แก้ไขตัวเองให้ได้ในปัจจุบัน...



การประพฤติการปฏิบัติธรรมคือการแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง พัฒนาตัวเอง  เพราะปัญหาต่าง ๆ ในโลกนี้ล้วนแต่ที่เกิดจากจิตจากใจ จากการกระทำของเราเอง


ทุกท่านทุกคนมีอัตตาตัวตนมาก มีทิฏฐิมานะมาก เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นประธาน ปัญหาไม่มีมันเลยมีปัญหา ปัญหาเล็กเลยกลายเป็นปัญหาใหญ่  เห็นแต่สิ่งภายนอกไม่ดี เห็นแต่คนอื่นทำผิด

ปัญหามันมีไม่ลำบาก ปัญหามันมีง่าย ๆ แต่เราพากันแก้ไขไม่ถูก...

พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกเราสั่งสอนเรา ให้เรามาแก้ที่ใจของเรา ให้เราคิดให้มันเป็น คิดให้มันเกิดความสงบ เกิดสติ เกิดปัญญา เช่นทุกอย่างมันไม่ได้ตามใจเรา ไม่ได้ตามปรารถนาของเรา พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราคิดว่า ดีแล้วทุกอย่างมันไม่ได้ตามใจตามปรารถนาของเรานั้น เราจะได้ทำจิตทำใจ ถือว่าเป็นโชคเป็นวาสนาของเรา ที่เราจะได้แก้ที่จิตที่ใจ  ของเรา อย่างเราเกี่ยวข้องกับคนที่เขาไม่ดี นิสัยไม่ดี แถมยังเป็นโรคประสาทอีกต่างหาก  เป็นคนทิฏฐิมานะมาก เจ้าอารมณ์ เราก็บอกตัวเองเลยว่า ดีมาก เราเป็นคนโชคดี เราจะได้ปฏิบัติธรรม เราจะได้แก้ไขใจของเรา แก้ไขกิริยามารยาทของเรา แก้ไขคำพูดของเรา  เราจะได้เจริญเมตตามาก ๆ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนคิดให้มันเป็นนะ... ถ้าคิดเป็นแล้วมันแก้ปัญหาได้  นี้พวกเราไม่พากันคิดอย่างนั้น คิดที่จะแก้ไขคนอื่น ปรับปรุงคนอื่น ไปจับผิดคนอื่นน่ะ  แล้วไปเอาความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงของคนอื่นมาไว้ในจิตในใจของเรา กี่ปีกี่เดือนก็ไม่ยอมทิ้งไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง

เราต้องคิดให้มันเป็น... อย่างเรานี้นะ เป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่ขยัน เป็นคนไม่มีระเบียบไม่มีวินัย เราก็บอกตัวเองว่า “ดีแล้ว” เราจะได้สร้างความดี สร้างบารมี เราจะได้  เป็นคนขยัน เราจะได้เป็นคนเสียสละ เราจะได้เป็นคนมีระเบียบมีวินัย ถ้าเราไม่เป็นคนขี้เกียจ ไม่เป็นคนที่ไม่มีระเบียบไม่มีวินัย เราก็จะไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ สร้างความดีสร้างบารมี

ความขี้เกียจขี้คร้านมันก็ดีนะ ทำให้เราเป็นคนขยัน เป็นคนเสียสละ ที่เราไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัยไม่บังคับตัวเองมันก็ดีแล้ว เราจะได้เป็นคนที่มีระเบียบมีวินัย บังคับตนเอง

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิดท้อแท้ เบื่อหน่าย หมดกำลังใจ ว่าทำไมมันปฏิบัติยากลำบาก มันทรมานเหลือเกิน ไม่ให้เราคิดอย่างนี้ ถือว่ามันเป็นโชคของเรา เป็นวาสนา  ของเรา ที่ให้เราได้ฝึกตนเองพัฒนาตนเอง “การแก้ไขอะไรต่าง ๆ สู้มาแก้ไขตนเองไม่ได้...”

การดำรงชีวิตของเรานี้นะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราแก้ไขทั้งหมด ไม่ว่าการกินการอยู่  การใช้จ่าย ต้องแก้ไขตัวเองหมด ส่วนใหญ่ก็พากันแต่งหน้าแต่งตาแต่งตัว แต่งอะไรอย่างนี้นะ แต่มันยังไม่เพียงพอนะ พระพุทธเจ้าท่านให้เรา “แต่งใจ แต่งกิริยามารยาท แต่งคำพูด  แต่งความประพฤติ แต่งการปฏิบัติของเรานะ” ถ้าเราเป็นคนดีชีวิตของเราก็มีคุณค่ามีราคา ทุกคนก็รักเรา ทุกคนก็เคารพเรานับถือเรา

ค่าของเราที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้อยู่ที่เราพัฒนาตนเอง ปฏิบัติตัวเอง...

เราไม่ต้องไปโทษสิ่งภายนอก... สิ่งภายนอกนี้มันดีนะ มันมาขัดจิตขัดใจของเราให้เราได้ประพฤติปฏิบัติธรรมะ ให้เราได้ปรับทั้งกายปรับทั้งใจ ปรับทั้งกิริยามารยาท ปรับทั้งคำพูด เรื่องที่ไม่ดีมันจะได้ดี เรื่องดีแล้วก็ให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เรื่องเล็กมันก็หมดเรื่อง เอาความฉลาด เอาความเห็นถูกต้องมาใช้ในชีวิตประจำวัน

เราจะไปรอให้ทุกอย่างเจริญเติบโตด้วยการไม่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้...

ต้องสร้างศักยภาพตัวเองขึ้น ขยันขึ้น เสียสละขึ้น สมองที่มันไม่กระฉับกระเฉงก็ให้มันกระฉับกระเฉง ว่องไว เพราะที่ผ่านมามันทำตามความเคยชิน บางทีมันก็คิดไม่ออก  เพราะเราไม่ได้พัฒนาสมองของเรา

พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดให้มันเป็น คิดให้มันถูก คิดให้รอบคอบ...

ทุก ๆ คนต้องเชื่อมั่นในธรรมะ เชื่อมั่นในการกระทำของตนเอง ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เราจะไปทำตามทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เอายักษ์เอาเปรตเอาอสุรกายมาไว้ในจิตในใจนี้ไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านให้เราปรับปรุงกายวาจาใจของเรายิ่ง ๆ ขึ้นไปทุก ๆ วัน...

วันนี้เราทำดีที่สุด ต่อไปเราก็ทำดีที่สุดไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าเราทำดีเดี๋ยวนี้มันก็จะเป็นปัจจุบันไปเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันก็เป็นปัจจุบันไปเรื่อย ๆ อย่างนี้

ถ้าเราไม่อาศัยพระอาทิตย์ ไม่อาศัยดวงจันทร์ ทุกวันก็เป็นปัจจุบันไปหมด  แต่นี้เราว่าอนาคตเพราะเราไปอาศัยการโคจรของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์น่ะ แต่ที่จริงมันก็คือปัจจุบันนี้แหละ ให้เราคิดอย่างนั้น ต้องแก้ไขตัวเองให้ได้ในปัจจุบัน


คนเราน่ะทำความดีมันไม่ตายหรอก ถ้าตายก็คือความชั่วนี้มันตายจากเรา...

สมาธิของเราต้องแข็งแรงแข็งแกร่ง ต้องมีความสุขในการทำความดี มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติธรรม

เราอยู่ดี ๆ ไม่มีใครมาเกลียดเราหรอก เราอยู่ดี ๆ ไม่มีใครมาด่ามาฆ่ามาทำลายเราหรอก ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่ตัวเราทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าท่านให้เราอดเอา ทนเอา แก้ไขไป อันนี้ให้รีบพูด อันนี้ให้หยุดพูด อันนี้  ให้รีบทำ อันนี้ให้หยุดทำ ทุกอย่างล้วนแต่มาแก้ไขที่ตัวเองทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดอย่างนี้นะ

ทุกคนอย่าพากันให้กิเลสมันลากไปฉุดไป มันเจ็บมันช้ำตัวเราก็ลำบาก คุณพ่อคุณแม่เราก็ลำบาก ลูกเราก็ลำบาก หลานเราก็ลำบาก เพราะเรานี้มันตามใจตัวเอง ตามความคิดตัวเอง ไม่มีใครทำร้ายเรา เรานี้แหละทำร้ายเรา

ทุกคนต้องลดมานะละทิฏฐิ ละตัวละตน ปรับปรุงตน...

ความจนก็เพราะเราสร้างมันมาให้มันจน เราจะไปโทษพ่อโทษแม่เราไม่ได้  โทษอะไรไม่ได้ ให้เราเป็นคนขยันแล้วก็เป็นคนฉลาดเป็นคนมีความสุขในการทำความดี  เห็นโทษเห็นภัยในความทุกข์ที่มันจะเกิดในอนาคต สร้างแบรนเนม สร้างเรทติ้งให้กับตัวเองในปัจจุบันให้มันเต็มที่นะ

“ความจนมันไม่มีสำหรับคนขยันไม่มีสำหรับคนที่รู้จักเจ็บ ความยากลำบาก  มันไม่มีสำหรับผู้ที่ไม่ทำตามใจตัวเองทำตามกิเลสตัวเอง...”

ถึงเวลาทำอะไรก็ต้องทำในสิ่งนั้น ทำให้มันดียิ่ง ให้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มร้อย  รักษาศีลก็ให้มันรักษาถึงจิตถึงใจ เพราะว่าศีลนั้นคือพระพุทธเจ้า เพราะว่าศีลนั้นคือสิ่งที่จะทำให้เราเป็นพระอริยสงฆ์ ถ้าเราไม่มีศีลสมาธิมันจะมีได้อย่างไร...?

ศีลสมาธินี้มันก็เหมือนกับเหรียญนี้แหละ ด้านหนึ่งคือศีลด้านหนึ่งคือสมาธิ  มันอยู่ในชิ้นเดียวกัน...

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนพากันประพฤติปฏิบัติตัวเอง อย่าได้พากัน  ติดในความสุขความสะดวกความสบาย แล้วก็พากันเรียกร้องหาแต่ความสุขความดับทุกข์ “มันเป็นไปไม่ได้” แล้วพากันมองหาความสุขความดับทุกข์จากคนอื่น ไปมองคนอื่น  ว่าเค้าจะให้ความสุขกับเรา

เราไม่ต้องไปเอาความสุขจากใคร พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เป็นผู้ให้ “ให้ความสุขกับคนอื่น...”

นี้แหละ... เราเป็นแต่ผู้รับตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว อยู่ในบ้านในครอบครัวมันก็จะเอา  อยู่นั่นแหละ คอยมองดูว่าพ่อจะให้อะไร แม่จะให้อะไร สามีจะให้อะไร ภรรยาจะให้อะไร  มีแต่จะเอาอยู่อย่างนั้นแหละ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิดอย่างนี้นะ เราต้องเป็นผู้ให้  เราต้องเป็นผู้เสียสละ

เราต้องให้คนอื่นทั้งสิ่งภายนอกข้าวของเงินทอง ให้คนอื่นโดยการไม่ไปเอาชนะคนอื่น ให้อภัยคนอื่น ไม่ถือโทษโกรธเคือง “เราต้องเป็นผู้ให้นะ...

เพราะเราเป็นหนี้ทั้งทางกาย เป็นหนี้ทางทางใจ เป็นหนี้ทั้งวาจา เราต้องเป็นผู้ให้  เราเกิดมาต้องเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ เราอยากไปเราก็ไม่ไป เราเสียสละอย่างนี้นะ ถ้าเราไปเราก็เป็นคนไม่หนักแน่น มันอยากทำตามใจของตัวเองน่ะ เราก็ไม่ทำ ถ้าเราทำอย่างนั้นถือว่าความคิดเรามันยังเป็นเด็ก ๆ อยู่ ยังเป็นคนเจ้าอารมณ์ ทำตามใจตัวเอง ไม่หนักไม่แน่น  ไม่หยุดไม่เย็น

ถ้าเราปฏิบัติถูกมันก็ง่าย ๆ นะ ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกก็มีแต่จะไปแก้ไขสิ่งภายนอก  ไม่เอาตัวเองมาประพฤติปฏิบัติบูชา การแก้ไขตัวเองปรับปรุงตัวเองนี้คือการปฏิบัติบูชา  บูชาอะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่กว่าปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้นนะ


การปฏิบัติบูชานี้มันดี มันเปลี่ยนชีวิตจิตใจเราไปได้เร็ว เราอยู่ที่ไหนเราก็สบายไปหมด ไม่ว่าอยู่ในป่าในเขา ไม่ว่าอยู่ในบ้านในเมืองในกรุง

เขาพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกสบายทางกาย ถึงจะได้ด๊อกเตอร์ มาหลายใบมันก็ดับทุกข์ยังไม่ได้ ถ้าเราไม่มาปฏิบัติบูชา ไม่มาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง  เราต้องมาปฏิบัติต้องการแก้ไขปรับปรุงตัวเองปัญหามันถึงจะหมดเรื่องราวมันถึงจะหมด  มันหมดอยู่ที่ตัวเอง...

ทุกวันนี้ในโลกเดือดร้อนมีปัญหาเยอะมันก็ยิ่งดีนะ เราจะได้ปรับปรุงใจของเรา ปรับปรุงตัวเราท่ามกลางความวิกฤต เราจะได้ถือโอกาสนั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรม

ต้องหยุดต้องนิ่งต้องเย็น ต้องขยัน ถ้าเอาความสุขความดับทุกข์ทางกายนี้มันดับทุกข์ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ มันเพียงบรรเทาทุกข์ไปเท่านั้นเอง “ต้องมาแก้ที่จิตที่ใจของเรา...”

ทุกคนอยากมีอาชีพดี ๆ อยากมีอะไรดี ๆ ทั้งนั้นแหละ อันนั้นมันก็ถูกต้อง  แต่มันถูกต้องทางกาย ถ้าเราไม่ได้พัฒนาจิตใจสิ่งเหล่านั้นมันจะเป็นโทษแก่ชีวิตของเรา  ชีวิตของลูกหลานเรา เพราะว่าเราไม่รู้เรื่องจิตเรื่องใจเรื่องธรรมะ

ธรรมะก็คือธรรมชาติ คือความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก เราทุกคนไม่ชอบความแก่ความเจ็บความตายก็คือไม่ชอบธรรมะไม่ชอบธรรมชาติ เราปฏิเสธความจริงกัน

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารักธรรมะ รักความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก พอใจในสิ่งที่เรามีเราเป็นอยู่ มันจะแก่ก็ช่างมันจะตายจะพลัดพรากจากไปก็ช่างมัน  อะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะตั้งอยู่ อะไรจะดับไปก็ช่างหัวมัน เราพยายามพอใจ พยายามรักพยายามชอบ พยายามสงบ พยายามเย็น เราจะไปปฏิเสธธรรมะ ปฏิเสธสัจธรรม ปฏิเสธความจริงไปไม่ได้

พร้อมที่จะยอมรับเอาความแก่ด้วยความสุข ยอมรับความเจ็บด้วยความสุข ยอมรับ  ความตายด้วยความสุข สุขอะไร.? สุขใจที่ไม่ไปทำศึกสงครามกับความแก่ความเจ็บความตาย

เมื่อเราไม่พอใจมันก็มีความปรุงแต่งดิ้นรนกระวนกระวาย พยายามที่จะให้มันไม่เจ็บ  ไม่ปวด พยายามที่จะไม่ให้มันตาย มันก็เผาเราแหละที่นี้ มันเจ็บทั้งกายมันเจ็บทั้งใจ  เราเป็นคนฉลาดหรือเป็นคนไม่ฉลาดน่ะเราคิดดูนะ

พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้กลับมาหาธรรมะนะ ใจของเราจะได้สงบ ใจของเรา  จะได้เย็น จะได้ปล่อยได้วาง เราอย่าพากันแสวงหาแต่สิ่งที่ชอบที่ชอบ อะไรก็จะเอาแต่ที่ชอบที่ชอบนะ กำลังแสวงหาแต่ความถูกใจความชอบใจ สิ่งที่เราไม่ชอบเราได้หมดทุกคนนั่นแหละ

อะไรเกิดขึ้นพระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรา ที่เราไม่รักไม่ชอบนั่นแหละคือปัญหาที่เรากำลังสะดุด กำลังซวนเซ ต้องแก้ไขปรับปรุงจิตใจให้ยอมรับความจริง  ยอมรับสัจธรรม อย่าไปวุ่นวาย อย่าไปปรุงแต่งเพราะความปรุงแต่งเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ต้องฝึกใจไว้ ทุกคนต้องฝึกใจไว้ ต้องอดต้องทนมันถึงมีศีลมีสมาธิมีปัญญา  เป็นนักปรัชญาเป็นนักฉลาดนี้มันยังดับทุกข์ไม่ได้ ต้องฝึกจิตใจเข้าหาภาคปฏิบัติ  มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่หนีความจริงไปที่ไหน ไม่หนีสัจธรรมไปที่ไหน เมื่อพร้อมแล้ว  ทุกอย่าง ชีวิตของเรามันก็จะเกิดความสุขความสงบ

เราไปอยู่ที่ไหนเราก็ต้องปฏิบัติธรรมะในที่นั่นนะ เพื่อให้ใจของเราไม่มีปัญหา เพื่อให้ใจของเราไม่มีทุกข์ ต้องแก้ที่จิตที่ใจตลอด นี้เราไม่ค่อยได้แก้จิตแก้ใจแก้ตัวเองเลยนะ พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น

เพื่อไม่ให้ทุกคนเสียเวลาน่ะ ก็ต้องพากันปฏิบัติธรรมแก้ไขตั้งแต่ใจนั้นก่อน  แล้วกายวาจาใจก็มันก็ต้องแก้ตามกันไป เพราะกายนี้มันก็เหมือนหุ่นยนต์นี้แหละ เอาเขาไปใช้งานอะไรเขาก็ไป เอาให้เค้าพูดเค้าก็พูด เอาให้เค้านอนเค้าก็นอน ให้เค้าคิดจนเป็น  โรคประสาทเค้าก็ทำตามหมด เอาเค้าคิดแต่เรื่องเก่าวกวนไปหมด คิดจนเป็นโรคประสาท  จนได้ จะไปวิ่งอยู่ที่เก่า ๆ ไปทุกข์ระทมขมขื่น ให้ปล่อยให้วางให้แก้อยู่ที่ปัจจุบันไปเป็น  เปราะ ๆ ย่ำแต่ที่เก่าที่เก่าอยู่นั่นแหละ ทำไม ๆ ๆ อยู่นั่นแหละ ไม่ได้นะ...

ถ้าเราไม่แก้ที่จิตที่ใจของเราถึงจะรวยมันก็ใช้ไม่ได้...

บางคนน่ะเห็นรูปลักษณ์ดี เป็นคนรวยเป็นคนฉลาด เราก็เห่อ เราก็หลง เราก็พอใจ  ไปเอาเป็นสามีเป็นภรรยาเป็นครอบครัว แต่ที่ไหนได้ล่ะ “เป็นโรคประสาท”มันดีแต่รูปลักษณ์ภายนอก มันเก่งมันฉลาดจริงแต่ว่ามันเป็นโรคประสาท มันจะมีความสุขได้อย่างไร...?

ถ้าเราวิ่งแต่ภายนอก แก้ไขแต่สิ่งภายนอก เราทุกคนก็จะเป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตด้วยกันหมดทุกคนนะ ถ้าเราไม่มาแก้ที่จิตที่ใจ ไม่มาแก้ที่ตัวของเรา

คนเราถ้าทำดีใจมันดี ทำดีใจมันมีความสุข ใจมันมีชีวิตชีวา มันมีคุณค่า

ทุกท่านทุกคนน่ะพระพุทธเจ้าท่านให้เราสำรวจตรวจตราตัวเองนะว่าเรามันขาดตกบกพร่องอะไร เราต้องแก้ไขกายวาจาใจของเรา เพื่อเจริญวิปัสสนาในด้านจิตด้านใจ  ให้มันยิ่ง ๆ ขึ้นไป

มันต้องขยันปฏิบัติ ขยันแก้ไข ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องมันสงบมันเย็นนะ มันคลายเครียด คลายความทุกข์ไปเรื่อย ๆ ถ้าใจของเราไม่มีความทุกข์แล้วเรื่องกายมันก็ไม่มีปัญหา

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราท้อแท้ท้อถอย ไม่ให้เราคิดว่าเรามีบุญน้อยวาสนาน้อย  ท่านไม่ให้เราคิดอย่างนั้น อันนี้เป็นความคิดที่บั่นทอน เฉย ๆ ไว้ ความคิดอย่างนี้เฉย ๆ ไว้  ทำไปปฏิบัติไปนะ ก้าวไปด้วยศีลด้วยธรรมด้วยคุณธรรมตามรอยบาทขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนี้ก็เห็นสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

เช้าวันอังคารที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 531946เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2013 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2013 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท