หลายชีวิต: วรรณกรรมที่แนะนำสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา


หลายชีวิต: วรรณกรรมที่แนะนำสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


           

       

 

             วรรณกรรมไทย คือ งานเขียนในรูปแบบใหม่ ที่นักเขียนไทยพยายามจะทดลองสร้างความแปลกใหม่ให้บรรณพิภพ เพื่อให้เกิดเรื่องราวอย่างใหม่  ที่ดูโด่นเด่นและแหวกแนวจากขนบเดิม เรื่องราวจำพวกจักร ๆ วงศ์ ๆ พระเอกเป็นเจ้าชาย แล้วเกิดอุบัติเหตุให้ต้องตกยาก เข้าป่าเรียนวิชากับพระดาบส ผจญภัย สู้ยักษ์นั้น เห็นจะหมดคุณค่าไป แนวเรื่องอย่างใหม่ จึงปรากฏเป็นเรื่องสั้นและนวนิยาย ที่คลายขนบนั้นลง และพยายามที่จะทำให้เห็นว่า ยังมีโลกใบใหม่หรือโลกใบอื่น ที่กว้างกว่าแนวเรื่องเดิม ๆ พรรค์นั้น


            ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประพันธ์หลีกลี้  และสร้างผลงานแนวใหม่ขึ้นมาได้ ก็คือการสร้างเรื่องขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์ คำว่าการสร้างเรื่อง คือ การผูกร้อยรัดเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยแนวคิด หรือแก่นบางอย่างนั่นเอง ผู้เขียนทุกคน แม้จะให้รายละเอียดปลีกย่อยในสิ่งเขียนเพียงใด พรรณนาฉาก ความรู้สึกและอัธยาศัยลักษณะของตัวละครได้ละเอียดเพียงใด แต่ก็หาประโยชน์อย่างไรไม่ หากปล่อยเรื่องนั้นให้สะเปะสะปะ ไม่มีแก่น แบบที่เรียกว่า เขียนไปเรื่อย ๆ ไร้ทิศทาง  ดังนั้น การร้อยเรียงเรื่องไว้ใต้แก่นเรื่อง  จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์ที่มีฝีมือทั้งหลาย จะต้องกระทำให้มีความโดดเด่น เพราะหากเรื่องอ่านแล้ว “ไม่เป็นเรื่อง” ก็ยากนัก ที่จะตราตรึงความคิดของผู้อ่าน ให้คงอยู่กับเรื่องของตนต่อไปได้


            นวนิยาย เรื่อง “หลายชีวิต” ของ พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตัวอย่างการสร้างเรื่องอย่างสร้างสรรค์ ที่จริงจะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่านวนิยายคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นจาก  การประกอบโครงเรื่องย่อย ๆ อันเป็นเรื่องสั้นได้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโจรใจบาป อกตัญญูและ  สารเลวโดยสิ้นเชิงอย่าง “ไอ้ลอย”  สมณะผู้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสอย่าง “หลวงพ่อเสม”  เชื้อพระวงศ์  ผู้เกลียดชังความเป็นเจ้า และพยายามที่จะปกปิดเครื่องหมายที่ตราติดตัวมาแต่กำเนิดอย่าง “ท่านชายเล็ก” หรือ สาวใหญ่ ผู้อาภัพในรักและอกตัญญูฆ่ามารดาอย่าง “ละม่อม”  ที่ถ้าใครไม่ได้เป็นเธอ ก็คงจะไม่มีวันเข้าใจเหตุผลที่เธอทำในสิ่งที่ไม่มีผู้ใดจะยอมรับได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวละครอีกหลายตัว ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่มีก็มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ในหนังสือเล่มนี้


             ผู้เขียนสร้างตัวละครเหล่านี้ โดยแสดงให้เห็นความเป็นมาและเป็นไป ก่อนที่ตัวละครเหล่านี้จะมาพบจุดจบเดียวกัน ก็คืออุบัติเหตุเรือโดยสารล่มในคืนค่ำวันหนึ่ง  น่าสนใจว่า ผู้เขียนผูกเรื่องย่อย ๆ ทุกเรื่อง ให้มาจบในที่เดียวกัน แต่จุดเริ่มต้นนั้นแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้เห็นแนวคิดที่ชัดเจนว่า ผู้เขียนต้องการที่จะนำเสนอว่า ธรรมดามนุษย์เรานั้น แต่ละคนล้วนประกอบกรรม หรือดำเนินชีวิตมาตามเหตุผลและปัจจัยของตน มีสิ่งที่เป็นเป้าหมาย  หรือความต้องการส่วนตนทั้งสิ้น แต่เมื่อชีวิตได้เดินทางมาถึงจุด  จุดหนึ่ง คือ ความตาย หลายชีวิตเหล่านั้นกลับทำให้ความตายของตนเองมีความหมายที่แตกต่างกันไป  เพราะสำหรับคนเลว ความตายคือผลกรรมที่สมควรจะได้รับ เมื่อผู้หนึ่งได้มอบความตายให้แก่ผู้อื่นอย่างตั้งใจและไตร่ตรอง จะเป็นไรเล่า ถ้าความตายจะย้อนกลับคืนมาสู่เขาผู้นั้นบ้าง ถ้ามองแบบนี้  ความตายนั้นคือผลอันเป็นที่สุด ซึ่งสาสมแล้วที่มนุษย์เลว ๆ คนหนึ่งควรจะได้รับ และเป็นจุดสิ้นสุดในชีวิต แต่หากความตายนั้น เป็นความตายของผู้พ้นกิเลสเล่า เราไม่อาจจะให้ความหมายถึงความตายจำพวกนี้ว่าเป็นผลบาป แต่ความตายของผู้มีจิตเกษมนั้น คือ การพ้นไปจากสังขารอันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์  จึงถือว่าเป็น  ความตายอันเกษม เป็นความตายที่ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ในชาติหนึ่ง พึงปรารถนา เป็นความตายที่ผู้ตายหาได้ยึดติดในความตาย เพราะตนเองได้ตายไปจากตัวตนของตนเสียก่อนแล้ว เมื่อไม่มีตัวตนอยู่แล้ว สังขารนี้ที่คนอื่นเขาให้ชื่อว่าเป็นอย่างไร ๆ แม้เสื่อมตายไปเสีย ก็คงจะไม่มีอะไรให้ต้องประหวั่นพรั่นพรึงอีก   ความตายอย่างนี้ จึงมิได้ผลบาป แต่เป็นผลกรรมอันสูง  ในขณะที่ความตายในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ ความตายของพวกที่ยังไม่อยากตาย พวกนี้ เมื่อยามมีชีวิต กระทำตนไปตามความต้องการ อุปาทานถือมั่น ไม่ได้คิดว่า วันหนึ่งวันใดข้างหน้า จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ความตายเมื่อมาถึง  จึงเป็นเหตุสำคัญ ที่ทำให้สะพานที่ทอดระหว่างชีวิตในปัจจุบัน กับความฝันในอนาคต ต้องพังทะลายลง แม้มีสิ่งที่คิดว่าจะต้องทำอีกมาก แต่เมื่อทำไม่ได้แล้ว น่านับว่าน่าเสียดาย  ความตายประเภทนี้ จึงมีนัยความหมายถึงอุปสรรค ที่แทรกเข้าโดยมิได้มีใครตั้งตัว  


             ความตายในเรื่องหลายชีวิต สามารถนำมาใช้เป็นสื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองในด้านการอ่าน โดยเฉพาะผู้อ่านในช่วงวัยรุ่น  ตามธรรมดา คนในวัยนี้อยู่ในวิสัยกำดัดคะนอง สนใจแต่เรื่องเพื่อนฝูงและความรัก และสรรพสิ่งอันชวนสรวลเสเฮฮา หาได้ใส่ใจกับความเป็นไปหรือสัจธรรมแห่งชีวิตไม่ การสอนวรรณกรรมเรื่องหลายชีวิตในระดับมัธยมศึกษา จึงสมควรแก่เหตุ ที่จะนำมาซึ่งการถกเถียงกันในเรื่องธรรมชาติ สัจธรรม และกรรมของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี  แม้หลายเรื่องในวรรณกรรมเรื่องนี้ จะแสดงด้านมืดของมนุษย์ในด้านที่ลบอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงกระทำได้แม้แต่บุพการีของตน แต่ก็ยากจะปฏิเสธได้ว่า เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง และเป็นบทเรียนที่โหดร้าย ยากที่จะยอมรับ แต่ประโยชน์อันใด หากเราจะปกปิดด้านมืดของมนุษย์  แล้วฉายแต่ภาพด้านสว่างเรืองรอง  รังแต่จะทำให้เยาวชนหลงไหลและถือเอาว่า  ภาพเหล่านั้นคือความถูกต้องและเป็นจริงในสังคม  ผู้สอนวรรณกรรมควรตระหนักว่า หน้าที่ของตน มิได้การนำเสนอวรรณกรรมในฐานะของเครื่องมือสอนจริยธรรม แต่ควรเข้าใจว่า วรรณกรรม คือ ศิลปะในด้านอักษร ที่สร้างความสะเทือนอารมณ์และยกระดับจิตใจผู้อ่าน  ให้สูงขึ้นจากโลกวัตถุ ที่เห็นและเป็นอยู่  แล้วพลันบังเกิดเป็นความตื่นตาตื่นใจในโลกความคิดขึ้นมาแทน  ดังที่กล่าวมานี้  โลกวรรณกรรมย่อมเป็นโลกที่เสรี และเป็นโลกที่เกิดจากการปั้นแต่งของผู้อ่านเพียงเท่านั้น 


              ถ้าจะมีคนสักคน ลุกขึ้นมาบอกว่า คุณค่าของวรรณกรรม อยู่ที่สาระประโยชน์อันได้แก่ ความรู้ และสำนวนภาษาที่ไพเราะแล้ว  ก็เห็นจะต้องบอกว่า ผู้นั้นยังลุกขึ้นมาในวิถีที่ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะคุณค่าของวรรณกรรมเล่มใดเล่มหนึ่งนั้น ย่อมอยู่ที่ศิลปะในการใช้ภาษา และความสร้างสรรค์ที่ร้อยเรียงเหตุการณ์ต่าง ๆ  ภายใต้แก่นความคิดที่เฉียบคมต่างหาก  วรรณกรรมเรื่อง หลายชีวิต เป็นตัวอย่างของหนังสืออย่างที่ว่า  เพราะทำให้ผู้อ่านสามารถที่จะดื่มด่ำไปกับวิถีของแต่ละตัวละคร เข้าใจ ยอมรับ รังเกียจ สมน้ำหน้า  หรือสงสารตัวละครบางตัว ที่เป็นแต่เรื่องสมมติได้อย่างถึงใจ และบางครั้งก็อยากที่จะเข้าไปพูด บอกเล่า ตักเตือน หรือแก้ไขอะไรบางอย่าง ในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น  ดังนี้ ในหลายชีวิตที่ผู้เขียนได้สร้างสรรค์ขึ้น ย่อมมีชีวิตหนึ่ง นั่นก็คือ ชีวิตของผู้อ่านหรือตัวของนักเรียนเอง ที่เข้าไปเกี่ยวข้องและพัวพัน  จนที่สุดแล้ว  ก็ยากที่จะออกมาจากชีวิตของตัวละครชีวิตใดชีวิตหนึ่งได้

________________________________

           


หมายเลขบันทึก: 521934เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2013 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2013 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท