ปัญหาจริยธรรมที่เกิดจากสื่อเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์(internet)


พีรพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์

สาขาวิชาพระพุทธศาสนา

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๑. ปัญหาและความสำคัญของสื่อเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์

สื่อเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์(internet) หรือ “สื่อออนไลน์” (online) หมายถึง ตัวกลาง(สื่อ)ที่เชื่อมเพื่อให้เกิดการติดต่อระหว่างผู้ต้องการติดต่อทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าด้วยกัน จากคนหนึ่งไปหาอีกคนหนึ่ง หรือจากคนเดียวไปหาบุคคลมากกว่าสอง ซึ่งเป็นการติดต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์[๑] ทั้งผ่านระบบสายและระบบไร้สาย

ในปัจจุบันการใช้สื่อออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน  เป็นการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน ทำให้การรับทราบข้อมูลของกันและกันระหว่างปัจเจกบุคคล และระหว่างปัจเจกบุคคลกับพหุบุคคล เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงในแง่เศรษฐกิจก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารได้มากกว่าการสื่อสารประเภทอื่นๆ การถือกำเนิดขึ้นของระบบออนไลน์ จึงเป็นการปริวรรตการสื่อสารของมนุษย์ครั้งสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงองคาพยพต่างๆของมนุษย์ทั่วโลก และเป็นที่แน่นอนด้วยว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อความเป็นไปของพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิก(พุทธบริษัท)อย่างเลี่ยงไม่ได้  เพราะบรรดาพุทธศาสนิกมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเพื่อการสื่อสาร  ซึ่งการใช้เครื่องมือเหล่านี้มีทั้งส่วนสร้างสรรค์(constructive implement) และส่วนทำลาย(destructive implement)  หากไม่มีการคำนึงถึงปทัฏฐานคือ หลักธรรมวินัยต่างๆ 

ตัวอย่าง การสำรวจของบริษัทเน็ตเวลิง ต่อพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของชาวสิงคโปร์พบว่า กว่า ๑ ใน ๓ ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ต้องแวะเข้าไปเว็บไซต์ทางเพศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมีมากถึงร้อยละ  ๖๘  เฉพาะเดือนธันวาคม ๒๕๔๔ ผู้ชายกลุ่มนี้ใช้เวลาเฉลี่ยถึง ๗๑.๕ นาทีพัวพันอยู่กับเว็บไซต์นี้ ขณะที่ผู้หญิงจะใช้เวลาโดยเฉลี่ย ๒๙.๑ นาที และส่วนมากจะเป็นคนหนุ่มสาว อายุ ๑๕-๒๔ ปี มีถึงร้อยละ ๔๑ ขณะที่ผู้มีอายุ ๒๕-๓๔ ปี ใช้เว็บไซต์นี้ลดลง เพียงร้อยละ ๓๕ สำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง แต่พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต ก็ไม่น่าจะต่างกันมาก โดยเฉพาะในหมู่พระสงฆ์ ที่มีเวลาเล่นคอมพิวเตอร์นานๆ โอกาสจะท่องไปในโลกไซเบอร์น่าจะมีสูงกว่าฆราวาส หากเปรียบเทียบคนต่อคน[๒]

จากการรวบรวมเว็บไซต์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย เดือนมีนาคม ๒๕๔๔ พบว่ามีเว็บไซต์มากถึง ๒๐๘ เว็บไซต์ แบ่งเป็นเว็บไซต์ของวัดต่างๆ ๒๗ เว็บไซต์  เว็บไซต์ของสำนักสงฆ์ ศูนย์ปฏิบัติธรรมและอื่นๆ อีก ๑๘๑ เว็บไซต์  ซึ่งส่วนใหญ่จะตาย  คือไม่มีใครเข้าไปดูเลย ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเอาไปเปรียบเทียบกับเว็บไซต์ทางเพศก็ได้ เพราะยังห่างไกลอีกมาก[๓]

หากเป็นในสมัยปัจจุบัน (๒๕๕๕)ที่การเปิดเว็บไซต์ถูกทำให้สร้างง่ายขึ้นมากกว่าเดิม เว็บไซต์ต่างๆ ทั้งของวัด และไม่ใช่ของวัดจึงยากที่จะควบคุม ไม่นับรวมถึงเว็บบล๊อก(Blog) ต่างๆที่สามารถสร้างอย่างง่ายดายและรวดเร็ว  ทั้งมีอิสระในการสร้าง โดยต้องไม่ลืมว่า ยังมีเว็บไซต์ของวัดไทย หรือสำนักปฏิบัติธรรม ในต่างประเทศอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ที่ได้กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้วนั้น ได้ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ใช้สื่อออนไลน์ในระดับชุมชนโลก เรียกว่า สังคมออนไลน์(social network หรือ social media)[๔] ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมนุษยชาติ และสื่อเหล่านี้สังคมเหล่านี้ อย่างเช่น  เฟซบุ๊ค(facebook/facebook.com) ได้เข้าไปในวัดและสำนักปฏิบัติธรรมเหมือนกับที่อื่นๆทั่วโลก(ยกเว้นบางเทศที่รัฐบาลสั่งห้าม หรือบล๊อก) พระสงฆ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาผู้ที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ว่านี้

๒.เพศสัมพันธ์กับสื่อเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์

ในโลกไซเบอร์(อินเตอร์เน็ต)นั้น ใช่ว่าจะมีเว็บไซต์ด้านพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว ยังมีเว็บไซต์อื่นๆ เป็นจำนวนมากทั่วโลกให้เข้าไปค้นดูโดยไม่เบื่อ ยิ่งเจอคู่ที่คุยถูกคอถูกใจด้วยแล้ว โลกไซเบอร์แทนที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการศึกษากลับมาเป็นภัยบั่นทอนชีวิตพรหมจรรย์ของพระสงฆ์เอาง่ายๆ ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างเกิดขึ้นมากมาย เช่น การที่พระสงฆ์จำนวนไม่น้อย ที่เข้าไปท่องโลกไซเบอร์ โดยใช้นามแฝงเป็นฆราวาสพูดคุยกับคนอื่นๆ โดยไม่ยี่หระต่อฐานะของตน ยิ่งอยู่คนเดียวในห้องด้วยแล้ว จะพูดคุยกับใครอย่างไรในโลกไซเบอร์ หรือจะเปลี่ยนมาคุยทางโทรศัพท์เยี่ยงฆราวาสก็สามารถทำได้[๕] ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สามารถตีความไปถึงการประพฤติอยู่ในกรอบของพระวินัย โดยเฉพาะศีลสังวร ดังการพรางตัวของพระสงฆ์ในอินเตอร์เน็ตโดยใช้ชื่อปลอม แสดงถึงเจตนาละเมิดศีล คือ การโกหกมดเท็จ(มุสาวาท)กับคนที่ติดต่อทางเน็ตด้วยหรือไม่

  พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของพระในลักษณะนี้หมิ่นเหม่ต่อการประพฤติพรหมจรรย์อย่างมาก ยิ่งใช้โกหัญวิธีตอบโต้กับคู่กรณีเป็นอาจิณแล้วความเป็นพระก็จะถดถอยลงไปตามลำดับ จิตใจของภิกษุเข้าไปผูกพันกับสิ่งที่ไม่ส่งเสริมกุศลธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป ทำให้จิตใจตกต่ำ ซึ่งในทางพระวินัยต้องถูกปรับอาบัติตามความหนักเบาของความผิดนั้นๆ อย่างเช่น ปาราชิก ก็หมดจากความเป็นพระทันทีขณะละเมิดสิกขาบทนั้น รวมถึงอาบัติที่มีโทษเบาหรือรองลงมาอีกจำนวนมาก[๖] ซึ่งประเด็นการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ของพระสงฆ์นี้ ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องพิจารณาอีกหลายประการ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ อย่างเช่น การพรางตัวของพระดังที่กล่าวไปแล้ว, การลักลอบใช้ข้อมูลที่ปรากฏทางอินเตอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล เข้าข่ายความผิดลักขโมยหรือไม่[๗] ,การสนทนาออนไลน์(chatting) กับสีกาสองต่อสองด้วยการพูดจาเชิงเพศสัมพันธ์[๘] เข้าข่ายต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่[๙] 

นอกเหนือไปจากการที่ระบบออนไลน์เป็นต้นตอหรือสาเหตุที่ทำให้พระสงฆ์ประพฤตินอกลู่นอกทางพรหมจรรย์ทั้งในและนอกกำแพงวัด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ถึงกระทั่งขั้นร่วมเพศกับสีกา โดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อการติดต่อก่อนที่จะลงเอยด้วยกิจกรรมทางเพศดังกล่าว  ขณะเดียวกันอิทธิพลของสื่อออนไลน์ในการนำเสนอสิ่งเย้ายวนใจ ดังกรณี รูปภาพของผู้หญิงสาวที่ปรากฎในสื่อยี่ห้อที่ได้รับความนิยมอย่างเฟซบุ๊ค ที่ชวนให้ผู้ใช้ออนไลน์(onliner) อยากติดต่อมีสัมพันธ์ด้วย ซึ่งในส่วนของพระสงฆ์ที่ไม่เจริญจิตสิกขาที่เข้าใช้สื่อยี่ห้อนี้ก็ไม่ได้รับการยกเว้นที่จะสำแดงพฤติกรรม “ละเมิดพระวินัย” เช่นจากการสนทนาออนไลน์ การโทรศัพท์หากัน นำไปสู่การนัดพบ การมีเพศสัมพันธ์ขั้นกายสัมผัส จนบางครั้งก็เลยเถิดไปถึงขั้นร่วมเพศ จนหมดสภาพของความเป็นพระ(ปาราชิก)  ซึ่งหากมีผู้ทราบเหตุการณ์ก็ถูกจับสึก บังคับให้ลาสิกขา แต่หากไม่มีใครล่วงรู้(นอกจากคนทั้งสอง)ทั้งเจ้าตัวผู้กระทำผิดพระวินัย ไม่สำนึกผิด ก็ยังคงครองสถานภาพความเป็นสงฆ์แต่เปลือกนอก(จีวร) ตบตาหลอกลวงชาวบ้านอยู่ก็มี กลายเป็น “สมี”[๑๐]  ในคราบผ้าเหลือง

  เมื่อมีการใช้สื่อออนไลน์อย่างแพร่หลายทุกวงการ ในส่วนของพุทธศาสนิกเองย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย  ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเป็นได้ทั้ง ๒ ส่วน  คือ ส่วนของบรรพชิต(นักบวช/ภิกษุ)และส่วนของคฤหัสถ์(ผู้ครองเรือน) ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ “ความเหมาะสมต่อการใช้ระบบการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์” หรือ การเข้าไปอยู่ในสังคมออนไลน์ของชาวพุทธทั้ง ๒ ฝ่ายอย่างเหมาะสม

    ส่วนของภิกษุ ที่อิงหรืออยู่ด้วยพระวินัยนั้น  ได้รับผลกระทบใน ๒ ส่วน คือ

(๑)ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อออนไลน์ โดยพิจารณาจากสถานภาพความเป็นเพศนักบวช

เพศนักบวช หรือภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นเพศที่อาศัยพระวินัย สำหรับการครองตนหรือดำรงในสถานะนี้  การใช้สื่อออนไลน์จึงต้องย่อมต้องระมัดระวัง โดยการคำนึงถึง ๒ ส่วน คือ  หนึ่ง คำนึงถึงพระวินัย  เช่น  ความเหมาะสมในการติดต่อกับอุบาสิกา(โยมผู้หญิง) ผ่านระบบออนไลน์ ทั้งในเชิงคำพูด รูปภาพ หรือเวลา ที่อาจส่อไปในทางการแสดงออกถึงราคะจริต ,และ สอง คำนึงถึงธรรม ซึ่งเป็นแนวทางและเป้าหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งก็คือ การคำนึงการประพฤติพรหมจรรย์ 

(๒)ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อออนไลน์ โดยพิจารณาคุณและโทษของการเผยแผ่พระศาสนา

สื่อออนไลน์ มีประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน หากไม่รอบคอบรัดกุม การใช้สื่อประเภทนี้ยังมีในส่วนที่เป็นโทษอีกด้วย ในกรณีการเผยแพร่ข้อมูลหรือความรู้ด้านธรรมวินัยที่ผิด(มิจฉาทิฏฐิ)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เมื่อหมู่สัตว์เสื่อมลง สัทธรรมก็เสื่อมสูญไปสิกขาบทจึงมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในอร  หัตตผลจึงมีน้อย สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด  ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เสื่อมสูญไป แต่เมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมย่อมเสื่อมสูญไป ,ทองคำปลอมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำแท้ก็ยังไม่หายไปและเมื่อใดทองคำปลอมเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นทองคำแท้จึงหายไป ฉันใดสัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เสื่อมสูญไป แต่เมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมย่อมเสื่อมสูญไปฉันนั้นเหมือนกัน[๑๑]

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงต้องศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจหลักการเผยแผ่ที่ถูกต้องทั้งนี้ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ควรวางความเข้าใจว่า หลักพุทธธรรมไม่ได้เอื้อประโยชน์เฉพาะปัจเจกเท่านั้นแต่ยังส่งผลถึงส่วนรวมอย่างมากอีกด้วย  ทำให้สังคมในวงกว้างเกิดความสุข สงบ สันติ ขณะที่ตัวจริยศาสตร์เองก็เป็นของสากล แม้ว่าแต่ละลังคมจะมีเนื้อหาในส่วนของรายละเอียดที่แตกต่างกัน ถึงแม้มีผู้วิจารณ์เนื้อหาพุทธธรรมส่วนของเป้าหมายว่า เป็นไปในเชิงเกื้อกูลจำเพาะปัจเจก หาใช่เพื่อส่วนรวม แต่ทัศนะวิจารณ์นี้ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง[๑๒]

ส่วนของคฤหัสถ์ ได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์หลายด้าน ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ , ในเชิงบวก นอกจากสื่อออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลความรู้(ทางพระพุทธศาสนา)แล้ว ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีศักยภาพในการติดต่อระหว่างชาวพุทธด้วยกัน เพื่อการต่างๆ ทั้งเพื่อส่วนตัวและเพื่อพระศาสนาในแง่การเผยแผ่พุทธธรรมให้กว้างขวางออกไปและเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่สื่อออนไลน์ก็ให้ผลเชิงลบได้มากเช่นกัน การจมจ่อมอยู่กับสื่อประเภทนี้เชิงการเล่นไร้สาระนานเกินไป นอกจากทำให้เสียเวลาแล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพอีกด้วย  ขณะที่ธุรกิจสื่อออนไลน์เองได้พลิกแพลงกลยุทธ์ด้านธุรกิจ เพื่อดึงลูกค้าจากแผนการตลาดที่แยบยลโดยใช้สิ่งล่อใจทางเพศ ,โดยเฉพาะสิ่งล่อที่ใช้สัญลักษณ์สตรีเพศ หรือบุรุษเพศ เป็นตัวดึงดูดหรือจูงใจลูกค้า(ผู้ใช้สื่อ) ทำให้กลไกบริโภคนิยม ทำงานอย่างเต็มที่ เร้าอารมณ์และกระตุ้นความอยากได้ในสิ่งต่างๆอย่างไร้ขีดจำกัด  จึงไม่แปลกที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ในยุคร่วมสมัยสูงมาก

๓. คุณและโทษของสื่อเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์

ศาสนาที่อยู่ในธง  ในวัด หรือในรัฐธรรมนูญ  ย่อมมีความมั่นคง เป็นส่วนหนึ่งของยี่ห้อที่คนยึดถือเป็นอัตลักษณ์ของตัว แต่ก็ไม่มีความหมายอะไรจนกว่าศาสนาจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติของผู้คน[๑๓] การใช้การสื่อสารผ่านเครือข่ายออนไลน์ จึงเป็นการนำพระพุทธศาสนาออกนอกวัด ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการสื่อสารผ่านในวัด หรือผ่านวัด(พระ)เท่านั้น แต่การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ยังทลายกำแพงวัดลงอีกด้วย ทำให้การรับรู้ หรือแสวงหาความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาไม่ถูกจำกัดอยู่แค่คนบางกลุ่ม เช่น เฉพาะคนกลุ่มวัด ซึ่งได้แก่ ภิกษุ และฆราวาสที่เข้าวัด หรือผู้ที่ติดต่อกับพระสงฆ์ ,แต่การเปิดกว้างด้านข้อมูลอย่างไร้ขีดจำกัดที่เกิดจากการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ข้อมูลทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไหลเข้าไปในวัดไปด้วยกัน และจะนับเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา หากภิกษุ ไม่รู้เท่าทัน หรือปล่อยใจ ปล่อยวาจา และปล่อยกายไปตามข้อมูลที่ภิกษุไม่พึงเสพ เช่น การดูภาพเปลือย(nude) หรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการร่วมเพศ ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น

John H. Crook กล่าวถึงการเชื่อมต่อของพระพุทธศาสนาระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกในกาลร่วมสมัยว่า มีชาวพุทธ ๒  ฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ คือ ชาวพุทธกลุ่มนักคิดฝ่ายหนึ่ง กับชาวพุทธกลุ่มผู้สนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา(ผ่านทุนและอื่นๆ)อีกฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากเวลานี้โลกของเรามีสภาพกลวงโบ๋ เต็มไปด้วยการโป้ปดมดเท็จ เป็นโลกในยุคคอนกรีตและ(การสื่อสารผ่าน)คอมพิวเตอร์ ซึ่งมนุษย์เองเป็นผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้ออกมา แต่ก็เป็นตัวการทำลายโลกได้ทางหนึ่ง[๑๔] พร้อมกับการเพิ่มขึ้นถึงขีดสุดของ  “ลัทธิปัจเจกนิยมที่เน้นความเป็นส่วนตัวความเป็นตัวของตัวเอง ประเภทใครปรารถนาจะทำอะไรตามใจก็ได้”[๑๕] การเชื่อมต่อกันของพระพุทธศาสนาของตะวันออกและตะวันออกจึงมีประโยชน์ในแง่ที่จะช่วยโลกได้มาก

๔.สรุป

  การใช้ระบบออนไลน์ของชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพภิกษุ  จึงเสมือนเป็น กับกลลวงหรือสิ่งล่อที่อันตราย ผ่าน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  หรือกามคุณทั้ง ๕ [๑๖] เช่น การใช้สัญลักษณ์ทางเพศ เป็นเครื่องมือโฆษณาการค้า โดยที่ตัวภิกษุเองรับสื่อประเภทนี้เข้าไปโดยไม่รู้เท่า หรือ อาจรับโดยรู้เท่า แต่ยังฝืนกระทำการซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระธรรมวินัย อย่างน้อยก็ในส่วนของความบกพร่องด้านเสขิยวัตร หาไม่แล้วการกระทำดังกล่าวก็เป็นโลกวัชชะ เป็นเหตุให้โลกติเตียนได้  ขณะที่ในส่วนของฆราวาสเองนั้น การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ และโซเซียลเน็ตเวิร์ค ให้ทั้งคุณและโทษเช่นกัน ,ส่วนที่เป็นคุณได้แก่ การติดต่อสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ ในส่วนที่เป็นโทษ ได้แก่ การที่ผู้บริโภคสื่อ เข้าไปหลงติดเสมือน “ติดกับดัก” ในสิ่งล่อต่างๆ(เชิงกามคุณหรือกามวัตถุ) ที่นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งหากการบริโภคสื่อไม่เป็นไปอย่างรู้เท่าแล้ว ก็จะเกิดโทษกับผู้บริโภคในเชิงผลเสียหายทั้งภายนอก(ผลทางกายและวัตถุ)และภายใจ(ผลทางด้านจิตใจ)ได้



[๑]Dictionary.com.online.[online]. source : http://dictionary.reference.com/browse/online?s=t [Sept, 10.2012].

[๒] สมเกียรติ มีธรรม , รวมบทความคัดสรร พุทธทัศน์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย, (กรุงเทพมหานคร :  สำนักพิมพ์ศยาม , ๒๕๔๖ ),หน้า ๒๕-๒๖

[๓] อ้างแล้ว

[๔] อย่างเช่น บทบาทที่โดดเด่นของยี่ห้อสื่อ เฟซบุ๊ค(facebook) , ทวิตเตอร์(twitter) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี –ผู้วิจัย

[๕] สมเกียรติ มีธรรม , รวมบทความคัดสรร พุทธทัศน์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย,หน้า ๒๖-๒๗

[๖] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๗

[๗] วิ.มหา.(ไทย)๑/๘๙/๗๘-๗๙

[๘] คือ ภิกษุเจรจาเกี้ยวพาราสีทั้ง ๒ รูปแบบ  ได้แก่ ๑.พูดจาเกี้ยวพาราสีแบบตรงๆ  ๒. พูดจาธรรมดา ไม่เป็นไปทำนองเกี้ยวพาราสี(ซึ่งคนนอกอาจดูไม่ออก) แต่พูดด้วย จิตปฏิพัทธ์หรือสนทนากับสีกาด้วยเหตุแห่งจิตปฏิพัทธ์-ผู้วิจัย

[๙] ภิกษุใดถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตแปรปรวน  พูดเกี้ยวมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ  พาดพิงเมถุน  เหมือนชายหนุ่มพูดเกี้ยวหญิงสาว เป็นสังฆาทิเสส , วิ.มหา.(ไทย)๑/๒๘๔/๓๑๖

[๑๐] คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก , พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตราชสถาน พ.ศ.  ๒๕๔๒ .[ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-40-search.asp[Sept. 25, 2012].

[๑๑] สํ.นิ.(ไทย)๑๖/๑๕๖/๒๖๒

[๑๒] ทัศนะในหนังสือ Love and Sympathy in Theravada Buddhism, ดูรายละเอียดใน Harvey  B. Aronson ,Love and Sympathy in Theravada Buddhism , (Delhi : Motial Banarsidass,1980)

[๑๓] นิธิ เอียวศรีวงศ์ , พุทธศาสนาในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย,(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๓) ,หน้า ๕๘

[๑๔] Crook , John H. ,Buddhist Behavior and the Modern World :An International Symposium, (Preceptual Truth and the Western Psychology of Human Nature,1994),  p.223-224 ,

[๑๕] ปรัชญาตะวันตก โดยนักปรัชญาจำนวนหนึ่ง เสนอกฎเกณฑ์ทางสังคม ซึ่งต่อมากลายเป็นจารีต  คือ การดำเนินชีวิตสามารถเสรีได้ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น  ซึ่งจารีตที่ได้จากการค้นพบในช่วงหลายปีมานี้ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทั้งกายและใจ จากยุคแห่งการสำรวจเพื่อศึกษา(exploring)พฤติกรรมของมนุษย์จนกระทั่งถึงยุคของการทดสอบจิตร่วมสำนึก (consciousness)  ซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อจำแนกถึงความแตกต่างระหว่าง ฉัน/กู (me/สำนึกในตัวตน หรือconscious of self) กับ ฉัน/กู( I /สติในตัวตน  หรือ self awareness)  ผลที่ได้ ก่อให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายความคิดจากทฤษฎีการกระทำ(action theory) ไปสู่การเพ่งพิจารณาถึงพฤติกรรมของผู้กระทำ ตลอดถึงทฤษฎีการเคลื่อนไหว(motion theory) แม้แต่การเพ่งพิจารณาจากฐานขั้นต่ำของกระบวนการทั้งหมด ก็ปรากฏว่าเชื่อมโยงกับจิตร่วมสำนึก(consciousness) ,Op.cit.

[๑๖] ม.มู.(ไทย)๑๒/๑๗๘/๑๗๘-๑๘๒


หมายเลขบันทึก: 522148เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2013 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2013 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท