แง่คิดการทำ project/thesis


จะทำการค้นคว้า ทำวิทยานิพนธ์มีเทคนิกน่ะ

การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์
เริ่มด้วยการสังเกตดูความถนัดและความสนใจของตัวเราเองว่า ชอบเรียนแนวไหนโดยเริ่มความสนใจส่วนตัว หรือเลือกดูจากรายวิชาแต่ละวิชาที่เรากำลังเรียนอยู่ก็ได้ แต่ถ้าใครมีหัวข้อวิทยานิพนธ์อยู่ในใจแล้วล่ะก็ จะยิ่งทำให้การเรียนและการค้นคว้าข้อมูลของเราสนุกและก้าวหน้าไปได้เร็ว เพราะสามารถลงเรียนในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง (ทั้งวิชาภายในภาคเราเองและวิชาต่างภาคหรือต่างคณะ) และเลือกทำรายงานไปในแนวเดียวกับที่เราสนใจได้ในเวลาเดียวกัน หรือเมื่อทำแล้วรู้สึกว่ายังไม่เข้ากับเรา อย่างน้อยเราก็ยังมีเวลากลับตัวหาหัวข้ออื่นๆ ได้ทัน
.
การหาอาจารย์ที่ปรึกษา
ดูที่ความสามารถในการสื่อสารกับอาจารย์แต่ละท่านประกอบกันไปได้ ที่ว่าความสามารถในการสื่อสารนี้ หมายความว่าน้องอาจพิจารณาดูว่าน้องสามารถเข้ากับลักษณะการสอน และบุคลิกภาพของอาจารย์ท่านใดมากที่สุด แล้วจึงดูว่าอาจารย์ท่านนั้นถนัดงานวิจัยในแนวไหนก็ได้ ทั้งนี้ เป็นเพราะจะต้องพบปะ ขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากอาจารย์ไปตลอดระยะเวลาในการทำวิทยานิพนธ์ เมื่อเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่แน่นอนได้ และตกลงใจแล้วว่าตนควรจะขอความกรุณาให้อาจารย์ท่านใดเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ได้แล้ว (สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมควรจะเป็นอาจารย์ท่านไหนนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเราอีกที) ควรจะเตรียมข้อมูลทั้งหมดเท่าที่พอจะหาได้ แล้วจึงเข้าไปขอคำแนะนำจากอาจารย์โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อจะได้มีเวลาเพียงพอในการเตรียมความพร้อมในการเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ อีกทั้งเราจะได้มีเวลาเพียงพอที่จะทบทวนดูข้อพกพร่องของตนเองก่อนการเสนอโครงร่างอีกด้วย หากเตรียมข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยของตนเองพร้อมแล้ว เมื่อถึงวันสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ก็ไม่มีสิ่งใดที่ต้องกลัวอีกต่อไป

literature review
หรือ survey of literature การ review literature หรือสำรวจงานเขียนนั้น เป็นขั้นตอนการค้นคว้าวิจัยที่สำคัญ เราต้องเช็คดูด้วยวิธีการต่างๆ ในหลายๆ แหล่ง (รายละเอียดอยู่ในบทที่ว่าด้วยการค้นคว้า) ว่ามีใครเคยเขียนอะไรในหัวข้อที่เราสนใจบ้าง ถ้ามี เขาเขียนว่าอย่างไร เราจะได้ไม่เสียเวลาทำงานซ้ำซ้อนกับคนอื่น ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เรียนรู้และขยายมุมมองของเราจากการวิเคราะห์วิจารณ์ และความคิดเห็นของผู้ที่ค้นคว้ามาแล้วในหัวข้อนั้นๆ

ระหว่างการเขียน...
การเขียนวิทยานิพนธ์
.........เมื่อเตรียมข้อมูลและมีบทนำซึ่งเป็นส่วนที่กำหนดโครงร่างทั้งหมดของวิทยานิพนธ์พร้อมแล้ว ควรลงมือเขียนวิทยานิพนธ์ทันที อย่ารีรอ เพราะจากหนึ่งสัปดาห์ก็จะกลายเป็นเดือนเป็นปีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ตั้งใจว่าจะเขียนให้เสร็จภายในหนึ่งปี ไม่ควรรีรอให้อ่านข้อมูลทั้งหมดจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ (ในความคิดของเราเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกันอย่างนี้) แล้วค่อยลงมือเขียน เพราะจะทำให้งานล่าช้าและอาจลืมเนื้อหาส่วนต้นๆ ที่ได้ค้นคว้าไปแล้วหมด การอ่านและวิเคราะห์น่าจะเริ่มไปทีละขั้นตามสารบัญที่เขียนไว้แล้วเริ่มเขียนทีละหัวข้อทันที ส่วนเวลาอ่านข้อมูลหรือทฤษฎีที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ควรมีการจดบันทึกข้อความสำคัญพร้อมรายการอ้างอิงของข้อมูลไว้ให้เรียบร้อยทุกครั้ง เพราะหากคิดว่าจำได้แล้วค่อยมาหารายการอ้างอิงทีหลังจะทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์


..........ในขณะที่กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ ขอให้พยายามเค้นเขียนออกมาให้ได้อย่าให้การเขียนขาดตอน พยายามเขียนให้ได้สม่ำเสมอวันละหน้าสองหน้าหรือย่อหน้าสองย่อหน้าก็ยังดี อย่างน้อยนำสิ่งที่เขียนออกมาแล้วไม่ดีนั้น มาพิจารณาดูข้อบกพร่อง และรู้ว่าเนื้อหาส่วนสำคัญของแต่ละย่อหน้าที่เราเขียนไม่ออกนั้นคืออะไร แล้วค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขการลำดับความ การใช้ภาษา และการนำเสนอเนื้อหา กันต่อไป หรือถ้าเขียนไม่ได้จริงและรู้สึกว่าเราหลงทาง ก็ขอให้นำเนื้อหาส่วนที่เขียนแล้วให้อาจารย์ที่ปรึกษาท่านช่วยให้คำแนะนำ โดยที่เราควรจะเริ่มลงมือทำและพิจารณาหาจุดบกพร่องและจุดที่เราไม่เข้าใจด้วยตนเองเสียก่อน เพื่อจะได้ทำให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยเหลือเราได้ตรงจุด และทำให้เราเห็นประเด็นที่ควรแก้ไขชัดเจนทันทีที่อาจารย์ให้คำแนะนำ ไม่ควรลืมว่าอาจารย์แต่ละท่านมีงานสอนและงานวิจัยของท่านเองล้นมืออยู่แล้ว นอกจากนั้นอาจารย์ยังให้ความเมตตาสละเวลามาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้เราและเพื่อนคนอื่นๆ อีกหลายคน ดังนั้น ในขณะที่อาจารย์เต็มใจให้คำปรึกษาแนะนำเราอย่างเต็มที่ เราก็ควรทำหน้าที่ในส่วนของเราให้เต็มที่เช่นกัน อาจารย์มิได้มีหน้าที่ต้องบอกทุกอย่างให้กับนิสิต แต่อาจารย์ที่ปรึกษาจะมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำเราได้ในส่วนที่เป็นโครงสร้างการนำเสนอผลงานวิจัย และพิจารณาดูความลึกซึ้งในการวิเคราะห์ของเราเท่านั้น การใจเย็นไม่ยอมลงมือเขียนอย่างต่อเนื่องด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้เกิดความล่าช้า และไม่สามารถทำงานให้ลุล่วงได้ตามกำหนดเวลา
ดังนั้นเราควรตั้งกำหนดเวลาที่แน่นอนในการเขียนวิทยานิพนธ์แต่ละหัวข้อไว้ก่อนวันกำหนดส่งจริง สักประมาณหนึ่งถึงสองเดือน แล้วทำให้ได้ตามนั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้เหลือเวลาเพียงพอที่จะกลับมาพิจารณาดูข้อบกพร่องและแก้ไขเพื่อให้งานออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะปัญหาอีกอย่างที่ทุกคนคงจะต้องพบก็คือ ต้องกลับมาแก้ไขงานใหม่อีกหลายต่อหลายครั้ง การแก้ไข มีตั้งแต่คนที่แก้ไขเพียงเนื้อหาหรือการใช้ภาษาเพียงเล็กน้อย ไปจนกระทั่งแก้โครงสร้างในการนำเสนอใหม่ทั้งหมดซึ่งก็เท่ากับต้องเขียนใหม่เกือบทั้งหมด ปัญหานี้อาจทำให้หลายคนกลัวไปก่อนที่จะส่งงานเขียนร่างแรกจนไม่กล้าเขียนเนื้อหาส่วนต่อไป

อย่ากลัวว่าตัวเองจะเขียนผิดเขียนไม่ดี เมื่อเราผิดแล้วมีโอกาสรู้ว่าตนผิดเราก็ยังมีโอกาสแก้ไขได้เสมอภายในระยะเวลาที่กำหนด คนที่กลัวแล้วไม่กล้าทำงานให้คืบหน้าต่อไปก็เท่ากับว่าเขากำลังถอยหลังในขณะที่คนอื่นๆ เดินไปข้างหน้าแล้ว ถึงอย่างไรในท้ายที่สุดเขาก็ต้องเขียนอยู่ดี ถ้ามีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ไม่ค่อยมีเวลาตรวจงานให้เราอย่างสม่ำเสมอได้ ก็ไม่ต้องน้อยใจคิดว่าการที่อาจารย์ท่านไม่สามารถตรวจงานให้เราได้สม่ำเสมอจะทำให้งานเราล่าช้า และไม่มีคุณภาพ เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่อาจารย์ที่ปรึกษา แต่ขึ้นอยู่กับตัวเอง เมื่อเรารู้ว่าอาจารย์ที่ปรึกษาของเราท่านไม่ค่อยมีเวลาหรือว่าในกรณีที่เราต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เราก็ควรกำหนดเวลาการทำงานของเราให้เร็วยิ่งขึ้น ขยันมากขึ้น เพื่อเราจะได้มีเวลาทบทวนสิ่งที่เราทำไปทั้งหมด และเมื่ออาจารย์ท่านเห็นว่าเราทำทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านย่อมหาเวลามาตรวจและให้คำแนะนำแก้ไขงานของเราทันที (แต่ก็ไม่ต้องเครียดจนเกินไปนะคะ)

ปัญหาส่วนตัว........................
บางคนอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคในชีวิตในขณะที่ทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมันมักเข้ามา รบกวนสมาธิในการทำงาน อาจทำให้เขียนวิทยานิพนธ์ไม่ออก อย่าเก็บตัวและจมอยู่กับปัญหานั้นคนเดียว อาจคิดว่าไม่มีใครสักคนที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือเข้าใจความทุกข์ก็ตาม ออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือมองดูคนอื่นรอบๆ ตัวเราดูบ้าง คุยกับเพื่อนถึงเรื่องทั่วๆ ไปโดยไม่ต้องพูดคุยถึงปัญหาของเรา ถ้าไม่อยากคุย อาจจะรู้สึกดีขึ้นหรือเห็นทางออกจากเหตุการณ์ใดหรือคำพูดของใครสักคนที่พูดถึงเรื่องอื่น อาจเล่าและขอคำปรึกษาจากอาจารย์ อย่าหนีหน้าหายไปเลยโดยไม่บอกกล่าว

การเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา
ก่อนการเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละครั้ง ควรจะเตรียมข้อมูลสำหรับขอคำแนะนำจากอาจารย์ให้พร้อมเสมอ โดยเฉพาะในครั้งแรกที่เข้าพบอาจารย์ เพื่อจะได้มีอะไรไปเริ่มขอคำแนะนำและเวลานัดพบกับอาจารย์ ส่วนคนที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม การเข้าพบอาจารย์ครั้งแรกและครั้งต่อๆ มา ควรนำงานที่ได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว มาส่งอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านทุกครั้ง ดังนั้นก็หมายความว่าคนที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาสองท่านก็ยิ่งต้องขยันเข้าพบอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังต้องขยันทำงานให้คืบหน้าอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะแทนที่จะต้องแก้เพียงครั้งเดียวหรือสองครั้ง อาจจะต้องคูณสองเข้าไปอีก
เมื่อถึงเวลาสอบ...
การสอบวิทยานิพนธ์
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ตื่นเต้นที่สุด ถ้ามีวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการแก้ไขจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ก็ไม่ต้องกลัว (แม้จะบอกอย่างนี้แต่ในทางปฏิบัติทุกคนก็ยังกลัวอยู่ดีล่ะค่ะ) อาจารย์มักไม่ถามนอกเหนือไปจากสิ่งที่มีอยู่ในวิทยานิพนธ์ของเรา คนทำวิทยานิพนธ์เองจะเป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นๆ ดีที่สุดในห้องสอบ
การสอบวิทยานิพนธ์จะเป็นขั้นตอนที่คล้ายกับว่า อาจารย์ทุกท่านจะมีโอกาสได้ถามเราในสิ่งที่อาจารย์ท่านยังติดใจสงสัย ซึ่งนั่นก็จะเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เราเห็นข้อบกพร่องบางอย่าง ที่ควรจะเพิ่มเติมและแก้ไขลงในวิทยานิพนธ์เป็นครั้งสุดท้าย สำหรับคนที่ตัวเล่มวิทยานิพนธ์ยังไม่สมบูรณ์หรือยังมีข้อผิดพลาดอยู่มาก ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดโอกาสสอบวิทยานิพนธ์นะคะ ถ้าหากตั้งใจทำงานอย่างสม่ำเสมอ และอาจารย์ท่านเห็นว่าเข้าใจเนื้อหาส่วนสำคัญทั้งหมดของวิทยานิพนธ์แล้ว อาจารย์อาจเปิดโอกาสให้เข้าสอบได้โดยยังไม่ประเมินผลการสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการสอบจะชี้แจงถึงข้อบกพร่องให้เรา เพื่อเราจะได้เตรียมเสนอทางแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นในห้องสอบ ซึ่งในกรณีนี้อาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
.
ข้อควรทำและควรจำ

๑. เริ่มหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ตั้งแต่บัดนี้
๒. พัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์อย่างสม่ำเสมอทุกวัน
๓. กำหนดระยะเวลาในการทำไว้ก่อนวันกำหนดจริงของภาควิชาและทำให้ได้ตามนั้น (โดยเฉพาะคนที่พิมพ์วิทยานิพนธ์เองทั้งหมด เพราะยิ่งใกล้กำหนดส่งเราจะยิ่งได้พบกับปัญหาจากคอมพิวเตอร์มากมาย เช่น โดนไวรัสข้อมูลหาย เครื่องใช้การไม่ได้ เครื่องพิมพ์เสีย พิมพ์ไม่ทัน ต้องจัดหน้าและตัดคำเพื่อความเรียบร้อยซึ่งต้องอาศัยเวลา ฯลฯ)
๔. ทำบันทึกข้อมูลและจดรายการอ้างอิงไว้ทุกครั้ง หากเป็นข้อมูลที่นำมาจากวารสารก็ให้จดเลขหน้าของบทความที่นำมาไว้ด้วย
๕. เขียนรายการอ้างอิงให้ถูกต้องตามกำหนดของบัณฑิตวิทยาลัยตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงมือเขียนวิทยานิพนธ์ ( โดยเฉพาะคนพิมพ์วิทยานิพนธ์เองทั้งหมด)
๖. ทำงานอย่างสม่ำเสมอไม่ทิ้งไว้นานๆ ค่อยเขียนที
๗. พบอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ
๘. พยายามส่งงานให้ตรงต่อเวลาที่อาจารย์กำหนด และกล้าเผชิญหน้ากับความจริงเพื่อจะได้มีโอกาสแก้ไขปรับปรุงงานของตน
๙. ถ้าเป็นไปได้ควรให้เพื่อนช่วยอ่านวิทยานิพนธ์ของเราบ้างเพื่อจะได้ช่วยกันติงข้อบกพร่องที่เรามี เพราะเราอาจไม่สามารถมองเห็นข้อบกพร่องของตนเองได้เนื่องจากเรามีภูมิความรู้ในเรื่องที่เราทำอยู่แล้ว แต่การให้เพื่อนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้อ่านคนอื่นๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องที่เราเขียนมากเท่าไรนักมาอ่าน จะทำให้เรารู้ว่าเราควรเติมข้อมูลตรงไหนเพิ่ม ควรแก้ภาษาตรงไหน ควรตัดส่วนไหนออก ฯลฯ
๑๐. เตือนตัวเองเสมอว่าจุดมุ่งหมายในการวิเคราะห์วรรณกรรมในหัวข้อของตนคือการศึกษาอะไร ตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อจะได้ไม่หลงทาง
๑๑. ความสำเร็จอยู่ที่ความอดทน ความพากเพียร ความไม่ประมาท และความตั้งใจจริงของเราเอง

 

ที่มา http://www.roommit.com/freedom/view.php?No=86

คำสำคัญ (Tags): #วิทยานิพนธ์
หมายเลขบันทึก: 52374เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อืม ข้อมูลดี

การทำโปรเจกท์ ของคณะวิทย์ แทบจะเจอมาทุกเล่ม

น่าเบื่อมากเลย ยิ่งกว่าเรียนพี่ๆป.โท.....

ตอนนี้ทุกเล่มทำโปรเจกท์ คิดเหมือนกันจะจบไหมเนี้ยะ .....เพราะจะทำโปรเจกทืแต่ละชิ้น อาจารย์ก็บอกว่าซ้ำมาแล้วนะ

หรือบางที่ อาจารย์บอกว่า ตกยุคไปหน่อย..

กดดันมากเลย ทำโปรเจกท์.....

แถมบางเล่ม ต่อเนื่องเทอมหนึ่งไปยันเทอมร้อน...

อดทน และมุ่งมั่นทำต่อไปครับ เพราะความสำเร็จไม่ไกลเกินไปหรอกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท