“ไพบูลย์” ชี้ทางออกความขัดแย้งชาติ แก้โครงสร้าง ละกิเลส ยึดสมานฉันท์


                (บทรายงาน โดย วสุ ศรียาภัย ลงใน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 15 กันยายน 2549 และ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน 2549 หน้า 12)

               วสุ ศรียาภัย รายงานข้อเสนอทางออก จากการเสวนาโครงการ วาระรัฐบาลใหม่ ในหัวข้อ ทางออกฝ่าวิกฤติความขัดแย้งของชาติ จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ดร.อารง สุทธาศาสน์ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอของแต่ละท่าน รายงานอย่างต่อเนื่อง นำร่องวันนี้ ด้วยข้อคิดจาก ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม 

                ถ้าพูดถึงความขัดแย้งระดับชาติ หรือความขัดแย้งของชาติ ต้องมองเรื่องใหญ่ๆ ผมคิดว่าความขัดแย้งในปัจจุบัน มี 3 กลุ่มใหญ่ ที่ถือว่าเป็นความขัดแย้งระดับชาติ กลุ่มแรกคือ ความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ ฝ่ายเอากับฝ่ายไม่เอา ท่ามกลางความขัดแย้งที่แบ่งฝ่ายเป็นฝ่ายเอากับฝ่ายไม่เอาก็มีความขัดแย้งย่อยๆ แตกกิ่งก้านสาขาออกไป แต่รวมความแล้วคิดว่าเป็นความขัดแย้งใหญ่ ใหญ่มากในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งของชาติ หรือแห่งชาติหรือระดับชาติ 

                ถัดไปคือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความขัดแย้งข้างใน 3 จังหวัด แต่ว่าต่อเนื่องมาถึงกลไกของรัฐ นโยบายของรัฐ แล้วก็ต่อไปถึงสังคมไทยด้วย เป็นความขัดแย้งที่มีแกนอยู่ที่ 3 จังหวัด แต่ว่าแตกกิ่งก้านความขัดแย้งโยงไปทั่วสังคมอีกเหมือนกัน 

                กลุ่มที่ 3 เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะ ซึ่งมีอยู่มาก แบบที่ 3 นี้ที่จริงเป็นเรื่องปกติ ในนานาประเทศจะมีอยู่เสมอคือความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะ แต่สำหรับประเทศไทยมันถูกโยงเข้าไปในเรื่องกลไกของรัฐนโยบายของรัฐและอื่นๆด้วย

                ถ้ารวมความขัดแย้งทั้งหมดแล้วคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องยากเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะเกี่ยวพันไปถึงระบบ โครงสร้าง ทัศนคติ และจิตสำนึกที่ลึกลงไป ฉะนั้นถ้าจะแก้ไขหรือจะผ่อนคลายทำให้ดีขึ้นต้องมองกันเยอะ ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดง่ายๆ ทำง่ายๆ เช่น บางคนบอกปฏิวัติรัฐประหารคงไม่ใช่ หรือว่าเลือกตั้งให้รู้ไปว่าฝ่ายไหนชนะฝ่ายไหนแพ้ก็ไม่ใช่ หรือบอกว่ายอมกันเถอะแล้วมาจับมือกันก็ไม่ใช่ 

                ผมพูดถึง 3 เรื่อง 3 กลุ่มความขัดแย้ง แต่ถ้ามองไปที่สาเหตุหรือปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน จะพบว่าเป็นสาเหตุหรือปัจจัยแห่งความขัดแย้งที่ใหญ่มากและเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเชิงโครงสร้าง โครงสร้างนี้หมายถึงระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม โครงสร้างที่สังคมเราเป็นสังคมที่ออกมาในเชิงดิ่ง เป็นสังคมเชิงอุปถัมภ์ เป็นสังคมเชิงอำนาจ มากกว่าเป็นสังคมในทางราบ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของทัศนคติและจิตสำนึกลึกๆ ที่ผูกพันกับกิเลสหลักของมนุษย์ อันได้แก่ ความโลภ อยากได้ อยากรวย ความเป็นปฏิปักษ์อาฆาตมาดร้าย และความหลง มีอคติ ติดยึดตัวเอง เข้าข้างตัวเอง” 

                สำหรับปัญหาดังกล่าว ถ้ามามองว่าแล้วควรทำอย่างไร คือการมองว่ามีปัญหาหรือแม้กระทั่งวิเคราะห์ว่ามีปัญหาไม่ยาก แต่ว่าทำอย่างไรนี่ยากกว่า โดยเฉพาะทำให้ได้ผล บางทีรู้ว่าควรทำอย่างไรแต่มันทำยาก ไม่ใช่สังคมไม่ควรมีความขัดแย้ง สังคมย่อมมีความขัดแย้งความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความขัดแย้งที่เป็นอันตรายหมายถึงว่า ถึงขั้นประทุษร้ายกันถึงขั้นแตกแยกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน อย่างนี้เป็นความขัดแย้งที่เป็นอันตราย 

                เราจึงควรมาช่วยกันหาทางออกให้ไม่มีความขัดแย้งที่เป็นอันตราย นั่นคือให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มรื่น อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และมีความ สมานฉันท์ ผมจงใจใช้คำนี้ 

                เพื่อจะขยายความต่อไปว่า คำว่า สมานฉันท์ นี้ ถ้าตามความหมายก็คือความเห็นพ้องต้องกันหรือความพอใจร่วมกัน หรือความสมานนั่นเอง คือความที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหตุที่รัฐบาลนี้มีปัญหามากในแง่ของความไม่ลงตัวเกิดความขัดแย้งแบบแตกแยกขึ้น เพราะว่าไม่มีความสมาน สมานนี่แปลว่ารัฐบาลกับประชาชนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลมกลืนเข้าหากัน นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลไม่ได้มองตัวเองว่าอยู่เหนือประชาชน หรือว่าแปลกแยกจากประชาชน และคำว่าประชาชนต้องหมายถึงประชาชนทั้งหมด 

                ถ้ารัฐบาลไปมองว่าประชาชนบางส่วนไม่ใช่พวก ประชาชนบางส่วนเป็นศัตรู นี่แปลว่าไม่สมาน รัฐบาลก็เหมือนพ่อบ้านหรือหัวหน้าครอบครัว จะไปมองสมาชิกครอบครัวว่าเป็นศัตรูหรือไม่ใช่พวกไม่ใช่สิ่งที่ดีที่หัวหน้าครอบครัวจะทำ ฉะนั้นการที่จะเกิดความสมานรัฐบาลต้องมองตัวเองว่าคือองค์ประกอบหนึ่งของทั้งหมด ต้องหาทางที่จะกลมกลืนเข้าหากัน หรืออาจเปรียบเทียบว่ารัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย จะไปแปลกแยกจากร่างกายไม่ได้ ต้องทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและอยู่ด้วยกันกับร่างกายทั้งหมดอย่างสมานกัน และขอเน้นคำว่าร่างกายทั้งหมด นั่นคือไม่ตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป ที่กล่าวมานี่เป็น แนวทางที่หนึ่ง ในการสร้างความสมานฉันท์ 

                แนวทางที่สองเพื่อสร้างความสมานฉันท์คือเรารู้แล้วว่าสิ่งที่เป็นกิเลสสำคัญคือความโลภ ความอยากร่ำรวยอยากมีเงินมีทองมาก ความเป็นปฏิปักษ์ ถือโกรธอาฆาตมาดร้าย และความหลงติดยึดกับตัวเอง มีทิฏฐิ เข้าข้างตัวเอง กิเลสพวกนี้ต้องพยายามให้สลายออกไป การสลายกิเลสออกไปก็คือการทำตัวให้กลมกลืนกับส่วนรวมนั่นเอง เพราะถ้ามีความโลภมาก ความโกรธมาก มีความหลงมากก็เท่ากับเอาตัวเองเป็นตัวตั้งจะแยกจากส่วนอื่น 

                ต้องทำตัวให้ถือซะว่าทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และหาทางที่จะเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกัน มีประเด็นอะไรที่ขัดแย้งต้องหาทางที่จะมาหาข้อสรุปตกลงร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่ตัดผู้ขัดแย้งออกไป หรือประกาศตัวเป็นศัตรู ประกาศเป็นฝ่ายตรงกันข้าม และจะเอาชนะกัน 

                แนวทางที่สามที่คิดได้คือต้องคำนึงว่าใครเป็นรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลนั้นเปรียบเสมือนพ่อบ้านผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการ ถ้ารัฐบาลไม่ทำตัวให้สมานหรือไม่สามารถทำจิตใจให้มีกิเลสอยู่ในระดับที่ไม่มากเกินไปก็จะเกิดความแปลกแยกได้ง่าย รัฐบาลคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่จะสร้างความสมานฉันท์ไม่ใช่คนอื่น คนอื่นต้องเป็นฝ่ายรับมากกว่าเป็นฝ่ายจัดการ ถ้าคนอื่นจะพยายามทำ เช่นเป็นฝ่ายเชิญชวนรัฐบาลมาสมานฉันท์ จะบรรลุผลที่พึงประสงค์ได้ยาก เหมือนกับว่าแขนขาจะทำตัวเป็นเจ้ากี้เจ้าการให้เกิดการสมานทั้งร่างกายย่อมไม่ได้ ต้องให้สมองหรือหัวใจเป็นผู้จัดการจะได้ผลมากกว่า

                ที่สำคัญ ผู้นำควรถอยออกมา หยุดพักรบ เพื่อเปิดช่องให้ใจ ซึ่งเชื่อว่า เมื่อผู้นำกลับจากต่างประเทศครั้งนี้อาจทำในสิ่งที่คาดไม่ถึงก็ได้ และผมอยากเสนอหัพิจารณาจัดประชุม ครม.สัญจรที่สวนโมกข์ ไชยา สักครั้งหนึ่ง ประชุมแล็วก็นิมนต์พระมานำปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้จิตใจสงบ ทำให้เกิดความสว่าง เกิดปัญญา ถือเป็นก้าวแรกของการเปิดช่องให้ใจ และนำสู่การคิดทางออกของปัญหาต่างๆได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

                แนวทางอื่นๆนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ การปฏิรูประบบต่างๆและการอภิวัฒน์วัฒนธรรมเพื่อให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมถึงการจัดกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยยึดแนวทางสมานฉันท์ อย่างเช่น การตั้งคณะกรรมการสันติวิธีขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ เป็นต้น 

          และสิ่งสำคัญซึ่งทำได้ยากแต่ก็ควรต้องพยายามทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป นั่นคือ การสร้างชุมชนเข้มแข็งและสังคมเข้มแข็ง ที่สามารถจัดการตนเองได้และพึ่งพาตนเองได้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #ภาคประชาสังคม
หมายเลขบันทึก: 52353เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท