สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 9: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคการปกครองแยกเป็น 7 หัวเมือง


           เริ่มการปกครองของสยามที่ปัตตานี ด้วยสยามได้แต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งชื่อว่า เต็งกูลามิดิน เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ครองเมืองระหว่าง พ.ศ. 2230-2334 โดยขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในช่วงระยะเวลานี้ปัตตานีจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความจงรักภักดีต่อสยาม  เต็งกูลามิดิน ได้วางยุทธวิธีในการเป็นอิสระต่อสยาม โดยขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์อันนัมให้โจมตีสยามทางทิศเหนือ ส่วนทางปัตตานีจะโจมตีสยามจากทางทิศใต้ แต่กษัตริย์แห่งอันนัมได้แจ้งข่าวไปยังกรุงเทพฯ เป็นผลให้สยามเตรียมพร้อมกองทัพ นำโดยพระยากลาโหม รวมกับกองทัพของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลา ทำการโจมตีกองทัพของปัตตานี เต็งกูลามิดินถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ประชาชนถูกจับเป็นเชลยและทรัพย์สมบัติถูกยึดไป ภายหลังจากการปราบปรามเต็งกูลามิดิน  สยามได้แต่งตั้งเจ้าเมืองปัตตานีอีกครั้ง โดยได้แต่งตั้ง “ดาโต๊ะปังกาลัน” ซึ่งครองเมืองระหว่าง พ.ศ. 2324-2353 ขุนนางมลายูผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลเป็นเจ้าเมือง และได้แต่งตั้ง“ลักซามานา ดายัง”ขุนนางสยาม ทำหน้าที่คล้ายเป็นผู้ควบคุมความมั่นคงของรัฐ เพื่อไม่ให้ทรยศต่อสยาม

         พ.ศ. 2329 สมัยรัชกาลที่ 1 สยามเสียเกาะหมาก(ปีนัง) ให้อังกฤษ เพราะสุลต่านไทรบุรียกเมืองให้อังกฤษเพื่อให้พ้นจากการปกครองของสยาม

        ภายหลังจากสยามได้ดำเนินการแต่งตั้งนี้แล้ว สถานการณ์ที่ปัตตานีได้สงบลงเป็นการชั่วขณะ แต่ไม่นานนักต่อมา ดาโต๊ะปังกาลันมักทะเลาะเบาะแว้งกับคนสยามในเรื่องของการปกครองและการบริหารรัฐ พวกเขากล่าวกันว่าได้ถูกเข้าแทรกแซงเป็นอันมาก และได้ทำการขัดขวางดาโต๊ะปังกาลัน พร้อมทั้งมักกระทำการทารุณต่อประชาชน 

     ในปี พ.ศ. 2351การทะเลาะเบาะแว้งได้ถึงจุดสูงสุด ผลก็คือดาโต๊ะปังกาลัน ได้สร้างความตื่นตระหนกด้วยการโจมตีคนสยามที่ปัตตานี ทำให้หัวหน้าของพวกเขาคือ ลักซามานา ดายัง ได้หนีพาตนเองเอาตัวรอดไปยังสงขลากองทัพสยามทำการโจมตีปัตตานีทั้งจากทางทะเลและทางบก ดาโต๊ะปังกาลันเสียชีวิตในการรบ 

      จากการกบฏในสายตาของสยาม หรือการต่อสู้เพื่อเอกราชทั้งสองครั้งในสมัยเต็งกูลามิดิน และดาโต๊ะปังกาลัน ทำให้สยามได้แต่งตั้ง“นายขวัญซ้าย”เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ครองเมืองระหว่าง พ.ศ. 2353-2358 หลังสงครามสยามได้ปรับโครงสร้างการปกครองหัวเมืองปัตตานีใหม่ ในปี พ.ศ. 2351 ในสมัยรัชกาลที่ 2  ที่พระยายะหริ่ง (นายพ่าย) เป็นเจ้าเมือง ปัตตานี นั้น ได้แบ่งปัตตานีออกเป็นเมืองเล็กๆ เมือง เรียกว่า "บริเวณ 7 หัวเมือง" คือเมืองปัตตานี,หนองจิก,ยะหริ่ง,สายบุรี,ยะลา,รามัน และ ระแงะ โดยให้คนมลายูพื้นเมืองเป็นเจ้าเมือง 6 เมือง คงมีคนไทยพุทธปกครองเพียงเมืองเดียว ดังนี้
1. ปัตตานี แต่งตั้งตวนสุหลง (ตูวันซูลง) เชื้อสายของดาตูปังกาลัน เป็นเจ้าเมือง
2. หนองจิก แต่งตั้งตวนนิ (ตูวันนิก) เป็นเจ้าเมือง
3. ยะหริ่ง แต่งตั้งนายพ่าย ซึ่งเป็นคนไทยพุทธ เป็นเจ้าเมือง
4. สายบุรี แต่งตั้งนิดะห์ (ขุนปลัดกรมการ) บ้านอยู่ที่ยี่งอเป็นเจ้าเมือง
5. ยะลา แต่งตั้งตวนยลอ (ตูวันยลอร์) เป็นเจ้าเมือง
6. รามัณห์ แต่งตั้งตูวันมันศูรฺ (ตวนหม่าโรฺส) ญาติของตวนยลอ บ้านอยู่ที่ โกตาบารู เป็นเจ้าเมือง
7. ระแงะ แต่งตั้งนิเด๊ะ น้องนิดะห์ (เจ้าเมืองสายบุรี) เป็นเจ้าเมือง
       พระยายะหริ่ง (นายพ่าย) มีอำนาจควบคุมเมืองอื่นๆ อีกหกเมือง และขึ้นต่อเมืองสงขลา
พร้อมกันนั้นได้ตั้งสงขลาเป็นหัวเมืองเอก  เพื่อควบคุมบรรดาหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกให้บรรดาหัวเมืองทั้งเจ็ดขึ้นตรงต่อสงขลา โดยเจ้าเมืองเหล่านี้ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ

         ต่อมาสมัยที่ต่วนสุหลงเป็นเจ้าเมืองปัตตานี ได้สร้างมัสยิดกรือเซะต่อจากที่ได้สร้างไว้แล้ว แต่ก็ยังสร้างไม่เสร็จจนถึงทุกวันนี้ พ.ศ. 2356 สมัย ร.2 พระยา กลันตัน ทะเลาะ กับพระยา ตรังกานู แล้วพระยา กลันตัน ขอไป ขึ้นกับ เจ้าเมือง นครศรี ธรรมราช พ.ศ. 2360 ตวนยลอเมืองยะลาสิ้นชีวิต ตวนบางกอก ผู้เป็นบุตรขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน

      ระหว่างนั้นมีการย้ายชาวไทยพุทธเข้าไปอยู่ในเจ็ดหัวเมืองเหล่านี้ เพื่อสร้างสมดุลอำนาจในเชิงเชื้อชาติ และป้องกันการคุกคามจากชาวพื้นเมืองที่ไม่พอใจ ซึ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนใน 7 หัวเมืองกับรัฐสยามเป็นระยะ ๆ เจ้าเมืองบางคนได้แอบสะสมอาวุธและผู้คนไว้เพื่อก่อการแข็งขืนกับรัฐสยาม

      ในปี พ.ศ. 2375 สมัยรัชกาลที่ 3 ก็เกิดสงครามกอบกู้เอกราชปัตตานีขึ้นอีกในไทรบุรีเมื่อ พ.ศ. 2374-2375 ก่อนจะขยายไปยังหัวเมืองทั้งเจ็ด หลังสงคราม รัฐสยามได้ใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง แบ่งเคดาห์ (ไทรบุรี) ออกเป็น 4 เขตคือ เปอร์ลิส สตูล ไทรบุรี และกะบังปาสู ให้แต่ละเขตปกครองตนเอง แต่ให้ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองมลายูจึงอ่อนแอลง

       การก่อกบฏครั้งนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวปัตตานีในชื่อว่า“สงครามปัตตานี (Musuh Patani)นั่นคือการก่อกบฏที่ค่อนข้างเป็นตัวชี้ขาดในประวัติศาสตร์ปัตตานี กล่าวกันว่า ฝ่ายที่ประสบชัยชนะในเหตุการณ์นี้ก็จะสามารถยึดครองปัตตานีต่อไป ส่วนฝ่ายที่ประสบกับความพ่ายแพ้ก็จำต้องคุกเข่ายอมตนต่อฝ่ายที่ชนะในระยะเวลาอันยาวนาน

     ผลของสงครามครั้งนี้ปัตตานีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และปราบได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2375 เลิกจากสงครามครั้งนี้ ปัตตานีจึงเป็นเวทีแห่งการสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ผู้คนปัตตานีต้องตกเป็นเหยื่อรับบทลงโทษอย่างทารุณและโหดเหี้ยมที่สุดอีกครั้งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ได้ซ้ำรอย ปัตตานีได้ถูกทำร้าย จากกองทัพสยามที่กำลังโกรธจัด ประชาชนถูกสังหารและข่มขืน บรรดาทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่คงมีอยู่ถูกขนย้ายไปยังเรือกลายเป็นทรัพย์สินจากสงคราม ประชาชนปัตตานีจำนวน4,000คน ถูกเจาะผูกเอ็นร้อยหวาย และถูกพาไปยังกรุงเทพฯ เป็นเชลยสงครามและข้าทาส

      เป็นการยากลำบากสำหรับปัตตานี ในการฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง จากซากหักพังของความเสียหายในสงครามครั้งนี้   มีเป็นจำนวนมากที่ได้อพยพออกจากปัตตานี โดยเฉพาะเดินทางไปยังรัฐกลันตัน,เคดะห์,เปรัค,และตรังกานู ภายหลังจากเหตุการณ์ พ.ศ. 2375 ก็ไม่มีอีกแล้วสงครามขนาดใหญ่และทั่วทั้งแผ่นดิน ระหว่างปัตตานีกับสยาม ถ้าเกิดขึ้นก็เป็นเพียงมีขอบเขตพื้นที่หนึ่งที่ไม่มีผลและการส่อให้เห็นความหมายใดๆ ...ภายใต้ระเบียบนี้ ซึ่งมีชื่อว่า  “ระบบการปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง” สยามได้ตั้งปัตตานีพร้อมกับเมืองหนองจิก,ยะลา,รามัน,สายบุรี (ตะลุบัน),ยะหริ่ง และระแงะ อยู่ภายใต้ผู้ควบคุมดูแลที่เรียกว่า ข้าหลวงใหญ่ และมีศูนย์อำนาจอยู่ที่สงขลา ด้วยการดำเนินการระบบนี้ บรรดาเจ้าเมืองมลายูเป็นอิสระจากการส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังกรุงเทพฯ แต่ตรงข้ามกัน รายได้ทั้งหมดที่เก็บได้จากบรรดาเมืองดังกล่าว จะถูกมอบส่งไปยังกรุงเทพฯ ดังเสมือนเป็นค่าทดแทนที่ได้สูญเสียทุกอย่างเหล่านี้ บรรดาเจ้าเมืองและขุนนางมลายูได้รับบำนาญและค่าครองชีพจากรัฐบาลสยาม

        สยามนำ เชลยศึกไม่น้อยกว่า 4,000 คน มาอยู่ที่สนามควาย (ถนนหลานหลวง)ในกรุงเทพฯ ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงเป็นแหล่งละครชาตรี และหนังตะลุงจากปักษ์ใต้ จากนั้นไม่กี่ปี นายพ่ายเจ้าเมืองยะหริ่งสิ้นชีวิต ทางสงขลาจึงโยกย้ายเจ้าเมืองยะลา(คนต่อมา) คือนายยิ้มซ้าย ให้ดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองยะหริ่งแทนนายพ่าย และแต่งตั้งนายเมืองบุตรนายพ่าย เป็นเจ้าเมืองยะลา
        ปี พ.ศ. 2385 เกิดสงครามกลางเมืองที่กลันตันระหว่างทายาทเจ้าของเมืองด้วยกัน ไทยได้ส่งพระยาเสน่หามนตรี กับ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญส่ง) ไปไกล่เกลี่ย ในระหว่างนั้นนายยิ้มซ้ายเจ้าเมืองยะหริ่งสิ้นชีวิต จึงย้ายนิยูซุฟ(เจ้าเมืองปัตตานีขณะนั้น) ไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง และเชิญตนกู มุฮำหมัด (ตนกู บึซาร์ หรือ ตนกูประสา) ซึ่งเกิด ขัดแย้งกับเจ้าเมืองกลันตัน จนเกิดสงครามกลางเมืองดังกล่าแล้ว มาเป็นเจ้าเมืองปัตตานีขนามนามว่า สุลต่าน มุฮำหมัด ตอนแรก สุลต่านมุฮำหมัดไปสร้างวังที่แหลมตันหยง ต่อมาสร้างวังไหม่ที่จะบังติกอ(วังที่มีอยู่เดี๋ยวนี้) นับตั้งแต่นั้นเมืองปัตตานีจึงมีสุลต่านเชื้อกลันตันปกครองเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2390 สุลต่านมุฮำหมัดสิ้นชีวิต ศพของพระองค์ถูกฝังที่สุสานตันหยงดาโต๊ะ ชาวปัตตานีรุ่นหลังจึงขนานนาม พระองค์ว่า "มัรหูม ตันหยง" และมีผู้ได้แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองต่อๆมาหลายรุ่น
        ต่อมา
ในปี พ.ศ. 2388 สมัยรัชกาลที่ 3 ศูนย์กลางการปกครองของเมืองปัตตานี ได้ย้ายมาอยู่ที่จะบังติกอ สถานที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ วังจะบังติกอ มัสยิดรายา สุสานโต๊ะอาเยาะ ย่านถนนหน้าวัง แหล่งผลิตเครื่องทองเหลือง ฯลฯ ตลาดการค้าของเมืองปัตตานี เก่า อยู่ที่หัวตลาดบริเวณอาเนาะรู (ต้นกล้าสน) และถนนปัตตานีภิรมย์ เป็นย่านชาวจีนหรือไชน่าทาวน์ในสมัยนั้น สถานที่ที่สำคัญของชาวจีน คือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง บ้านทรงจีนของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง บ้านพระจีนคณานุรักษ์ และบ้านหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ฯลฯ

เดี๋ยวมาดูการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 กันนะครับ แต่ต้องใช้เวลามากหน่อย เพราะผมต้องเตรียมเอกสารจำนวนมากครับ

หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล, กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้.http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข. ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ). ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชน

มุสลิมจังชายแดนภาคใต้http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.


หมายเลขบันทึก: 530967เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2013 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท