ปราสาทเขาพระวิหาร ตอนที่ 1 ความหมายและทที่มาของปราสาทเขาพระวิหาร


ความหมายและที่มาของปราสาทเขาพระวิหาร

     เขาพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก (หรือ ดงเร็ก ซึ่งในภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาไม้คาน” ไทยเรียก “เทือกเขาบรรทัด”) ซึ่งเป็นเทือกเขาอันเป็นแนวพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ตรงกันข้ามกับหมู่บ้านภูมิซรอล ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ของประเทศไทย

     เขาพระวิหาร เป็นชื่อยอดเขายอดหนึ่งของเทือกเขาดังกล่าว โดยเป็นส่วนตะวันออกของเทือกเขาพนมดงรัก มีประเทศกัมพูชาอยู่ด้านใต้ และไทยอยู่ด้านเหนือ เขาพระวิหารเป็นภูเขาที่ประกอบด้วยหน้าผาสูงชัน ตั้งชันขึ้นไปจากที่ราบของกัมพูชา “ปราสาทพระวิหาร” เป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดเขานี้ ซึ่งมีลักษณะพื้นที่สูงรูปสามเหลี่ยมคล้ายปลายหอกที่ชะโงกยื่นออกไปยังที่ราบเบื้องล่าง ซึ่งเป็นดินแดนกัมพูชา จากยอดเขาซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร พื้นที่ของภูเขาจะเทต่ำไปลงทางด้านเหนือทางแม่น้ำมูลของไทย

     ปราสาทพระวิหาร(ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกตามภาษาเขมรว่า Preah Vihear  หรือ เปรียะ วิเฮี๊ยะ) นี้ สร้างตัวปราสาทไล่เรียงเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่บันไดนาคขึ้นไปเป็นโคปุระชั้นที่ 1 โคปุระชั้นที่ 2 โคปุระชั้นที่ 3 และ  โคปุระชั้นที่ 4 โดยทอดตามแนวสามเหลี่ยมของเขาพระวิหาร จากทิศเหนือค่อย ๆ ลาดชันขึ้นไปสู่ทิศใต้ซึ่งเป็นยอดเขา ในเรื่องนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ถึงความเชื่อของการสร้างปราสาทบนเทือกเขานี้ว่า

     ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนผาเขาที่ยื่นล้ำออกจากเทือกเขาดงเร็ก (พรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) เข้าไปเหนือแผ่นดินที่ราบต่ำ เริ่มแรกมีฐานะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์จากการที่พระเจ้ายโศวรมัน ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 15) ทรงได้สถาปนาศิวลึงค์ ณ เทวาลัยเขาพระวิหารให้เป็นศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ และให้เป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ ต่อมาในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16) ได้เริ่มสร้างปราสาทพระวิหารขึ้น ซึ่งมีที่ตั้งแนวลาดเอียงขึ้นไปตามความชันของผา ด้วยลักษณะการสร้างปราสาทเช่นนี้ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารมีความโดดเด่น และแตกต่างจากปราสาทเขมรอื่น ๆ กระทั่งมีคำกล่าวที่ว่า “ในบรรดาศาสนสถานในประเทศกัมพูชาทั้งมวล ไม่เป็นที่สงสัยว่า ศาสนสถานที่เขาพระวิหารมีความโดดเด่นและความงดงามเป็นที่สุด”

     ปราสาทนี้ใช้เวลาสร้างนานถึง 300 ปี มาสำเร็จในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือก่อนกรุงสุโขทัย 300 ปี เห็นว่าปราสาทพระวิหารบนเขาพระวิหารนี้เป็นเหมือนเทพสถิตบนขุนเขา หรือ  “ศิขเรศร” เป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ของศิวเทพ

     ปราสาทพระวิหารน่าจะถูกทิ้งร้างไปหลังปี พ.ศ.1974 (หรือ ค.ศ. 1431) เมื่อกรุงศรียโสธร ปุระ (นครวัต นครธม)ของกัมพูชาพ่ายแพ้แก่กองทัพอยุธยาของพระเจ้าสาม พระยา และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวกอุดรมีชัยและพนมเปญตามลำดับ จนกระทั่งปรากฏว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงไปพบปราสาทนี้ในปี พ.ศ. 2442 (ค.ศ. 1899) ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 500 ปีหลังจากนั้น 

หนังสืออ้างอิง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 1)  http://www.dailynews.co.th/article/224/194421. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 2)

http://www.dailynews.co.th/article/224/195958. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาสตราจารย์ ดร. สมปองสุจริตกุล.ปราสาทพระวิหาร. http://www.praviharn.net/index.php?option=com_content&view=article&id=94. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ปานเทพ พัวพันธ์พงศ์. 33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน.http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175081 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2505 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย .ปราสาทพระวิหาร. h.ttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556



หมายเลขบันทึก: 532989เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท