ความก้าวหน้าของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในภาควิชาพยาธิวิทยา


ตำแหน่งชำนาญการนี้ เป็นตำแหน่งของเราทุกคน เป็นสิทธิ์ของเราทุกคนที่จะได้ เพียงแค่ขอให้คุณพิสูจน์ให้ได้ว่า คุณมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะได้ ก็เพียงเท่านั้นเอง

     ย้อนหลังกลับไป10 กว่าปีที่แล้ว ผมเริ่มต้นทำงานแล็บที่นี่ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วันๆ ก็ก้มหน้า ก้มตาทำแต่งาน ทุกวันก็จะทำกันเหมือนเดิม คือได้แต่ ดูด เป่า เขย่า วัด ซึ่งในตอนนั้น เรายังไม่มีเครื่องมืออัตโนมัติเข้ามาช่วยในการทำงาน พอมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเครื่องมืออัตโนมัติเข้ามาช่วยให้งานออกผลได้รวดเร็วขึ้น แต่งานของเราก็ยังเป็น การดูด เป่า เขย่า วัด เหมือนเดิม เพียงแต่อาจต้องมาดูเครื่องมันดูด เป่า เขย่า วัด แทนเรา แล้วเราก็มาย้ายเข้า ย้ายออก ตัวอย่างตรวจแทน ทำตัวเหมือนเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ เหมือนที่พี่โอ๋-อโณ พูดถึงบ่อยๆ

     ปัจจุบัน ผมก็ยังทำงานแล็บ ก็ยังคงต้องทำงานลักษณะเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เนื่องจากย้ายหน่วยงานจากหน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา ไปยังหน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา  งานใหม่ที่รับผิดชอบเป็นเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ

      อนาคต เป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่ผมคิดว่า ผมก็คงนั่งอยู่ในห้องแล็บ แล้วทำงานแล็บต่อไป

     นี่คงเป็นชีวิตการทำงานปกติทั่วไปของนักเทคนิคการแพทย์ในห้องปฏิบัติการทั่วไป ที่คงไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน .....แล้วอะไรคือความก้าวหน้าในวิชาชีพนี้ล่ะ

      บางคนอาจบอกว่า ความก้าวหน้าของเขาคือการที่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บริหาร เป็นหัวหน้างาน เป็นหัวหน้าหน่วย แต่นั้นเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่ได้โอกาสที่ดี ซึ่งคนกลุ่มใหญ่ไม่สามารถที่จะมีโอกาสที่ดีอย่างนั้นได้ทั้งหมด 

     แล้วถ้าอย่างนั้น อะไรล่ะคือความก้าวหน้าของวิชาชีพนี้

      ก่อนที่จะไปถามคำถามนั้น ผมคิดว่าเราน่าจะตอบกันก่อนว่า ที่เราทำงานมาสิบกว่าปีนั้น อะไรคือความแตกต่าง ในเมื่อเรายังทำงานเหมือนเดิม

     ปัจจุบันคำตอบเรื่องนี้ของผมกระจ่างแล้ว เป็นสิ่งที่พี่ประสิทธิ์ เคยพูดถึง และพร่ำเตือนอยู่้บ่อยๆ ระยะเวลาที่ผ่านมาสร้างให้คนมีประสบการณ์ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในงานของตน ไม่ใช่แค่เชิงทักษะ เท่านั้น ความรู้จริงและการหาเหตุผลอธิบายให้ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน มันคืออะไร แก้ไขได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้ที่เข้ามาทำงานใหม่ ยังไม่อาจทำได้ดีนัก  "You จะเป็นแค่คนทำแล็บ ที่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปวันๆ หรือจะเป็นคนที่รู้จริงในแล็บ"  ผมคิดว่าคำพูดนี้ของพี่ประสิทธิ์สรุปความได้ชัดเจนว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราเลือกที่จะเป็นแบบไหน

     ถ้าเราเลือกที่จะเป็นแบบแรก คือเป็นเพียงแค่คนทำแล็บ ที่วันๆ นั่งทำการดูด ปล่อย เขย่า วัด หรือพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ ที่ต้องทำงานแบบใส่เข้า ยกออก เนื่องจากเขาลืมซื้อเครื่องอัตโนมัติสำหรับการใส่ตัวอย่างตรวจเข้าไปในเครื่อง  คุณค่าของเราก็คงเป็นเพียงแค่หุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ที่รอวันว่าเมื่อไหร่ที่เขาไม่ลืม หรือราคาเครื่องใส่ตัวอย่างตรวจอัตโนมัติมีราคาถูกลง ก็ต้องไปหางานอย่างอื่นทำแทน

      กับการที่ี่ เราเลือกที่จะเป็นผู้รู้จริงในงานที่ทำอยู่ทุกวัน ซึ่งจะถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในห้องแล็บได้อย่างแท้จริง

     ถ้าเราเลือกที่จะเป็นอย่างประการหลังแล้ว คำถามคือ เรารู้จริงแน่หรือเปล่า อะไรคือสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเรารู้จริงในงานที่เราทำ มีหลักฐานอะไรมาแสดงได้บ้างว่าเรารู้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาจะเรียกดูเวลาที่เราขอตำแหน่งที่สูงขี้น อย่างเช่นการขอตำแหน่งชำนาญการ หรือเชี่ยวชาญเป็นต้น การพูดเพียงแค่วาจา ที่บอกให้รู้ว่าคนนั้นก็มาปรึกษาฉัน คนนี้ก็มาปรึกษาผม ไม่เพียงพอครับ เพราะสิ่งที่ต้องการ มันคือเอกสารที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือที่แสดงให้เห็นว่่าผู้เขียนมีความรู้ ความชำนาญในเรื่องที่เขียนอย่างแท้จริง หรือการเขียนงานวิจัยตีพิมพ์ ซึ่งก็เป็นอีกทางหนึ่งในการแสดงให้เห็นว่า ผู้ทำงานวิจัยมีความรู้ ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในงานที่ทำ

      การเขียนหนังสือเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และเป็นเรื่องยากที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการรวบรวมเอกสารต่างๆ มารวมกัน แล้วเอามาเข้าเล่มเย็บเป็นหนังสือ 1 เล่ม ที่บางครั้งเราบอกว่ามันเป็น sheet สอนเด็กซะมากกว่าเป็นหลักฐานแสดงความชำนาญในงานที่ทำ

     ดังนั้นการทำงานวิจัยจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดูสวยหรูกว่า ยิ่งถ้าผลงานได้รับการ ตีพิมพ์ในวารสารที่มี peer reviews ก็จะยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ออกไปในวงกว้างและได้ประโยชน์มากขึ้น สามารถใช้อ้างอิงได้ ฯลฯ 

     การทำวิจัย ไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนที่เราคิดกันไปเอง เพียงแต่อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องควบคุมให้ได้ว่ากลุ่มทดลอง กับกลุ่มควบคุม ได้รับการทดสอบในสภาวะที่เหมือนกัน แต่แตกต่างกันเฉพาะปัจจัยที่สนใจศึกษาเท่านั้น ซึ่งเืรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยกเมฆได้ และไม่ได้มีความยากเย็นเข็ญใจอะไรมากมายนัก

      เอาล่ะเมื่อเราเลือกหนทางที่จะรู้จริงในงานที่ทำ แล้วก็เลือกที่จะทำงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ R2R สำหรับผู้ที่เริ่มต้น เพราะเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะง่ายกว่า หรือจะทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศก็ตาม สิ่งที่เราจะได้จากการเลือกหนทางนี้ก็คือ การได้้หลักฐานงานวิจัยในการที่จะบอกว่าเรามีความรู้จริงในงานที่เราทำ สำหรับใช้ขอตำแหน่งชำนาญการ ซึ่ง  ตำแหน่งชำนาญการนี้ เป็นตำแหน่งของเราทุกคน เป็นสิทธิ์ของเราทุกคนที่จะได้ เพียงแค่ขอให้คุณพิสูจน์ให้ได้ว่า คุณมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะได้ ก็เพียงเท่านั้นเอง

     ความก้าวหน้าในสายงานของคนทำแล็บ คงไม่ได้อยู่ที่ว่า วันๆ เราจะทำงานเหมือนเดิมหรืุอเปล่า แต่อยู่ที่ว่า เมื่อมีผู้สงสัย หรือมีคำถามอะไรสักอย่างเกี่ยวข้องกับงานที่เราทำ เขาสามารถมาปรึกษาเราได้  ว่าแต่ว่า....มีเวลาแค่ไหน เรื่องพวกนี้ต้องคุยกันยาวนะ 

หมายเลขบันทึก: 52789เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2006 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบันทึกโดนใจอีกบันทึกแล้วค่ะ อยากให้รุ่นน้องๆ ในในพยาธิของเรา และ ที่อื่นๆ ได้อ่านกันอย่างถ้วนหน้า

โดนใจเหมือนกันค่ะ

ตัวเองมีความสุขทุกครั้งค่ะ เมื่อมีปัญหาหรือคำถามที่เราสามารถตอบและให้ความกระจ่าง ได้อย่างชัดเจนกับผู้ีรับบริการ แค่คำขอบคุณสั้น  ๆ บางครั้ง เราก็อิ่มเอมใจได้ ทั้งวัน  

เข้ามาเยี่ยมค่ะ     ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ดีๆค่ะ
ด้วยความยินดีครับ อาจารย์อัจฉรา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท