“ศิลปะ”และเศรษฐกิจสร้างสรรค์( Art and Creative Economy)


“ศิลปะ”และเศรษฐกิจสร้างสรรค์( Art and Creative Economy)

ศิลปะคืออะไร

            เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ศิลปะคือผลงานที่เกิดจากการสรรสร้างอย่างงดงาม อย่างมีคุณค่าและ ปรุงแต่งอย่างมีความคิดสร้างสรรค์โดยฝีมือของมนุษย์ ทั้งนี้สามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สถาบัตยกรรม ออกแบบ ตกแต่ง กราฟิค นิเทศศิลป์  ดนตรี  นาฏศิลป์ ฯลฯ และไม่ว่าเป็นงานศิลปะประเภทใด ล้วนอาศัยการใช้ทักษะและหลักทางศิลปะมาสร้างโดย อาศัยเนื้อหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี โดยมีรูปแบบ เทคนิควิธีการและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ ตลอดจนสื่อการแสดงออกที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน แต่ละเชื้อชาติ และเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นยุคสมัยแห่งมนุษยชาติ

เศรษฐกิจสร้างสรรค์คืออะไร

            ในแผนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๕- ๒๕๕๙ มีหลักการสำคัญประการหนึ่งก็คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการ (Value Added) โดยใช้ศักยภาพจุดแข็งทางทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี  ผนวกกับนวัตกรรม เทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อจัดการวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นไทย ให้สามารถสร้างสรรค์ เป็นระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ผลักดันให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิตกลายเป็นระบบ

“เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือ Creative Economy

เนื่องจากความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความหลากหลาย จึงมีหลายองค์กรได้พยายาม ให้คำจำกัดความที่สร้างความเข้าใจและการยอมรับอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ประเทศอังกฤษนับได้ว่าเป็น ประเทศต้นแบบที่ได้รับการยอมรับให้เป็น“ศูนย์กลางความสร้างสรรค์ของโลก” (World Creative Hub) ได้ให้ความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนี้“เศรษฐกิจที่ประกอบด้วย อุตสาหกรรมที่มีรากฐานมาจาก ความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ทักษะความชำนาญและความสามารถพิเศษ ซึ่งสามารถนำไปใช้ ประโยชน์ ในการสร้างความมั่งคั่งและสร้างงาน ให้เกิดขึ้นได้ โดยที่สามารถสั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่า สู่รุ่นใหม่ ด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา”ในขณะที่องค์การยูเนสโก ให้ความหมายเน้นบริบททรัพย์สิน ทางปัญญาว่า“ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ ทางวัฒนธรรมและ ศิลปะทั้งหมด ทั้งในรูปสินค้าและบริการที่ต้องอาศัยความพยายามในการสร้างสรรค์งานไม่ว่าจะเป็นการ ทำขึ้นมาโดยทันทีในขณะนั้นหรือผ่านกระบวนการผลิตมาก่อน” เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงมีองค์ประกอบ ร่วมของแนวคิดการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ บนพื้นฐาน ของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทาง ปัญญา ที่เชื่อมโยงกับ รากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่

กล่าวโดยสรุป ความหมายของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” คือ “การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ที่เกิดจากความคิด สร้างสรรค์ของมนุษย์” นั่นเอง

ศิลปะและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

            เศรษฐกิจสร้างสรรค์และศิลปะมีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น ทั้งนี้มีการกำหนด องค์ประกอบและลักษณะของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ออกเป็นกลุ่มต่างๆหลายกลุ่มซึ่งในแต่ละกลุ่มก็จะมี งานศิลปะเข้าไป เกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้นเช่น

               ประเทศอังกฤษ ได้กำหนดตามลักษณะสินค้าและบริการมี ๑๓ กลุ่มคือ โฆษณา  สถาปัตยกรรม งานศิลปะและ วัตถุโบราณ  งานฝีมือ  แฟชั่น  งานออกแบบ  ภาพยนตร์และวิดีโอ  ดนตรี ศิลปะการแสดง  สื่อสิ่งพิมพ์  ซอฟต์แวร์ โทรทัศน์และวิทยุ  วิดีโอและคอมพิวเตอร์เกมส์

     กำหนดโดยใช้วัฒนธรรมเป็นหลักมี ๑๑ กลุ่ม คือ โฆษณา  ภาพยนตร์  อินเทอร์เน็ต  ดนตรี   สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์และวิดีโอ ศิลปะสร้างสรรค์  เครื่องใช้ไฟฟ้า  แฟชั่น  ซอฟต์แวร์ และกีฬา

   กำหนดโดยใช้ศิลปะเป็นหลักมี ๑๔ กลุ่ม คือ วรรณกรรม  ดนตรี  ศิลปะการแสดง  งานศิลปะ  ภาพยนตร์  พิพิธภัณฑ์และห้องสมุด การดูแลศิลปวัตถุ/โบราณสถาน  สื่อสิ่งพิมพ์  การบันทึกเสียง   วิดีโอและคอมพิวเตอร์เกมส์ โฆษณา  สถาปัตยกรรม  งานออกแบบ  และ แฟชั่น

                        องค์การทรัพย์สินทางปัญญาได้กำหนด  ๒๐ กลุ่ม คือ โฆษณา งานสะสม  ภาพยนตร์และวิดีโอ ดนตรี  ศิลปะการแสดง  สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์และวิทยุ  งานศิลปะและกราฟฟิค  สื่อบันทึก เครื่องใช้ไฟฟ้า  เครื่องดนตรี กระดาษ  เครื่องถ่ายเอกสารและอุปกรณ์ถ่ายภาพ  สถาปัตยกรรม เครื่องนุ่งห่มและ รองเท้า งานออกแบบ แฟชั่น สินค้าตกแต่งบ้าน  ของเล่น

 อังถัด(UNCTAD) ได้กำหนดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็น ๔ กลุ่ม คือ มรดกทางวัฒนธรรม 
(Heritage Cultural Heritage)  ศิลปะ (Arts) สื่อ (Media) งานสร้างสรรรค์ตามลักษณะงาน 
(Functional Creation)

                                                  ยูเนสโก กำหนดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็น ๕ กลุ่ม คือ มรดกทางวัฒนธรรมและ ทรัพยากรธรรมชาติ(Cultural and Natural Heritage) การแสดง(Performance and Celebration) ทัศนศิลป์ งานฝีมือ และการ ออกแบบ
(Visual Arts, Crafts and Design) หนังสือและสิ่งพิมพ์ 
(Books and Press) และ โสตทัศน์และสื่อดิจิทัล 
(Audio Visual and Digital Media)

จะเห็นได้ว่า หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้พยายามกำหนดองค์ประกอบ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้สามารถจำแนกได้ชัดเจนเพื่อการส่งเสริมและพัฒนา จึงนับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะได้ช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทางด้านประเภทวิชาศิลปกรรมของวิทยาลัย  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาอย่างจริงจัง และช่วยกันรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการศึกษาด้านศิลปะ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีความสามารถทางศิลปะ ในการสร้างสรรค์ผลผลิตที่ตอบสนอง ความต้องการในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

http://www.creativethailand.org/th/about/about_cceo_p2.php

http://thainews.prd.go.th/previewnews.php?tb=NEWS&m_newsid=255211090235    

http://www.tcdc.or.th/articles.php?act=view&id=9

หมายเลขบันทึก: 531921เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2013 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2013 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท