ทะเบียนราษฎรไทยตามมาตรา 36 (ทร.14) เรียกว่า ทะเบียนบ้านคนไทยจริงหรือ?


ข้อสังเกตและบทความทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งเป็นคณะทำงานในทีมผู้ช่วยทางวิชาการ ภายใต้ “โครงการประชาคมวิจัยการจัดการประชากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อันมีต่อประเด็นที่นำเสนอในเวทีหารือเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไข การอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. ... จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกับผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับ ร่างกฎกระทรวงมาตรา 7 ทวิวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551


ประเด็น ทะเบียนราษฎรไทยตามมาตรา 36 (ทร.14) เรียกว่า ทะเบียนบ้านคนไทยจริงหรือ?

หลักกฎหมาย

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับ 2) พ.ศ. 2551 หมวด 5 ทะเบียนบ้าน

มาตรา 36ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

การจัดทำทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 38ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

    ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

   รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

                 

ตอบ

          ทะเบียนราษฎรคนอยู่ของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร( ฉบับ 2 )พ.ศ.2551 มี 3 ประเภท ดังนี้

1.ทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร(ทร. 14) ตามมาตรา 36 เป็นทะเบียนบ้านสำหรับผู้มีสิทธิอาศัยถาวรในราชอาณาจักรไทย ได้แก่ ผู้มีสัญชาติไทย และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

2.ทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว(ทร.13) ตามมาตรา 38 วรรค 1 เป็นทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลต่างด้าวผู้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในราชอาณาจักรไทย ได้แก่ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร

3.ทะเบียนประวัติ(ทร.38) สำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 38 วรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

            ตามที่มีความเข้าใจถึงสิทธิอาศัยถาวรและชั่วคราวในราชอาณาจักรไทย ว่าถ้าหากคนต่างด้าวมีสิทธิอาศัยถาวรนั้น จะอยู่ในทะเบียนบ้านคนไทยหรือทร. 14 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะประเทศไทยไม่ได้แบ่งประเภทของทะเบียนราษฎรออกเป็นทะเบียนบ้านคนไทยกับคนต่างด้าว แต่แบ่งเป็นทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราวและทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ตามลักษณะสิทธิอาศัยของบุคคล) ซึ่งหากว่าเป็นบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทย หรือบิดามารดานั้น มีสิทธิอาศัยถาวรในราขอาณาจักรไทย จะมีสิทธิเพิ่มชื่อเข้าทร.14 ซึ่งเรียกว่าทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร มิใช่ทะเบียนบ้านคนไทย

____________________________________________________

ประเด็นคำถามคือ ท.ร. 14 เป็นทะเบียนบ้านของคนไทย และ ท.ร. 13 เป็นทะเบียนบ้านของคนต่างด้าวใช่หรือไม่ ?

ตอบ

                ทร.14 ไม่ใช่ทะเบียนบ้านของคนไทย และทร.13 ไม่ใช่ทะเบียนบ้านของคนต่างด้าว

ประเทศไทยมีทะเบียนราษฎร 3 ประเภทคือ

1.ทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ทร. 14) ตามมาตรา 36

2.ทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ทร.13) ตามมาตรา 38 วรรค 1

3.ทะเบียนประวัติ (ทร.38) 

               ซึ่งการแบ่งทะเบียนบ้านของประเทศไทยนั้น แบ่งเป็นทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว และคนอยู่ถาวรเป็นการแบ่งตามลักษณะของสิทธิอาศัยของราษฎรทะเบียนราษฎรของประเทศไทย ไม่ได้มีการแบ่งทะเบียนบ้านโดยใช้สัญชาติเป็นตัวกำหนดแต่อย่างใด 

               ดังนั้น ทร.14 ไม่ใช่ทะเบียนบ้านคนไทย แต่เป็นทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย เป็นทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิอาศัยถาวรในราชอาณาจักรไทย ผู้ทรงสิทธิคือ บุคคลผู้มีสัญชาติไทย และคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย จะเห็นได้ว่าผู้ทรงสิทธิใน ทร. 14 นั้น ไม่เฉพาะคนไทยแต่เพียงอย่างเดียว

              และ ทร.13 ไม่ใช่ทะเบียนบ้านคนต่างด้าวทุกคน แต่ผู้ทรงสิทธิคือคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น แม้จะเป็นคนต่างด้าวเหมือนกัน คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวจะเป็นผู้ทรงสิทธิในการเพิ่มชื่อเข้า ทร.13 แต่หากคนต่างด้าวนั้นมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ก็ไม่ได้มีรายชื่อในทร.13 แต่จะต้องมีเพิ่มรายชื่อใน ทร.14 เป็นต้น ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นการใช้สิทธิอาศัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภททะเบียน



                                                                                                         นางสาวปรางค์สิรินทร์ เอนกสุวรรณกุล

                                                                                                        (แก้ไขวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 9.53)


หมายเลขบันทึก: 521076เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบว่า ทร.14 เป็นทะเบียนบ้านที่ต้องมีตัวบ้านใช่ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท