเขตแดนระหว่างสองประเทศ ซึ่งกัมพูชาก็ตอบรับ แต่การเจรจาก็ยังไม่เกิด
       ครั้นล่วงมาถึงเดือนมีนาคม 2501 หนังสือพิมพ์ไทยฉบับหนึ่งเขียนบทความเรื่องใครเป็นผู้กู้ชาติกัมพูชา โดยบทความนั้นไม่ได้ยกย่องพระเจ้านโรดม สีหนุอย่างที่ชาวกัมพูชายกย่อง เป็นที่มาของการเดินขบวนประท้วงไทยนำโดยข้าราชการและตำรวจในเครื่องแบบ ขบวนดังกล่าวไปจบลงหน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระเจ้านโรดม สีหนุ นายกรัฐมนตรีปราศรัยโจมตีไทยอย่างรุนแรง และกล่าวว่า “ไทยโกงเอาเขาพระวิหารของเขมรไป เขมรจึงควรทวงคืนมา”
       ในวันสงกรานต์ปี 2501 นายซัม ซารี องคมนตรีและเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำลอนดอน เขียนบทความลงหนังสือนิตยสาร “กัมพูชาวันนี้” (Le Combodge d’aujourd’ hui) โจมตีประเทศไทยว่า แย่งดินแดนพระวิหารไปจากกัมพูชาเหมือนกับที่แย่งดินแดนอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้น หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นของนายซิลวาร์ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองก็โจมตีประมุขของประเทศไทยอย่างรุนแรง อันก่อให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงจากชาวไทยโดยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์  เช่นบทความเรื่อง “เสียงจากกัมพุช” โดยแฟนสยามรัฐ บทความเรื่อง “ขะแมเมามัน” โดย “พเนจร” บทกลอน “สัปดาห์จร” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเขียนเมื่อกัมพูชาเริ่มฟ้องคดี เป็นต้น
       วิวาทะระหว่างหนังสือพิมพ์ไทย-กัมพูชาก็เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ แม้ฝ่ายการเมืองก็ช่วยเติมเชื้อ เช่น พระเจ้านโรดม สีหนุ ออกวิทยุโจมตีว่ากองทหารไทยบุกรุกเข้าไปในดินแดนกัมพูชา ซึ่งต่อมาก็แถลงว่าเข้าใจผิด ต่อมา พระเจ้านโรดม สีหนุ ก็เสด็จมาเยือนไทยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2501 ครึ่งวัน และทรงประกาศว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ฝ่ายมาเจรจากัน โดยมี นายซอนซาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธาน ฝ่ายไทยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน คณะกรรมการของกัมพูชามากรุงเทพฯและเริ่มเปิดเจรจาตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2501 ถึง 4 กันยายน 2501 โดยมีหัวข้อเจรจา 3 หัวข้อ คือ
  หัวข้อ 1 ปัญหาพระวิหาร ดอนโตนและเขตแดนไทย-กัมพูชา
  หัวข้อที่ 2 ว่าด้วยการยุติธรรม การเสนอข่าวของสื่อมวลชน และความร่วมมือปราบปรามอาชญากรรมในบริเวณพรมแดน
  หัวข้อที่ 3 เป็นเรื่องทางรถไฟ สินค้าผ่านแดน การค้า การป้องกันโรคระบาดและโรคระบาดสัตว์
  การเจรจาดำเนินไปได้ดี ยกเว้นหัวข้อแรก และการที่ต่างฝ่ายต่างขอให้อีกฝ่ายหนึ่งจำกัดเสรีภาพสื่อของตน ซึ่งก็ไม่มีฝ่ายใดยอม วันที่12 กรกฎาคม พ.ศ. 2501ประเทศจีน ได้ประกาศรับรองกัมพูชา และพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุได้เสด็จไปเยือนปักกิ่ง ในระหว่างเยือนจีนของพระเจ้านโรดม สีหนุ นายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีแถลงการณ์กล่าวถึงเพื่อนบ้านกัมพูชาว่า “......ประเทศเพื่อนบ้านของกัมพูชานั้น แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่ง” ทำให้บรรยากาศไม่ค่อยดีนัก ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในช่วงระวังการแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์รัฐบาลไทยจึงประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานีเหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น

     ในการเจรจาหัวข้อแรกนั้น ไทยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดน กัมพูชารับหลักการ แต่โต้เถียงกันในประเด็นที่ไทยเสนอให้ใช้เขตแดนตามสนธิสัญญาและ พิธีสารต่อท้าย แต่กัมพูชาเสนอให้ใช้สนธิสัญญาและ เอกสารต่อท้าย ไทยไม่ตกลงด้วยเพราะคำว่า “พิธีสาร” เป็นเอกสารทางการ แต่ “เอกสาร” อาจเป็นเอกสารใด ๆ รวมทั้งแผนที่ด้วย สำหรับประเด็นอื่น ๆ เช่น การห้ามกองกำลังติดอาวุธเข้าไปในบริเวณปราสาทและคนเฝ้าปราสาทก็เป็นอันไม่อาจตกลงกันได้  การเจรจาจึงยุติลงในวันที่ 4 กันยายน 2501

     เมื่อทราบว่าการเจรจาล้มเหลว คนนับหมื่นก็ออกไปชุมนุมที่สนามหลวง เปิดปราศรัยโจมตีกัมพูชา แล้วเดินขบวนไปตามถนนราชดำเนินถึงลานพระบรมรูปทรงม้า พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาขอร้องให้กลับ ก็ไม่ยอม กลับเดินไปยังสถานทูตกัมพูชา แต่ตำรวจไม่ยอมให้เข้าไปจึงปะทะกันจนได้รับบาดเจ็บหลายราย
       ระหว่างนั้นมีการโจมตีกันไปมาระหว่างสื่อหนังสือพิมพ์และวิทยุของสองประเทศ และเรื่องพระวิหารก็ซาไปพักหนึ่ง เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 แต่เมื่อถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน ได้มีการประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตจากรัฐบาลกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2501 เป็นต้นไป โดยอ้างว่ามีการโฆษณากล่าวร้ายกันและกัน ฝ่ายไทยก็ประกาศปิดพรมแดนและสั่งตำรวจตระเวนชายแดนไปเพิ่ม
       เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น เลขาธิการสหประชาชาติก็ส่ง บารอน โจฮัน เบคฟริส มาไกล่เกลี่ย โดยได้ไปดูพื้นที่พิพาทด้วย จนท้ายที่สุดก็มีการฟื้นความสัมพันธ์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2502 ต่อมานายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็เยือนกัมพูชาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้ เสนอให้กัมพูชาเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาปราสาทพระวิหารด้วย หรือไม่ก็เสนอเรื่องให้ศาลโลกพิจารณา แต่ไทยไม่ยินยอมทั้งสองเรื่อง
          ในวันที่ 6 ตุลาคม 2502 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเริ่มคดีต่อศาลโลกเพื่อขอให้ศาลพิจารณาว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา และไทยต้องถอนทหารและบุคลากรต่าง ๆ ออกจากบริเวณดังกล่าว ไทยตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและนักกฎหมายมีชื่อ เช่น เซอร์ แฟรงค์ ซอสกีส นายอองรี โรแลง นายเจมส์ เนวินส์ไฮด์ นายมาร์แชล สลูสนี ฯลฯ เป็นทนายความ ไทยต่อสู้คัดค้านเรื่อง อำนาจศาล ก่อน แล้วจึงไปต่อสู้ใน เนื้อหา

หนังสืออ้างอิง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 1)  http://www.dailynews.co.th/article/224/194421. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 2)

http://www.dailynews.co.th/article/224/195958. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาสตราจารย์ ดร. สมปองสุจริตกุล.ปราสาทพระวิหาร. http://www.praviharn.net/index.php?option=com_content&view=article&id=94. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ปานเทพ พัวพันธ์พงศ์. 33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน.http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175081 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2505 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย .ปราสาทพระวิหาร. h.ttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 532992เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท