Training เป็นเครื่องมือแห่งศตวรรษที่ ๒๐ (และ ๑๙)


หากสังคมไทยจะก้าวสู่สังคม/เศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม เพื่อก้าวพ้นความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง การศึกษาไทยจึงต้องหนีห่างจากลัทธิ Training ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาครู ทั้งครูใหม่และครูประจำการ


          ยิ่งนับวัน ผมก็ยิ่งเห็นความจำเป็น ที่จะต้องตีความ ทำความเข้าใจสังคมยุคใหม่  ว่าแตกต่างจากยุคเก่าอย่างไร  ผมขอย้ำคำว่า “ตีความ” ซึ่งหมายความว่า ตีความได้หลายแบบ  และไม่รู้ว่าตีความถูกหรือผิด  เดาว่า มีทั้งส่วนถูก และส่วนผิด

          เราอยู่กับยุคอุตสาหกรรมมากว่า ๒๐๐ ปี จนเคยชิน  จนกลายเป็น mindset ติดตรึงใจ  ว่าระบบที่เคยชินนั้นคือความถูกต้องเหมาะสม  แต่บัดนี้ โลกได้เปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคหลังอุตสาหกรรม หรือยุคข้อมูลข่าวสาร  หรือยุคบริการ

          โลกยุคอุตสาหกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น “การผลิตจำนวนมาก” (mass production)  ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหมด  รวมทั้งคน  คือยุคอุตสาหกรรม การศึกษาเน้นสร้างคนที่คิดเหมือนกัน พฤติกรรมเหมือนกัน  คุณค่าอยู่ที่ “ความเหมือน”  ดังนั้น การศึกษาในยุคอุสาหกรรมจึงเน้น Training  คือเน้นจับคนมาฝึกในคิดเหมือนกัน ทำสิ่งเดียวกันได้เหมือนกัน  การฝึกในสายพานการผลิต คนกลายเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร

          โลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ยุคบริการ  หัวใจอยู่ที่ mass diversification  คือการผลิตหรือบริการยังต้องทำได้จำนวนมาก แต่ต้องมีความแตกต่างหลากหลาย  นวัตกรรมกลายเป็นข้อได้เปรียบ  แตกต่างจากยุคศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ ที่ประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนเป็นข้อได้เปรียบ

          คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของมนุษย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงอยู่ที่ทักษะด้านนวัตกรรม (innovation skills)   ซึ่งสอนไม่ได้ เจ้าตัวต้องเรียนรู้และฝึกเอาเอง  การศึกษาแบบ Training ที่เน้นฝึกคนให้ทำสิ่งเดียวกันได้  ให้คิดแบบเดียวกันเป็น  ไม่ใช่แนวทางสร้างทักษะนวัตกรรม

          หากสังคมไทยจะก้าวสู่สังคม/เศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม  เพื่อก้าวพ้นความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง  การศึกษาไทยจึงต้องหนีห่างจากลัทธิ Training ในทุกมิติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาครู ทั้งครูใหม่และครูประจำการ 

          ต้องเปลี่ยนจาก Training สู่ Learning  เน้น Learning ในสถานการณ์จริง คือในการทำหน้าที่ครู 

          นั่นคือครูต้องเป็นสมาชิกของ Learning Community  เพื่อรวมตัวกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ  ที่เรียกว่า  Interactive learning through action  ซึ่งในภาษา KM เรียกว่า COP ครู  หรือในภาษาวิชาการสมัยใหม่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)

          ครูต้องทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้ศิษย์เรียนรู้งอกงามทักษะนวัตกรรมขึ้นในตน  ครูจึงต้องฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะนวัตกรรมของตน  โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ คือโดยการ ลปรร. ใน PLC  ครูที่ไม่มีทักษะนวัตกรรม ยากที่จะเอื้อให้ศิษย์เรียนทักษะนวัตกรรม

          ประเทศใดพลเมืองด้อยทักษะนวัตกรรม ยากที่จะก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจ innovation-based


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 532510เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2013 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2013 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท