พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา (๓)


ตีพิมพ์ใน Facebook เมื่อ March 28


ในวันที่ผมไปเยือนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งทางการเรียนการสอนเกษตรกรรมของประเทศไทย ได้ฟังวีดีทัศน์แนะนำสถาบัน ในตอนหนึ่งศิษย์รุ่น ๗ ศ.ระพี สาคริก คนที่ผมเกิดมาก็เห็นท่านจัดรายการเกี่ยวกับปลูกกล้วยไม้ ทางโทรทัศน์ขาวดำแล้ว (สมัยนั้นรู้สึกเบื่อนิดๆเพราะเรารอดูแบทแมนกับหนูน้อยบีเวอร์มากกว่า) ท่านกล่าวไว้อย่างน่าจดจำว่า “คนไทยทุกคน ต้องรักษาการเกษตรไว้ให้ดี เพราะการเกษตรคือความมั่นคงของชาติ หากเราลืมอดีต เราจะรักษาความมั่นคงไว้ได้อย่างไร การลืมอดีตก็เหมือนคนที่ขาดสติ ไม่รู้จักเหลียวหลังแลหน้า” ผมจดไม่ค่อยทัน ประโยคที่เห็นจึงไม่ใช่ประโยคที่ถอดคำต่อคำ และทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มอบสำเนาวีดีทัศน์ชุดนี้ให้ผมเสียด้วย แต่เอาเถอะคำหลักๆก็คือ เกษตร+ความมั่นคง+อดีต+สติ

ยิ่งผมถ่ายทอดคำบรรยายของ ม.จ.ภีเดช รัชนี ต่อเนื่องมาจนถึงตอนที่ ๓ นี้ ทำให้ผมยิ่งเห็นคุณค่าของการศึกษาประวัติความเป็นมาของงานพัฒนาประเทศของพระองค์

และผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าประวัติเหล่านี้เข้าถึงเยาวชนรุ่นใหม่ หรือ คนใกล้วัยเกษียณเช่นรุ่นผม ในขณะที่กระแสตั้งโจทย์ตอบโจทย์มาแรงเหลือเกิน อาจารย์ผู้รู้เหล่านั้นเคยศึกษาข้อมูลด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่

กระหม่อมขอประทานอนุญาต ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง คัดลอกคำบรรยายต่อไปอีกหนึ่งวัน...

(สองกรอบที่แล้วผมยังใช้คำราชาศัพท์ต่อท่านไม่ถูกต้อง นี่ก็ได้รับคำแก้ไขไประดับหนึ่งแล้ว)

=================
(ต่อจากตอนที่แล้ว)

…จบเรื่องหมอ จะต่อเรื่องหมู

ดังกระแสรับสั่งที่อัญเชิญมาตอนต้น เมื่อพระราชทานหมูพันธุ์นั้น ได้ทรงเอาถั่ว ข้าวฟาง และมันสำปะหลังไปสั่งสอนและส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกด้วย เพราะชาวเขานั้นอย่าว่าแต่อาหารหมูเลย แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่มีพอรับประทาน ทีนี้เมื่อทรงก้าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกแล้ว ปัญหาต่อไปก็มีอยู่ว่าควรจะขยายงานต่อไปอย่างไร หรือไม่ เมื่อแนะนำให้ชาวเาปลูกถั่วปลูกมันแล้ว ควรจะทรงสนับสนุนให้เขาปลูกพืชอื่นแทนฝิ่นไหม? ตามที่ทรงรับสั่งกับสโมสรโรตารีกรุงเทพ โครงการชั่วเหลือชาวเขาจะเป็นโครงการของใครก็ตาม ควรจะมีเป้าหมายสามประการ คือ

๑. เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
๒. เพื่อป้องกันและต่อต้านภัยผู้ก่อการร้าย โดยเลื่อนระดับการครองชีพของชาวเขาให้สูงขึ้น
๓. เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากร และชื่อเสียงของประเทศ โดยป้องกันการทำลายป่าไม้ และกำจัดยาเสพติดอันทำลายชื่อเสียงของประเทศ อีกนัยหนึ่งแทนฝิ่น เราจะต้องหาพืชอยากอื่นมาให้เขาปลูก โดยทำรายได้ดีกว่าฝิ่น และเพาะปลูกด้วยวิธีที่ไม่เปลืองที่ดิน และเปลืองป่าไม้อย่างที่กระทำอยู่เดี๋ยวนี้

เรื่องแรกที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ ฝิ่นทำรายได้ให้ผู้ปลูกเท่าไหร่? สองพันบาทต่อปี สำหรับครอบครัวโดยมาก ๔-๕,๐๐๐ บาท สำหรับครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีแรงงานมาก ทีนี้พืชอย่างอื่นที่ทำราได้ดีกว่าฝิ่นนั้น มีหรือไม่ ถ้ามี อะไร

มันฝร่ังไร่หนึ่งปลูกได้ ๙๐๐-๑,๘๐๐ กก. ราคากก.ละ ๖ บาท ในเดือนธันวาคม เมื่อข้างล่างเพิ่งจะเริ่มปลูก ขายได้ไร่ละ ๕,๔๐๐ - ๑๔,๘๐๐ บาท

กะหล่ำปลี ไร่หนึ่งได้ผลผลิต ๑,๒๐๐ กก. กก.ละ ๓ บาท เมื่อปลูกหน้าฝน เท่ากับไร่ละ ๓,๖๐๐ บาท

ท้อ ต้นหนึ่งขายลูกได้ ๑๐๐ บาท เราได้พบแม้วและเย้าหลายครอบครัวที่ได้เงินจากท้อกว่า ๓,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้ยังมีเมล็ดพันธุ์ผัก กาแฟ เครื่องยาจีน เห็ดหอม ผลไม้เมืองหนาวจากดอยปุย ความจริงผมไม่ควรเอามาแสดงเพราะผลเล็ก ออกก่อนฤดู ถ้าตัวเลขเป็นจริงอย่างที่ว่านี้ ท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมฝิ่นจึงไม่หายไปหมดจากแผ่นดินไทย

เพราะชาวเขาส่วนมากไม่รู้จักพืชที่เราพูดถึงนี้ ตรงกันข้ามเขารู้จักฝิ่นดี ปลูกก็เก่ง เมล็ดพันธุ์มีอยู่พร้อม เมื่อกรีดได้แล้วมีคนมาซื้อจนถึงที่ โดยราคาที่สม่ำเสมอ และพืชอื่นที่เขาอาจจะรู้จัก เขาก็ไม่รู้จักช่องทางขาย จึงอาจจะถูกกดราคา หรือปลูกผิดเวลา จึงต้องแข่งกับผลิตผลบนที่ราบ ทำให้ได้ราคาไม่คุ้มค่าขนจากดอยเป็นต้น คำถามต่อไปอาจจะมีว่า “แล้วทำไมทางการจึงไม่แนะนำส่งเสริม” คำถามแบบนี้ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับว่า “ขอโทษนะครับ คุณซ้อมภรรยาอาทิตย์ละสามหรือสี่ครั้ง” เพราะความจริงนั้นอย่างน้อย กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ และตำรวจภูธรชายแดนก็ดำเนินการอยู่อย่างดีที่สุดที่จะกระทำได้ แต่การผลิตฝิ่นในประเทศไทยยังไม่ลดน้อยลง เพราะหน่วยงานของรัฐบาลทั้งสองแห่งนี้ไม่มีงบประมาณพอ และขาดนักวิชาการ เช่น กองสงเคราห์ชาวเขานั้น ไม่มีนักเกษตรขั้นปริญญาแม้แต่คนเดียว นอกจากเรื่องคนและเงินแล้ว สิ่งที่ขาดยังมีอีกอย่างหนึ่งคือ เวลา

ประเทศไทยโดยทั่วๆไป เพิ่งจะเริ่มสนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับชาวเขาเมื่อไม่นานมานี่เอง ดังนั้นเราจึงกำลังเริ่มที่จะทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตร การทำมาหากิน ค้าขาย ขนบธรรมเนียมของเขา เรากำลังเริ่มจะทราบถึงดินฟ้าอากาศ และพฤกษชาติบนดอย ข้อมูลซึ่งยัไม่มีพอเหล่านี้จำเป็นต้องเอามาใช้ในการวางแผนของทางการ จึงจะต้องดำเนินการค้นคว้าวิจัยกันก่อนอีกมาก

แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีอยู่ว่า การช่วยเหลือชาวเขานั้น ควรจะเริ่มกระทำแต่ “เมื่อวานนี้” คือเราต้องทำงานแข่งกับเวลา เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นมีหลายประการ แต่ผมจะขอเล่าให้ฟังเพียงประการเดียวคือ ชาวเขาเผ่าที่ปลูกฝิ่น เช่น แม้ว เย้า อีก้อ นั้น ใช้ที่ดินเปลืองมาก เขาจะตัดต้นไม้ในป่าเผาแล้วก็เพาะปลูก ปีหน้าเขาจะใช้ไร่เดิมนั้นซ้ำอีก จนกระทั่งดินดี ถูกฝนชะลงดอยไปหมด หรือ ดินจืด หรือสุ้หญ้าคาไม่ไหว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นใน ๔-๕ ปี เขาก็จะทิ้งไร่นั้นแล้วเคลื่อนที่หาป่าใหม่ๆ เพื่อโค่นต้นไม้เผาแล้วทำไร่ต่อไป แต่เผ่ากะเหรี่ยงกับลั๊วะไม่ทำไร่เลื่อนลอยอย่างนั้น ไร่ของเขาจะอยู่รอบหมู่บ้าน เขาแบ่งไร่นั้นเป็น ๗-๘ ส่วน แต่ละปีเขาจะตัดต้นไม้แล้วเผา เพื่อเพาะปลูกเพียงส่วนเดียว ปีต่อไปเขาจะเลื่อนไปทำส่วนอื่นตามลำดับ ดังนั้น ไร่แต่ละส่วนจึงได้พัก เปิดโอกาสให้ต้นไม้ขึ้นเป็นเวลา ๗-๘ ปี โดยวิธีนี้ ดินในไร่ของเขาจะไม่จืด และเขาสามารถปลูกพืชหมุนเวียนอยู่ได้เป็นเวลาร้อยๆปี

ความดีของกะเหรี่ยงและลั๊วะมีอีกประการหนึ่ง คือ บริเวณต้นน้ำลำธารของเขานั้น เขาจะปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นเป็นป่าทึบ เพราะทราบดีอยู่ว่าถ้าตัดต้นไม้ที่นั่นเสียแล้ว น้ำก็จะไม่มี เวลานี้บนดอยในประเทศไทย แทบจะไม่มีป่าไม้เหลืออยู่แล้ว ดังนั้นชาวเขาเผ่าที่ปลูกฝิ่นจึงรุกเข้าไปถึงที่ของกะเหรี่ยงและลั๊วะ เมื่อเห็นไร่ส่วนที่เขาปล่อยเอาไว้ให้ต้นไม้ขึ้น หรือเห็นบริเวณต้นน้ำลำธาร ซึ่งเขาคิดว่าไม่มีใครใช้งาน เขาก็จะเข้าไปตัดต้นไม้ ทำไร่ฝิ่น เหตุการณ์แบบนี้มีประปรายแล้ว และกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี การทะเลาะวิวาทระหว่างเผ่ากำลังระบาด อีกไม่นานดอยทั้งสิ้นอาจลุกเป็นไฟได้ง่ายๆโดยไม่ต้องมีคอมมิวนสิต์ยุยง

(ยังมีต่อ...)

หมายเลขบันทึก: 532875เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2013 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท