ข้างเก้าอี้ มี"บริภาษ"นิยม (victim blaming approach)


บริภาษ[บอริพาด] ก. กล่าวติเตียน, กล่าวโทษ, ด่าว่า. (ส. ปริภาษ). (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน 2542)

หลายครั้งขณะสำรวจจักรวาลข้างเก้าอี้ เรามักพบว่า ผลการรักษาโรคในช่องปากไม่ได้อย่างใจหมอ

บางครั้งวัสดุที่อุดไปแล้วแตก

บางหนแผลที่ถอนฟันไปเกิดการปวดรุนแรง

หลายคนยังตัดใจเลิกบุหรี่ และเลิกหวานจัด ไม่ได้ แม้ว่าหมอจะแนะนำว่ามันเป็นความเสี่ยงอย่างสูงต่อการเกิดโรคในช่องปาก

ท่าทีของหมอ เมื่อพบว่าการรักษาที่ตัวเองให้นั้น ล้มเหลว หรือเกิดผลเสียอื่นๆ ตามมา เป็นอย่างไร

ท่าทีที่มักจะพบเจอเสมอๆ คือ victim blaming approach ซึ่งก็คือการทำให้ผู้รับบริการรู้สึกว่า ความล้มเหลวนี้ เป็นความผิดของพวกเขาล้วนๆ พวกเขาผิดที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด

"หมอบอกแล้วว่า ห้ามบ้วนน้ำลาย บ้วนเลือดหลักถอนฟัน...แผลมันเลยหายช้าแล้วก็ปวด"

"ทำไมแปรงฟันไม่ดีเลย มาทีไรฟันผุเพิ่มขึ้นทุกที"

"ถ้ายังไม่เลิกบุหรี่ การรักษาโรคเหงือกก็คงไม่หายสักที" 

ฯลฯ

ที่เจ๋งสุด คือกระทั่งการหายใจ ยังผิดได้
"อย่าหายใจทางปากครับ มันทำให้กระจกหมอเป็นฝ้า มองไม่เห็น ช่วยหายใจทางจมูกด้วย"

บทเรียนวิเศษ ที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ปิยะ ศิริพันธุ์ เวลาเอางานไปนำเสนอ อาจารย์มักจะให้คำแนะนำว่า
"วิธีการนำเสนอแบบนี้ไม่ดี เพราะเริ่มต้นก็ไปด่าเขาเสียแล้ว"
มันทำให้เราต้องมาพิจารณาวิธีการสื่อสารกับผู้อื่นเสมอๆ ว่า เราสื่อสารด้วยท่าทีที่สร้างสรรค์หรือไม่

บริภาษนิยม ย่อมไม่ส่งผลดีต่อความรู้สึก ทัศนคติ ของผู้รับบริการทันตกรรม และแน่นอน มันไม่ส่งผลดีต่อการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ ความรู้สึกที่ว่า คุณนั่นล่ะคือคนผิด พฤติกรรมของคุณคือต้นเหตุทั้งหมดของปัญหา ความรู้สึกนี้ ไม่ได้อะไรขึ้นมา นอกจากความสะใจของหมอ

ลัทธิแก้ บริภาษนิยม คือ เมตตาภาวนา

เปลี่ยนฐานคิดจาก บริภาษนิยม...ทำไมเธอถึงไม่ทำตามที่ฉันสั่ง จะอ้างอย่างไรฉันถึงจะไม่ต้องรับผิดชอบความผิดพลาดในการรักษา

มาเป็น

เมตตา...ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ผู้ที่หวังมาพึ่งเรา ได้พ้นทุกข์อันเกิดจากโรคในช่องปาก

จิตของแพทย์คือจิตของพรหม ผู้อาศัยอยู่ในพรหมวิหาร (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

หมอที่มีจิตใจเป็นพรหม จะชี้แจงว่าแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร อธิบายสาเหตุของปัญหาโดยไม่โยนความผิดไปให้ผู้อื่นล้วนๆ ยอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นว่า เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของหมอด้วย

จากนั้นหาทางออกร่วมกัน ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดความล้มเหลวของผลการรักษาอีก

ร่วมกันสร้างทางเลือก ไม่ใช่เพียงแค่สั่งห้าม

ให้กำลังใจ แทนที่จะตำหนิ

victim blaming เป็นกระบวนการกันตัวหมอออกจากความรับผิดชอบ

เมตตา เป็นการแบ่งปันความทุกข์ และหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

ฝึกเรื่องเหล่านี้ได้ ย่อมจะทำให้จิตใจของหมอ สูงขึ้นๆ เพราะได้เชื่อมโยงกับเพื่อนมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 520598เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2013 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2013 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

It is a sad state of affair isn't it?

When there is no truce and truth between dentists and patients!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท