พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา (๔)


ตีพิมพ์ใน Facebook เมื่อ March 29 


จุดไต้ตำตออีกแล้วกระมัง...ในระหว่างที่ผมพยายามนำเรื่อง ‘พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา’ มาถ่ายทอดซ้ำในหน้า Timeline ของตัวเอง และวนเวียนอยู่กับเรื่องสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนี้ผมจำได้ว่าในหนังสือ ‘พระร่มเกล้าชาวไทย’ (ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์มาจาก follower ตัวจริง ชนิดเช้าไหนไม่ขึ้นจะส่ง message ทวงทันที) มีบทความของ ดวงดาว สุวรรณรังษี เกี่ยวกับดอยอ่างขางอยู่


ผมก็ไม่ค่อยจะมีเวลาอ่านเท่าไหร่ ตัวเองก็อ่านหนังสือไม่เก่ง คืออ่านไม่เร็วนักถ้าเทียบกับนักอ่านจริงๆ บางเรื่องนี่อ่านไม่เข้า แปลว่า อ่านไม่เข้าหัว เช่นของเพื่อนร่วมรุ่นจุฬาท่านนี้ เลยแบกหนังสือเล่มหนาสองนิ้วหนักๆขึ้นดอยไปด้วย กะว่าสงสัยอะไรจะได้เปิด

การเดินทางเที่ยวนี้จึงมีกระเป๋าเดินทางสองใบ ใบเล็กหน่อยใส่เสื้อผ้าของใช้ ใบใหญ่ขึ้นมาอีกนิดใส่หนังสือไปจำนวนหนึ่ง หนักกว่าใบแรก และหนังสือพระร่มเกล้าชาวไทย ซึ่งเป็นการรวบรวมบทความชั้นดีจากอนุสารอสท.เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เป็นเล่มที่คัดเลือกให้ร่วมกระเป๋าเดินทางไปด้วย

ย้อนรอยกลับไปพูดถึงคนดัง และคนชื่อสวย ที่นามว่า ดวงดาว สุวรรณรังษีอีกนิดว่า เป็นเพื่อนร่วมรุ่นจุฬาฯมาด้วยกันแต่คนละคณะ เคยเจอกันสามครั้ง ครั้งแรกรู้สึกว่าพบที่สโมสรนิสิตฯ (ตึกจักรฯสมัยนั้น) ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตปี ๑ หรือ ๒ อะไรทำนองนี้, ครั้งที่สองแวะไปขอร้องให้เธอเขียนเรื่องให้เรื่องหนึ่ง เอาไว้จะมาตีพิมพ์ซ้ำในที่นี้ โดยแวะไปที่ทำการอสท.สมัยนั้น มาเจอครั้งที่สามตอนนั้นเธอป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เจอเชื้อไข้มาเลเรีย มีโอกาสแวะไปเยี่ยมคนไข้ที่นั่น

พูดถึงคนดังคนนี้ เรียนนิเทศ เป็นนักเขียน แต่ถ่ายรูปเก่งกว่าช่างภาพ ทำเงินรายได้มากกว่าช่างภาพเสียด้วยซ้ำไป แต่ผมอ่านสำนวนดวงดาว ที่สละสลวยตามแบบฉบับของเธอแล้ว ผมพอเข้าใจ แต่ไม่เข้าถึง จึงไม่ค่อยพัฒนาเท่าไหร่ ต้องแบกหนังสือร่วมเดินทางไปด้วย

เช้านี้กลับมาอ่านดวงดาวเขียนถึง “พระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ดอยอ่างขาง” ซึ่งตีพิมพิ์ในอนุสาร อ.ส.ท.เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ และที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพียงเพื่อจะพูดว่า เมื่อพลิกกลับมาที่หน้า ๑๘๕ ในหนังสือ ‘พระร่มเกล้าของชาวไทย’ เล่มเดียวกันนี้ ก็มีบทความที่ชื่อว่า ‘พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา’ ของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ซึ่งเคยตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๑๒ ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๔

แปลว่า...ผมมีบทบรรยายนี้ตั้งแต่ก่อนได้รับจากคุณมนตรี และก่อนที่จะเห็นข้อความอันสุกรนั้นไซร้ ในหนังสือของโครงการหลวง โดยที่ตัวเองและท่าน follower ของผมไม่ได้เอะใจกันแม้แต่น้อย

วันนี้เกริ่น-น้ำๆ-มาเสียยาว ขอประทานอนุญาต ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง คัดลอกคำบรรยายต่อไปอีกหนึ่งวันตามปรกติ...

==================
(ต่อจากตอนที่ ๓)

เมื่อควรจะทำงานแข่งกับเวลาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ถ้าจะพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขาเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ก็จะตัดสิ่งต่างๆที่ทำให้เราเสียเวลาออกได้ เช่น การเก็บข้อมูล วางแผนพัฒนา ตั้งงบประมาณ ขออนุมัติ ประชุมและระเบียบปฏิบัติอะไรต่างๆ ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบเท่าใดนัก เพราะไม่เคยเป็นข้าราชการ ส่วนปัญหาเรื่องผู้เชี่ยวชาญและบุคคลอื่นๆที่จะมาร่วมงานนั้น ก็ทรงอยู่ในฐานะรวบรวมประชาชน และข้าราชการทหารพลเรือน ต่างกรม ต่างกอง ต่างสี มาอาสาทำงานถวายร่วมกันได้

ดังนั้น จึงโปรดเกล้าฯให้เริ่มพระบรมราชานุเคราห์ชาวเขาขึ้น และโครงการก็เริ่มมีเค้ามีโครงขึ้นที่โต๊ะอาหารในภัตตาคารแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตร และคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะอาสาสมัครจากสองมหาวิทยาลัยนี้ เรียกโดย่อว่า ม.ก. และ ม.ช. ตามลำดับ ต่อไปเรามีอีกม.หนึ่งมาร่วมงานคือ ม.จ. แปลว่า วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ สำหรับ ม.จ.นั้นอีกประเภทหนึ่งเราก็มี ผู้นี้มีตำแหน่งเป็นผู้ประสานงาน คือเที่ยวขอใครๆให้ช่วยทำงาน หรือช่วยบริจาคของ เค้าโครงที่ปรากฎขึ้นมีอยู่ว่า

เราจะช่วยตำรวจชายแดนช่วยชาวเขาในด้านเกษตรและการตลาด ซึ่งที่จริงก็เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่เขาขาดผู้เชี่ยวชาญ การที่เราเลือกช่วยตำรวจชายแดนก็เพราะตำรวจชายแดนมีโรงเรียนสอนเด็กบนดอยหลายแห่ง โรงเรียนเหล่านี้มีตำรวจเป็นครู และครูก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น พูดภาษาชาวเขาได้ และชาวเขาทุกคนรู้จัก ถือเป็นที่พึ่งเมื่อเจ็บไข้หรือได้รับความลำบากต่างๆ เราคิดจะให้ครูแนะนำสั่งสอนชาวเขาเรื่องพืชและวิธีการเพาะปลูกแบบใหม่ แต่ครูเหล่านี้ส่วนมากมีความรู้ระดับ ม.๖ และไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตร เราต้องเริ่มโครงการโดยเอาครูมาสอน และเจาะจงสอนแต่เรื่องที่ต้องเอาไปใช้เท่านั้น คือ

๑. การรักษาดินบนเขาโดยวิธีทำขั้นบันได
๒. การปลูกมันฝร่ังในฤดูฝน
๓. การปลูกผักและผลิตเมล็ดพันธ์ุผัก
๔. การปลูกผลไม้เมืองหนาว รวมทั้งการต่อกิ่ง
๕. การเลี้ยงสัตว์
๖. การรวมกลุ่มเพื่อช่วยตัวเองเมื่อซื้อและขายของ

การอบรมได้กระทำเสร็จเมื่อต้นปี ๒๕๑๓ ที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีชาวเขามาสังเกตการอยู่ด้วยจากหมู่บ้านในโครงการ ๑๗ แห่ง เป็นแม้วมูเซอ ๓ เผ่า อีก้อ กะเหรี่ยง และลีซอในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และน่าน สำหรับผู้ที่ได้การอบรมนั้นเป็นอาสาสมัครจาก ม.ก. ม.ช. แล้วยังมีพ่อค้า ข้าราชการ จากกรมกสิกรรม พัฒนาที่ดิน พัฒนาชุมชน ประชาสงเคราะห์ และปศุสัตว์ เวลานี้ ครูตำรวจชายแดนกำลังปฏิบัติงานอยู่บนดอยทุกวันอาทิตย์ คณะอาสาสมัครจาก ม.ก. ม.ช. หรือ ม.จ. รวมทั้งสัตวแพทย์และพนักงานรักษาดิน จะผลัดกันไปเยี่ยมเยียนเพื่อติดตามผลงาน หรือให้คำแนะนำตามแต่จะจำเป็น การที่พวก ม.ทั้งสามสามารถอาสาทำงานตามดอยถวายได้เช่นนี้ ก็เพราะกองทัพอากาศน้อมเกล้าถวายเฮลิคอปเตอร์สำหรับโครงการได้ใช้ทำวันอาทิตย์นั่นเอง ผมควรจะขยายความนิดหน่อยว่า หกข้อที่เราส่งเสริมกับชาวเขานั้นคืออะไร...


หมายเลขบันทึก: 532876เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2013 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท