การสร้างสุขภาพแบบบูรณาการในเขตเมืองพัทลุง


นี่จึงเป็นผลพวงและการขยายเครือข่ายที่ควรจะเป็น อย่างที่ผมเคยฟังหมอโกมาตรฯ พูดไว้ว่าเวลามาประชุมวิชาการสิ่งที่ต้องทำด้วยคือการมาเพื่อแสวงหาเครือข่าย

          ผลพวงจากการประชุมวิชาการ”สร้างสรรค์นวตกรรมสร้างเสริมสุขภาพชุมชนจังหวัดพัทลุง” ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2548 ณ โรงแรม บีพีแกรนด์ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทีมสุขภาพของโรงพยาบาลพัทลุง ได้รอพบและคุยกับผม 2 คน คือพี่สวย และแฟนของหมอสมพร (ผมยังไม่ทราบชื่อที่จะเรียกพี่เขา) และก็ได้คุยกันถึงโครงการสร้างสุขภาพแบบบูรณาการในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง โดยพี่เขาจะขอทราบแนวทางของโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ด้วยเพราะได้รับทราบข่าวมาว่าน่าจะไปด้วยกันได้ดี ผมจึงเล่าให้ฟังอย่างย่อ ๆ และขอเอกสารสำเนาโครงการฯ ซึ่งได้รับทราบว่านายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้อนุมัติ และคืนไปให้แล้ว (ปกติจะผ่านผมก่อน แต่สงสัยเดินทางบ่อยจนไม่ได้เห็นเรื่องนี้เข้ามาแต่ต้น)
          นี่จึงเป็นผลพวงและการขยายเครือข่ายที่ควรจะเป็น อย่างที่ผมเคยฟังหมอโกมาตรฯ พูดไว้ว่าเวลามาประชุมวิชาการสิ่งที่ต้องทำด้วยคือการมาเพื่อแสวงหาเครือข่าย

          สำหรับวันนี้ผมได้รับสำเนาโครงการฯ แล้ว ลองอ่านและทบทวนดูก็จะเห็นว่ามีความเป็นไปในทิศทางเดียวกันจริง ๆ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้ชุมชน (19 ชุมชน) เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานสาธารณสุข 2) เพื่อบูรณาการกิจกรรมสาธารณสุขในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และ 3) เพื่อสร้างและปลุกกระแสจิตสำนึกในการเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพแก่ประชาชน ในภาพรวมแล้วโครงการนี้มีโอกาสที่เป็นจริงได้มาก จะส่งผลดีในระยะยาว มีความต่อเนื่อง และสุดท้ายจะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้จริง แม้จะเป็นชุมชนเมืองก็เถอะ ในใจผมต้องขอขอบคุณแทนผู้รับผิดชอบโครงการ คือกลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.พัทลุง ที่คิดค้นโครงการดี ๆ อย่างนี้ขึ้นมา การจะทำให้ดีที่สุดสามารถทำได้ หากได้มานั่งคุยกันสักครึ่งวัน (ต้องรีบขอนัดแล้ว เพราะโครงการดี ๆ อย่างนี้ ยิ่งนานไปจะยิ่งปรับยากในภายหลัง)
          แต่ทว่าเมื่อดูจากกิจกรรมในโครงการฯ แล้ว จะไม่ค่อยเห็นความเชื่อมโยงของกิจกรรม ในลำดับขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติของชุมชน แต่เป็นไปในลักษณะที่ผู้เขียนโครงการวาดภาพไว้สำเร็จแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการใช้รูปแบบของความเป็นราชการมากเกินไป แต่ผมเข้าใจว่าการเขียนโครงการหลวม ๆ เพื่อให้มีความเป็นไปตามธรรมชาติของพื้นที่นั้น อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารก็เป็นได้ อาทิ
          กิจกรรมแรก ที่จะเกิดขึ้นคือการแต้งตั้งคณะทำงาน 19 ชุด (ชุมชนละ 1 ชุด) และเป็นไปตามองค์ประกอบที่ถูกกำหนดขึ้นไว้ล่วงหน้า (องค์ประกอบแบบไตรภาคีฯ) แต่วิธีการเลือกไม่เป็นไปตามอิสระของชุมชน คณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นจะมาคิดและทำแผนผังการดำเนินงานของชุมชนขึ้น โดยการประชุมกัน 1-2 เดือนต่อครั้ง จากนั้นก็จะนำแผนผังมาบูรณาการเข้าด้วยกัน (โดยใครไม่ได้ระบุไว้) และต่อไปก็จะเป็นกิจกรรมการจัดบริการตามแผนผังฯ ในกระบวนการนี้พบว่ามีขั้นตอนการจัดทำข้อมูล การค้นหาปัญหา การวิเคราะห์ปัญหา ของคณะทำงานด้วย แต่ยังขาดรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นรูปธรรม สิ่งนี้ที่ผมบอกว่าเป็นโครงการที่ดีมาก แต่คนอ่านจะกระตุก (คนเขียนอาจจะไม่กระตุก เพราะรู้ว่าจะทำอย่างไร แต่เขียนไม่หมดก็ได้ แซว…ครับ)
          กิจกรรมที่สอง ที่ดำเนินการคือการบูรณาการการดำเนินงานไป แต่ดูแล้วจะเป็นส่วนที่เจ้าหน้าที่ทำเอง เอาเป็นว่าอ่านแล้วเป็นการจัดบริการให้ ซึ่งส่วนนี้ไม่พบกิจกรรมที่เป็นการสร้างหรือเพิ่ม Empowerment ให้แก่ชุมชน ในการดูแลสุขภาพตนเอง การพึ่งตนเอง ทั้ง ๆ ที่จัดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นได้ ผมเสียดาย จึงคิดว่าจะต้องรีบเสนอพี่เขาให้เร็วที่สุดว่าแม้เป็นกิจกรรมที่เราต้องจัดให้ แต่หากให้เขาร่วมรับผิดชอบด้วยจะทำให้เขาเกิด Empowerment ได้ดีมาก เช่น การจัดให้มีทีมสุขภาพภาคประชาชน มีการติดตามเยี่ยมและให้ความรู้แก่คนพิการจากอุบัติเหตุ หรือคนป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน ซึ่งจริง ๆ แล้วผลที่ได้คือเขาเองจะ “เห็นกับตา แล้วนำมาปฏิบัติเอง ตลอดจนนำไปบอกต่อ”
          กิจกรรมที่สาม ที่ดำเนินการคือ การสร้างและปลุกกระแสจิตสำนึกในการสร้างสุขภาพที่พึงประสงค์ เพื่อบรรลุชุมชนเข้มแข็ง สู่เมืองไทยเข้มแข็ง ซึ่งเห็นแล้วละว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งมุ่งจะสร้าง Empowerment ให้แก่ชุมชน แต่ลองมาดูที่เป้าหมายผลผลิต กลับเป็น ผลิตและกระจายสื่อสู่ทุกครัวเรือน ทำป้ายโฆษณา ทำสปอร์ตประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ และการประกวดสื่อฯ ประเด็นไม่ได้ติดใจที่เป็นผลผลิตที่ว่า แต่ติดใจที่เราคิดเองเสร็จแล้วเท่านั้น แต่ถ้าหากส่วนนี้ได้ปล่อยให้ชุมชนเขาคิดเอง ทำเอง เราจะเป็นเพียงผู้สนับสนุน งานนี้จะได้ผลเกินคาด
          จุดเด่นของโครงการนี้อีกอย่างทีจะขอชื่นชมคือ การวางแผนประเมินผลไว้เป็นอย่างดี ถึงดีมากที่สุด  ผมขอถือโอกาสนี้เชิญชวนเข้าเชื่อมต่อกับโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชนเลยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 5198เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท