วิพากษ์โครงการผู้สูงอายุฯ อ.ปากพะยูน


กลุ่มผู้สูงอายุสนใจในประเด็นปัญหาที่ว่า “การรวมตัวกันของกลุ่มไม่ค่อยแน่นแฟ้น” “ผู้สูงอายุไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง หรือช่วยกันดูแลซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม อย่างที่ควรจะเป็น”

     เมื่อวานนี้ (7 ต.ค. 48) ช่วงบ่าย ได้มีโอกาสพบกับนักพัฒนาฯ 2 คน ณ ห้องทำงานของผม ซึ่งเป็นพยาบาล ประจำโรงพยาบาลชุมชน รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนที่มีแนวคิดเรื่องการวิจัยในงานประจำ สืบเนื่องมาจากการพบกันเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 48 ที่ผ่านมา ผมไปเป็นวิทยากรกระบวนการ “ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิคนพิการ” ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ นักพัฒนาทั้ง 2 คนได้นำโครงร่างวิจัยมาให้ผมดู เพื่อขอความเห็น และผมได้นัดไว้ที่ สำนักงานฯ ด้วยเห็นว่าเขาจะเข้ามาธุระอยู่แล้ว
 ประเด็นเรื่องที่เขาสนใจและได้ตั้งชื่อเรื่องไว้คือ “การศึกษารูปแบบโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและพัฒนาเป็นชมรมส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อำเภอA จังหวัดZ” วัตถุประสงค์ที่เขียนมาคือ “เพื่อหาประสิทธิผลของรูปแบบโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและพัฒนาเป็นชมรมส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอำเภอA จังหวัดB ต่อความรู้ การรับรู้ การเปลี่ยนแปลงด้านสรีระ จิตใจและพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยเปรียบเทียบผลการดำเนินโครงการระหว่างชมรมผู้สูงอายุ อำเภอA ซึ่งเป็นกลุ่มทดลองกับชมรมผู้สูงอายุ อำเภอB และชมรมผู้สูงอายุอำเภอC จังหวัดZ ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม” และกรอบแนวคิดที่เขียนมาคือ “ขั้นตอนโครงการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาเป็นผู้สูงอายุส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม -- > ผู้สูงอายุเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและพฤติกรรม  -- > ชมรมส่งเสริมสุขภาพ” รายละเอียดอื่นที่เขียนมาก็มีเช่น สมมติฐาน ข้อตกลงเบื้องต้น ขอบเขตการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย (เน้นไปที่กระบวนการ เช่น การทำ OD ผู้สูงอายุ การจัดทำจุลสารฯ) และประโยชน์ที่จะได้รับ
     ผมมีเวลาที่จะได้อ่านเอกสารล่วงหน้าก่อนพบเจอกันเมื่อวาน 2 วัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือความมุ่งมั่นที่จะ “ทำวิจัยในงานประจำอย่างชัดเจน” แม้ว่าจากการเขียนยังไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือคำถามวิจัยกันแน่ และหนทางใดที่จะนำไปสู่การตอบคำถามวิจัย (หากแปลความเอาจากวัตถุประสงค์การวิจัยที่เขียนมา) ลักษณะอย่างนี้จะมีให้ผมเห็นอยู่บ่อย ๆ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ทราบความจริงว่าเขาต้องการอะไรกันแน่คือการชวนคุยให้เป็นธรรมชาติ (ก่อนคุยก็เติมเชื้อเพลิงเพื่อต้ม Empower ให้เขาก่อน)
     เมื่อเขาเริ่มเล่าให้ผมฟังก็พบว่าโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่เกิดจากการพูดคุยกันกับแกนนำของกลุ่มผู้สูงอายุ ที่สนใจในประเด็นปัญหาว่า “การรวมตัวกันของกลุ่มไม่ค่อยแน่นแฟ้น” “ผู้สูงอายุไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง หรือช่วยกันดูแลซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม อย่างที่ควรจะเป็น” ผมก็ยังย้ำไปว่าปัญหานี้เกิดมาจากเราได้ไปชี้นำเขาหรือไม่ หรือเขาตระหนักต่อปัญหาขึ้นมาเอง นักพัฒนาฯ 2 คนยืนยันว่าเป็นสิ่งที่แกนนำฯ ประมาณ 25 คน ได้พูดคุยจนได้ข้อสรุปและนำมาเสนอเขาไว้ ส่วนการใส่วีธีการลงไปนั้น เขาเป็นคนใส่เอง โดยได้ทบทวนจากวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (หากตามผมมาถึงตรงนี้ท่านเริ่มเห็นการกระตุกข้ามอะไรบางอย่างแล้วใช่ไหมครับ) โดยสรุปจากที่ได้พูดคุยกันนั้นจะเห็นว่านักพัฒนาฯ ตัดสินใจเองไปแล้วว่ากระบวนการที่จะใส่ลงไปนั้น น่าจะทำให้ “การรวมตัวกันของกลุ่มผู้สูงอายุแน่นแฟ้นขึ้นได้” “ผู้สูงอายุจะสามารถดูแลตัวเอง หรือช่วยกันดูแลซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม อย่างที่ควรจะเป็นได้” จากนั้นนักพัฒนาจึงจะทำการประเมินประสิทธิผล และจะเปรียบเทียบกับอำเภออื่น ๆ นั่นหมายถึงนักพัฒนาฯ จะใช้กระบวนการที่ได้ตัดสินใจเลือกนี้เป็น Intervention และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อ นักพัฒนาฯ ยืนยันว่าแบบของการวิจัยเป็นแบบกึ่งทดลอง

     ผมจึงแนะนำให้ลองช่วยกันกับผมทบทวนเรื่องการวิจัยแบบกึ่งทดลองดู ว่ามีข้อเด่นและข้อจำกัดเรื่องอะไรบ้าง โดยลองเอาหลักการ MAX MIN CON มาจับ นักพัฒนาฯ ก็เริ่มเข้าใจครับว่าการออกแบบตามที่เขาตั้งใจไว้พบกับจุดอ่อนมากมายเสียแล้ว “ถ้างั้นจะวิจัยไปด้วย และพัฒนาไปด้วยโดยให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมให้มากที่สุดได้อย่างไรดี” นี่เป็นคำถามจากนัพัฒนาฯ ที่ทำให้ผมจบประเด็นการพูดคุยของวันนี้ลงได้อย่างสวยงามมาก ด้วยผมบอกว่าลองพูดใหม่คำที่พูดตะกี้นั้นแหละ และนั่นควรจะเป็นแบบของการวิจัยที่เหมาะสมสำหรับคำถามวิจัยนี้มากที่สุดครับ “วิจัยและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเอง”
     ผมตั้งโจทย์ให้เขาลองทบทวนใหม่ว่า “จะตกผลึกความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ ที่จะแก้ปัญหาของเขาเองได้อย่างไรดี” ก็เลยได้ข้อสรุปและนัดหมายกับผมว่าวันที่ 9 พ.ย. 48 นี้ ช่วงบ่าย แกนนำนัดที่จะพบกันอยู่แล้ว ขอให้ผมได้ไปพบและนำเสวนาในเบื้องต้นให้ เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยนี้อีกครั้ง ผมจึงคาดหวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าจากศักยภาพและความมุ่งมั่นแล้ว ขอให้เขาเห็นวิธีการสักครั้ง เขาน่าจะทำเองได้หลังจากนี้ และระบบสาธารณสุขของเราก็น่าจะได้นักวิจัยและพัฒนาฯ ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยก็ 2 คน หวังไว้จริง

หมายเลขบันทึก: 5203เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

วันที่ 9 พ.ย. 48 นี้ ช่วงบ่าย แกนนำนัดที่นัดที่แจ้งไว้ประมาณ25คนแต่รอบเดือนพ.ย.นี้ทางแกนนำกลุ่มผู้สูงอายุมีความประสงค์ต้องการพบปะสมาชิกทั้งหมดก่อนเนื่องจากเป็นเวลานานมากที่กลุ่มดังกล่าวไม่เคยมีการรวมตัวกัน(มากกว่า2ปี)ดังนั้นยอดที่แจ้งไว้ว่าเป็นแกนนำปรับเปลี่ยนเป็นยอดกลุ่มผู้สูงอายุ ประมาณ 60-80คน  จึงเรียนมาเพื่อทราบทางผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทีมวิจัยจากสสจ.คงไปเยี่ยมและเป็นพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเพื่อพัฒนางานวิจัย                                              ดิฉันทำงานโดยยึดหลัก "ต้องพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยและนำงานวิจัยสู่งานประจำ"ณ เวลานี้ดิฉันมีความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพค่อนข้างน้อยใคร่ขอคำแนะนำหรือคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ทุกท่าน

วันที่ 9 พ.ย. 48 นี้ ช่วงบ่าย แกนนำนัดที่นัดที่แจ้งไว้ประมาณ25คนแต่รอบเดือนพ.ย.นี้ทางแกนนำกลุ่มผู้สูงอายุมีความประสงค์ต้องการพบปะสมาชิกทั้งหมดก่อนเนื่องจากเป็นเวลานานมากที่กลุ่มดังกล่าวไม่เคยมีการรวมตัวกัน(มากกว่า2ปี)ดังนั้นยอดที่แจ้งไว้ว่าเป็นแกนนำปรับเปลี่ยนเป็นยอดกลุ่มผู้สูงอายุ ประมาณ 60-80คน  จึงเรียนมาเพื่อทราบทางผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทีมวิจัยจากสสจ.คงไปเยี่ยมและเป็นพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเพื่อพัฒนางานวิจัยดิฉันทำงานโดยยึดหลัก "ต้องพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยและนำงานวิจัยสู่งานประจำ"ณ เวลานี้ดิฉันมีความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพค่อนข้างน้อยใคร่ขอคำแนะนำหรือคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ทุกท่าน

เรียน คุณอาภรณ์ฯ

     ขอบคุณมากครับที่แจ้งข่าวมา เอาเป็นว่าผมจะเข้าไปตามที่ได้นัดหมายนะครับ และทางปากพะยูนได้เพิ่มจำนวนเป้าหมายเป็น 60-80 คน ตกลงตามนี้นะครับ

     ครั้งแรกผมจะขอไปเป็น Observer ก่อน หากมีโอกาสในเวทีก็จะขอพบ ขอคุยครับ

     คุณอาภรณ์ฯ ลองเปิด blog ขึ้นมาเอง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความรู้ที่คุณได้จากการปฏิบัติงาน และผลสำเร็จของการนำแนวคิด รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่พบเจอ (อย่างที่เล่าให้ผมฟัง) "ต้องพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยและนำงานวิจัยสู่งานประจำ" มาเล่าสู่กันฟังบ้างซิครับ  ...จะรออ่านนะครับ...

เรียนคุณอนุชา ดิฉันได้เขียนบอกเล่าเรื่องราวความรู้ที่คุณได้จากการปฏิบัติงาน และผลสำเร็จของการนำแนวคิด รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่พบเจอ (อย่างที่เล่าให้ฟัง) "ต้องพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยและนำงานวิจัยสู่งานประจำ" มาเล่าสู่กันฟังแล้วแต่ดิฉันยังขาดความมั่นใจ เพราะไม่เคยเขียนมาก่อนจึงส่งบทบันทึกให้พี่ช่วยปรับปรุงถ้อยคำดูดีก่อนนำเสนอได้หรือเปล่าคะ

ลืมบอกไป ดิฉันสร้าง blog แล้วแต่รอให้พี่ตรวจข้อความให้ก่อน เพราะไม่แน่ใจ ว่าจะ โอเค มั๊ย อุปสรรคดิฉันได้ตัดออกไปพอสมควร ถ้าอย่างไรไว้คราวหลังจะเล่าเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับพยาบาลต่อการเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติงานของดิฉันไปประยุกต์ใช้ได้

พยาบาลคนหนึ่งและเพื่อนพยาบาลอีกคนหนึ่งรวมพลังเป็น 2 แรง ที่มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาแผ่นดินบ้านเกิดด้วยการนำแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานภายใต้ concept "ทำงานประจำสู่งานวิจัยและนำวิจัยสู่งานประจำ" เรา 2 คนจุดชนวนการสร้างสรรค์การทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพดังกล่าวโดยการเริ่มที่ พวกเราเองก่อน ซึ่งดิฉันขอเล่าถึงที่มาของconcept "ทำงานประจำสู่งานวิจัยและนำวิจัยสู่งานประจำ" ก่อน ปี2545ดิฉันมารับงานหัวหน้างานผู้ป่วยนอกของรพ.ชุมชน 30 เตียง (การได้มาซึ่งตำแหน่งหัวหน้างานOPD จากการหยิบสลากเนื่องจากสมัยนั้น งานOPDถ้าใครได้ไปถือว่าโชคร้าย(ซวย)ที่สุดเพราะผู้รับบริการบ่น(ด่า)มากที่สุด คนไข้มากที่สุด  งานจำเจ  ซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย  พูดแต่เรื่องเดิมๆ   วันๆไม่เห็นมีอะไรนั่งแต่ซักประวัติให้หมอ  พักกลางวันก็ช้ากว่าแผนกอื่นๆ  ทะเลาะกับหมอประจำห้องตรวจ   ประสานงา(งาน)เกือบทุกแผนก...อะไรๆก็ถามOPD   เรื่องอื่นๆอีกสารพันปัญหา  คนไข้ก็เยอะ พยาบาลก็น้อย(ตอนนั้นอยู่ 2 คนแต่มีพยาบาลแผนกอื่นๆหมุนมาช่วยในวันที่มีคลินิกเบาหวานและความดัน(แม้เป็นOTน้องๆก็ไม่อยากได้เพราะคนไข้วันคลินิกมากจริงๆ) ความจริงในวันนั้นชื่อดิฉันอยู่ลำดับที่ 3 ซึ่งไม่น่าจะโดน  แต่ก็โดยเป็นจนได้เนื่องจาก ผู้ที่จับได้คนที่หนึ่ง คือน้องGN 4มีแนวโน้มจะย้าย คนที่ 2 เป็นGN 5มาปฏิบัติงานได้ประมาณ ปีกว่าๆ  กรรมการบริหารไม่ผ่านเหตุผลน้องเพิ่งย้ายมา ส่วนดิฉันอยู่ ลำดับ3 ก็GN 5 เหมือนกัน กรรมการบริหารผ่านเหตุผลคุณสมบัติเหมาะสมกับOPDได้แต่คิดในใจว่าจะหัวเราะหรือร้องให้ดี   ดิฉันนั่งคิดนอนคิด 1อาทิตย์เต็มๆและคิดว่าเอาละในเมื่อโชคลิขิตแล้วก็อย่าฝืนลิขิต ขอสู้ดูสักตั้งวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ไปรับงานแบบมึนๆ เมื่อรับงานเสร็จคืนนั้นนอนคิดทบทวนดูว่า จะเริ่มต้นอย่างไร จะทำอย่างไร จะปรึกษาใคร  แล้วจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง ไม่มีใครตอบได้  ดิฉันเริ่มต้นจากการศึกษาจากหนังสือมาตรฐานQAเล่มสีนำตาล และเล่มสีเขียวคลาสสิกที่เกี่ยวกับงานOPDทั้งหมด (อ่านไป-อ่านมาไม่ต่ำกว่า20 เที่ยว)สรุปบอกกับตัวเองว่าเอาล่ะฉันจะเริ่มจากการตัวชี้วัดที่QAต้องการจากวัดที่OPDทั้งหมดนี่แหละ โน๊ตมาทั้งหมด23รายการวันรุ่งขึ้นมาดูของจริงที่หน่วยงานปรากฏว่าไม่มีเลยไม่มีการจดบันทึก  รายละเอียดของกิจกรรม การทำงานไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ไม่มีการจัดเก็บข้อมูล ไม่มีหลักฐานที่มาของกิจกรรม ไม่มีการเก็บตัวชี้วัด ดังนั้นดิฉันนำปัญหานี้พูดคุยกับเพื่อนร่วมแผนกถึงจุดอ่อนของแผนกเราและเสนอแนวทางแก้ไขจึงได้มาซึ่งเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงาน และกำหนดขอบเขตการให้บริการและผู้รับผิดชอบงานชัดเจน โดยความสมัครใจและความถนัดของตนเองโดยที่ดิฉันเป็นผู้ให้คำนิยามและลักษณะงานและแนวทางปฏิบัติพร้อมกับให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำทุกอย่าง  หลังจากนั้น 1เดือนงานของแผนกเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น สมาชิกเรามีการพูดคุยถึงปัญหาการบริการในแต่ละวันจากการสังเกตุและเหตุการณ์ที่ขึ้นและจากข้อร้องเรียนเรื่องการลัดคิว ระยะเวลารอคอย  พวกเรา(OPD)จึงปรับระบบบริการใหม่เป็น คลินิก one stop service เพื่อลดขั้นตอนบริการ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ก่อนปฏิบัติงานทั้งภาคเช้าและบ่าย และประชาสัมพันธ์ตามความเหมาะสมระหว่างรอตรวจ  ในคลินิก one stop service ผู้ป่วยเบาหวานและความดันนำแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวามาผสมผสาน ผลการดำเนินงานถือว่าประสบผลสำเร็จมากพอสมควร คือสามารถลดข้อร้องเรียนเรื่องระยะเวลารอคอยได้ทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยเรื้อรัง  ลดขั้นตอนบริการ สร้างความพึงพอใจทั้งผู้ป่วยและญาติที่มาตรวจทั่วไป  ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวานและความดัน มารับบริการตรงนัดเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยเบาหวานและความดันมีการดูแลตนเองดีขึ้นโดยดูจากผู้ป่วยที่มีผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยที่หมอปรับยาเพิ่มลดลง  ผู้ป่วยควบคุมโรคด้วยการDiet controlเพิ่มขึ้นจากเดิม และขยายผลไปยัง PCU ใกล้เคียง 2 PCU  ทีมงานของพวกเราได้รับรางวัล ชนะเลิศในการประกวดผลงานบุคลากรของรพ.ในภาคใต้ จัดโดยสถาบัน สคส. พรพ.และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดือน ก.ค. 2547สรุปผลการเรียนรู้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่อยู่ OPD คือ1.การทำงานต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ตนเองหรือตรวจสอบตนเองยอมรับในส่วนขาดและหาทางเติมเต็มซะต้องทำโดยเทน้ำชาเก่าออกจากถ้วยให้มากที่สุด ไม่ควรทำตัวเป็นน้ำชาล้นถ้วย 2.การรู้   การเข้าใจงาน  และคน โดยการศึกษารายละเอียด รวมทั้งจดบันทึกข้อมูลสำคัญไว้เพื่อประกอบการบริหารงานบุคคลและหน่วยงาน3.ประชุมชี้แจงพร้อมแสดงความรู้สึกและบอกและอธิบายเกี่ยวกับแนวทางการทำงานให้ทีมงานได้รับทราบและเข้าใจสำหรับการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกันและเปิดโอกาสให้ทีมงานได้ซักถามข้อข้องใจ รวมทั้งใจกว้างรับฟังข้อเสนอแนะ4.การทำงานต้องยึดหลักโปร่งใส และมีคุณธรรมและดำเนินงานด้วยกระบวนการ P-D-C-Aคือทำงานไป ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข วางแผนอยู่ตลอด  ตอนหลังมารู้ว่านั่นแหละคือการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้   สิ่งที่ภูมิใจคือ  ทุกวันนี้บางครั้งเมื่อดิฉันเดินผ่านหน้าบ้านเก่า(OPD)ดิฉันมีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้แทนเพราะยกมือไหว้ ยกมือรับไหว้ ผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยที่รู้จัก ทั้งจับมือ ทั้งทักทายกัน เสียงดังดูแล้วคล้ายๆผู้แทน.มาหาเสียงเลยทั้งๆที่ จนท.คนอื่นก็เดินผ่านเหมือนกันแต่บรรยากาศต่างกันและ มั่นใจได้ว่าบนรพ.นี้มีบรรยากาศแบบนี้มีไม่กี่คน  ดิฉันรู้สึกเหมือนมีพลังอันมหาศาลที่บอกดิฉันว่าจงทำดีต่อไปอย่าหยุด

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ดิฉันได้รับบทใหม่  ต้องออกจากบ้านเดิมสู่อ้อมอกบ้านหลังใหม่คืองานชุมชน มาประมาณ 2 เดือน มาพบเพื่อนใหม่ไฟแรงต่างศาสนา แต่ว่ามีอุดมการณ์เดียวกัน เรา 2 คน ณ หน่วยงาน ชุมชน รพ.แห่งนี้ มีความมุ่งมั่น และศรัทธาอันแรงกล้าที่มุ่งหวังพัฒนาแผ่นดินบ้านเกิดเป็นแผ่นดินแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ  ตอนนี้เรา 2 คนเปรียบเสมือน รถที่มีน้ำมัน มีพขร.พร้อม ต้องการเดินทางขาดแต่เข็มทิศและแผนที่  ขณะนี้เรา 2 คน ได้ลงมือพัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบ โดยการลงไปสำรวจปัญหาชุมชนจากแผนที่เดินดิน และปัญหาสุขภาพของท้องถิ่นจากการพูดคุยได้ปัญหามาระดับหนึ่ง  ขณะนี้เราทำงานโดยการผสมผสานงานเยี่ยมบ้าน(HHC ภาคชุมชน)งานผู้พิการ งานผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน  ...ขอเล่าต่อฉบับหน้าค่ะ

ป.ล. ผิดถูก ไม่สมควร  ไม่เหมาะสมประการไดโปรดชี้แนะ เพราะดิฉันเขียนจากประสบการณ์ตรงยังไม่ผ่านการขัด กรองถ้อยคำ ดิฉันยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ  วิพากษ์ได้เต็มที่ (ถึงผมบางแต่ไม่ใจน้อย  นี่ถือเป็นข้อตกลงเบื้องต้น   ทราบแล้วเปลี่ยน) ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ  ลงชื่อ..ลูกหมูอ้วนเกินพิกัด

     เดินหน้าเต็มที่เลยครับ เดือนหน้าผมกะว่าจะจัดเรื่อง KM ขึ้นที่ สสจ. (โครงการไตรภาคีฯ) จะขอเชิญคุณลูกหมูอ้วน ด้วย และจะขอเชิญให้เป็นคนถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ Blog สู่ทีมงานในเครือข่ายด้วยนะครับ

     "เพราะดิฉันเขียนจากประสบการณ์ตรงยังไม่ผ่านการขัด กรองถ้อยคำ ดิฉันยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ  วิพากษ์ได้เต็มที่" ถูกแล้วครับ ต้องเขียนอย่างนี้ ส่วนการวิพากษ์จะแสดงไว้ที่ข้อคิดเห็นเพื่อให้เห็นกระบวนการพัฒนาไปตามลำดับ บอกตรง ๆ ว่าดีใจมากครับ

ด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่งและยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ 

     ยังไงคุณลูกหมูอ้วน อย่าลืมบอกกะ (พี่) สุคนฯ ด้วยนะครับ ผมเปิดประเด็นไว้แล้วที่ (คลิ้ก link) พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของชาวมุสลิม ในระหว่างการถือศีลอด ช่วงเดือนรอมดอน ตามที่เคยคุยกันไว้ ขอให้เก็บข้อมูลมาบันทึกต่อท้ายไว้เลย จากนั้นค่อยมาวิเคราะห์ สังเคราะห์กันอีกที งานนี้ ไตรภาคีฯ สนับสนุนแล้ว ลุยได้เลย ข้อมูลจาก จนท.ที่ รพ. จากคนที่มาใช้บริการ จากคนใกล้บ้าน ผู้สูงอายุ คนในชุมชน เอาให้หมด ใช้แบบ snowball เก็บไปเลย
ขอเรียนตามตรง   ทีมวิจัยลูกข่ายต้องการให้ทีมใหญ่จัดอบรมหรือติวเข้มเฉพาะกลุ่มผู้สนใจก็ได้หรือจัดให้มีเวทีสนทนาวิชาการประเด็น"วิจัยเชิงคุณภาพไม่ยากอย่างที่คิด"  โดยวิทยากรที่มีประสบการณ์บ้างเพราะส่วนใหญ่พวกเราทำวิจัยเชิงปริมาณ อยากให้จัดที่สสจ.ก็ได้  เพราะไม่เช่นนั้นหาโอกาสยากมาก
     ผมเสนอว่าเราจะใช้โจทย์นี้ พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของชาวมุสลิม ในระหว่างการถือศีลอด ช่วงเดือนรอมดอน เป็นโจทย์ที่ทำไป เรียนไป ดีไหมครับ ในส่วนรายละเอียดตอนนี้ ผมอยากให้แยกทำความเข้าใจนะว่าการวิจัยเชิงคุณภาพ กับข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็น 2 ส่วน 2 เรื่อง ที่ overlap กันอยู่ แล้วจะเขียนลง Blog ให้อ่านนะ (รอนิดนึง)
     คุณ ลูกหมูอ้วน อย่าลืมเข้าไปเติมเต็มหรือวิพากษ์บันทึกที่ผมเขียนเรื่อง เอามะพร้าวมาขายสวน : ขั้นตอนการทำวิจัย เป็น series ในทุก ๆ ตอนนะครับ (งัดเอาวิชามาว่ากันหน่อย)

"ต้องพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยและนำงานวิจัยสู่งานประจำ"  ประโยคนี้  อ.วิจารณ์ มักจะเรียกว่า "Routine to Research" หรือ R2R ค่ะ  ที่นำไปใช้เป็นคำหลักเลย ก็ที่ศิริราช  เขามีวารสารเผยแพร่ ที่ สคส. จะได้รับและเวียนอ่านกันภายในเสมอ หากสนใจ ลองติดต่อที่ศิริราชดูนะคะ

 

ขอบคุณมากค่ะ  สำหรับคำชี้แนะ   แต่ดิฉันไม่ทราบว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี  คือ.. ดิฉันอยากได้วารสารเกี่ยวกับ "Routine to Research" หรือ R2R ทางศิริราชเพื่อศึกษาบ้างค่ะ   ท่านผู้รู้ท่านใดมีคำชี้แนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้ดิฉันบ้าง  เป็นการแนะนำเส้นทางการทำงานรูปแบบใหม่สำหรับน้องใหม่อย่างดิฉัน  ดิฉันขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
     อยากให้เผยแพร่ด้วยครับ อยากอ่านด้วยจังเลย "Routine to Research" หรือ R2R เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท