ไผ่ไทยเรานี้ปลูกดีๆ มันปฏิวัติโลกได้เลย ทั้งด้านพลังงาน ที่อยู่อาศัย อาหาร และยารักษาโรค


ไผ่กู้ชาติ

การปลูกไผ่เพื่อเอาเนื้อไม้นั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยม ส่วนใหญ่จะปลูกเอาหน่อไปขายซึ่งหากปลูกมากๆ ราคาก็ตก เพราะคนกินหน่อไผ่ในโลกนี้มีน้อยมาก ผมจึงได้เขียนบทความจำนวนมากให้คนไทยเราหันมาปลูกไผ่เพื่อเอาเนื้อไม้ ทั้งที่เอามาทำเฟอรนิเจอร์ และทำเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 

ไผ่ที่ผมแนะนำคือไผ่สีสุกยักษ์ ซึ่งผมเคยเห็นกะตาว่าต้นใหญ่สูง สวย และน่าจะเลี้ยงง่าย ทนแล้ง เพราะมันขึ้นได้ในอีสานเป็นอย่างดี ที่ผมเห็นคือที่อ.จักราช จ.นม. ที่บ้านครูสมศักดิ์ (ครูดีเด่นแห่งชาติ ผู้ล่วงลับ) แต่ผมหาข้อมูลทางเน็ตของไผ่นี้ไม่ได้เลย

เท่าที่ไปค้นดู พบไผ่อีกพันธุ์ที่น่ามีศักยภาพมากคือ ไผ่ซางหม่น ซึ่งน่าจะไผ่พื้นเมืองลำพูน (เช่น อำเภอป่าซาง) เพราะมีสมบัติสามประการคือ ๑. ต้นสูงใหญ่มาก (สูงได้ถึง ๓๐ เมตร ใหญ่ได้ถึง ๒๕ ซม. ) ๒. มีเนื้อไม้หนา ๓. ใบเล็ก เรื่องใบเล็กนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันจะทำให้เราปลูกถี่ได้มาก เพราะไม่บังแดด (ข้อมูลที่หาไม่เจอคือไม่รู้ว่ามันเลี้ยงยากง่ายอย่างไร แต่ไผ่สีสุกยักษ์นี้ผมเชื่อว่าเลี้ยงง่าย ไม่ต้องการน้ำมาก)

ไผ่ใหญ่สุดของไทยน่าจะคือ ไผ่หก ต้นสูงได้ถึง ๔๐ ม. ใหญ่ได้ ๓๐ ซม. แต่ว่ากันว่ามันชอบที่สูง เช่นทางน่าน แต่ผมเห็นไผ่หกที่เพชรบูรณ์ และ เชียงใหม่ มาแล้วด้วย ยังขอตัวอย่างเขามาเก็บไว้ด้วย น่าจะวิจัยกันต่อว่าเอามาปลูกที่สุพรรณบุรี อ่างทอง ได้ไหม จะได้เลิกปลูกข้าวกันเสียที แต่ที่แน่ๆ ปลูกริมเขาป่าต้นน้ำคงได้แน่ รากมันแผ่ยึดหน้าดิน อุ้มน้ำ ก็ได้ประโยชน์หลายต่อมากๆ เช่น ป้องน้ำท่วม ลดอภ.โลก และสางตัดเอามาทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ที่ผมค้นหาข้อมูลจนเจอคือ นักวิชาการ นักเกษตร ต่างบอกตรงกันว่าการปลูกไผ่ต้องปลูกเป็น “กอ” ไผ่ยิ่งใหญ่เช่น ไผ่ซางหม่น ยิ่งต้องทำกอให้ห่าง เพราะว่ามันเป็นไผ่ใหญ่ ท่านว่าให้ปลูกห่างกัน ๖ คูณ ๖ เมตร โน่น 

แต่ผมมันคนตะแบง ผมบอกว่าให้ปลูก ๑ คูณ ๑ ไปเลย ดังนั้นของผมจะได้ไร่ละ ๑๖๐๐ ต้น  

ที่เขาบอกให้ปลูกเป็นกอห่างๆ ผมว่าเป็นเพราะไปติดกับดักทางความคิดของการปลูกไผ่เพื่อกินหน่อ จึงต้องปลูกเป็นกอห่างๆ เพื่อจะได้เดินเข้าไปเก็บหน่อได้สะดวก แต่เราจะปลูกเอาเนื้อไม้ ไม่สนใจหน่อ แล้วทำไมต้องไปปลูกแบบนั้นด้วยเล่า ซึ่งมันทำให้เสียพื้นที่มากหลาย

เราปลูกต้นฤดูฝน ปลายฤดู ๔ เดือนก็แตกหน่อแล้ว ๕ หน่อ ปลายปีก็ได้ต้นไผ่ขนาดใหญ่ ๖ ต้นต่อหนึ่งตร.เมตร เพียงแต่ว่าจะตัดเอาไม้มาใช้ยังไม่ได้ เพราะเนื้อไม้มันยังไม่แข็ง แต่ของเราจะตัดเลย เพราะเราไม่ได้เอามาทำเฟอร์นิเจอร์ แต่จะเอามาทำเชื้อเพลิง เผาไหม้ เนื้อไม้ยิ่งอ่อนอาจจะยิ่งดีด้วยซ้ำไป เพราะในการเผาไหม้นั้นเราต้องบดละเอียดอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเสียแรงบดให้มากเกินจำเป็น

ลองคำนวณดูแล้วจะตกใจว่าจะได้เนื้อไม้สด เท่าใด ต่อไร ก็หลักเรขาคณิตธรรมดา ถ้าผมสมมติว่าไผ่ซางหม่นแต่ละต้นมีความสูง ๓๐ เมตร ใหญ่ ๒๐ ซม. หนา ๒ ซม. กอละ ๖ ต้น ไร่ละ ๑๖๐๐ กอ. จะได้เนื้อไม้สด ปีละ ๓๖๑๙ ลูกบาศก์เมตร ถ้าตีว่ามีน้ำ ๔๐ ปซ. ก็จะได้เนื้อไม้แห้งถึง ๒๑๗๐ ลบ.เมตร ซึ่งหนึ่งลบ.เมตร ก็หนักประมาณ ๑ ตัน ขายได้ตันละ ๑๐๐๐ บาท ก็จะเป็นเงิน ๒ ล้านกว่าบาทต่อไร่ปี  กำไรล้วนๆ ในขณะที่ทำนาอีสานได้กำไร ๓๐๐๐ บาทต่อไร่ปีเท่านั้นเอง (เลยต้องไปรับจ้างเดินขบวน) 

ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไม้หรือพลังงาน มันแซงหน้าหญ้าเนเปียร์ที่กำลังนิยมไปหลายร้อยเท่า เพราะหญ้าเนเปียร์ที่ว่าดีๆ ได้เพียง ๑๐๐ ตันสด หรือ ๒๐ ตันแห้งต่อไร่ปีเท่านั้นเอง เท่ากับว่าไผ่ซางหม่นให้ผลผลิตมากกว่าประมาณ ๑๑๐ เท่า

แต่ถ้าเราปล่อยไว้สามปีให้เนื้อไม้แข็ง แล้วเอามาทำเฟอร์นิเจอร์กิโลละพันบาท เราจะได้เงิน ๒ พันล้านบาทต่อสามปี หารสามก็ได้ประมาณปี ๗๐๐ ล้านบาทต่อปี (เฟอร์นิเจอร์กิโลละพันบาทไม่ใช่เรื่องเว่อ ทำได้สบายมากๆ เช่น กรอบรูปหนัก ๑ ขีดฝีมือดีๆ ขาย ๒๐๐ บาท ก็ปาเข้าไป กก.ละ ๒๐๐๐ แล้ว)

ก็สุดแล้วแต่ ถ้าขายหยาบๆ ก็น่าได้ ๒ ล้านต่อไร ถ้าละเอียดมากจะได้ถึง ๗๐๐ ล้านต่อไร่ 

ไผ่ไทยเรานี้ปลูกดีๆ มันปฏิวัติโลกได้เลย ทั้งด้านพลังงาน ที่อยู่อาศัย อาหาร และยารักษาโรค 

เสียแต่ว่ารัฐบาลไทยมัวแต่ไปคิดส่งเสริมธุรกิจต่างชาติ ผ่าน boi จนลืมคนไทย ผืนดินไทยด้วยกันเอง 

...คนถางทาง (๑๐ มีค. ๒๕๕๖)


หมายเลขบันทึก: 521932เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2013 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2013 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

น่าสนใจมากครับ แล้วถ้าค้นหาไม่เจอนี่แสดงว่ายังไม่มีใครศึกษาเป็นจริงเป็นจังเลย ในขณะที่ปัญหาใหญ่สุดของ "นักวิจัยไทย" คือหาหัวข้อวิจัยไม่ได้ (เพราะคนไทยโดยเฉพาะที่เรียนเก่งๆ ในระบบไม่ได้ถูกสอนให้คิดแบบ lateral thinking) พวกนี้น่าจะมี course บังคับให้อ่านบันทึกอาจารย์บ่อยๆ ครับ

แต่ศัพท์ที่อาจารย์ใช้บางทีก็ดุละครับ ถ้าใครอ่านเร็วๆ บางทีอาจเจอศัพท์ก็ทำให้ไม่ได้เจอเนื้อหาครับ

ผมยังสงสัยในเรื่องการตลาดครับ คือยังใหม่มาก ขายใด้จริงหรือครับ ใครซื้อครับ จะใด้โค่นยางทิ้ง เป็นเกษตรกรไทย วิ่งตามกระแส สมน้ำหน้าตัวเอง จนต่อไป

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์


เอาภาพไผ่จากป่ามาฝาก ..ร่วมกู้ชาติด้วยค่ะ :-)) เป็นไผ่จากปักษ์ใต้ .ไม่แ่น่ใจว่าทนแล้งหรือไม่..พบขึ้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำ อ. พะโต๊ะ จ. ชุมพร ..ป่าต้นน้ำที่ถูกรุกราน ปลูกยางฯ/สวนผลไม้เป็นหย่อมๆ  .เห็นแล้วห่อเหี่ยว อนาจใจกับคนทำร้ายป่า :-((

แต่ไผ่ที่ขึ้นตามธรรมชาติเห็นแล้วประทับใจ :-)) หยุดแหงนมองหรือก้มลงมองเป็นระยะๆ ข้อปล้อง ลำสูงใหญ่ ขณะที่เดินขึ้นไปดูป่า วกวนไปมา ตามทางที่ชันๆๆๆขึ้นไปเรื่อยๆ...

ที่บ้านทำการเกษตร ไผ่มีให้ใช้เพราะรักษาไว้ตามธรรมชาติ ไม่เคยปลูก แต่เดี่ยวนี้ต้องดูแลและปลูกเพิ่มเพื่อเป็นไม้ใช้สอยในสวน และรักษาตลิ่งริมห้วย แต่ยังไ่ม่ได้คิดถึงการปลูกเพื่อประโยชน์อื่นๆ  อย่างกรณีที่ท่านอาจารย์นำเสนอไว้ ...ขอบคุณที่จุดประกายไว้ให้คิดค่ะ


ปัญหาคือ ถ้าปลูกไผ่ไปแล้ว โรงงานผลิตพลังงานชีวภาพจะรับซื้อรึเปล่า ถ้ารับไม่อั้นก็รณรงค์ให้ปลูกกันได้เลย

ผมต้องการมากครับจะทำอัดเม็ดเป็นเชื้อเพลิงครับปีละไม่ต่ำกว่าล้านตันครับแต่ไม่มีวัตถดิบ(ผมมียอดสั่งซื้อปีละ4ล้านตันครับ)


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท