เหนื่อยไหม


ดูๆ ไปรู้สึกบางอย่างมันหายไป ความเข้าใจบริบทของคนไข้แบบ human to human interaction นั้นเอง


ในระหว่างพูดคุยกับคนไข้อยู่ที่เตียง 5 ก็ได้ยินเสียง alarm ของเครื่องช่วยหายใจจากเตียง 6 เห็นลุงนอนหอบตัวโยนอยู่ เหลือบมองขึ้นไปดูที่หน้าจอ monitor  อัตราการหายใจตั้ง 36 ครั้ง/นาที ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนก็ 93 – 95% เวลาเดียวกัน หันไปรอบๆ เห็นนักศึกษาพยาบาล 2 – 3 คนวิ่งเข้าถึงเตียงลุง แล้วตรง ปิดเสียง alarm ให้เงียบ ได้ยินเสียงเสมหะ หันมาบอกครูว่า ลุงมีเสมหะ ครูก็พยักหน้าทำได้เลย ครูดูอยู่ตรงนี้ เด็กบอกลุงให้หายใจช้าๆ หนูจะช่วยดูดเสมหะและเดี๋ยวจะพ่นยาให้ต่อนะ จากนั้นก็ช่วยกันดูดเสมหะจากท่อช่วยหายใจแบบปิด เพื่อนอีกคนก็ช่วยบีบลมเข้าขยายปอด เด็กๆ ก้มหน้าก้มตา ตั้งช่วยเหลือลุงอย่างเต็มที่  แต่ใจจดจ่ออยู่กับสายดูดเสมหะและท่อช่วยหายใจ อีกคนหนึ่งก็จดจ่อกับเครื่องช่วยหายใจ พอดูดเสมหะเสร็จก็สังเกตอาการ ให้ยาพ่น และอยู่เป็นเพื่อนลุงอีกครู่หนึ่ง ครูยืนดู เห็นทำงานเข้ากันได้คล่อง ก็หายห่วง แต่เอ ดูๆ ไปรู้สึกบางอย่างมันหายไป ความเข้าใจบริบทของคนไข้แบบ human to human interaction นั้นเอง ตอนนี้เด็กๆ เริ่มคุ้นกับเครื่องช่วยหายใจแล้ว ทำงานเป็นแล้ว มันเลยเป็น human to technology interaction มากกว่า

คงถึงคราวที่ครูต้องทำอะไรบางอย่าง จำได้ว่าเคยได้ฟังฝรั่งสอนเรื่อง synchonize breathing คือพยาบาลกับคนไข้หายใจร่วมกัน เป็นจังหวะไปพร้อมกัน แน่นอนแรกๆ ยังปรับจูนกันไม่ตรง แต่เมื่อนานขึ้น ไม่เร่งรีบ ก็มีการรีรอ แล้วก็หายใจไปพร้อมกัน ...ถึงเวลาทำจริงแล้ว เลยเดินไปที่เตียงลุง คุยสอบถามอาการลุง เห็นลุงยังเหนื่อยอยู่ เลยจับมือแล้วบอกลุง เราหายใจช้าๆ นะ ลุงจำที่นักศึกษาสอนเรื่องหายใจได้ไหมค่ะ ลองดูนะ  หายใจพร้อมๆ กับหนูนะ...เด็กๆ ก็ยืนสังเกตอยู่ห่างๆ 

เข้าใจได้ว่า การฝึกปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตเป็นสถานการณ์สร้างความเครียดให้นักศึกษาอยู่มาก ไหนจะเรื่องความรู้เกี่ยวกับภาวะเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ไหนจะเทคโนโลยี่อีก ปรับตัวไม่ไหว เกร็งไปหมด แต่ถ้าปล่อยไว้ เดี๋ยวจะกลายเป็น high tech low touch...ความคิดหนึ่งก็แว๊บมา บ่ายนี้มีอะไรเกมส์ให้เด็กเล่นอีกแล้ว อาจจะเสี่ยงต่อภาวะขาดออกซิเจน hypoxia หน่อยแต่ไม่เป็นไร ICU มีเตียงว่าง

ช่วงประชุมปรึกษาหลังให้การพยาบาล ให้เขานั่งพักครู่หนึ่ง ถามเขาว่าเหนื่อยไหมวันนี้ เด็กๆ ไม่ตอบ แต่ดูหน้าก็รู้ ไหนจะเช็ดตัวทำความสะอาดร่างกายคนไข้ พลิกตะแคงตัวเพื่อป้องกันแผลกดทับ ยกตัวกันเมื่อย หมดแรงไปตามๆ กัน เลยถามว่าเหนื่อยของเรา กับที่คนไข้เตียง 6 เหนื่อยเหมือนกันไหม แล้วเหนื่อยของลุงเป็นอย่างไร แต่ละคนก็คิดกันไป ตอบกันไป ครูเลยบอกว่า เอานะ คราวนี้พวกเราลองทำตามสิ่งที่ครูบอกนะ  ให้หายใจตามทุกครั้งที่ครูนับ เข้าใจกติกาไหม หายใจเข้าออก ทุกครั้งที่ครูนับ เอาเริ่ม ครูก็นับไปเรื่อยๆ กะว่า จะนับให้เท่ากับที่ลุงหายใจคือ 36 ครั้งใน 1 นาที แต่สังเกตุดู แค่นับเลขทุก 2 – 3 วินาที บางคนก็เริ่มกระสับกระส่ายแล้ว แต่ยังทำตามกติกาอยู่

ครบ 1 นาที ให้เขาพักแล้วถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการหายใจที่เกิดขึ้น ตอนครูนับแล้วหายใจเร็วๆ อย่างนี้คิดถึงอะไรบ้าง เหนื่อยไหม

เด็กๆ ก็ อ๋อขึ้นมา เข้าใจแล้ว ความรู้สึกหายใจเหนื่อยของคนไข้ เป็นอย่างนี้เอง มีคนหนึ่งชอบกิจกรรมนี้มาก เขียนมาบอกว่า กิจกรรมนี้ “สอนให้นักศึกษาคิดและเข้าใจความเป็นผู้ป่วย เข้าใจในสภาพความเจ็บป่วย สภาพจิตใจและสภาพร่างกายของผู้ป่วยมากขึ้น ...ทำให้ได้เรียนรู้และนำไปใช้ในพัฒนาการปฏิบัติการดูแลคนไข้ให้ดีขึ้น”

อ่านแล้ว...แค่นี้ครูหมดห่วงไปแล้ว


หมายเลขบันทึก: 518814เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท