พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

การกำหนดสิทธิเข้าเมือง และสิทธิอาศัยของคนในประเทศไทยเป็นไปตามกฎหมายใด กับ การปรับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522


ข้อสังเกตและบทความทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งเป็นคณะทำงานในทีมผู้ช่วยทางวิชาการ ภายใต้ “โครงการประชาคมวิจัยการจัดการประชากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อันมีต่อประเด็นที่นำเสนอในเวทีหารือเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. ... จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกับผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับ ร่างกฎกระทรวงมาตรา 7 ทวิวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

การกำหนดสิทธิเข้าเมือง และสิทธิอาศัยของคนในประเทศไทยเป็นไปตามกฎหมายใด กับ การปรับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

             ก่อนอื่นต้องพิจารณาให้ได้เสียก่อนว่า “ผู้ทรงสิทธิ” ที่เรากล่าวถึงนั้นคือใคร เพราะหากกำลังกล่าวถึง “ผู้ทรงสิทธิเข้าเมือง และผู้ทรงสิทธิอาศัย” ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยนั้น สิทธิทั้งสองประการดังกล่าว ย่อมถูกรับรองไว้ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 34[1]ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของคนชาติ

             แต่ในกรณีของคนต่างด้าว สิทธิทั้งสองประการ จะถูกกล่าวถึงตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หรือกฎหมายไทยว่าด้วยการเข้าเมือง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ในการกำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิของคนต่างด้าวใน 2 เรื่อง กล่าวคือ สิทธิเข้าเมือง และสิทธิอาศัย

สิทธิเข้าเมืองของคนต่างด้าว จะเป็นไปตามมาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 17

สิทธิอาศัยของคนต่างด้าว มีด้วยกัน 2 ประเภท กล่าวคือ

1)สิทธิอาศัยชั่วคราวในกรณีทั่วไป เป็นไปตามมาตรา 34 มาตรา 35 และสิทธิอาศัยชั่วคราวในกรณีมีสถานการณ์พิเศษ เป็นไปตาม มาตรา 17

2)สิทธิอาศัยถาวร กรณีทั่วไป เป็นไปตามมาตรา 40,41,42,43 และ 51 ตามหมวดห้าซึ่งว่าด้วยเรื่องการขอมีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย  และกรณีสถานการณ์พิเศษประเทศไทยก็อาจจะอาศัยมาตรา 17 ในการให้สิทธิอาศัยถาวรแก่คนต่างด้าวได้


                คณะทำงานข้อตั้งข้อสังเกตว่าแม้ในภาษาไทยจะใช้คำว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นชื่อกฎหมาย แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษเราใช้คำว่า Immigration act เช่นเดียวกับนานาประเทศ เพราะฉะนั้นการใช้ชื่อกฎหมายภาษาไทยว่า “คนเข้าเมือง” จึงกลายเป็นที่มาหนึ่งของความเข้าใจผิดว่ากฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อบังคับใช้กับ “สถานการณ์ที่มีคนเข้าเมือง” ทั้งที่เจตนารมณ์และเนื้อหาต้องการกล่าวถึง สิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยของคนต่างด้าว ด้วยเหตุนี้แล้ว จึงอาจจะมีข้อเสนอต่อการแก้ชื่อกฎหมายดังกล่าวเป็น พระราชบัญญัติการเข้าเมือง แทน



[1] มาตรา 34  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์

การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้

หมายเลขบันทึก: 521075เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท