เงาะป่า


                                                        การวิเคราะห์ละครเรื่องเงาะป่า


บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                                                        ประวัติความเป็นมาเรื่องเงาะป่า


         เงาะป่า เป็นพระราชนิพนธ์บทละครในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีเรื่องเอกของไทยที่จัดเข้าลักษณะวรรณคดีโศกนาฏกรรมแบบตะวันตก ทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงที่ทรงพักฟื้นจากการประชวรด้วยพระโรคมาเลเรีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) โดยใช้เวลาทรงนิพนธ์ 8 วัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินพระราชหฤทัยในระหว่างการพักฟื้น จากการประชวร
  พระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพทางศิลปะทั้งในด้านวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ และคีตศิลป์ ลักษณะคำประพันธ์เป็นบทละครรำ นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับ “รูปพวกเงาะโดยสังเขป” ความรู้เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอ และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเงาะ เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยสาระ มีแนวคิดสำคัญที่เป็นสากลคือ เรื่องของความรัก ซึ่งเป็นความรู้สึกอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมวลมนุษย์ชาติ ทุกภาษาและทุกชนชั้น
  “จบ บทประดิษฐ์แกล้ง กล่าวกลอน    เรื่อง หลากเล่นละคร ก็ได้
เงาะ ก็อยเกิดในดอน แดนพัท ลุงแฮ    ป่า เป็นเรือนยากไร้ ย่อมรู้รักเป็น”

  การ ที่ทรงเลือก “ความรัก” มาเป็นแนวคิดสำคัญของเรื่องเงาะป่าซึ่งเป็นเรื่องราวของชีวิตของตัวละครที่ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ปราศจากความสำคัญและยังป่าเถื่อนในสายตาของคนเมือง แสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริว่า มนุษย์นั้นมีความเสมอเหมือนกันในด้านอารมณ์และความรู้สึก แม้จะต่างเพศผิวพันธ์จะเจริญหรือล้าหลังก็ตาม

                                                              

                                                             ลักษณะของเรื่องเงาะป่า

      เป็นกลอนบทละคร มีลักษณะสัมผัสเช่นเดียวกับกลอนแปด สิ่งที่แตกต่างระหว่างกลอนบทละครกับกลอนแปดคือ
  1.ตัวละครสำคัญ กลอนบทละครจะขึ้นต้นด้วย “มาจะกล่าวบทไป” หรือ “เมื่อนั้น”
  2.ตัวละครไม่สำคัญ กลอนจะขึ้นต้นด้วย “บัดนั้น”
  บทละคร จะกำหนดเพลงสำหรับขับร้อง มีเพลงหน้าพาทย์ ใช้ประกอบท่ารำหรือกิริยาอาการของตัวละคร เมื่อขึ้นต้นแต่ละวรรคหรือตอนจะมีเครื่องหมาย (ฟองมันหรือตาไก่) กำกับไว้ โดยเหนือฟองมันจะมีชื่อเพลงสำหรับขับร้อง ใต้ตอนจะบอกว่ามีกี่คำกลอน และบางเพลงจะมีหน้าพาทย์กำกับเช่น “ฯ๒ฯ โอด”



ลักษณะคำประพันธ์และภาษา


        บท ละครเรื่องเงาะป่า แต่งด้วยกลอนบทละครตลอดทั้งเรื่อง มีบอกเพลงกำกับไว้ ทรงใช้ภาษาอย่างเรียบง่าย มีความไพเราะไม่มีศัพท์สูงๆ ที่เข้าใจยากอย่างวรรณคดีทั่วไป แต่ได้ทรงสอดแทรกคำศัพท์ภาษาก็อย (ซาไก) ไว้โดยตลอด ก่อนถึงเนื้อเรื่องมีบัญชีศัพท์ภาษาก็อยใส่ไว้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเปิดหา ความหมายของศัพท์เหล่านั้นโดยสะดวก ถึงแม้ผู้อ่านจะไม่ได้ย้อนกลับมาเปิดศัพท์ก็อ่านได้ไม่ยาก เพราะทรงใช้คำศัพท์ภาษาก็อยควบคู่กับภาษาไทย ทำให้เดาความหมายภาษาก็อยได้
  คำ ศัพท์ภาษาก็อยเดิมนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเก็บเงาะป่าคนหนึ่งชื่อ”คนัง” ที่ทรงนำไปเลี้ยง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า “ส่วนศัพท์ภาษาก็อยไล่เลียงจากอ้ายคนังทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ไล่เลียงขึ้นสำหรับหนังสือนี้ ได้ชำระกันแต่แรกมา เพื่อจะอยากรู้รูปภาษาว่าเป็นอย่างไร แต่คำให้การนั้นได้มากแต่เรื่องนกหนู ต้นหมากรากไม้เพราะมันยังเป็นเด็ก บางทีผู้อ่านจะเหนื่อยหน่ายด้วยคำที่ไม่เข้าใจมีมาก จึงได้จดคำแปลศัพท์ติดไว้ในบทละคร


การวิเคราะห์เรื่อง

       โครงเรื่อง (Plot) โครงเรื่องของบทละครเรื่องเงาะป่าเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เกิดจากเงาะหนุ่มหลงรักเงาะสาวที่มีคู่หมั้นแล้ว แต่เงาะหนุ่มก็หาทางที่จะได้ใกล้ชิดกับเงาะสาวจนทั้งคู่เกิดความรักขึ้น เมื่อถึงเวลาที่เงาะสาวเข้าพิธีแต่งงาน เงาะหนุ่มออกอุบายพาเงาะสาวหนีไปอยู่ด้วยกันในถ้ำกลางป่า เจ้าบ่าวตามหาเงาะสาวจนไปพบกับเงาะหนุ่ม เกิดการต่อสู้กันขึ้น เจ้าบ่าวกำลังจะพลาดท่าเงาะหนุ่ม พี่ชายเจ้าบ่าวจึงลอบทำร้ายเงาะหนุ่ม เงาะหนุ่มผู้นั้นเสียชีวิต เมื่อเงาะสาวมาเห็น ด้วยความรักสามีของตน จึงแทงตัวตายตามไปด้วย เจ้าบ่าวเสียใจก็ฆ่าตัวตายตามไปอีกคน เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมีความสมจริงตามธรรมชาติ ความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีวันจบสิ้น จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่เพราะความรัก 


เรื่องย่อ

       เรื่องย่อเรื่อง"เงาะป่า" ยังมีเด็กน้อยคนหนึ่งชื่อ คนัง อาศัยอยู่ในป่าจังหวัดพัทลุง คนังเป็นเพื่อนกับไม้ไผ่ วันหนึ่งคนังได้ไปชวนไม้ไผ่ออกไปเที่ยวที่ป่าไปเป่านก หาเผือกหามันตามประสาเงาะป่าในขณะที่คนังกับไม้ไผ่ปิ้งเผือกอยู่นั้น ซมพลาก็บังเอิญมาเจอเด็กทั้งสองคนพอดีก็ล้อมวงมาคุยกัน ซมพลาก็เลยถาม เรื่องเกี่ยวกับลำหับ(ลำหับเป็นพี่สาวของไม้ไผ่)ถึงเรื่องการสู่ขอหมั้นหมายของฮเนาว่าบัดนี้ลำหับคิดอย่างไรบ้าง เพราะซมพลาก็ได้หลงรักลำหับมานานแล้ว ฝ่ายไม้ไผ่ก็ไม่ค่อยชอบฮเนา แต่ไม้ไผ่มีความเข้าใจแน่ถ้าพี่ลำหับของตนได้แต่งงานกับอ้ายซมพลา  ซมพลาได้ฝากดอกไม้กับเล็บเสือให้กับไม้ไผ่นำไปให้กับลำหับแล้วฝากข้อความในใจของซมพลาแก่ลำหับให้นางลำหับเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งฝ่ายนางลำหับได้ฟังที่ไม้ไผ่บอกมานั้น ก็นึกหวาดหวั่นในใจ และไม่คิดจะตอบโต้ไป เช้าวันหนึ่งไม้ไผ่ได้ชวนลำหับไปเก็บดอกไม้ในป่า(ตามแผนซมพลา)พอดีที่เก็บดอกไม้มานั้นกิ่งไม้ไผ่โน้มลงมา มีงูตัวหนึ่งรัดแขนของนางลำหับไว้ นางลำหับตกใจก็เลยสลบไป ส่วนซมพลาที่แอบซุ่มดูก็รีบวิ่งเข้ามาช่วย ซมพลาได้ฆ่างู และเข้ามาประคองลำหับดูว่าไม่มีรอยกัดเลยซมพลารู้สึกโล่งใจพอลำหับฟื้นขึ้นมาก็ตกใจเพราะว่าซมพลาได้กอดตนอยู่ นางเลยถอยออกมา ซมพลาถามถึงอาการและมีประโยคที่ว่า "หากเจ้าตายไป พี่นี้จักตายตาม"ลำหับบอกว่าไม่เป็นไรและได้กล่าวขอบคุณซมพลาที่ได้ช่วยตนไว้ และจะตอบแทนบุญคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่ กล่าวถึงการแต่งงานของฮเนากับลำหับ ฝ่ายผู้ใหญ่ของฮเนาก็ได้ตระเตรียมงานไว้ งานแต่งก็มีขึ้นที่ต้นตะเคียนขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวเคลื่อนสู่ที่จะมีงานวิวาห์ นางลำหับที่ยังคงนิ่งอยู่ในห้องก็ร้อนรนในใจอยู่ สงสารที่ฮเนามารักตน ลำหับไม่ได้รักฮเนาแต่ก็ไม่ได้รังเกียจ นึกถึงซมพลาที่ถูกเนื้อต้องตัว ก็เหมือนเป็นสามีและก็ร้องให้เสียใจ ฝ่ายไม้ไผ่ก็เห็นคนทั้งบ้านวุ่นวายเรื่องการแต่งงาน ก็นำข่าวไปบอกซมพลา ซมพลาได้ฝากไม้ไผ่มาบอกแก่ลำหับว่าจะพาลำหับหนีเมื่อได้ฟังอย่างนั้นลำหับก็โล่งใจ จัดการแต่งตัวเพื่อร่วมงานวิวาห์ แล้วขบวนสาวก็มาถึงลานใต้ต้นตะเคียนและเริ่มทำพิธีแต่งงาน การแต่งงานที่สมบูรณ์นั้นต้องเข้าป่ากัน 7 วัน 7 คืน ฮเนาและลำหับก็เข้าป่าไป ฮเนาก็เข้าไปใกล้ลำหับ ลำหับตกใจ อ้ายแคก็ซุ่มอยู่ก็เอาหินขว้างฮเนา ฮเนาก็โกรธแค้นบอกให้ลำหับอยู่นี่ก่อน แล้วฮเนาก็ออกตามให้คนที่ขว้างหินใส่ เมื่อฮเนาเดินพ้นไปนั้น อ้ายซมพลาก็ได้ที่เข้ามาบอกลำหับว่าจะหนี แล้วก็อุ้มนางไป ตกดึกด้านฮเนาก็หาคนขว้างไม่เจอ ก็มีลางสังหรณ์ในใจเลยกลับมาที่ลำหับอยู่ แต่ก็ไม่พบก็เลยเรียกหาทั่วป่าทั้งคืนจนถึงเช้าเลยกลับบ้าน ซมพลาได้พาลำหับมาอยู่ที่ถ้ำลึกในป่า มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง เพราะซมพลารักลำหับมาก ส่วนลำหับก็รักซมพลามากเหมือนกัน ซมพลาออกมาหาเสบียงอาหารเพราะที่มีอยู่ใกล้หมดแล้ว ลำหับห้ามไม่ให้ไปเพราะกลัวมีอันตรายดั่งที่ซมพลาฝัน เมื่อคืนที่ผ่านมาแต่ซมพลาก็หาที่จะฟังคำขอร้องของนางไม่ เดินทางไปหาอาหารทิ้งลำหับไว้เบื้องหลัง ด้านฮเนาก็กลับไปเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังเมื่อทุกอย่างได้กระจ่างแล้ว ก็ลงความเห็นว่าซมพลาเป็นคนลักพาตัวนางไป ฮเนาพร้อมรำแก้วและปองสองปองสุดก็เลยออกตามหา จนไปเจอซมพลาระหว่างกลับถ้ำ ก็เลยต่อสู้กันเพราะฮเนาเข้าใจว่า ซมพลาลักพาตัวนางลำหับไป รำแก้วได้ที ฮเนาออกห่างซมพลา ก็เลยเป่าลูกดอกอาบยาพิษไปโดนหน้าผากของซมพลาเข้า ซมพลาเดินโซซัดโซเซไปเจอลำหับที่เดินตามหาเพราะความเป็นห่วง ซมพลาใกล้จะตายจึงสั่งลาลำหับ ลำหับเสียใจ คว้ามีดที่อยู่ในมือซมพลาแทงซอกคอตัวเองตาย หลังจากนั้นซมพลาก็สิ้นใจ ฮเนาเห็นเหตุการณ์ และได้ฟังคำพูดทุกอย่างที่ซมพลาร่ำลานางลำหับ ปรากฏตัวเองเข้าใจผิดหมด ที่จริงลำหับหนีมากับซมพลา ฮเนารักนางลำหับ คงไม่มีใครแทนที่ได้ เลยให้มีดแทงตัวเองตาย ทั้งสามตายเคียงกันอยู่ในสมรภูมิรัก รำแก้วและปองสองปองสุดต่างพากันกล่าวสรรเสริญความรักของทั้งสามคน และทั้งหมดถูกฝังกันในหลุม และโปรยดอกไม้ด้วยความอาลัย

                                                                

                                                              ตัวละคร (Characters)


ตัวละครเด่นในเรื่องประกอบด้วย คนัง ซมพลา ลำหับ ฮเนา ไม้ไผ่ แต่ละคนมีลักษณะนิสัยดังนี้

ซมพลา

        ซมพลาเป็นตัวเอกของเรื่อง เป็นผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาอันเป็นเหตุให้ตนเอง ลำหับและฮเนาต้องพบจุดจบด้วยเพราะความรัก คุณสมบัติของซมพลามีดังนี้

  แข็งแรงกล้าหาญ

         ซมพลาเป็นตัวละครเด่นฝ่ายชาย เขามีความสามารถในการล่าสัตว์ และมีวิทยาอาคมต่าง ๆ มากมายสมกับเป็นเงาะป่า ซมพลาเป็นเงาะหนุ่มรูปร่างใหญ่ มีกำลังมาก แข็งแรงและกล้าหาญ

        มีฝีมือการใช้อาวุธโดยเฉพาะลูกดอกความสามารถด้านนี้ของซมพลา เห็นได้จากคำกล่าวของคนังและไม้ไผ่ที่ว่า

                                     ตัวกูทั้งสองเกษมศานต์        ซึ่งมึงมาพบพานกูที่นี้

                               จะขอเรียนวิชาให้กล้าดี         เหมือนมึงเช่นนี้จงเมตตา

มีใจมั่นคง

       เมื่อซมพลาหลงรักนางลำหับ แม้รู้ว่านางมีคู่หมั้นแล้วนั่นก็คือฮเนา แต่ซมพลาก็ยังตัดใจไม่ได้ กลับหาทางที่จะพบนางและออกปากฝากรัก และในที่สุดก็พานางไปอยู่ด้วยกันในถ้ำกลางป่า แสดงให้เห็นว่า ซมพลานั้นเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคงในความรัก

ไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ทางสังคม

     เห็นได้จากการที่ซมพลานั้นหาทางที่จะใกล้ชิดผูกจิตรักใคร่กับนางลำหับ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่านางนั้นมีคู่หมั้นอยู่แล้ว  หากนางมาอยู่กับตนชาวบ้านจะมองนางลำหับไปในทางไม่ดี ซมพลาไม่ได้คิด เพราะซม

พลาคิดแต่เพียงว่าหากไม่ได้ครอบครองนางลำหับจะเสียเชิงชาย จะอายคนอื่น คิดจะลักพานางลำหับหนี

มีความฉลาดรอบคอบ

        ซมพลามีความฉลาดรอบคอบที่ใช้ความกล้าหาญและความรู้ของตนเพื่อชักนำให้ไม้ไผ่มาเป็นพ่อสื่อให้ตนเองได้พบกับนางลำหับ เพราะซมพลารู้ตัวดีว่าไม้ไผ่และคนังนั้นคงนิยมชมชื่นตน ไม่เช่นนั้นคงไม่มาขอเรียนวิชาเป่าลูกดอก ครั้นได้รู้ความจริงจากปากไม้ไผ่

นางลำหับ

         เป็นตัวเอกฝ่ายหญิงที่ทำ นางมีความงามทั้งกิริยามารยาท และมีรูปร่างงดงามเป็นที่หมายปองของเงาะหนุ่มในหมู่บ้าน นางเป็นลูกที่ดีดังนั้นจึงยอมรับการหมั้นของฮเนา ทั้งๆ ที่ตัวนางเองก็ไม่ได้รักในตัวของฮเนา เพื่อตามใจพ่อแม่ ในที่สุดนางตัดสินใจตามซมพลาไปเพราะความรักทำให้ชายหนุ่มทั้งสองนั้นต้องพบกับจุดจบนั่นคือความตาย

คุณสมบัติของนางลำหับ มีดังนี้

 มีรูปโฉมงดงาม

นางลำหับเป็นผู้ที่มีรูปโฉมงดงามตามรูปแบบของเงาะ นางลำหับยังเป็นผู้ที่มีน้ำเสียงไพเราะ เมื่อนางขับเพลงนั้น ผู้ที่ได้ยินก็จะมีความเคลิบเคลิ้มตามไปด้วย เห็นได้จากตอนไม้ไผ่ออกอุบายชวนนางไปเที่ยวป่าแล้วให้ซมพลาแอบซุ่มเพื่อที่จะให้ได้พบนาง

 เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี

        ตอนแรกนั้น ตัวนางลำหับไม่ได้รักทั้งฮเนาและซมพลา แต่นางนั้นยอมที่จะหมั้นหมายกับ ฮเนาก็เพราะว่าเป็นความประสงค์ของผู้เป็นแม่ ส่วนความรู้สึกที่นางมีต่อซมพลาเมื่อนางได้ของฝากมานั้น นางไม่พอใจนักและนึกไม่สบายใจ ไม่ไผ่จึงออกกอุบายชวนนางนั้นออกไปเก็บดอกไม้ นางถูกงูรัดแขนเป็นเหตุให้ซมพลานั้นต้องเข้ามาช่วยเหลือและมีโอกาสได้ถูกเนื้อต้องตัวนาง เหตุการณ์ครั้งนี้นั้นทำให้

ซมพลานั้นกลายเป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อนาง ประกอบกับประเพณีเงาะว่าแม้ชายใดถูกเนื้อต้องตัว

ชายคนนั้นก็เปรียบเป็นสามี” ความสำนึกในบุญคุณนั้นทำให้นางยอมรับรักซมพลา

ฮเนา

ฮเนาเป็นคู่หมั้นของนางลำหับ มีลักษณะดังต่อไปนี้

มีรูปงาม

         ฮเนาเป็นเงาะที่รูปร่างงดงาม เห็นจากตอนที่จะเข้าพิธีแต่งงานกับนางลำหับทะนงตน ฮเนารู้ตัวว่าตนเองเป็นที่สนใจของสาวเงาะจึงค่อนข้างที่จะทะนงตน เมื่อให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอนางลำหับแล้วก็ไม่ได้ไปติดต่อหรือทำความรู้จักกับนางอีกเลย ฮเนานั้นคงนึกเข้าข้างตนเองว่านางลำหับนั้นก็คงพอใจในรูปลักษณ์ของตนเช่นเดียวกันกับเงาะสาวคนอื่นๆ และนางกับเขาก็เป็นคู่หมั้นกันแล้วไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ แม้เมื่อซมพลานั้นพานางลำหับไปแล้ว ฮเนาเองก็ยังคิดว่านางไม่ได้เต็มใจไปกับซมพลา

         ด้วยความทะนงตัวนี้เอง ทำให้ฮเนานั้นอวดดี ผู้ชายด้วยกันจึงรู้สึกขัดตา เห็นได้จากตอนที่ไม้ไผ่นั้นบอกซมพลาว่า “แต่ตัวของกูเองนั้น ไม่ชอบกันกับฮเนาเขาอวดดี” ความอวดดีของฮเนานี้เองทำให้เขาต้องพบกับความพ่ายแพ้และสูญสิ้นไปในที่สุด

หยิ่งในศักดิ์ศรีและมีใจมั่นคง

       ตอนฮเนาออกติดตามซมพลาและนางลำหับ แสดงให้เห็นถึงน้ำใจอันมั่นคงที่มีต่อนางและยังแสดงให้เห็นถึงความหยิ่งในศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย

รู้สำนึกผิด

         ฮเนานั้นได้รับความเจ็บช้ำทุกข์ทรมานมาตั้งแต่ซมพลานั้นพานางลำหับหนี เมื่อตามมาพบกลับได้รู้ความจริงยิ่งทำให้เจ็บช้ำหนักขึ้นไปอีก และที่สำคัญนั่นก็คือ ฮเนานั้นได้เห็นความรักที่แท้จริงของซมพลาที่มีต่อนางลำหับ เมื่อนางฆ่าตัวตาย ฮเนาจึงเสียใจมาก เพราะคิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากทั้งปวง

ไม้ไผ่

        เป็นตัวละครที่มีความสำคัญลำดับต่อมา เป็นน้องชายของนางลำหับ มีบทบาทที่สำคัญคือเป็นผู้ที่ทำให้ซมพลาคิดแย่งนางลำหับจากฮเนา ไม้ไผ่นั้นนิยมชมชอบความเก่งกาจของซมพลา จึงพูดแสดงความรู้สึกที่มีต่อฮเนา โดยไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

คนัง

        คนังเป็นเพื่อนของไม้ไผ่ และได้เรียนวิชาเป่าลูกดอกจากซมพลาเช่นเดียวกับไม้ไผ่ คนังจึงกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับไม้ไผ่คอยดูต้นทางในขณะที่ซมพลาและนางลำหับนั้นพลอดรักกัน คนังมีบทบาทเพียงเล็กน้อย สุดท้ายยเมื่อมีการตายเกิดขึ้น คนังถูกนำตัวไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

        คนังมีความเป็นเด็ก ไม่มีความคิดที่รอบคอบเฉกเช่นเดียวกันกับไม้ไผ่ เห็นได้จากการที่คนังนั้นร่วมมือกับไม้ไผ่ในการดูต้นทางตอนที่ซมพลาและนางลำหับนั้นพลอดรักกัน โดยไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นภายหลัง

อ้ายงอด อ้ายแค

         พี่ชายทั้งสองของคนัง เป็นเพื่อนกับซมพลา บุคคลทั้งสองไม่มีความคิดรอบคอบเห็นได้จากตอนที่ทั้งสองรู้เห็นเป็นใจให้ซมพลาลักนางลำหับไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยช่วยในการใช้ก้อนหินปาหลอกฮเนาให้ติดตามไป เมื่อฮเนาหลงกลติดตามไป ซมพลานั้นก็ลักนางลำหับไปอยู่ในถ้ำ อ้ายงอดและอ้ายแค จึงเป็นเพื่อนที่ดีในการให้การช่วยเหลือเพื่อนด้วยกัน แต่ก็ไม่ดีที่ไม่ได้ทำการตักเตือนเพื่อน ทั้งๆที่ทั้งสองเองก็รู้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เมื่อซมพลา นางลำหับ และฮเนาเสียชีวิต เงาะทั้งสองก็เกรงกลัวความผิด พากันหลบหนีไปจากหมู่เงาะ ทิ้งน้องชายคือคนังเอาไว้ คนังจึงถูกนำตัวไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

รำแก้ว

          เป็นพี่ชายของฮเนา ติดตามฮเนาไปทำการเสาะหาซมพลาและนางลำหับ รำแก้วนั้นรักพี่น้องของตนเองมากจนลืมนึกไปถึงความยุติธรรม เห็รได้จากตอนที่รำแก้วยิงซมพลาที่หน้าผาก เพราะเห็นว่าฮเนานั้นกำลังจะเสียท่าให้แก่ซมพลา รำแก้วจึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินเนิ้อเรื่องนั้นไปถึงจุดสุดยอด พลิกความคาดหมายของผู้อ่าน

 รำแก้วมีความรอบคอบ เห็นได้จากเมื่อซมพลา นางลำหับ และฮเนาตาย แม้ว่ารำแก้วจะมีอาการเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ยังมีสติพอที่จะทำการฝังศพของทั้งสามเอาไว้ (ในหลุมศพเดียวกัน) เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ร้ายมาทำลายศพ ก่อนที่จะเอาความไปแจ้งแก่ญาติพี่น้อง

ตาวางซอง ตาจองลองและนางถิ่ง

           ตาวางซอง อายุ 65 ปี ได้มาติดพันกับนางถิ่งอายุ 54 ปี ซึ่งมีสามีอยู่แล้ว มีชื่อว่าตาจองลอง แต่ตาจองลองได้ออกไปค้าขายแล้วหายสาบสูญไป จนทุกคนคิดว่าตายไปแล้ว

 ตาวางซองและนางถิ่งไม่มีลักษณะของผู้ใหญ่มีอายุ เพราะว่าทั้งสองคนนั้นได้แอบไปพลอดรักกันในป่า (ขณะเดียวกันกับที่ซมพลานั้นพลอดรักอยู่กับนางลำหับ) ด้วยท่าทาง และคำพูดที่ดูตลกขบขัน จนไม้ไผ่กับคนังแกล้งปาลูกไม้ใส่ตายายทั้งสองซึ่งเชื่อว่าเจ้าป่าเจ้าเขาคิดว่าเจ้าป่าโกรธจึงวิ่งหนีไป

 ตาวางซองและตาจองลองนั้นต่างก็รักษาศักดิ์ศรีของตนเอง เห็นได้จากตอนที่ตาจองลองกลับมาจากการค้าขายแล้วรู้เรื่องของตาวางซอง ทั้งสองจึงได้นัดหมายต่อสู้กัน ด้วยความที่มีอายุมากด้วยกันทั้งคู่

จึงทำได้เพียงแค่การชกต่อยกันเท่านั้น มได้ทำอะไรที่รุนแรงมากไปกว่านี้ จนซมพลานั้นมาพูดจาห้ามปรามให้เหตุผล ตาทั้งสองก็เชื่อและก็แยกย้ายจากกันไป ตอนนี้แสดงให้เห็นว่าตาทั้งสองเป็นคนมีเหตุผล

 ตายายทั้งสามคนมีบทบาทที่ช่วยเสริมให้เห็นว่า ความรักนั้นไม่มีขอบเขต เกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกวัย แม้ว่าจะเป็นบุคคลสูงอายุเช่นตายายทั้งสามก็ยังเกิดปัญหารักสามเส้ากันได้ แต่ปัญหาของทั้งสามนั้นแก้ไขได้เพราะความมีอายุ ทำให้มีความคิดที่รอบคอบ อารมณ์ก็ไม่มีความรุนแรง ผิดกับปัญหาความรักของคนหนุ่มสาว ซึ่งมักที่จะตัดสินใจหุนหัน อารมณ์มากกว่าเหตุผล จึงทำให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวนี้ขึ้น

 บทบาทของทั้งสามตายายนี้ช่วยให้เรื่องนั้นดำเนินไปอย่างมีความเหมาะสม เพราะพฤติกรรมของตาวางซองตอนที่พลอดรักกับนางถิ่ง ช่วยให้ซมพลาและนางลำหับนั้นแยกออกจากันได้ (เพราะว่าเสียงอึกทึกที่ตาวางซอง นางถิ่ง ไม้ไผ่ และคนังออกวิ่ง ทำให้นางลำหับคิดว่าพ่อของตนมาตาม) และการวิวาทของตาวางซองกับตาจองลอง ทำให้ซมพลาวิ่งผ่านมาพบต้องเข้าไปห้ามปราม เป็นเหตุให้ซมพลานั้นเดินทางล่าช้าจนพบกับฮเนา แทนที่จะกลับไปถึงถ้ำเสียก่อน

ยอปาน มาเนาะ

     เป็นพ่อและแม่ของฮเนา รำแก้ว และปองลองปองลุด

ซารุน โกช

     เป็นพ่อและแม่ของซมพลา

ตองยิบ ฮอย

     เป็นพ่อและแม่ของนางลำหับกับไม้ไผ่

      พ่อแม่ของทั้งสามคู่นี้มีบทบาทไม่มากนัก พ่อแม่ของฮเนาและพ่อแม่ของนางลำหับมีบทบาทคืได้ทำการหมั้นสองหนุ่มสาว และทำพิธีแต่งงานให้กับทั้งคู่

 บทบาทของพ่อแม่ทั้งสามปรากฎอีกครั้งเมื่อรับรู้ว่าลูกของตนเองตาย ทุกคนเสียใจที่สูญเสียลูก ครั้งแรกพ่อแม่ของฝ่ายชายก็กล่าวว่านางลำหับนั้นเป็นต้นเหตุ ต่างฝ่ายต่างโทษฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งเงาะยัง (เงาะญาบ) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ทำการชี้แจงเหตุผล ทุกฝ่ายจึงเข้าใจกันได้ แม้ว่าจะมีความเศร้าโศกอย่างมากนางมือซังและ นางวังคอน

 สาวเงาะทั้งสองคนที่แอบรักซมพลาและฮเนา นางทั้งสองมีลักษณะที่ส่งเสริมบุคลิกของ ซมพลา ฮเนา และนาลำหับ ดังนี้

 นางทั้งสองนั้นเป็นคนที่มีใจคอโลเลไม่มั่นคง (ไม่เหมือนกับนางลำหับ) ตอนแรกนั้นนางทั้งสอง “ต่างรักใคร่ในฮเนาเฝ้าจำนง” ต่อมา “เห็นซมพลาท่าทำนองก็ต้องจิต” ในที่สุดทั้งสองคนนั้นก็ใช้วิธีการจับฉลากในการเลือกสองชาย แสดงให้เห็นว่าทั้งซมพลาและฮเนานั้นต่างก็เป็นที่หมายปองของสาวๆเช่นเดียวกัน

 เมื่อฮเนานั้นออกตามนางลำหับ เขาได้พบสองสาวซึ่งสารภาพรัก และของร้องให้ฮเนานั้นอยู่กับนาง เลิกติดตามนางลำหับเสีย ฮเนานั้นกลับแสดงน้ำใจมั่นคงด้วยการปฏิเสธความรักของสองนาง การได้พบกับสองนางนั้นทำให้การเดินทางล่าช้าจึงมีโอกาสได้พบกับซมพลา

 ตัวละครทั้งสองจึงช่วยในการเสริมตัวละครตัวอื่นๆ ทำให้เห็นบุคลิกและนิสัยใจคอตัวละครอื่นๆเด่นชัดขึ้น และช่วยให้เรื่องดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลซอมลุกเป็นหมอผีประจำหมู่บ้าน มีหน้าที่สำคัญในการประกอบพิธีต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน ตอน ฮเนาแต่งงานกับนางลำหับ ซอมลุกก็ได้ช่วยในการประกอบพิธีให้มีหน้าที่รักษาคนเจ็บไข้ เช่น ตอนฮเนาเสียใจที่นางลำหับถูกลักพาตัวไป จนเกิเดอาการคลุ้มคลั่งไล่ตีพ่อแม่ หมอซอมลุกก็ช่วยในการรักษาด้วยคิดว่าผีพรายเข้าสิงฮเนา ต่อมาฮเนาก็คืนสติ

หมอซอมลุกมีบทบาทพื่อให้การดำเนินเนื้อเรื่องนั้นเป็นไปอย่างมีความสมเหตุสมผล แต่บทบาทที่ปรากฎนี้ ไม่สามารถวิเคราะห์นิสัยใจคอของหมอซอมลุกได้ เงาะยัง (เงาะญาบ)เป็นหัวหน้าเงาะจึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ๆ เช่นพิธีแต่งงานฮเนากับนางลำหับ บทบาทที่สำคัญคือเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้พ่อแม่ของนางลำหับ ซมพลา และฮเนาเข้าใจกันได้ หลังจากที่ได้โกรธเคือง และกล่าวโทษกัน ตอนหลังเมื่อจะมีการย้ายที่อยู่ เงาะยังก็เป็นผู้ที่ออกอุบายให้ผู้รั้งพัทลุงหาละครโนราห์มาเล่นให้พวกเงาะดู เพื่อผู้รั้งจะได้นำคนังไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ เงาะยังจึงเป็นผู้ที่เหตุผล และเหมาะสมกับการที่เป็นผู้นำของเงาะทั้งหลาย

           ตัวละครบางตัวที่ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ เป็นต้นว่า ปองสองปองสุด (น้องชายของรำแก้วและ

ฮเนา) เงาะชาวบ้านคนอื่นๆ ล้วนแต่มีบทบาทเพียงเล็กน้อย จนไม่สามารถนำมาวิเคราะห์หาลักษณะนิสัยได้ แต่กล่าวได้ว่า ตัวละครทั้งหมดในเรื่องเงาะป่า ล้วนมีบทบาทช่วยให้การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างเหมาะสม บุคลิกและคุณสมบัติของตัวละครทุกตัวมีความเหมาะสม สมจริงคือ มีความเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป มีนิสัย รัก โลภ โกรธ และหลงอยู่ในตัวละครกลวิธีการแต่ง (Techniques)

        บทละครเรื่องเงาะป่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพระประชวร ภาษาที่ใช้เป็นภาษาถิ่นของชาวเงาะ การเลือกใช้คำเหมาะสมกับเนื้อเรื่องคือเป็นชีวิตของชาวป่า ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ดึงดูดใจผู้อ่านทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม ยกตัวอย่าง

บทกลอนที่ว่า “ เมื่อนั้น ฮเนาฟังว่าเห็นกล้าหาญ

เร่งพิโรธโกรธใจดั่งไฟกาล จึงว่าอ้ายเดรัจฉานช่างพาที

มึงไปฉุดนางมากลางคืน แล้วแกล้งข่มขืนกดขี่... ”

 เมื่ออ่านกลอนตอนนี้ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงอารมณ์โกรธของฮเนาที่มีต่อซมพลา

 “ บัดนั้น ซอมลุกผู้เฒ่าคนขยัน

 จึ่งเริ่มทำวิธีพลีกรรม์ กระบือเผือกผูกมั่นกับกอไม้

 จับหอกประหารพอซานล้ม เดินก้มภาวนาเข้ามาใกล้

 ยื่นนิ้วเท้าจุกจมูกไว้ บริกรรมขับไล่ปรางควาน ”

 แสดงให้เห็นอาการการกระทำพิธีพลีกรรม์ของซอมลุก

 “เมื่อนั้น อ้ายยังนั่งพูดอุบอิบ

กับนายสินนุ้ยคุยกระซิบ งุบงิบย้อนยำทำอุบาย

ร้องว่าบรรดาพวกเด็กเล็ก ยังเล็กเบียดกันมากหลาย

จะเจ็บปวดชอกช้ำระกำกาย ควรขยายให้ขึ้นบนชานเรือน”

แสดงให้เห็นบรรยากาศที่เงาะเข้าไปนั่งแออัดกันเพื่อรอดูการแสดงโนรา

“ ทอดตัวลงกลางดินดอน แน่นอนเหมือนจะมวยเป็นผี

แล้วรี้อครวญคร่ำร่ำโศกี มือตีอกช้ำระกำใจ

สดับเสียงนกสาลิกาก้อง ว่าเสียงน้องร้องหาหนไหน

ลุกขึ้นผลีผลามตามไป ปะต้นไม้ยืนกอดสอดประทับ

แล้วพูดปลอบโยนโอนอ่อน เสียงสะท้อนกระเส่าไม่เข้าศัพท์

สิ้นแรงลมรวยระทวยพับ พ่อแม่เคียงรับประคับประคอง”

     แสดงอาการของฮเนาที่ที่ตุ่มร้อนคิดถึงนางลำหับจนแสดงอาการคุ้มคลั่งไม่มีความสุข


ข้อคิดที่ได้จากเรื่องเงาะป่า

ความรักเป็นสิ่งที่ดีและสวยงาม แต่ในทางกลับกันนั้น ความรักก็สามารถเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลที่ดีและไม่ดีได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดและการพิจารณาของแต่ละบุคคลที่ต้องมีความรอบคอบต่อการตัดสินใจให้มีความเหมาะสม ฉะนั้น หากเราคิดที่จะมีความรักก็ต้องรู้จักวิธีในการที่จะรักให้เป็น ไม่ใช่ให้ความรักมาเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน


คำสำคัญ (Tags): #วรรณคดี#เงาะป่า
หมายเลขบันทึก: 519735เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เนื้อเรื่องสนุกมากกกกกกกกกกกกกกกกก

อยากทราบว่า นางบาซิง ในเรื่องเงาะป่า เค้าคือใครค่ะอยากได้คำตอบด่วนๆด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท