ชีวิตที่พอเพียง : 121. เรื่องสติ


         ในชีวิตของคนเรา ความมีสติตั้งมั่น มีความสำคัญมาก   และมองเรื่องสตินี้ได้หลายมิติ หลายแง่หลายมุม      ผมจะลองมองจากมุมของผม ผ่านชีวิตของผมเอง

        ขณะกำลังทำงานอะไรอยู่ ผมจะฝึกตัวให้มีสติ และสมาธิ ตั้งมั่นอยู่กับเรื่องนั้นอย่างใจจดใจจ่อ   พยายามไม่วอกแวกไปคิดเรื่องอื่น  พยายามไม่ให้คนโทรศัพท์มาหาโดยไม่จำเป็น เพราะจะเป็นการรบกวนสมาธิ ทั้งของผมเองและของผู้อื่นที่อยู่ใกล้ๆ

        แต่ สติ หรือความรู้ตัวทั่วพร้อมมันลึกกว่านั้น     มันโยงไปสู่ความรู้ ความเข้าใจสถานการณ์ในขณะนั้น     ยกตัวอย่างขณะกำลังประชุมอยู่   สติของผมจะบอกว่าคนที่ผมร่วมประชุมด้วยนั้น  แต่ละคนมีวิธีคิด (mental model) เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังประชุมอย่างไรบ้าง     บางคนอาจมีวาระแฝงเร้น (hidden agenda) เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง     เท่ากับสติจะทำให้เราตระหนักในบริบทของที่ประชุมในขณะนั้น

        แต่ความเข้าใจบริบทของที่ประชุมมักจะยังไม่ค่อยชัด     ความเข้าใจวิธีคิด  อคติ  หรือวาระแฝงเร้นของผู้เข้าร่วมแต่ละคน อาจไม่แม่นยำก็ได้     แต่เมื่อมีการเสนอความเห็นหรืออภิปราย  ถ้าเราตั้งใจฟังให้ดีๆ  คำพูดของแต่ละคนจะเปิดเผยวิธีคิด หรืออคติ หรือวาระแฝงเร้นของเขาออกมา    ซึ่งอาจจะช่วยยืนยันความเข้าใจเดิมของผม  หรืออาจลบล้างความเข้าใจเดิมของผมก็ได้

        ผมจึงมองว่า สติเป็นตัวช่วยให้เรามีความสามารถในการสังเกต (power of observation) สูงขึ้น      สามารถเก็บข้อมูลจากเหตุการณ์รอบตัวได้ดีขึ้น     จึงสามารถทำงานแบบ เคออร์ดิค (chaordic) ได้ดีขึ้น     ในการร่วมกิจกรรมหนึ่งๆ คนที่มีสติ และความตั้งใจ จดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะได้มั่นเช่นนี้จะสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าคนที่ร่วมประชุมหรือร่วมกิจกรรมอย่างขาดสมาธิ ไม่มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะมากมายนับสิบหรือร้อยเท่า

        แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น  การมีสติ สมาธิ อยู่กับปัจจุบันขณะ จะทำให้การรับรู้ของเรามีคุณภาพสูง    มีความเฉียบคม และลุ่มลึก  ดังนั้นตัวความรู้ที่เกิดขึ้น  จึงไม่ใช่ดีหรือมากกว่าในเชิงปริมาณ     แต่สูงกว่าในเชิงคุณภาพหรือระดับ (order) 

        ผมชอบสังเกตพฤติกรรมของคนเก่ง คนมีความสามารถสูง      ผมพบว่าคนเหล่านี้มีคุณสมบัติร่วมกันอย่างหนึ่งคือเป็นคนที่ฟังคนอื่นอย่างตั้งอกตั้งใจ     มีสติ ใจจดจ่ออยู่กับปัจุบันขณะ     และซักถามทำความเข้าใจเรื่องราวเชื่อมโยงกับบริบทหรือสภาพแวดล้อมของเรื่องราวนั้น     แล้วสามารถสังเคราะห์ข้อคิดเห็นได้อย่างเป็นระบบเชื่อมโยงในเวลาอันสั้น     คนที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องฝึกฝน สติ สมาธิ มาเป็นอย่างดี

วิจารณ์ พานิช
๒๑ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 52281เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คงจะต้องเริ่มฝึกสมาธิเพื่อให้มีสติ ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว เพราะมักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยฟังคนอื่นเท่าไหร่

ขอบพระคุณเช่นกันคะ

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ     เป็นจุดอ่อนที่ต้องพัฒนาค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท