หน่วยทางเศรษฐกิจในอนาคต


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ 

หากไม่สังเกตกันให้ดีๆแล้วผมคิดว่า เราคงไม่ทราบว่าสังคมไทยได้เดินมาถึงจุดไหนแล้ว ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นกฎธรรมดาทำหน้าที่ของมันไปเรื่อยๆ ตามกลไกธรรมชาติ  จากยุคที่สังคมไทยมีจุดเด่นหรือจุดเน้นที่สำคัญด้านเกษตรกรรม กลายเป็นยุคผสมระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม ในช่วงหนึ่งเราถูกเรียกด้วยซ้ำว่า เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่หรือ NICs (New Industrial Countries)

  ในสมัยนั้น ซึ่งก็แค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ,เราได้เห็นขบวนแรงงานที่ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตร ทั้งผ่านและไม่ผ่านโรงเรียนอาชีวศึกษา อพยพเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมกันอย่างขนานใหญ่ ตามนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลในสมัยโน้น

  ตอนหลังระบบอุตสาหกรรมของไทยได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้น พร้อมๆกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตตามยุคตามสมัย โดยเฉพาะต้นทุนด้านเทคโนโลยีและแรงงาน แค่เพียงไม่กี่ปี หลังจากการผงาดขึ้นของจีน จนกลายเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก ด้วยต้นทุน โดยเฉพาะค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศอื่นในโลก ทำให้จีนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของโลกในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจริง (Real Sector)

  ทำให้ความร้อนแรงของอุตสาหกรรมในเมืองไทย ต้องปรับดีกรีลดลง ขณะบริษัทอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งได้ย้ายฐานการผลิต หรือแยกส่วนการลงทุนไปยังจีน ด้วยเหตุของการเป็นประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นที่ผลิตเกี่ยวกับเครื่องจักรและยานยนต์  , ระบบภาษี(โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร)ที่ช่วยให้บริษัทอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเหล่านี้ไม่ย้ายฐานการผลิตไปยังจีนทั้งหมด

  ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร  โดยเฉพาะระบบการสื่อสารแบบออนไลน์ มีบทบาทมากขึ้น เราได้เห็นการผสมผสาน  ระหว่างอุตสาหกรรมกับเทคโนโลยีด้านสื่อสารที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หากการเติบโตขึ้นนี้ ,สัดส่วนระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิตจริง(Real Sector) ไม่ได้เป็นไปอย่างได้สัดส่วนกับการเติบโตของเทคโนโลยีด้าน(บริการ)การสื่อสาร , อุตสาหกรรมไทยที่ส่วนใหญ่คนไทยเป็นเจ้าของทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือถือหุ้นเกือบทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมถึงขนาดกลางนั้น ได้ถูกเบียดเสียด ทิ้งไว้ข้างหลัง ปล่อยให้เทคโนโลยีด้านสื่อสารวิ่งนำหน้าแซงไปไกล พร้อมๆการเปิดตัวธุรกิจด้านบริการข้อมูลและสื่อสารจำนวนมาก

    ขณะที่อุตสาหกรรมของคนไทย ยังคงทำงานในระบบเดิมๆแทบทั้งหมด ยกเว้นเพียงค่าแรงเท่านั้น ที่เพิ่มสูงขึ้น จากแรงกดดันค่าครองชีพและ “กลไกทางการเมือง” อันเป็นลักษณะเฉพาะของเมืองไทย

  เป็นสาเหตุที่ทำให้เชื่อกันว่า นี่เป็น “จุดเปลี่ยน”ครั้งสำคัญของเมืองไทย ที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดต่อบรรดาแรงงานไทย และผู้ประกอบการ SMEs  อีกครั้ง จากนี้ไม่นาน

  เป็นประเด็นที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร  ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไทยเรามีปัญหาในเรื่องการวางยุทธศาตร์เศรษฐกิจประเทศ  ที่ยังมีความลักลั่น ไม่กำหนดให้แน่ชัดว่า มีเป้าหมายอย่างไร ควรมุ่งเน้นไปทางด้านไหน เพราะที่แน่ๆ ไทยเราไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุน การผลิตกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกได้อีกต่อไป แต่ไทยก็ก้าวขาไม่ออกจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ไม่สามารถยกฐานะขึ้นเป็นประเทศผู้ให้บริการ ทั้งที่ถึงเวลาแล้ว

  ภาพจึงจะออกมาเป็นอย่างนี้นะครับ คือ  อุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลางจะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป เหลือแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวและมีระบบการจัดการที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ มีหุ้นส่วนที่เป็นต่างด้าวอยู่ด้วย ,การผ่องถ่ายเงินผลกำไรจากการประกอบกิจการออกไปยังประเทศแม่ จึงเป็นเรื่องปกติ , เป็นไปตามสำนวนที่ว่า “หิ้วกระเป๋าใบเดียวไปหาเงิน” นั่นเอง

  ถามว่า แล้วคนไทยส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์กี่มากน้อย  และคนไทยที่เป็นแรงงานทั้งหลาย จะไปอยู่จุดไหนหลังจากนี้ ?

  คิดแล้วทำให้นึกถึงนิทานอีสป เรื่องสามสหาย ครุฑ  ราชสีห์ และช้าง ครับ ,สัตว์ทั้งสามหารือกันมองเห็นภัยการคุกคามของมนุษย์ ครุทกับราชสีห์เห็นพ้องกันว่า อยู่ใกล้มนุษย์มากๆก็จะได้รับภัยอันตรายมากขึ้น เพราะมนุษย์เป็นพวกฉลาดและมีนิสัยพาลชอบรุกรานผู้อื่น แต่ช้างกล่าวคัดค้านเพื่อนทั้งสอง ด้วยเห็นว่า ตนเองตัวใหญ่จะไปกลัวอะไรกับมนุษย์ตัวเล็กๆ ถ้ามนุษย์มีปัญหามากนักก็จะเหยียบเสียให้แบน ผลสุดท้ายครุฑกับราชสีห์ ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของช้าง พากันหนีเข้าป่า ปล่อยให้ช้างเผชิญหน้ากับมนุษย์ตามลำพัง , ก็อย่างที่เห็น คือ ช้าง ตกเป็นทาสรับใช้ ให้มนุษย์ขี่คอจนถึงทุกวันนี้

เราอาจไม่ต้องหนีการเผชิญหน้า แบบเดียวกับครุฑหรือราชสีห์ด้วยการหนีเข้าป่า แต่เราสามารถวางแผนเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ โดยตัวอยู่ในเมืองได้ไม่มากก็น้อย โดยอาศัยการรู้เท่าทันสถานการณ์ความเป็นไปของเศรษฐกิจ

  เพราะหากนับรวมวงจรอุบาทว์ด้วยแล้ว ทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ผมเชื่อตามบัณฑูร ล่ำซำ(เคยให้สัมภาษณ์กับทีวีไทยรายหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้) ว่า โอกาสแห่งวิกฤตการณ์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 เป็นเรื่องสามารถเกิดขึ้นได้ โดยองค์ประกอบทั้งจากส่วนของภาคเอกชน ภาครัฐและสถานการณ์ความเป็นไปของเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ

หากเปรียบเทียบเส้นทางของเศรษฐกิจไทยกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างอเมริกา, ส่วนหนึ่งมีความคล้ายกัน ส่วนหนึ่งมีความแตกต่างกัน

ส่วนที่คล้ายกัน คือ สถานการณ์ที่จะเป็นไป คือ ระบบองค์กรธุรกิจจะเหลือแค่เพียง 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นหน่วย(องค์กร)ย่อย กับส่วนที่เป็นหน่วย(องค์กร)ใหญ่ ,ส่วนแรก ได้แก่ การทำงานโดยการเป็นลูกจ้างตัวเอง เป็นธุรกิจที่ทำด้วยตัวเองหรือจ้างแรงงานไม่กี่คน อาศัยความรู้ความสามารถส่วนตัวเป็นที่ตั้ง กับส่วนที่สอง ได้แก่ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีลูกจ้างจำนวนมาก อาศัยระบบการจัดการแบบมืออาชีพ ครบวงจร และสายป่านยาว

แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า  หากไม่มีมาตรการโดยรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องคุ้มครองแล้ว ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางอาจปลาสนาการไปไม่เร็วก็ช้า เหมือนในอเมริกา ที่ตอนนี้ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางล้มหายตายจากไปมากต่อมาก โอกาสในการลืมตาอ้าปาก แทบไม่มี ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้บังคับให้แรงงานต้องไปผูกติดอยู่กับบริษัทหรือองค์กรการผลิตและบริการขนาดใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจในภาพรวมมีปัญหา ก็ส่อแววว่าองค์กรเหล่านี้จะล้มเสียงดัง และรัฐต้องเข้าไปอุ้ม หากเอกชนรายอื่นไม่มีกำลังเทคโอเว่อร์ ,เพราะองค์กรแบบนี้ มีแรงงานอยู่ในมือจำนวนมาก เช่น วอลล์มาร์ท เป็นต้น

ผมกลับคิดว่า เมืองไทยมีส่วนของความแตกต่างจากอเมริกา คือ เรามีรากฐานด้านการเกษตรที่ดีพอ ที่จะทำให้ “คนที่รู้จักวางแผนและมีวิสัยทัศน์” สามารถดำรงชีพอยู่ได้ท่ามกลางความผันแปรของเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันไม่ได้ขึ้นกับการกำหนดโดยปัจจัยในประเทศเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับต่างประเทศด้วย

อย่างน้อยผมเห็นสัญญาณเชิงลบ 2 ประการ สำหรับเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้และระยะหลังจากนี้อีกไม่นาน  คือ , หนึ่ง การรวมเป็นตลาดเดียวของอาเซียนหรือ AEC กับ สอง นโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยซึ่งสวนทางกับกระแสการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของโลก

อย่างแรก การเกิดขึ้นของ AEC เป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศที่มีศักยภาพทางด้านการจัดการทางด้านการเงิน อย่างเช่น สิงคโปร์ ส่วนประเทศที่อาศัยรายได้จากการผลิตด้านอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม จะอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่มากยิ่งขึ้นท่ามกลางความผันผวนของต้นทุนและราคาสินค้า  ,ตัวอย่างการรวมเป็นตลาดเดียวของยุโรป(EU) ก็ไม่ได้บ่งว่าประสบความสำเร็จแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ ยังมีปัญหาเกิดอีกมากมาย

อย่างที่สอง นโยบายประชานิยมแบบหลับหูหลับตา ประเภท “เอาไว้ก่อนอย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง” สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจในระยะยาวและเกิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เดินสวนทางกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น การจำกัดการปริมาณรถยนต์ด้วยมาตรการทางด้านภาษี การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน และยานยนต์สีเขียว รวมถึงจักรยาน

ไม่เช่นนั้นเราอาจต้องเจอการเรียนรู้และค้นพบด้วยตนเอง เมื่อถนนมีไม่พอให้รถวิ่ง และเมื่อนั้นรถก็คงค่อยๆหายไปจากถนนเอง

 


คำสำคัญ (Tags): #สังคม#เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 521564เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2013 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท