ปอยส่างลอง


ปอยส่างลอง คือ การบรรพชาสามเณรในบวรพุทธศาสนา

ประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่น

ปอยส่างลอง

 

ปอยส่างลอง คือ การบรรพชาสามเณรในบวรพุทธศาสนา โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คำว่า “ปอยส่างลอง” เกิดจากคำ ๓ คำ คือ คำว่า “ปอย” แปลว่า งาน หรือจัดงาน คำว่า “ส่าง” แปลว่าสามเณร และคำว่า “ลอง” มาจากคำว่า “อลอง” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ หรือผู้เป็นหน่อเนื้อของผู้มีบุญเทียบได้กับคำว่า “หน่อพุทธางกูร”

การจัดงานปอยส่างลอง ในสมัยก่อนถือว่าเป็นความจำเป็นที่จะให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตน โดยได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนทุกวันนี้ ด้วยคนไทยใหญ่ หรือคนไตถือว่าเมื่อยังเด็กอยู่นั้น ความคิด จิตใจและความประพฤติต่าง ๆ ยังสะอาดและบริสุทธิ์ หากได้มีการร่ำเรียนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะสามารถรับและซึมซับความดีงามไว้ได้ดีกว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก ดังนั้นการบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลอง ของชาวไตในแม่ฮ่องสอน จึงถือว่าเป็นงานปอยที่สำคัญมาก ว่ากันว่าจะได้บุญกุศลอย่างแรงกล้า ซึ่งมักจัดงานกันระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปี

ประวัติความเป็นมาจากหนังสือไทยใหญ่ที่เขียน โดยเจ้าหน่อคำและ นายบุญศรี นุชจิโน ได้แปลไว้ กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาลในกรุงราชคฤห์ มีกษัตริย์นามว่า พระเจ้าพิมพิศาล ได้สร้างพระวิหารถวายพระพุทธเจ้าและปวารณาตัวเป็นทายกของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต พระเจ้าพิมพิศาล มีโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าชายอชาตศัตรู วันหนึ่งเจ้าชายอชาตศัตรูได้เสด็จมายังลานพระวิหารที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ได้พบกับพระเทวทัต พระเทวทัตจึงได้อัญเชิญเสด็จขึ้นไปบนกุฎิพร้อมทั้งยกย่องว่าเป็นผู้มีบุคลิกเฉลียวฉลาด ปราดเปรื่อง สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองโดยเร็ว พร้อมกับยุแหย่ว่าพระเจ้าพิมพิสารนั้นแก่ชราแล้ว ไม่ควรเป็นกษัตริย์อีกต่อไป เพราะไม่สามารถนำทัพไปสู้รบกับใครได้ อาจสูญเสียแผ่นดินให้กับเมืองอื่น จึงแนะนะให้ฆ่าเสีย เจ้าชายอชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เกิดความขุ่นเคืองไม่พอพระทัย จึงตำหนิว่าใครจะฆ่าบิดาของตนเองได้ลงคอแล้วรีบกลับไป ฝ่ายพระเทวทัตก็ไม่ลดละความพยายาม ได้หาโอกาสมาพบกับเจ้าชายอชาตศัตรูอีกครั้ง พร้อมทั้งทูลกระซิบว่าให้พระองค์จับบิดาขังไว้ไม่ให้เสวยอาหาร ๗ วัน ก็จะสิ้นพระชนม์ไปเอง ซึ่งเราก็จะฆ่าพระพุทธเจ้าโดยงัดก้อนหินขนาดใหญ่ให้กลิ้งลงมาทับเวลาออกบิณฑบาต แล้วเราก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระองค์ก็จะได้เป็นกษัตริย์และเป็นทายกของเรา จากนั้นเราทั้งสองจะได้ช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นต่อไป เจ้าชายอชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นก็หลงเชื่อและสั่งให้ทหารนำบิดาไปขังไว้ และไม่ให้ผู้ใดนำอาหารให้เสวย ฝ่ายพระมเหสีด้วยความรักและความสงสารในพระสวามี จึงได้นำขนมใส่เกล้าผม บางครั้งใส่ในรองเท้า และทาตามตัวเข้าไปเยี่ยมและให้เสวย จนครบกำหนด ๗ วัน พระเจ้าพิมพิสาร ยังไม่สิ้นพระชนม์ แต่สามารถนั่ง นอน และเดินออกกำลังกายได้ ในที่สุดเจ้าชายอชาตศัตรู ได้สั่งให้ทหารเฉือนเนื้อฝ่าเท้าของพระบิดาแล้วเอาน้ำเกลือทา ไม่ให้เดินไปมาได้ในขณะเดียวกันเจ้าชายอชาตศัตรูได้พาพระโอรสไปเยี่ยมพระมารดา และทรงตรัสว่า ลูกชายคนนี้ข้ารักมาก แต่ตัวข้าเมื่อยังเล็ก พระบิดาจะรักเหมือนที่ข้ารักลูกข้าหรือเปล่าไม่ทราบ พระมารดาจึงตรัสว่าเจ้ารักลูกเจ้ามากนั้น ไม่จริง เพราะของเล่นต่าง ๆ ที่มีค่ามหาศาลที่ลูกเจ้าเล่นอยู่ขณะนี้ ล้วนเป็นของที่พ่อเจ้าซื้อให้ทั้งสิ้น เจ้าไม่ได้ซื้อหามาให้ลูกเจ้าแม้แต่ชิ้นเดียว เจ้าชายอชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นจึงสำนึกผิดและรีบเสด็จไปยังที่คุมขัง เพื่อนำบิดาออกมารักษาพยาบาล แต่พบว่าบิดาได้สิ้นพระชนม์ไปเสียแล้ว จึงรู้สึกเสียใจมาก และรีบเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมกับเล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เพราะคบคนผิดจึงได้ทำบาปมหันต์เช่นนี้ แต่เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ให้นำพระโอรสมาถวายเป็นทานในพุทธศาสนา โดยให้เขาสมัครใจ เมื่อทราบดังนั้น เจ้าชายอชาตศัตรู จึงได้นำพระโอรสพร้อมด้วยพระสหายอีก ๕๐๐ คน ที่มีความสมัครใจและบิดา มารดา อนุญาตแล้วไปถวาย โดยเริ่มแรกให้อาบน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบน้ำหอมที่แช่ด้วย เพชร พลอย ทองคำ และเงิน ไปรับศีลห้าจากพระพุทธเจ้าและแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายของเจ้าโอรสของกษัตริย์สมัยโบราณ แล้วนำไปแห่ตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงราชคฤห์ เมื่อครบ ๗ วัน จึงนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณาต่อหน้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจึงให้นามพระโอรสองค์นี้ว่า “จิตตะมะเถระ” จึงเป็นที่มาของปอยส่างลองที่คนไตได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา

งานปอยส่างลองที่นิยมจัดกันทั่วไปมีกำหนดการ ดังนี้

วันแรกที่เรียกว่า “วันรับส่างลอง” เจ้าภาพ พ่อแม่ญาติพี่น้อง
หัวหน้าตะแปส่างลอง” (ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้คอยควบคุมดูแลส่างลองและรักษาเครื่องประดับ” และ “ตะแปส่างลอง” (พี่เลี้ยงส่างลอง) จะนำเด็กไปวัดเพื่อแต่งชุดส่างลองโดยนุ่งกางเกงขาสั้นสีขาวและเสื้อกล้ามสีขาว นุ่งโจงกระเบนสีสด ปล่อยชายด้านหลังยาว จับจีบ คาดด้วยเข็มขัดเงินหรือทอง สวมเสื้อขนกระบอกชายโค้งงอน และมีเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น “แคบคอ” (ทำด้วยทองคำตีเป็นกลมมีลวดลายดุน) แหวน กำไล เป็นต้น ศีรษะสวมด้วย “ปานกุม” (ชฎา) ใบหน้าจะแต่งให้สวยงาม

เมื่อแต่งตัวเสร็จแล้วส่างลองจะอารธนาศีล พระสงฆ์ใหศีลและสั่งสอน

อบรมให้วางตัวให้เหมาะสม แล้วส่างลองจะทำการ “กั่นตอ” (ขอขมา) เป็นเสร็จพิธี ต่อมาจึงเคลื่อนขบวนไปคารวะและขอขมาศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ตลอดจนพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ แล้วจึงไปให้ญาติมิตรผู้ที่เคารพนับถือผูกข้อมือ ตอนกลางคืนจะมีการสมโภชที่บ้านเจ้าภาพ

วันที่สองของงาน ตอนเช้าจะมีพิธี “แหล่โคหลู่” (แห่เครื่องไทยทาน) ผู้ร่วมขบวนแห่จะแต่งกายชุดไทยใหญ่หลากสีสัน สวมใส่เครื่องประดับ โดยขบวนจะตั้งที่บ้านเจ้าภาพแล้วแห่ผ่านถนนสายต่าง ๆ เพื่อไปรวมกันที่วัด เมื่อไปถึงวัดจะแห่เวียนรอบวัด ๓ รอบ แล้วนำเครื่องไทยทานทั้งหมดไปตั้งไว้หน้าพรพุทธรูป จากนั้นเจ้าภาพจะเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงาน ตอนเย็นจะมีพิธีจัดเลี้ยงอาหารส่างลอง อาหารที่นำมาเลี้ยงจะมี ๑๒ ชนิด (ในอดีตจะมีถึง ๓๒ ชนิด) บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง จะเป็นผู้ป้อนอาหารให้ จากนั้นจะเป็นพิธีบายศรีสู่ขวัญและผูกข้อมือส่างลอง

 

วันที่สามของงาน เป็นวัน “ข่ามส่าง” หรือวันนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัด ผู้คนที่ได้รับเชิญมาร่วมงานจะไปรวมกันทีวัดตั้งแต่เช้า จะมีการ “ถ่อมลีก” คือการอ่านหนังสือธรรมะเป็นภาษาไต ให้ผู้มาร่วมงานฟัง โดยมี “จเร” (ผู้ชำนาญการอ่านด้านภาษาไต) เมื่อได้เวลาเพลจะมีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์เลี้ยงอาหารส่างลองและผู้มาร่วมงาน

พิธีบรรพชาอุปสมบท เป็นพิธีทางสงฆ์ ปฏิบัติเหมือนกันกับท้องถิ่นอื่นทุกประการ การบรรพชานิยมทำกันในตอนบ่าย ส่วนการอุปสมบทนิยมทำกันในตอนเช้ามืดประมาณ ๐๕.๐๐ น. เลียนแบบการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งหนีออกผนวชตั้งแต่ตอนเช้ามืด การแต่งกายของส่างลองจึงเลียนแบบเจ้าชายสมัยโบราณ

ปัจจุบัน ประเพณีการบวชส่างลอง ถูกตัดทอนจำนวนวัน และขั้นตอนพิธีกรรม ลงไปมาก เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้อต่อการจัดพิธีเต็มรูป ประเพณีเช่นนี้ถ้ามองในลักษณะการสิ้นเปลืองก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะแค่การบรรพชาอุปสมบทเท่านั้นก็จัดเสียใหญ่ โตสิ้นเปลืองทรัพย์สินจำนวนมาก ไม่ตรงตามกลักการของพระพุทธองค์ แต่ถ้ามองในรูปของการสร้างความสามัคคีในหมู่ญาติและหมู่บ้านแล้ว การที่คนจำนวนมากมีโอกาสได้มาร่วมงานกันและช่วยเหลือกันจัดงานเป็นกลุ่มใหญ่จะก่อเกิดประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนได้เป็นอย่างดี คุ้มกับทุนที่ต้องเสียไป

ค่าใช้จ่ายในการทำบุญปอยส่างลอง เจ้าภาพของส่างลองแต่ละองค์จะช่วยกันเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการจัดงานแล้วแต่จะตกลงกันในการประชุมเตรียมงาน คนที่มีฐานะยากจนไม่สามารถจะทำบุญปอยส่างลองได้ ก็จะนำบุตรของตนไปมอบให้แก่ผู้มีฐานะดีแต่ไม่มีบุตรชาย การมอบในลักษณะนี้ ผู้ที่ยอมรับเป็นเจ้าภาพบวช จะต้องยอมรับเป็นบิดา มารดา คนที่สองของคนที่ตนรับมาบวช จะให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุน ขณะที่บวชและหลังจากสึกแล้วด้วยทำให้เกิดประเพณีค่านิยมเชื่อมช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โดยมีประเพณีการบรรพชา อุปสมบทเป็นสื่อ บางรายถึงกับมอบมรดกให้ เหมือนกับเป็นบุตรของตนเองทีเดียว ผู้ที่ได้บวชลักษณะนี้ก็จะเรียกผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพบวชตนว่า “พ่อ แม่” หรือ พ่อข่าม แม่ข่าม คำว่า “ข่าม” แปลว่า รับรอง หรือรับภาระอุปถัมภ์ ครอบครัวคนรวยกับคนจนที่ได้กระทำประเพณีนี้ร่วมกัน จะกลายเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดสนิทเป็นญาติกันสืบไป ถือว่าต่างฝ่ายต่างมีอุปการะเกื้อกูลต่อกันโดยได้เติมเต็มในส่วนที่แต่ละฝ่ายขาดไป แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ค่านิยมเช่นนี้ แทบไม่มีเหลืออยู่ในรูปของการปฏิบัติ จะมีหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่าเท่านั้น เพราะภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่เปิดโอกาสให้คนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปการอุปถัมภ์ตามระยะเวลาดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 52083เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2006 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท