กับดักเพศสัมพันธ์กับการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา


พีรพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาชวิทยาลัย

๑.บทนำ

ภายใต้สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันที่ชื่อว่า เป็นยุคการสื่อสาร การติดต่อของคนเป็นไปอย่างรวดเร็วผ่านสื่อหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่เรียกว่า ระบบออนไลน์  ทำให้ความสัมพันธ์ทางเพศ ผ่านระบบการสื่อสารของผู้คนเปลี่ยนรูปแบบไปจากแต่เดิม  คือ มีความรวดเร็ว สามารถตอบโต้ไปมาได้ทันที เป็นได้ทั้งในรูปแบบข้อความ แบบเสียงและแบบภาพ  ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ผลกระทบต่อการประพฤติพรหมจรรย์[๑]”  ซึ่งหมายถึงการครองชีวิตอันประเสริฐ ตามหลักของชาวพุทธ โดยเฉพาะในด้านเพศสัมพันธ์ ที่หมายถึงหลักพรหมจรรย์ในข้อเมถุนวิรัติ  สทารสันโดษ(ความพอใจเฉพาะภรรยาหรือคู่ครองของตน) รวมทั้งผลต่อการประกาศหรือเผยแผ่พระศาสนา

หมายถึงว่า ประเด็นเพศสัมพันธ์หรือการวางความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อให้มีผลดีต่อการ ประพฤติพรหมจรรย์ เกิดปมที่ทำให้ต้องพินิจพิจารณาได้มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนจากระบบแห่ง พัฒนาการทางด้านเทคโนโลนีการสื่อสารที่เปลี่ยนไป  ทั้งหมายถึงการประพฤติพรหมจรรย์ของทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายบรรพชิต (นักบวชหมายถึง ภิกษุ)กับฝ่ายคฤหัสถ์(ผู้ครองเรือน)มีเรื่องให้ต้องพิจารณาได้มากขึ้นในเชิง วินัยหรือเชิงศีล และในเชิงธรรม[๒] ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “กับดักที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางเพศ” ที่ทำให้การประพฤติพรหมจรรย์ต้องมัวหมองลงไป  และเป็นสิ่งที่ทั้งภิกษุและผู้ครองเรือนชาวพุทธที่หวังถึงการประพฤติ พรหมจรรย์[๓]พึงสังวร

กล่าวสำหรับภิกษุ  การจะแคล้วคลาดจากกับดักที่เกิดจากเพศสัมพันธ์[๔]นั้น (๑)อาศัยพระวินัยเป็นหลักภายนอกในการคอยควบคุมกำกับ เช่น การไม่เสพเมถุนธรรม(sexual intercourse) เพราะไม่ต้องการต้องการละเมิดสิกขาบทปาราชิก[๕] การไม่สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง(masturbation) เพราะไม่ต้องการละมิดสิกขาบทสังฆาทิเสส[๖] เป็นต้น และ (๒) อาศัยธรรม เป็นหลักภายใน ในการคอยควบคุมกำกับจิตให้ตั้งมั่นต่อเป้าหมายทางธรรม  เช่น การคำนึง หรือพิจารณาหลักเมถุนสังโยค ๗ ข้อ[๗]อย่างเข้าใจ เพราะไม่ต้องการให้ใจเตลิด หรือข้องแวะต่อกามารมณ์ทั้งปวงทั้งในชั้นหยาบและชั้นละเอียด เป็นต้น

๒. กับดักที่เกิดจากทุนบริโภค(เศรษฐกิจ)

การหยิบยกเอาหลักทางสายกลางหรือหลักมัชฌิมาปฏิปทามากล่าวอ้างในยุคที่การ แข่งขันด้านเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรุนแรง  เพื่อบรรเทาอาการของความสุดโต่งในเรื่องบริโภคนิยม ขณะเดียวกันหลักพุทธธรรมยังถูกหยิบยกนำมาใช้ เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในยุคทุนนิยมจัดจ้านอีกด้วย  เช่น หลักเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดทรรศนะใหม่ฝ่ายบวก ต่อเนื้อหาในพุทธธรรมที่ดึงมาใช้  ในส่วนทรรศนะใหม่ฝ่ายลบจากเหตุแห่งกระแสเศรษฐกิจก็มีเช่นเดียวกัน เช่น มองว่าหลักพุทธธรรมบางข้อ อย่างเช่น หลักธรรมในข้อ สันโดษ  ซึ่งมักถูกกล่าวหาเสมอว่า ไม่เกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน เพราะสอนให้คน ถือสันโดษ  ไม่ยุ่งกับสังคมส่วนรวม เอาตัวเองไว้ก่อน ทำให้เศรษฐกิจ  หรือทุนไม่ไหลเวียน ไม่เกิดสภาพคล่องในการใช้จ่ายต่างๆ ว่าไปแล้วนับเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดจากการไม่ศึกษาหลักธรรมหัวข้อสันโดษให้กระจ่างแจ้ง ที่ว่า  ความสันโดษ ก็คือ บริโภคสิ่งของที่เราต้องกินต้องใช้ อันเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับมนุษย์ เช่น ปัจจัย ๔ มีเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  ซึ่งเรื่องสันโดษนี้ท่านได้จัดไว้ ๓ ลักษณะ  คือ[๘]

  ๑.ยินดีตามที่มีอยู่  เรียกว่า สะกัง ตุฏฐี คือ มีอย่างไรยินดีอย่างนั้น

  ๒. ยินดีตามที่ได้ เรียกว่า  สันตัง  ตุฏฐี คือ ได้เท่าใดยินดีเท่านั้น

  ๓. ยินดีตามที่ควร เรียกว่า  สมัง ตุฏฐี คือ สิ่งที่สมควรหรือเหมาะสมกับตน ให้ยินดีเท่าที่ควร แม้แต่ได้มาแล้ว ถ้าเห็นว่าไม่สมควร ก็ไม่ยินดี

หลักสันโดษ จึงไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรเลยหลักทุนนิยม  หรือหลักการดำเนินชีวิตท่ามกลางกระแสทุน เพียงแต่สอนให้รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นตามสภาพเพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อน ให้กับตัวเอง ครอบครัว และสังคม  รวมทั้งหมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม[๙] เช่น สิ่งของที่ได้มานั้น วิธีการได้มา ต้องถูกต้อง  ไม่ลักขโมยมา เป็นต้น

ในพระพุทธศาสนามีสทารสันโดษ  จัดเป็นการประพฤติพรหมจรรย์อย่างหนึ่ง( ๑ใน ๑๐ ข้อ)  หมายถึง ความพอใจด้วยภรรยาของตนหรือความยินดีเฉพาะภรรยาของตน ตรงกับข้อ ๓ ในเบญจธรรม[๑๐] ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติตามหลักการของเบญจศีลข้อ ๓ คือ การไม่ล่วงกาเมสุมิจฉาจาร มีผลทำให้ไม่สิ้นเปลืองทุนหรือเงินในการแสวงหาความสุขทางเพศ แทนการมีคู่นอน หรือภรรยาหลายคนในเวลาเดียวกัน[๑๑], สามีภรรยาอยู่ด้วยกันถ้าอยู่ด้วยความสันโดษแล้วไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่อยู่ด้วยความสุข เพราะต่างคนต่างพอใจ สามีก็พอใจในภรรยา ภรรยาก็พอใจในสามี ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีปัญหาครอบครัว เพราะเหตุรู้จักใช้สันโดษ[๑๒]

การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับครอบครัว และระดับชาติ ต้องอาศัยความรู้เรื่องการจัดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ควบคู่กันไปกับจิตสำนึกในเรื่องความเป็นธรรม ความสมดุล ความพอดี หากเลยไปจากธรรมข้อสันโดษอย่างเดียว โดยใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาตร์ล้วนๆเพียงด้านเดียว ไม่อาจจะแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนและเป็นจริงในโลกสมัยใหม่[๑๓]

๓.กับดักจากสิ่งล่อใจและค่านิยมทางเพศ

ดังที่เฮอร์เนส เฮมิงเวย์ว่าไว้ “การมีโอกาสจูบแม่สาวสวยหรือเปิดจุกเหล้า จะรีรออยู่ไม่ได้ เพราะของสองสิ่งนี้เป็นเรื่องที่จะต้องลองกันโดยเร็วที่สุด”[๑๔]  นับเป็นวลีกับดักทางเพศสัมพันธ์ที่เห็นได้ชัดที่สุด สำหรับสังคมบริโภคที่ถูกถ่ายทอดมาจากค่านิยมและวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะการพยายามในการกระต้นกามราคะเพื่อสนองต่อการทำกำไรในตลาดเงิน ตลาดทุน ภายใต้เศรษฐกิจระบอบทุนนิยมเสรี

๓.๑ ปัญหาจากสิ่งล่อใจทางเพศ

ผู้เขียนขอแบ่งสิ่งล่อใจซึ่งเป็นกับดักที่เกิดจากความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ ออกเป็น ๒ ฝ่าย ดังต่อไปนี้

๓.๑.๑ สิ่งล่อใจในฝ่ายบรรพชิต

  ในปัจจุบันมีให้เห็นอย่างดาษดื่นสำหรับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ทำตัวเข้า กับกระแสสังคมบริโภค โดยเดินเข้าสู่เส้นทางแห่งโลกียสุข ภายใต้พระเจ้าแห่งเงินตรา หรือระบบทุนนิยม โดยเฉพาะพระเถระที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางการบริหารปกครองซึ่งมีอำนาจเงินใน กำมือ จึงสามารถ ซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามความต้องการ การเสพสุขลุ่มหลงในโลกียรสที่ยิ่งขึ้นก็จะตามมาอย่างไม่มีสิ้นสุด[๑๕]

  พระเถระที่มีสมณศักดิ์ หรือเจ้าอาวาสบางวัดที่มั่งคั่งมีรถเบนซ์ ประจำตำแหน่งราคาหลายล้าน หรือการตกแต่งกุฏิด้วยวัสดุราคาแพง เก้าอี้รับแขกฝังมุก เครื่องเสียงอย่างดี  โทรทัศน์จอยักษ์ราคาเป็นแสน หรือบางรูปนิยมสะสมวัตถุโบราณราคาแพง ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ทั้งสิ้น อีกทั้งการรับหน้าที่เป็นพระในระดับผู้บริหาร หรือพระในตำแหน่งสังฆาธิการ ก็แทบจะไม่มีเวลาในการเจริญเนกขัมมปฏิปทา หรืออบรมสั่งสอนสัทธิวิหาริกตลอดจนอันเตวาสิกให้อยู่ในกรอบพระธรรมวินัย เพราะต้องง่วนอยู่กับงานเอกสาร งานประชุม และการลงพื้นที่[๑๖] จึงเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมของพระสัทธรรมในที่สุด

แบบจำลองระบบการอยู่ร่วมกันของคณะสงฆ์ เป็นฐานด้านจริยธรรมของชาวพุทธ ซึ่งก็คือศีล  ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ชุมชนสงฆ์อยู่กันได้อย่างมีระเบียบเท่านั้น แต่หลักเดียวกันยังหมายถึงวิธีการปกครองคณะสงฆ์ ด้วยหนทางของการรับฟังเสียงส่วนใหญ่(democratic way) หากไม่มีข้อวัตรปฏิบัติเกี่ยวแก่วินัย(morality of Sangha) แห่งสงฆ์เสียแล้ว ก็จะทำให้เกิดความประพฤติที่ไม่เหมาะสม จนนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธา อีกทั้งวินัยที่ทรงวางไว้ ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะสงฆ์ แต่ยังเป็นประโยชน์กับคนทั่วไปด้วย สามารถนำไปใช้ทั้งปัจเจกและส่วนรวมและทุกชั้นวรรณะอย่างเท่าเทียมกัน[๑๗]

Robert David Larson หรืออดีตพระสันติกโร(Santikaro Bhikkhu) [๑๘] มองว่า

“เคยสังเกตพระในวัด บางทีก็ไม่ค่อยเข้าถึงกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งกับพระเอง และกับประชาชนด้วย ผมวินิจฉัยว่า ระยะหลังเมื่อพระต้องถือพรหมจรรย์ แล้วทางสังคมเอง และสังคมพระเองรู้สึกเป็นเรื่องยาก สังคมก็เลยสร้างรูปแบบขึ้นมา ผู้ชายจำนวนมากที่เข้ามาบวชที่จริงไม่ได้เลือกที่จะมีชีวิตพรหมจรรย์ ผมเองตอน มาบวช ไม่ได้มาบวชเพื่อเลิกทางเพศ แต่เป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติธรรม ผมบวชเพื่อศึกษา เพื่อปฏิบัติ แต่มีกฎเกณฑ์ในพระวินัยว่า ต้องอย่างนี้ๆ หลายปีผมก็รับไปปฏิบัติ แต่ตอนหลัง ถูกผิดก็ไม่รู้ ผมมองว่า เมื่อพระจำนวนมากเห็นว่าเรื่องนี้ยาก แล้วโยมก็เป็นห่วงด้วยกลัวว่าพระจะสึกเขาก็เลยสร้างอะไรเพื่อกันพระกับ ฆราวาส แม้แต่ระหว่างพระเอง เรื่องความรู้สึกก็มักจะเกิดขึ้น ความรู้สึกนั้น ไม่ต้องเป็นเรื่องเพศ แต่พระผู้ใหญ่กลัว ก็เลยพยายามทำทุกอย่างที่อาจจะสร้างความลำบากต่อพรหมจรรย์ ก็กันไว้ ผมสันนิษฐานว่า เพราะไปให้ความสำคัญกับพรหมจรรย์เกินไป แล้วคนมาบวชส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจจะถือพรหมจรรย์ด้วย ผมมั่นใจว่า พระ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าแต่งงานได้ก็เอา”[๑๙]

๓.๑.๒  สิ่งล่อใจในฝ่ายฆราวาส

กับดักทางด้านเพศสัมพันธ์ในฝ่ายฆราวาส มีมากมาย เฉพาะอย่างยิ่งกับดักทุนนิยมที่โยงไปถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและเพศหญิง ที่ถูกวางดักไว้ทั่วไปทั้งในบ้านและนอกบ้าน ไล่ตั้งแต่ (๑)ระบบความสัมพันธ์ภายใน ที่หมายถึง กระบวนการทางจิต ที่เกิดขึ้นโดยระบบอายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๖ คู่ คือ  ตา(คู่กับรูป) หู(คู่กับเสียง) จมูก(คู่กับกลิ่น) ลิ้น(คู่กับรส) กาย(คู่กับโผฏฐัพพะ) และใจ(คู่กับธรรมารมณ์)[๒๐] จนเป็นสาเหตุให้เกิดปฏิกิริยาทางเพศนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ในระดับใดระดับ หนึ่ง เช่น เมื่อชายหนุ่มเห็นหญิงสาวแล้วเกิดความพึงพอใจ เป็นต้น  และ (๒)ระบบความสัมพันธ์ภายนอก ที่ หมายถึง กระบวนเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการภายใน ในกรณีของชายหนุ่มเห็นหญิงสาว หลังจากระบบอายตนะคู่ คือ ตากับรูปทำงานร่วมกัน จนเกิดปฏิกิริยาทางเพศ คือ ความกำหนัด[๒๑]  พึงพอใจในรูปหญิงสาว นำไปสู่การนำตัวเองไปสู่การมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย เช่น การเข้าไปพูดจาหรือการแสดงออกด้วยท่าทีต่างๆ กระบวนการภายนอกสามารถเกิดขึ้นพร้อมๆกันในเวลาเดียวกัน เช่น ผู้ชายอาจมีกำหนัดหรือมีอารมณ์ทางเพศ อวัยวะเพศตื่นตัวร่วมด้วยขณะกำลังคุยอยู่กับหญิงสาวก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อยก็ตาม 

ส .ศิวรักษ์ มองว่า

 “ในรอบสามสี่ทศวรรษมานี้ ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนากันมากขึ้น ที่มาประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกก็มีเพิ่มขึ้น แม้นักธุรกิจ นักการเมืองชั้นนำ รวมถึงกวีและนักเขียนที่มีชื่อเสียง ตลอดจนดาภาพยนตร์ หลายคนมีปัญหาเรื่องรักร่วมเพศ บางคนูดกล่าวหาว่าสำส่อนทางเพศ แต่ก็ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เช่น Allen Ginsburg ซึ่งเป็นกวีที่มีชื่อเสียงอย่างมากในสหรัฐฯ และเพิ่งตายจากไปเมื่อเร็วๆนี้เอง เขาเขียนอย่างเปิดเผยว่าเขาไม่อาจห้ามความรักร่วมเพศกับเพื่อนผู้ชายได้ แม้เขาจะซื่อสัตย์กับผู้ชายเพียงคนเดียว แต่เขาก็สำส่อนกับอีกหลายคน ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป เขานิมนต์พระลามะที่ธิเบตที่เขานับถือเพื่อสารภาพบาปถึงการทุศีลข้อที่ ๓ พระคุณเจ้าให้อนุศาสน์ว่าอย่าไปคำนึงถึงอกุศล ขอให้ตึกตรองในทางกุศลสมาจารที่เขาได้บำเพ็ญมา โดยเฉพาะก็ทานบารมี โดยเฉพาะเขาเจริญเมตตากรุณามาเป็นอย่างยิ่ง นี่แลจะนำเขาไปสู่สุขคติ ส่วนอกุศลก็คงมีวิบากตามไปในสัมปรายภาพด้วยเหมือนกัน แต่ชั่งดูแล้วกุศลผลบุญมีน้ำหนักมากกว่า ถ้าเขาครุ่นคิคเรื่องนี้แล้วนำมาภาวนาตอนก่อนตาย จะช่วยเขาในอันตรภพให้ได้กลับมาเกิดใหม่ในสภาพที่ดียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน” [๒๒]

๓.๒ ปัญหาจากค่านิยมทางเพศ

ค่านิยมทางเพศหลายอย่างเกิดขึ้นจากเพศสภาพ เช่น เพศสตรีซึ่งนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศต้องกล้าวิจารณ์วัฒนธรรม เพศในสังคมของตัวเองเพื่อมองให้ทะลุปรุโปร่งว่าการหล่อหลอมเรื่องเพศของ พลเมืองในสังคมไทยผ่านระบบการศึกษาแบบทางการที่พร่ำสอนแต่วัฒนธรรมเพศ วิถี-เพศภาวะ กระแสหลัก ทำให้คนแต่ละรุ่นตกอยู่ให้อิทธิพลของเพศวิถี-เพศภาวะแนวจารีตอย่างแน่นหนา จนทำให้เรามีชีวิตเพศที่เปราะบางกันแบบทุกวันนี้ อำนาจของจารีต(เช่น ในเรื่องศาสนาหรือความเชื่อต่างๆ –ผู้เขียน) ในเรื่องเพศวิถี ในกดทับ ควบคุม และสร้างความอ่อนแอ “ด้านใน”ให้กับเรา ทำให้หาทางออกจากปัญหาชีวิตของตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศอื่นก็ตาม[๒๓]

ในปัจจุบัน บรรดาโครงสร้างหรืออำนาจ จากภายนอกที่เรากลืนกินเข้ามาไว้ในตัวเรา พบเสมอว่าโครงสร้างเรื่องเพศวิถีและเพศภาวะมีอำนาจเหนือเรามากที่สุด โครงสร้างเพศวิถีหมายถึง วัฒนธรรมเพศกระแสหลัก ที่กำลังทำหน้าที่ตีกรอบเรื่องเพศของเราให้เหมือนกันทั้งประเทศ และต้องสอดคล้องกันอย่างดีกับชุดความรู้เรื่องอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น ไม่ควรคุยเรื่องเซ็กส์ เพราะเซ็กส์เป็นสิ่งสกปรก ต่ำ ลามก ผู้ชายเป็นผู้กำหนดเรื่องเซ็กส์ มีเซ็กส์กับคนเพศเดียวกันผิดปกติ ชายแต่งตัวหญิงหรือหญิงอยากเป็นชายก็ผิดปกติวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันก็ผิด หรือผัวทุบตีเมียแค่ลิ้นกับฟันกระทบกัน หญิงท้องก่อนแต่ง คือ หญิงใจแตก หญิงที่ข้องแวะกับการขายบริการเป็นหญิงคนชั่ว หญิงทำแท้งคือ แม่ใจยักษ์  เป็นต้น[๒๔]  

๓.๓ ปัญหาการทำแท้ง

สิ่งที่น่าสนใจในเมืองไทย คือบทบาทของพระสงฆ์ ซึ่งยากอย่างยิ่งที่จะให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำใดๆเกี่ยวกับเรื่องการทำ แท้ง พระสงฆ์ไทยไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับคลินิกทำแท้ง แสดงปฏิกิริยาประท้วง หรือให้คำแนะนำใดๆกับผู้หญิงที่กำลังจะทำแท้ง เหมือนดังการกระทำของพระสงฆ์(ในคริสตศาสนา) และนักกิจกรรมชาวตะวันตกที่นิยมกระทำกัน นี่ไม่ใช่เพราะเหตุ “ไม่ใช่เรื่องของพระสงฆ์ไทย” ฝ่ายสงฆ์ของไทยของไทยยังเห็นด้วยซ้ำว่าการทำแท้ง เป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวด้วยเนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องทางโลกหรือโลกียวิสัย(Secular) ไมใช่หนทางที่จะไปเกี่ยวข้องด้วย หากควรปล่อยให้เป็นเรื่องของจิตสำนึกละอายต่อบาปของปัจเจกผู้นั้นไป

นอกเหนือไปจากอาการชาเย็นของพระสงฆ์ไทยที่อ้างการคำนึงถึงเรื่อง มารยาท(ของสงฆ์)ในการเข้าไปเกี่ยวข้อง และการวางสถานะไว้สูงกว่าที่จะไปยุ่งเกี่ยว  ขณะที่ในส่วนคนพุทธ โดยเฉพาะฝ่ายผู้หญิงชาวพุทธที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำแท้งเองก็มีความรู้สึก ไม่สะดวกในการปรึกษาเรื่องนี้กับพระสงฆ์อย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่มักพอใจที่จะปรึกษาปัญหากับแพทย์หรือผู้รู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์เองก็เช่นเดียวกันที่รู้สึกว่า คำถามเกี่ยวกับการทำแท้งไม่เหมาะสมสำหรับบุคคลที่สละแล้วซึ่งทางโลกีย์ อยู่ในชีวิตด้านจิตวิญญาณ ,ในเมืองไทย ความคิดเหล่านี้กำลังเปลี่ยนอย่างช้าๆ[๒๕] 

เมืองพุทธ อย่างศรีลังกาและประเทศไทย การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยมีข้อยกเว้นกรณีการช่วยเหลือชีวิตของแม่ที่มีอันตรายจากการตั้งครรภ์หรือ ในกรณีที่ผู้หญิงถูกข่มขืน ซึ่งกฎหมายไทยมีบทลงโทษที่เข้มงวด  ผู้หญิงที่ทำแท้งหรือถูกนำไปทำแท้งโดยผู้อื่น อาจต้องโทษจำคุก ๓ ปี และปรับ ๓,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษสำหรับผู้ที่รับทำแท้งกฎหมายไทย กฎกำหนด จำคุก ๕ปี ปรับ ๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและหากผู้หญิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตขณะทำแท้ง บทลงโทษจะเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขอย่างเป็นทางการการทำแท้งของคนไทยตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๖๐ ที่มีเพียงแค่ประมาณ ๕ รายต่อปี อาจเพิ่มขึ้นมากถึง ๓๐๐,๐๐๐ รายต่อปี โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการทำแท้งเถื่อนในคลินิกเถื่อน ยิ่งเขตชนบทของไทยด้วยแล้วที่ยังไม่ทราบมีอีกมาก ตัวเลขนัยสำคัญของเรื่องนี้ ได้แก่ การทำแท้งของหญิงไทย เกิดขึ้น ๓๗ คนต่อหญิงมีครรภ์จำนวน ๑,๐๐๐ คน เปรียบเทียบกับสถิติของประเทศอื่น อย่างเช่น แคนาดาอยู่ที่ ๑๑.๑ สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ ๒๔.๒ อังการีอยู่ที่ ๓๕.๓ ญี่ปุ่นอยู่ที่ ๒๒.๖  สิงคโปร์อยู่ที่ ๔๔.๕ และในอดีตสหภาพโซเวียต(รัสเซีย) มีตัวเลขอย่างน่าประหลาดอย่างยิ่ง คือ อยู่ที่ ๑๘๑  ผลการศึกษาในปี ๑๙๘๗ การทำแท้งในเมืองไทยประมาณ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นเกิดกับหญิงที่แต่งงานแล้ว และเป็นแรงงานภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากมีการคุมกำเนิดที่ดีจะช่วยไม่ให้หญิงต้องหันไปทำแท้งได้มาก”[๒๖]

ความดกดื่นของการคุมกำเนิดและการทำแท้งจะเป็นมาตรวัดความถูกต้องในเรื่อง ความต้องการทางเพศของเรา ในระยะสั้น การคุมกำเนิดอาจเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อฟื้นฟูความสมดุลระหว่างปริมาณมนุษย์ และความสามารถของพื้นผิวโลกที่จะรองรับมนุษย์ไว้ภายหลังเมื่อเรามีวุฒิภาวะ ทางสังคมและวัฒนธรรมเพียงพอ เนกขัมมะและการประพฤติพรหมจรรย์ จะมาแทนที่ยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย ขณะที่การทำแท้งยังคงมีอยู่ แม้ไม่เป็นที่ปรารถนาก็ตาม แต่หากได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป นั่นแสดงว่ากามารมณ์ของเรานั้นยังไม่ฉลาดนักและส่อถึงการขาดความรับผิดชอบ ความรักอย่างพอเพียง ในสังคมที่ไม่มีอคติทางเพศนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอยู่โดยไม่มีสิ่งนี้ [๒๗]

  ๓.๔ ปัญหาโสเภณี

การล่วงละเมิดในเชิงศีลหรือวินัยบัญญัติทางด้านเพศ กาเมสุมิจฉาจาร ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเพศ  จนถึงที่สุด คือการร่วมเพศ ระหว่างชายหญิงในฐานะของการเป็นสามี ภรรยา  ซึ่งโยงใยสัมพันธ์ไปถึงพ่อแม่ ลูก ญาติ คนที่รักหวงแหน เป็นต้น เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงอาชีวะสุจริตอีกด้วย[๒๘] ดังเป็นปัญหาว่า อาชีพบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายนำไปสู่การร่วมเพศ อย่างเช่น อาชีพโสเภณี (prostitution)[๒๙]  และอาชีพแมงดา(pimp)[๓๐]นั้น เป็นสัมมาอาชีวะ หรือมิจฉาอาชีวะ  หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เข้าข่ายกาเมสุมิจฉาจารหรือไม่

เครื่องประกันอย่างหนึ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่า พระพุทธศาสนามองการเที่ยวหรือการมีเพศสัม พันธ์(ร่วมเพศ)กับหญิงโสเภณีในเชิงลบ เชิงอกุศล หรือเชิงการให้โทษกับผู้เที่ยว(มีเซ็กส์กับหญิงโสเภณี)  คือ หลักในเรื่องโทษของการเที่ยวกลางคืน ๖ ประการ[๓๑] ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสอดคล้องกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงโสเภณี

๑. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตน (เช่น สามารถทำให้เป็นโรคที่เรียกว่า กามโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ มีเรื่องทะเลาะกับพวกแมงดาหรือพวกนักเลงคุมซ่อง เป็นต้น  – ผู้เขียน)

๒. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา (เช่น สามารถนำโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์กับหญิงโสเภณี มาติดบุตรภรรยาได้  , ไม่มีเวลาดูแลเรื่องความปลอดภัยของบุตรภรรยา เป็นต้น –ผู้เขียน )

๓. ชื่อว่าไม่คุ้มครองไม่รักษาทรัพย์สมบัติ(การหมดทรัพย์ไปการเที่ยวหญิงโสเภณี–ผู้เขียน)

๔. เป็นที่สงสัยของคนอื่นด้วยเหตุต่างๆ(แม้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์หรือมีเซ็กส์กับ หญิงโสเภณีก็ตาม แต่การไปเที่ยวตามสถานโสเภณีนั้น ก็ถูกระแวงสงสัยได้ว่า ผู้ที่ไปนั้น ย่อมต้องมีเซ็กส์กับหญิงโสเภณี –ผู้เขียน)

๕.  มักถูกใส่ร้ายด้วยเรื่องไม่เป็นจริง (ข้อนี้โยงจากเหตุผลในข้อ ๔ การเที่ยวโสเภณี ซึ่งเป็นลักษณะการกระทำที่ให้ภาพเชิงลบต่อผู้เที่ยวอยู่แล้ว ผู้เที่ยวจึงย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะถูกใส่ร้ายด้วยเรื่องต่างๆที่เกี่ยว กับการเที่ยวโสเภณีและโยงไปถึงเรื่องอื่นในทางไม่ดีได้ ขณะที่ผู้คนทั่วไปมองภาพของผู้ที่ไปเที่ยวโสเภณีทำนองไม่ดีอยู่แล้ว –ผู้เขียน) 

๖.  ทำให้เกิดความลำบากมากหลายอย่าง( จากเหตุผลทั้ง ๕ ข้อข้างต้น รวมแล้วหมายถึง การเที่ยวโสเภณีทำให้ลำบากทั้งต่อตนเอง ลำบากต่อครอบครัว และลำบากต่อสังคม –ผู้เขียน)

ใน สิงคาลกสูตร ก็กล่าวพ้องกันว่า การเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น และเป็นนักเลงหญิง เป็นเหตุหนึ่งที่ทำลายให้บุรุษพินาศ[๓๒] ในครั้งพุทธกาลพระวิมลาเถรีผู้เคยเป็นหญิงคณิกาหรือเป็นโสเภณี(บางทีเรียก หญิงแพศยา)มาก่อน สะท้อนถึงพฤติกรรมแห่งอาชีพของตนในอดีตก่อนออกบวชจนบรรลุอรหันต์ว่า โสเภณีเป็นอาชีพสำหรับลวงชายโง่ ด้วยเครื่องแต่งกายและจริตมายาของหญิง  เช่น อวดอวัยวะส่วนที่ควรปกปิด ทั้งตัวโสเภณีเองยังหลงในความสวยของตัวเองก็มี[๓๓] จึงเป็นมิจฉาอาชีวะเช่นเดียวกัน สมัยพุทธกาลมีโสเภณีจำนวนมากที่เลิกอาชีพ“ขายของเก่า”(ร่างกาย) มาปฏิบัติธรรมเป็นภิกษุณี และเป็นอุบาสิกา มีโสเภณีจำนวนไม่น้อยที่บรรลุธรรมในขั้นเป็นพระอริยบุคคล คือ ตั้งแต่ระดับโสดาบันขึ้นไป  อย่างเช่น  พระวิมลาเถรี(อรหันต์) นางสิริมา(พระโสดาบัน) นางอัมพปาลี( พระอรหันต์)พระอัฑฒกาสีเถรี (พระอรหันต์) เป็นต้น พระพุทธองค์เองตรัสถึงโทษของการใช้ชีวิตสุดโต่งในรูปแบบกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยคไว้ใน คณิกาสูตร ซึ่งพระสูตรนี้ เกิดจากการทะเลาะวิวาทแย่งชิงหญิงโสเภณีของนักเลง ๒ พวก จนถึงขั้นเสียชีวิต[๓๔] พระพุทธเจ้าตรัสด้วยว่า  การเสพกามยังเป็นเครื่องขัดขวางพรหมจรรย์ คือการดำเนินชีวิตประเสริฐสุดของมนุษย์และเป็นเหตุให้กุศลมูล ๓ คือ โลภะ โมหะ โทสะ ครอบงำจิตใจของมนุษย์ ส่งผลให้มนุษย์ทำชั่วได้ง่ายขึ้น จึงถือว่าโสเภณีเป็นอาชีพที่น่าติเตียน[๓๕]  ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจโสเภณีที่อยู่ในกลุ่มหรือแวดวงเดียวกันด้วย

๔. กับดักที่เกิดปัญหาด้านการศึกษา(สิกขา)

  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงริเริ่ม ปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่  พระองค์ทรงมีความเข้าใจว่า การจัดการศึกษาให้ได้ผลดี  จะต้องจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อยไปพร้อมกันด้วย จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองใหม่โดยจับมือกับฝ่ายบ้านเมืองเพื่อเสาะพระ ผู้รู้ภาษามคธ ผู้สอบได้เป็นเปรียญสูงๆ เป็นพระราชาคณะเพื่อช่วยปกครองสังฆมณฑลโดยผูกอำนาจกรปกครองไว้กับระบบ สมณศักดิ์ที่พระองค์ทรงจัดทำเนียบขึ้นมาใหม่ ซึ่งในเวลาต่อมาพระสมณศักดิ์นี้กลับกลายเป็นเป้าหมายการศึกษาของพระภิกษุ สามเณรไปโดยปริยงาย แทนที่จะศึกษาเพื่อเข้าถึงนามธรรมอันลึกซึ้ง แต่กลับเรียนเพื่อไต่เต้าในทางสังคมสงฆ์ เพื่อสมณศักดิ์ หรือการเป็นพระสังฆาธิการ หาไม่ก็เตรียมสึกออกไปทำมาหากิน[๓๖]

  เมื่อมิติทางปรมัตถธรรมเริ่มเสื่อมสูญ ผนวกกับการศึกษาที่ขาดวิปัสสนาหรืออธิจิตสิกขา ย่อมทำให้โลกทรรศน์และวิถีชีวิตของพระภิกษุสามเณรฝักใฝ่ในวัตถุมากขึ้น ประดุจเดียวกับคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามโภคี ด้วยทัศนะคติที่ไม่สอดคล้องกับไตรสิกขา ไม่เป็นไปเพื่อการเรียน เพื่อรู้แจ้งเห็นจริง เน้นการเลื่อนสถานะทางสังคมมากกว่า จึงทำให้การศึกษาของสงฆ์ตกลงสู่วงจรความเสื่อมสูญอย่างรวดเร็ว[๓๗] มองในแง่นี้ประเด็นปัญหาของพระภิกษุ จึงยังไม่เลยออกไปเจตนารมณ์เบื้องลึก คือ การยึดถือตามเพศสภาพ  คือ ความเป็นบุรุษเพศอยู่

นอกจากนี้ ปัญหาด้านการศึกษาของสงฆ์ ก็เป็นสาเหตุของของความเสื่อมศรัทธาในตัวพระสงฆ์ และองค์กรสงฆ์ ตลอดถึงองค์กรอื่นๆในพระศาสนาด้วยเช่นกัน  เพราะพระธรรมวินัย คือ ตัวเนื้อของพระพุทธศาสนา และสิ่งที่ดำรงพระพุทธศาสนาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและสืบไปต่อไปใน อนาคต ซึ่งหมายถึง  “การศึกษาพระธรรมวินัย”  หากภิกษุเล่าเรียนกันมาผิด จนเกิดความฟั่นเฟือนในพระธรรมวินัย จะเป็นอันตรายที่ร้ายกาจยิ่งกว่าภัยใดๆ ยิ่งกว่าภัยใดๆแห่งพระพุทธศาสนา เพราะการศึกษาที่ผิดพลาด เป็นเหตุทำให้เกิดการตัดต่อดัดแปลง หรือกระทั่งการปลอมปนพระธรรมวินัย ซึ่งจะนำไปสู่ความสับสนไขว้เขวและหลงประเด็น ทำให้เกิดความสับสนระหว่างความคิดเห็นของบ

หมายเลขบันทึก: 521569เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2013 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผู้เขียนอนุญาตให้นำบทความของผู้เขียนที่ปรากฎในเว็บไซต์นี้ (http://www.gotoknow.org) ไปใช้ในงานวิจัย และงานเขียนประเภทอื่นได้ แต่ต้องระบุแหล่งที่มาหรืออ้างอิงกำกับด้วย

พีรพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท