อีกหนึ่งกรณีศึกษาของบุคคลที่มีสถานะต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกับจุดเริ่มต้นของการยื่นคำร้องขอสถานะเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย


อีกหนึ่งกรณีศึกษาของบุคคลที่มีสถานะต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกับจุดเริ่มต้นของการยื่นคำร้องขอสถานะเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้มีนัดสอบถามข้อเท็จจริงนางกันยา(นามสมมติ)* ลูกจ้างคนหนึ่งของโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งได้ข้อเท็จจริงคร่าวๆจากพี่แมวว่า นางกันยาเป็นบุคคลที่รัฐไทยได้กำหนดสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อยและถือบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงที่ได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่ต.อุ้มผางมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งหากปรากฎพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว นางกันยาอาจมีสิทธิในการยื่นคำร้องขอมีสถานะเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายได้(ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้สถานะคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรและอาศัยอยู่มานานตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕)

เมื่อได้เวลานัดเวลาบ่ายสามโมง นางกันยามาพร้อมนายตุลา(นามสมมติ)*พี่ชายก็มาถึงที่คลินิกฯเพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะบุคคลของตนเอง

ก่อนการเริ่มต้นเก็บข้อเท็จจริงวันนี้ ได้พูดคุยทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมอบเอกสารระบุหลักเกณฑ์ตามกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินการประกอบ โดยได้เน้นย้ำในเบื้องต้นว่าการยื่นคำร้องขอฯนี้ไม่ใช่การยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย แต่เป็นการขอมีสถานะเข้าเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือที่เรียกว่าการขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งจะช่วยให้มีสิทธิในเรื่องการเดินทางที่จะสะดวกขึ้น สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ทั่วประเทศ

ตามคำบอกเล่าของบุคคลทั้งสอง เล่าว่า บิดาและมารดาของทั้งสองคนเป็นคนที่เกิดและเติบโตในประเทศพม่า ทั้งคู่เป็นบุตรเพียงสองคนของพ่อแม่ นางกันยาและพี่ชายเกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศพม่าห่างจากชายแดนไทยไม่มากนัก โดยตามสำเนาบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บุคคลบนพื้นที่สูง) ระบุว่านางกันยาเกิดเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๔ ส่วนนายตุลาเกิดเมื่อพ.ศ.๒๕๒๖ (แม้ตามบัตรประจำตัวฯจะระบุพ.ศ.เกิดที่ทำให้สรุปว่านางกันยาเป็นพี่ นายตุลาเป็นน้อง แต่บุคคลทั้งสองคนให้ข้อเท็จจริงว่า แท้จริงแล้วนายตุลามีฐานะเป็นพี่ชายนางกันยา แต่เจ้าหน้าที่ลงรายการระบุพ.ศ.เกิดผิดพลาดส่งผลให้ตามบัตรประจำตัวฯและทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓)ระบุว่านางกันยาเกิดก่อนนายตุลา แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้แก้ไขดำเนินการแก้ไขทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องแต่อย่างใด) ข้อเท็จจริงในช่วงเวลาการเกิดดังกล่าวแม้ว่าทั้งสองคนจะมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงอันจะนำมาซึ่งสิทธิในสัญชาติกับรัฐพม่า แต่ทั้งคู่ก็ไม่มีเอกสารรับรองการเกิดว่าเกิดในประเทศพม่ารวมถึงเอกสารแสดงสัญชาติพม่าแต่อย่างใด

ภายหลังจากที่ทั้งสองเกิดได้ไม่นาน ประมาณปีพ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๗ พ่อและแม่ของบุคคลทั้งสองก็ตัดสินใจพาสมาชิกในครอบครัวทั้ง ๔ ชีวิตย้ายจากฝั่งประเทศพม่ามาปักหลักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเปิ่งเคิ่ง ต.แม่จันซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศไทย เช่นเดียวกับญาติคนอื่นๆที่เดินทางเข้ามาก่อนแล้ว เมื่อเข้ามาทางฝั่งไทยแล้วพ่อและแม่ของทั้งสองก็ประกอบอาชีพทำงานรับจ้างทั่วไป ส่วนนางกันยาและนายตุลาเมื่อได้วัยอันสมควรก็เข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านเปิ่งเคิ่งราวสิบสองปี(ทั้งคู่เล่าว่าตอนที่ย้ายออกจากหมู่บ้านเปิ่งเคิ่งนั้น นายตุลาเรียนอยู่ชั้นป.สาม ส่วนนางกันยานั้นเรียนถึงชั้นป.หนึ่ง)

ต่อมาเมื่อทางครอบครัวทราบว่าทางอำเภอมีการสำรวจและทำบัตรประจำตัวให้บุคคลชาวเขา ทั้งครอบครัวก็้เดินทางจากหมู่บ้านเปิ่งเคิ่งไปทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวที่หมู่บ้านมอทะ ได้รับบัตรประจำตัวสีฟ้า มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข ๖ xxxx ๕๐xxx xx x (ขึ้นต้นด้วยเลข ๖ และหลักที่ ๕,๖ เป็นเลข ๕๐)

หลังจากที่อาศัยอยู่ที่บ้านเปิ่งเคิ่งมาระยะหนึ่ง บิดาและมารดาก็พาทั้งคู่ย้ายจากหมู่บ้านเปิ่งเคิ่งมารับจ้างทำงานทั่วไปและอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านน่อเอ ต.อุ้มผาง ส่วนนางกันยาและนายตุลาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนบ้านสามัคคี โดยนายตุลาได้ศึกษาจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนสามัคคีแล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และเรียนหนังสือกศน.จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ส่วนนางกันยาเรียนชั้นประถมถึงชั้นป.๕ จากนั้นมาเรียนต่อกศน.จบป.๖ ตอนนี้กำลังเรียนต่อชั้นมัธยมต้นที่กศน.อุ้มผาง

แม้ว่าสมาชิกทั้งหมดของครอบครัวทั้งคู่จะย้ายภูมิลำเนาเอกชนจากบ้านเปิ่งเคิ่ง ต.แม่จันมาอยู่ที่ ต.อุ้มผางอย่างยาวนานแล้ว แต่ภูมิลำเนาตามเอกสารทะเบียนราษฎรนั้นสมาชิกของครอบครัวยังคงอยู่ที่หมู่บ้านเปิ่งเคิ่ง ต.แม่จันเช่นเดิม

นอกจากนี้หลังจากที่ย้ายมาอยู่อาศัยที่อุ้มผางแล้ว ทั้งครอบครัวก็ปักหลักอยู่ที่ต.อุ้มผาง นางกันยาและนายตุลาก็สร้างครอบครัวอยู่ที่อุ้มผางนี้และไม่ได้เดินทางกลับไปที่ฝั่งพม่าอีกเลย

ในปัจจุบันนี้ นางกันยาแต่งงานโดยจดทะเบียนสมรสกับคนสัญชาติไทย(ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วประมาณ ๕ ปี) มีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน ปัจจุบันนี้อายุ ๑๓ ปี ซึ่งได้สัญชาติไทยตามบิดาแล้ว ทั้งนางกันยาและบุตรชายอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านของสามีนางกันยาในต.อุ้มผาง โดยบุตรชายกลังเรียนอยู่ที่ร.ร.ชุมชนบ้านอุ้มผาง ส่วนนางกันยาเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลในตำแหน่งพนักงานซักรีด

ส่วนนายตุลานั้นอยู่กินฉันท์สามีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยาที่ถือบัตรชาวเขาเช่นกันทั้งคู่มีบุตรชาย ๑ คนอายุ ๑๒ ปีซึ่งเกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยเนื่องจากบิดาและมารดาเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันนี้ครอบครัวนายตุลาอาศัยอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า นายตุลาเล่าว่าตนเองและภรรยาไม่กล้าเข้าไปจดทะเบียนสมรสที่อำเภอเนื่องจากตนเองกับภรรยาไม่มีสัญชาติไทย ตอนนี้นายตุลาประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยให้องค์กรเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภออุ้มผาง ส่วนภรรยาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป

เมื่อได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจึงได้แนะนำในเบื้องต้นก่อนว่าให้รวบรวมพยานหลักฐานและพยานบุคคล ๒ คนที่ต้องให้รับรองการอยู่อาศัยมาอย่างยาวนานในประเทศไทยและจะติดต่อกลับไปอีกครั้ง





*เนื่องจากกรณีศึกษามีความไม่สะดวกในการใช้ชื่อจริงในการบันทึก จึงต้องใช้นามสมมติในการเล่าเรื่องครั้งนี้


หมายเลขบันทึก: 518948เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2013 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

รออ่านค่ะ สนใจว่า บุตรของนายตุลาเกิดใน พ.ศ.ใด ??

รออ่านค่ะ สนใจว่า บุตรของนายตุลาเกิดใน พ.ศ.ใด ??

รออ่านค่ะ สนใจว่า บุตรของนายตุลาเกิดใน พ.ศ.ใด ??

รออ่านค่ะ อยากทราบว่า บุตรของนายตุลาเกิดใน พ.ศ.ใด ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท