การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา: อีสานตอนบน_39 รูปแบบการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา (ภายนอก)


ทีมขับเคลื่อน ปศพพ. อีสานตอนบน  จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนึ่งในสองประเด็นที่เรากำหนดเป็นเป้าหมายคือ "รูปแบบการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษาภายนอก"

คำว่า "รูปแบบ" ใน "รูปแบบการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา"  ในที่นี้ ไม่เหมือนกับว่า "รูปแบบ" ที่ปรากฎในชื่อหัวเรื่องของ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่เห็นกันทั่วไป  เพราะรูปแบบการขับเคลื่อนฯ ที่เรากำลังทำนี้ ได้จากการ "ถอดบทเรียน" จากความสำเร็จที่เรา "ลงมือทำมาแล้ว" ไม่ใช่ "รูปแบบในความคิด" ที่ได้จากการใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีข้อจำกัดต่อการพัฒนาการศึกษาที่ต้องใช้มากกว่า Science หรือ Social Science ที่อยู่เพียงในระดับ Cognitive  และ ไปไกลมากกว่า Metacognetive  เสียอีก เพราะเรากำลัง "คลุก" อยู่กับ "ชีวิตจริง" ที่ปลายทางคือ อริยสัจ 

ต่อไปนี้เป็น รูปแบบการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนภายนอก ของแต่ละโรงเรียน ที่ได้นำเสนอในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ....นำมาบันทึกไว้สำหรับโรงเรียนที่อาจนำไปช้ในการขับเคลื่อน "เพื่อนโรงเรียน" ต่อๆ ไปครับ 


โรงเรียนกัลยาณวัตร อ.เมือง จ.ขอนแก่น (นำเสนอโดย อ.อัมพร ครูแกนนำขับเคลื่อน)


รูปแบบการขับเคลื่อนของโรงเรียนกัลยาณวัตร โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มี 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. เลือกโรงเรียนเครือข่าย  เน้นที่ความสมัครใจ มีปัจจัยเกื้อหนุน และพร้อมที่จะนำหลักปรัชญาฯ เข้าไปใช้ทันที
  2. สร้างความตระหนัก ถ่ายทอด และฝึกอบรม ใน 3 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และด้านกิจกรรม จะต้องบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเบื้องต้น ทางทีมครูแกนนำจะไปเป็นวิทยากรให้กับครูในโรงเรียนนั้นก่อนจะสร้างครูแกนนำในโรงเรียนนั้นต่อไป และเปิดโอกาสให้มาศึกษาดูงานที่โรงเรียน และร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ในการจัดอบรม
  3. แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนิเทศติดตาม โดยจัดเป็นระยะเพื่อแนะนำเติมเติม และมี สนง.เขตพื้นที่กำกับติดตาม
  4. ตรวจสอบประเมินผล สิ่งที่พบสำคัญคือ ครูบางส่วนในโรงเรียนยังขาดความระหนักยังคิดว่าเป็นภาระเพิ่ม
  5. แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างทีมแกนนำให้เข้มแข็ง โดยจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอน แล้วสร้างทีมแกนนำให้เข้มแข็ง เพื่อให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนฯ ภายในโรงเรียนต่อไป

ผมขอตั้งข้อสังเกตกับการขับเคลื่อนฯ ของกัลยาณวัตรดังนี้ครับ

  • ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ การจัดการความรู้ ในการนิเทศติดตามอย่างกัลยาณมิตร..... ผมคิดเล่นๆ ว่า หาก โรงเรียนกัลยาณวัตร ใช้ปณิธานในการขับเคลื่อนว่า "กัลยาณวัตร กัลยาณมิตร กัลยาณวัฒนา" ก็คงทำให้มีพลังเพิ่มขึ้นไม่น้อย
  • สังเกตว่า กัลยาณวัตร เขียนถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาถึง 2 ครั้ง แม้ว่าจะเป็นแบบเดิมที่ทาง สพฐ.ยังคงทำอยู่คือ "อบรม" และ "กำกับติดตาม" 
  • เครื่องมือที่แกนนำกัลยาณวัตรใช้ ได้แก่ ฝึกอบรมให้ ให้มาศึกษาดูงาน ติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นระยะๆ

โรงเรียนสนามบิน อ.เมือง จ.ขอนแก่น (นำเสนอโดย อ.ละออ และ อ.อภัยวัลย์)


โรงเรียนสนามบิน มีรูปแบบในการขับเคลื่อน 3 ขั้น ได้แก่

  1. การเลือกโรงเรียน ควรมีบริบทคล้ายกัน มีแนวคิดและวิสัยทัศน์ที่จะนำ "หลักพอเพียง" ไปใช้ในโรงเรียน
  2. การขับเคลื่อน เริ่มจากการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ ก่อนจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  3. ตรวจสอบประเมินผล พบว่าปัญหาที่พบมากคือ การขาดความต่อเนื่อง และระบบการทำงานเป็นทีมไม่เข้มแข็ง
  4. ขยายผลให้ให้ครูที่รู้แล้วบ้างให้รู้และเข้าใจมากขึ้น ที่ยังไม่มั่นใจให้มั่นใจมากขึ้น การเรียนการสอนที่ยังไม่เชื่อมโยง ให้เชื่อมโยงมากขึ้น ฯลฯ

ผมสังเกตว่า แม้ว่าโรงเรียนสนามบินจะเขียน แผนผังง่ายๆ ดังรูป แต่ในขั้นตอนการนำเสนอ อ.ละออ และอาจารย์อภัยวัลย์ อธิบายขยายความอย่างละเอียดละออ.... ลวดแล้วแต่ออกมาจากการปฏิบัติด้วยตนเอง เป็น ความรู้ฝึกลึกในตน.... การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบไม่มีรูปแบบ จะสามารถทำให้ Tacit กลายเป็น Explicit Kowledge สำหรับผู้ฟังต่อไป ....


โรงเรียนดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.มหาสารคาม



ดงใหญ่ฯ ใช้ STANCE MODEL มาใช้ในการขับเคลื่อน ปศพพ. ในโรงเรียน ซึ่งนิยามแต่ละตัวอักษร ดังนี้

S : Students คือนักเรียน

T : Teacher  คือ ครู

A : Administrator คือ ผู้บริหาร

N : Network คือ เครือข่าย ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนภายนอก ซึ่งมีถึง 10 โรงเรียน ที่สามารถผ่านเป็นสถานศึกษาพอเพียงได้

C : Community คือ ชุมชน ในที่นี้คือ คณะกรรมการสถานศึกษา รวมถึงชุมชนเรียนรู้กับหน่วยงานต่างๆ ภายนอก เช่นโรงเรียนศูนย์ฯ (โพนทองวิทยายน) มูลนิธิยสยามกัมมาจล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มโรงเรียนรัชมังคลาภิเษก ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด ฯลฯ

E : Environment คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ แหล่งเรียนเรียน และฐานการเรียนรู้ต่างๆ

สังเกตว่า โรงเรียนดงใหญ่ฯ  นำแก่นหรือที่เราใช้เป็นเกณฑ์ มาปรับใช้เป็นหลักในการขับเคลื่อนฯ เลย นับเป็นจุดเด่นสำคัญที่ดงใหญ่ให้ความสำคัญเต็มที่


โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖  อ.เมืองพล จ.ขอนแก่น


การนำเสนอรูปแบบการขับเคลื่อนฯ ของ ชุมชนห้วยค้อฯ เป็นแบบตรงๆ ครับ  ตรงกับคำถามที่ เราตั้งไว้ ได้แก่

  • คัดเลือกโรงเรียนอย่างไร  ตอบชัดๆ ว่า ผู้บริหารต้องมีใจ (ระเบิดจากข้างใน) ครูต้องมีใจ นักเรียนมีพื้นฐาน และชุมชนต้องให้ความร่วมมือ
  • ขับเคลื่อนอย่างไร ทำได้หลายรูปแบบ
    • เริ่มจากการศึกษาดูงานที่โรงเรียนศูนย์ฯ  
    • ประกอบกับจัดฝึกอบรมเพื่อทำความเข้าใจให้แก่ ผู้บริหาร ครู และนักเรียน โดยร่วมกับ สพป.เขต 1 และเขต 3  
    • นอกจากนั้นแล้วยังจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำหลักสูตร จัดหน่วยการเรียนรู้ และจัดทำแผนการเรียนรู้ ฯลฯ
    • ที่สำคัญ (แต่ไม่ได้เขียนไว้) คือ ชุมชนห้วยค้อใช้การขับเคลื่อนแบบ ลงพื้นที่แบบไปทั้ง ผอ. ครู และนักเรียนแกนนำ  โดย ผอ.คุยกับ ผอ. ครูคุยกับครู นักเรียนคุยกับนักเรียน.....นี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ ทำให้โรงเรียนบ้านดอนหัน และโรงเรียนบ้านห้วยหว้าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
  • เกิดผลอย่างไร ต้องมีการติดตามลงพื้นที่ ณ โรงเรียน เพื่อนิเทศติดตามเป็นระยะ เพื่อให้คำแนะนำ ชี้จุดเด่นทำให้เห็นจุดด้อยจุดที่ควรพัฒนา 
  • ปัญหาและอุปสรรค ที่พบบ่อย คือ ยังมีครูบางส่วน แม้เป็นส่วนน้อย ที่ยังไม่เปิดใจ ไม่ให้ความร่วมมือ.... คงต้องสร้างความตระหนักกันต่อไป....

โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม


โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม มีจุดแข็งเรื่องการจัดการเรียนรู้ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ แบบ PBL (Project-based Learning) จนเกิดผลเชิงประจักษ์ คือ นักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืน  ที่นักเรียนๆ อย่างมีความสุขสนุกที่ได้เรียน

เชียงยืนฯ จะใช้ 3PBL Model ในการขับเคลื่อนฯ โดยบูรณาการครูทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 กับการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษาไปใช้......สิ่งที่ผมคาดว่าเชียงยืนจะได้คือ "ทักษะในศตวรรษที่ 21 ในบริบทไทย" (ผมคิดว่าประเทศใดก็ตามที่นำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ จะได้ทักษะในบริบทของตนเอง) 


โรงเรียนบรบือวิทยาคาร อ.บรบือ จ.มหาสารคาม


(ขออภัยที่ไม่ค่อย "โฟกัส" นะครับ มีภาพเดียว...คราวหลังจะระวังความเสี่ยงด้วยครับ)

โรงเรียนบรบือวิทยาคาร มีจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์สูง ในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหาร  จุดที่ถูกสะท้อนว่าเป็นอุปสรรคคือ ปัญหาการโยกย้ายสับเปลี่ยนบุคลากร กิจกรรมต่างๆ จากหน่วยงานภายนอก....

สิ่งที่สะท้อนจากคำตอบเมื่อถามว่า ผลลัพธ์ของกรขับเคลื่อนเป็นอย่างไร คือ ครูมีแผนฯ ผู้บริหารมียุทธศาสตร์ นักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาฯ  ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมิติกิจกรรมที่โรงเรียนส่วนใหญ่คิดว่าเป็น Output หรือ Outcome แต่ความจริง ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงร่องรอยของ Process ที่ยังไม่ได้แสดงว่า เกิดอะไรกับนักเรียนบ้าง......ถึงวันนี้เอง ผมก็ยังเชียร์ท่าน ผอ.มนูญ ด้วยที่เห็นเทคนิคและวิธีการดีๆ ที่ได้เรียนรู้จากท่าน คงต้องคอยดูกันว่า จะสามารถทำให้ครูที่มีอยู่จำนวนมากระเบิดเปิดใจให้กับงานขับเคลื่อนฯ

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ที่คล้ายคลึงกันหลายๆ โรงเรียนคือ เครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อน คือ

  • ฝึกอบรม
  • ศึกษาดูงาน
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • เวิร์คช็อพ หรืออบรมเชิงปฏิบัติการ และ
  • นิเทศก์ติดตาม

เครื่องมือ "เรียนรู้" ภาคปฏิบัติ อาจยังไม่ค่อยได้จัดได้ทำกันอย่างจริงจังหรือไม่? ผมยังสงสัยในใจอยู่ เช่น

  • การถอดบทเรียน
  • BAR
  • AAR
  • กิจกรรมเรียนรู้ภายใน เช่น จิตตปัญญาศึกษา หรือ จิตศึกษา หรือ การปฏิบัติธรรม ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ฯลฯ
  • การจัดการเรียนรู้แบบ PBL (Project-based Learning)
  • การจัดการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง (Self-directed Learning)
  • ฯลฯ


โรงเรียนโนนสังวิทยาคาร อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู
(ขออภัยอีกทีครับ มีภาพเดียวจริงๆ ไม่โฟกัสอีกแล้ว)

สำหรับโรงเรียนโนนสังฯ เห็นว่าโรงเรียนจะต้องมีใจและตั้งใจเข้าร่วม อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียง และสังกัด สพม. เขต 19 โดยมีวิธีการขับเคลื่อน ดังนี้ครับ
  • ประชาสัมพันธ์ให้เข้ามาเยี่ยมโรงเรียนฯ
  • จัดอบรมให้ความรู้ สร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญ
  • ร่วมกันวางแผนในการขับเคลื่อน โดยนำเข้าสู่ "หลักสูตรการสร้างอุปนิสัยพอเพียง"
  • (ติดตาม) ประเมินผลการดำเนินงาน/พัฒนา
ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่โนนสังฯ เขียนไว้คือ 
  • แนวคิดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ ปศพพ.
  • วิธีการขับเคลื่อนสู่การจัดการเรียนการสอน
  • การวิเคราะห์ถอดบทเรียน ปศพพ.

ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเฉพาะโรงเรียนโนนสังฯ แต่น่าจะประสบพบทุกโรงเรียน ครูทุกคนที่นำไปปฏิบัติ....วิธีการที่ดีคือ ลงมือปฏิบัติอย่างมีโยนิโส คือคิดพิจารณาโดยแยบคาย ว่าสิ่งที่เราทำนั้นใช้หลักคิด หลักปฏิบัติตามหลักปรัชญาฯ ตรงไหน อย่างไร ฯลฯ


โรงเรียนที่เข้าโครงการใหม่คือ โรงเรียนมัธยมยางสีสุราช และโรงเรียนวังมน เขียนไว้ในชาร์ทแล้วอย่างชัดเจนครับ


โรงเรียนวังมน น่าสนใจอย่างยิ่งครับ  คงได้ร่วมเรียนรู้รวมด้วยเร็วๆ นี้ครับ



หมายเลขบันทึก: 532401เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2013 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2013 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท