เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖



๑๙  มีนาคม  ๒๕๕๖

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหาร และผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๑๑  มีนาคม  ๒๕๕๖  เช้านี้มีนัดที่ลาดหลุมแก้วเพื่อประเมินวิทยฐานะผู้บริหารโรงเรียนสว่างราษฎร์บำรุงและ  โรงเรียนวัดลำมหาเมฆ หลังกาแฟมื้อเช้าที่สโมสร จึงเดินทาง มีประบาสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่งานบุคคล เลขานุการคณะกรรมการร่วมเดินทางไปด้วย รถต้องขับไปจนถึงถนนไปสุพรรณบุรี จึงลอดสะพานปตามถนนเลียบคลองลากค้อนไปเรื่อย ๆ สภาพผิวจราจรแย่มาก เป็นหลุมเป็นบ่อจนถึงทางแยกเข้าโรงเรียนสว่างราษฎร์บำรุง บริเวณโรงเรียนแปลกตาไปกว่าเมื่อมาคราวก่อน มีไม้ดอกไม้ประดับทั้งด้านหน้าและด้านหลังอาคารเรียน มีความร่มรื่นสวยงาม  เดินชมจนทั่วบริเวณ พร้อมด้วยกรรมการอีก ๒ ท่าน คือ ผอ.กิตติพัฒน์  แก้วมา และ ผอ.ดร.จรุญ จารุสาร ห้องน้ำยังสุขสันต์เหมือนเดิม ผอ.รร. ดร.ปราโมทย์  ภูมิจันทร์ ได้นำเสนอข้อมูลทั้งบรรยายสรุปและเอกสาร กรรมการดูร่องรอยการพัฒนาและเอกสารแล้วก็มีความเห็นเบื้องต้นว่า ผ่านด้านที่ ๑ ปละด้านที่ ๒ เหลือไปลุ้นผลงานที่เขียนไปด้านที่ ๓  ก่อนเที่ยงเดินทางต่อไปโรงเรียนวัดลำมหาเมฆ ซึ่งอยู่ในละเวกนี้  กรรมการอีก ๒ ท่านประกอบด้วย ผอ.นิยม คงสำราญ และ ผอ.จตุพงศ์  คล้ายพุฒ รอบ ๆ โรงเรียนเป็นทุ่งนาข้าวสุกเหลืองอร่าม เป็นฤดูเก็บเกี่ยว สมัยนี้ใช้รถสะดวกสบาย แยกเม็ดข้าวกับฟางไปคนละทาง ขั้นต่อไปจะมีรถมาเก็บฟางเก็บซังไปอัดเป็นฟ่อนใช้เลี้ยงสัตว์  ครูบอกว่าเป็นชาวนาสมัยนี้ใส่สูทรผูกไทได้เพราะมีคนรับจ้างทุกขั้นตอน  ฟังบรรยายสรุป ดูเอกสารและดูสภาพจริงแล้วคณะกรรมการก็เห็นตรงกันว่าผ่านด้านที่ ๑ และ ด้านที่ ๒ เที่ยงออกตามกันมาที่ร้านเป็ดสมชัยสี่แยกนพวงศ์ ทานขาวกลางวัน บ่ายกลับสำนักงานลงชื่อแฟ้มเอกสารจนเย็น จึงเดินทางไปวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด ฟังสวดพระอภิธรรมศพครูสถาพร ทรัพย์มีชัย โรงเรียนอนุบาลวัดบางนางบุญ ซึ่งเสียชีวิตลงจากโรคมะเร็งที่ตับ ซึ่งไม่ค่อยปรากฎอาการให้เห็น ทราบอีกทีก็สายเกินไป เป็นอนิจจังของชีวิตที่หนีกันไม่พ้นแม้แต่คนเดียว โบราณว่าคนตายเท่ากับคนเกิด



วันอังคารที่ ๑๒  มีนาคม  ๒๕๕๖ เดินทางไปโรงแรมรอยัลซิตี้ เยื้อง ๆ สถานีขนส่งสายใต้เก่า เพราะเป็นคณะทำงานพัฒนากฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นเจ้าภาพ มีเลขาธิการ ก.ค.ศ. ดร.รัตนา ศรีเหรัญ เป็นประธานเปิดการประชุม และมีท่านสมบัติ ขวัญดี เป็นผู้ดำเนินการประชุม คณะทำงานประกอบด้วย กรรมการ ก.ค.ศ. ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทีมงานเก่าแก่ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่ก่อนปฏิรูป ผอ.ทวีพล แพเรือง ผอ.สพป.นครปฐม เขต ๒ ผอ.วิพล  นาคพันธ์ ผอ.สพป.กระบี่ ฝ่ายเลขานุการชี้แจงว่าแนวทางแก้ไข พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารอบนี้สืบเนื่องมาจากที่ดำเนินการค้างคาไว้สมัยรัฐมนตรีท่านที่แล้ว และผ่าน ก.ค.ศ. แล้วด้วย แต่เห็นว่าเวลาผ่านไปนาน อยากใหช่วยกันดูอีกครั้งให้รอบคอบ  เสนอกันตั้งแต่เช้าจรดเย็นไปได้เพียง ๓ มาตราในวันแรก


วันพุธที่ ๑๓ มีนาคม  ๒๕๕๖  วันนี้พยายามร่งการพิจารณาให้เร็วขึ้น แต่ก็ไปไม่ได้มาก เพราะต้องมาทบทวนหลักการของกฎหมายเดิมกันมากกว่าจะตามใจความอยากให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ของผู้บริหารระดับสูง หากพิจารณา เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗  คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้มีการจัดระบบข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาขึ้นใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๗ โดยเฉพาะในมาตรา ๕๔ ได้กำหนดให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งของหน่วยงานการศึกษาในระดับสถานศึกษาของรัฐและระดับเขตพื้นที่การศึกษาเป็นข้าราชการในสังกัดองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่ส่วนราชการที่บริหารและจัดการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจึงเห็นควรกำหนดให้บุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านการบริหารและการจัดการศึกษาสังกัดอยู่ในองค์กรกลางบริหารงานบุคคลเดียวกัน และโดยที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคล และระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีหลักการที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ให้ยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาอีกทั้งไม่สอดคล้องกับ  หลักการปฏิรูประบบราชการ สมควรยกร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ขึ้นใหม่แทนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓ และเพื่อให้เอกภาพทางด้านนโยบาย การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด จึงจำเป็น ต้องตราพระราชบัญญัตินี้ สาระสำคัญประกอบด้วย สภาพบังคับและนิยามศัพท์ (มาตรา ๑ - มาตรา ๖)  หมวดที่ ๑ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (มาตรา ๗ - มาตรา ๒๘)  หมวดที่ ๒ บททั่วไป (มาตรา ๒๙- มาตรา ๓๗)  หมวด ๓ การกําหนดตําแหน่ง วิทยฐานะ และการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจําตําแหน่ง (มาตรา ๓๘-มาตรา ๔๔) หมวด ๔ การบรรจุและการแต่งตั้ง (มาตรา ๔๕ - มาตรา ๗๑) หมวด ๕ การเสริมสร้างประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติงาน  (มาตรา ๗๒ - มาตรา ๘๑) หมวด ๖ วินัยและการรักษาวินัย (มาตรา ๘๒ - มาตรา ๙๗) หมวด ๗ การดำเนินการทางวินัย (มาตรา ๙๘ - มาตรา ๑๐๖)  หมวด ๘ การออกจากราชการ (มาตรา ๑๐๗ - มาตรา ๑๒๐) หมวด ๙ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ (มาตรา ๑๒๑ - มาตรา ๑๒๖) บทเฉพาะกาล (มาตรา ๑๒๗- มาตรา ๑๔๐)  

           ต่อมามีการแก้ไข พรบ.ครั้งที่ ๑ โดยให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ฉบับ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ คือ โดยที่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวกับ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษารวมทั้งบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีความไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันทำให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปโดยล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพสมควรปรับปรุงบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั้นอันจะเป็นประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษายิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ สาระสำคัญในการแก้ไข หมวด ๑   คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา ๗(๓)(๔)(๕) มาตรา ๑๕(๖) มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙(๑๔) มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ หมวด ๓ การกำหนดตำแหน่ง วิทยฐานะ และการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจําตําแหน่ง มาตรา ๔๐   หมวด ๔ การบรรจุและการแต่งตั้ง มาตรา ๕๓(๒)(๓)(๖) มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๙ หมวด ๙ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ มาตรา ๑๒๓  และการแก้ไขครั้งที่ ๒ ก็ตามมาระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้ราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ฉบับ ๓)พ.ศ. ๒๕๕๓     คือ โดยที่ได้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อรับผิดชอบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำให้ต้องปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สอดคล้องกับการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ สาระสำคัญในการแก้ไข หมวด ๑ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา ๗(๕) และมาตรา ๒๑


วันพฤหัสบดีที่ ๑๔  มีนาคม  ๒๕๕๖  วันนี้งดไปทำงานที่โรงแรมรอยัลซิตี้ เพราะมีงานที่รับปากไว้ก่อนแล้ว กล่าวคือ ภาคเช้าเดินทางไปการศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑  เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ทั่วไป เรื่องความหมายประชาคมอาเซียน ผลกระทบของชุมชนกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ณ วีเทรนอินเตอร์เนชั่นแนลเฮาส์ จำกัด เขตดอนเมือง กทม. กลุ่มเป้าหมายที่มารับฟังคือผู้นำชุมชนในตำบลต้นแบบ มีศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ ๒๗ เป็นเจ้าภาพ มี ผอ.รุ่งทอง  นิ่มประเสริฐ มาดูแลด้วยตนเอง  เรื้อเวทีไปนานสำหรับการพูดคุยกับประชาชนระดับรากหญ้า ต้องลดเพดานบินลงพอสมควร ทั้งวิธีการและศัพท์แสง เนื้อหาที่พูดมีทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา การเมือง การปกครอง เกี่ยวกับสมาชิก ๑๐ ประเทศ รวมทั้งอาเซี่ยน +๓ และ+๖ ที่เล่าได้เพราะไปมาเกือบหมดยกเว้นกัมพูชาและบรูไน เลิกเที่ยงพอดีมาแวะทานข้าวหมกไก่ใกล้ ๆ โรงพักปากเกร็ด กลับเข้าไปเปลี่ยนเสื้อใหม่เพราะรับเป็นประธานงานพระราชทานเพลิงศพ คุณครูสถาพร ทรัพย์มีชัย ที่เมรุวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เวลา ๑๔ นาฬิกา พิธีกรรมของวัดนี้ตรงเวลา เรียบง่าย ประหยัด ประมาณ ๑๔.๓๐ น. ก็เรียบร้อยทุกประการ กลับไปสำนักงานเขตเลิกงานพอดี แฟ้มงานต่าง ๆ ผู้รักษาการได้สั่งการไปหมดแล้ว


วันศุกร์ที่ ๑๕  มีนาคม  ๒๕๕๖  ไปทำงานที่โรงแรมรอยัลซิตี้เป็นวันสุดท้าย เมื่อวานหลายท่านได้กลับกันไปแล้ว วันนี้จึงเหลือผม ผอ.ทวีพล แพเรือง ผอ.กวินเกียรติ์ นนท์พละ ช่วยกันตรวจสำนวนการแก้ไขที่ผ่านมาทั้ง ๓ วัน หลักการรวม ๆ ต้องมี อ.ก.ค. สพฐ. ขึ้น หน้าที่จะแบ่งมาจาก ก.ค.ศ. ในเรื่องที่เกี่ยวกับ ผอ.เขต รอง ผอ.เขต และ ข้าราชการ ๓๘ ค.(๒) บางตำแหน่ง  สำหรับหน้าที่ อ.ก.ค.ศ. เขต ยังคงมีเหมือนเดิม ไม่แก้ไข   จะยกระดับตำแหน้งของข้าราชการ ๓๘.ค(๒) ให้ทัดเทียมกับครูสายอื่น  จะจำแนกโทษทางวินัยของครูกรณีลอกเลียนแบบผลงานวิชาการให้เป็นธรรมตามกรณี จะยกฐานะสำนักงาน ก.ค.ศ.ขึ้นเป็นกรมและเป็นนิติบุคคล นอกนั้นเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บ่ายงานเสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย

         เคยมีมติคณะรัฐมนตรีและการสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายและใช้มาจนปัจจุบัน ดังนี้

          ๑ . กำหนดอายุสิ้นสุดของกฎหมายไว้เพื่อบังคับให้มีการทบทวนความเหมาะสมตามเหตุการณ์และกาลสมัย 

          ๒. การบัญญัติกฎหมายไม่ควรกำหนดรายละเอียดในพระราชบัญญัติ แต่ให้ไปกำหนดในกฎหมายลำดับรองแทน 

          ๓. การบัญญัติกฎหมายควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ลดขั้นตอน ลดภาระประชาชน 

          ๔. อย่ายึดอุดมการณ์ ปรัชญาหรือความคิดแบบต่างประเทศมากเกินไป แต่ให้คำนึงถึงความเป็นจริง ในสังคมไทย และบังคับใช้ได้จริง 

          ๕. การพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นรัฐบาลควรทำให้เร็วขึ้น 

          ๖. ให้มีกฎหมายน้อยฉบับ ( Less Government, less law) ถ้าใช้มาตรการทางบริหาร หรือกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ได้โดยไม่ต้องออกกฎหมาย 

          ๗. ถ้าจำเป็นต้องมีกฎหมาย ควรเป็นกฎหมายกลาง ๆ หรือทั่วไปเพื่อใช้ได้ในหลายกรณี ไม่ใช่ต้องออก เป็นรายกรณีหลายฉบับ 

          ๘. ให้แต่ละกระทรวงจัดทำแผนนิติบัญญัติประจำปีว่าในแต่ละปีจะเสนอกฎหมายอะไรบ้าง เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระแก่รัฐบาล 

          ๙. การเสนอร่างกฎหมายเข้าคณะรัฐมนตรีต้องมี check list เช่น ความจำเป็น ความซ้ำซ้อน ความเร่งด่วน ทางเลือกอื่น การบังคับใช้ ฯลฯ                                         

แนวทางในการพัฒนากฎหมาย

          ๑. เลือกลักษณะที่ดีและเด่นของทั้ง globalism และ localism

          ๒. ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับคนจน 

          ๓. ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

          ๔. กระจายอำนาจในการใช้บังคับกฎหมาย 

          ๕. เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางเลิกกฎหมายที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็นให้ประชาชน 

          ๖. ให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม และทันการณ์ 

          ๗. ปรับกฎหมายให้ทันโลกทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ 

          ๘. ลดการควบคุมที่ไม่จำเป็น ปรับวิธีควบคุมให้หลากหลายขึ้น 

          ๙. เพิ่มส่วนร่วมของประชาชนในการออกและใช้กฎหมาย  


กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑



หมายเลขบันทึก: 530683เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท