Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณJosh เรื่องสิทธิในสัญชาติไทยของน้องไปรอันซึ่งเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาจากบิดาสัญชาติจีนไต้หวันและมารดาสัญชาติไทย


ปัญหาของน้องไปรอันคงอยู่ที่ “ปัญหาการใช้สิทธิ” ซึ่งก็ทำได้โดยไปแสดงตนที่อำเภอ/เทศบาลที่มีทะเบียนบ้านอยู่เพื่อขอพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทย การพิสูจน์สิทธินี้ต้องการพยานหลักฐานว่า น้องไปรอันเป็นบุตรของมารดาสัญชาติไทยจริง ซึ่งอาจใช้ (๑) พยานเอกสารมหาชนที่ออกตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรอเมริกัน กล่าวคือ สูติบัตรตามกฎหมายอเมริกัน และหนังสือเดินทางอเมริกัน (๒) พยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของน้องไปรอัน และ (๓) พยาน DNA ที่อาจตรวจพิสูจน์ระหว่างน้องไปรอันกับมารดา หรือน้องไปรอันกับน้า ซึ่งกรณีหลังจะมีราคาสูงสักหน่อย

--------

คำถาม

-------

เมื่อวันที่ ๑๓  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๐๔.๑๒ น.  

คุณ Josh ได้อีเมลล์เข้ามาตั้งคำถามว่า

“เรียน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กระผมเป็นนักศึกษาภาคบัณฑิต ท่าพระจันทร์ กำลังศึกษาวิชา น.๔๖๑ อยู่ในภาคเรียนนี้ครับอยากทราบข้อมูลในการขอสัญชาติไทยให้กับเด็กชายไบรอัน ข้อมูลเบื้องต้นของ ด.ช.ไบรอัน คือปัจจุบันมีอายุ ๑๔  ปี อาศัยและเล่าเรียนอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีกับน้าสาว มีรายละเอียดดังนี้ครับ

เด็กชายไบรอัน มีบิดาเป็นชาวไต้หวันไม่แน่ใจสัญชาติ มีมารดาเป็นคนไทย สัญชาติไทย โดยบิดาและมารดาของเด็กชายไบรอัน ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและได้เลิกรากันตั้งแต่เด็กชายไบรอันเกิด   ปัจจุบันไม่ทราบว่าบิดาอาสัยอยู่ที่ไหนอย่างไร

ส่วนมารดาอาศัยอยู่ที่ San Francisco California เด็กชายไบรอันเกิดที่ New York คาดว่า มีสัญชาติอเมริกัน เนื่องจากได้รับทราบจากมารดาของเด็กว่า มีใบเกิดและที่ได้การรับรองจากประเทศอเมริกา โดยใบรับรองดังกล่าวมีการประทับรอยเท้าของเด็กชายไบรอันในขณะเป็นทารก มารดาของไบรอันกล่าวว่า เป็นใบเกิดของไบรอันที่รับรองว่า ไบรอันได้รับ Citizen ของประเทศอเมริกา

ต่อมา เมื่อน้องไบรอันมีอายุประมาณ ๖ ขวบ มารดาของน้องไบรอันได้พาน้องกลับประเทศไทย โดยเด็กชายไบรอันถือหนังสือเดินทางของประเทศอเมริกา

เพื่อมาให้มาศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศไทย โดยอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีกับคุณน้าสาว โดยคุณน้าของเด็กชายไบรอันได้พาไปหาสถานที่เล่าเรียน ในช่วงเข้าเรียนตอนแรกทางโรงเรียนแจ้งว่า ไม่สามารถรับเด็กชายไบรอัน เข้าเรียนได้เนื่องจาก เด็กชายไบรอันเป็นชาวต่างด้าวไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทางโรงเรียนจึงแนะนำคุณน้าของเด็กชายไบรอัน ให้มีการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านก่อนถึงจะให้เข้าเรียนได้ คุณน้าสาวของเด็กชายไบรอันจึงนำเด็กชายไบรอันไปเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของตน ซึ่งตัวกระผมเองคาดว่า น่าจะเป็นการบันทึกชื่อในทะเบียนบ้านของคนอยู่ชั่วคราวและเป็นการยอมรับให้มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น เนื่องจากเด็กชายไบรอันยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายไทยอยู่

  เมื่อทำการเพิ่มชื่อดังกล่าวแล้ว เด็กชายไบรอันก็สามารถเข้าเรียนได้ในโรงเรียนดังกล่าว โดยทุกปีเด็กชายไบรอันต้องไปต่อวีซ่าเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบัน กระผมคาดว่าเด็กชายไบรอันยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายไทย

จนกระทั่งเมื่อคืนวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ หรือเมื่อวานนี้ กระผมได้พูดคุยกับมารดาของเด็กชายไบรอันว่า เด็กชายไบรอันเป็นอย่างไรบ้าง มารดาของเด็กชายไบรอัน ก็กล่าวว่ามีปัญหาติดขัดในบางประการในการอยู่ประเทศไทย เนื่องจากเด็กชายไบรอันไม่มีสัญชาติไทยไม่มีสิทธิต่างๆในประเทศไทย เช่นการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาล  มารดาของเด็กชายไบรอันต้องการให้เด็กชายไบรอันอยู่ประเทศไทย เป็นคนไทยแบบเด็กๆ หรือคนทั่วไปจึงมีความประสงค์จะขอสัญชาติไทยให้กับเด็กชายไบรอัน กระผมจึงแนะนำมารดาของเด็กชายไบรอันไปว่า เด็กชายไบรอันอาจจะมีสิทธิในการขอสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ซึ่งมารดามีสัญชาติไทยในขณะบุตรเกิด ซึ่งอาจมีความผิดพลาดจากคำแนะนำของกระผม

ดังนั้น จึงใคร่เรียนถามและขอคำแนะนำเบื้องต้นในการขอสัญชาติไทย ให้กับน้องไบรอันจากท่านอาจารย์แหววมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ด้วยความเคารพอย่างสูง”

--------

คำตอบ

-------

อ.แหววขอโทษที่ตอบช้าไปหน่อยนะคะ เพราะช่วงนี้ มีภารกิจค่อยข้างแน่นมาก ไม่ค่อยมีเวลาที่จะนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านอีเมลล์ที่ส่งเข้ามาหา

  ในประการแรก คุณเข้าใจถูกแล้วค่ะว่า น้องไปรอันมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยการเกิด เมื่อคุณบอกว่า น้องไปรอันมีอายุ ๑๔ ปี น้องไปรอันจึงน่าจะเกิดภายใต้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ ดังนั้น สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ปัญหาของน้องไปรอันคงอยู่ที่ “ปัญหาการใช้สิทธิ” ซึ่งก็ทำได้โดยไปแสดงตนที่อำเภอ/เทศบาลที่มีทะเบียนบ้านอยู่เพื่อขอพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทย การพิสูจน์สิทธินี้ต้องการพยานหลักฐานว่า น้องไปรอันเป็นบุตรของมารดาสัญชาติไทยจริง ซึ่งอาจใช้ (๑) พยานเอกสารมหาชนที่ออกตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรอเมริกัน กล่าวคือ สูติบัตรตามกฎหมายอเมริกัน และหนังสือเดินทางอเมริกัน  (๒) พยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของน้องไปรอัน และ (๓) พยาน DNA ที่อาจตรวจพิสูจน์ระหว่างน้องไปรอันกับมารดา หรือน้องไปรอันกับน้า ซึ่งกรณีหลังจะมีราคาสูงสักหน่อย ขอแนะนำให้ไปหารือกับอำเภอ/เทศบาลที่น้องไปรอันมีทะเบียนบ้านอยู่นะคะ ในกรณีที่อำเภอ/เทศบาลปฏิเสธที่จะบันทึกน้องไปรอันในทะเบียนคนอยู่ถาวรในสถานะคนสัญชาติไทย น้องไปรอันก็อาจฟ้องอำเภอ/เทศบาลต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการปฏิบัติการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ โดยเฉพาะเจาะจง ย่อมเป็นไปตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

  ในประการที่สอง น้องไปรอันน่าจะมีสิทธิในสัญชาติจีนโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะประเทศจีนทั้งสอง กล่าวคือ ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และจีนไต้หวันต่างก็ยอมรับแนวคิดสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตเป็นแนวคิดหลัก แต่อาจจะต้องการกระบวนการพิสูจน์สิทธิในกรณีของบุตรนอกสมรสซึ่งเป็นบุตรตามข้อเท็จจริงของบิดามากกว่าบุตรของบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อสัมพันธภาพระหว่างบิดาและน้องไปรอันจางหายไปแล้ว ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะพิสูจน์สัญชาติจีนให้แก่น้องไปรอัน

  ในประการที่สาม น้องไปรอันย่อมมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการเกิดโดยหลักดินแดนอีกด้วย ซึ่งการพิสูจน์สิทธิในสัญชาตินี้ได้ทำลงแล้วตั้งแต่เมื่อน้องไปรอันเกิด ดังปรากฏตามสูติบัตรและหนังสือเดินทางตามกฎหมายอเมริกันที่น้องไปรอันถืออยู่

  ในประการที่สี่ อาจมีอีกประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพื่อน้องไปรอัน หากจะมีการพิสูจน์สัญชาติให้แก่น้อง อันทำให้น้องมีสถานะเป็นคนสองสัญชาติ ก็คือ หน้าที่ในการรับราชการทหาร เมื่อบรรลุนิติภาวะ ซึ่งการมีสองสัญชาติก็อาจนำไปสู่หน้าที่ต่อรัฐสองรัฐที่ตนมีสัญชาติ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบครอบทีเดียว

  หากต้องการความเห็นทางกฎหมายเพื่อใช้ในการพิสูจน์สัญชาติไทย ก็ขอให้สแกนเอกสารประจำตัวของน้องไปรอันมาให้นะคะ ยินดีจะทำให้ค่ะ หรือหากมีข้อหารือใดอีก ก็โปรดหารือมาได้เลยค่ะ


หมายเลขบันทึก: 520593เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2013 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2013 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท