ตอน..ความเสมอภาคอยู่ตรงไหน....โดย ส.ศรัณ


นักปรัชญา จอห์น รัสกิน ได้กล่าวไว้ว่า “หนังสือประวัติศาสตร์ในโลกนี้มีอยู่สามเล่ม คือ เล่มที่ว่าด้วยการกระทำ เล่มที่ว่าด้วยคำพูด และเล่มที่ว่าด้วยศิลปะ การอ่านเพียงเล่มใดเล่มหนึ่งย่อมไม่เข้าใจ ต้องอ่านอีกสองเล่มจึงจะเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างดี เล่มที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดคือ เล่มที่ว่าด้วยศิลปะ” บนโลกใบมีเรื่องราวมากมายที่ดำรงอยู่อย่างคำกล่าวของจอห์น รัสกิน ว่าไว้ คนที่เป็นนักสั่งก็สั่งไป สั่งอย่างเดียวไม่คิดไม่ทำ คนที่นักคิดก็คิดไปคิดโดยไม่ทำ คนที่ทำก็ทำไป มีทั้งคิดและไม่คิด......

หากนำเอาคำกล่าวของ จอห์น รัสกิน มาจับการทำงานพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ข้าพเจ้าในฐานะพี่เลี้ยงขององค์กรเครือข่าย อยากจะให้นิยามของการทำงานสายนี้คือ เล่มที่ว่าด้วยการกระทำ ที่มีแต่การทำ ทำ และก็ทำ แทบจะไม่ได้คิด ไม่ได้พูดหรือสะท้อนสิ่งที่พบเจอ หรือบอกเล่าให้กับใครได้รับรู้ว่า เขาทำแล้วเจออะไรมาบ้าง ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะที่ควรจะเป็น การทำหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนพ้องเพื่อชวนพี่น้องเครือข่ายทำกิจกรรมป้องกันปัญหายาเสพติดโดยตัวคนในชุมชนเป็นเจ้าของปัญหาและผ่านกระบวนการหนุนเสริมอย่างมิตรแท้ทางความคิดจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ข้าพเจ้าทำได้เพียงเท่านี้จริง ๆ

ส่วนในมุมของการทำงานหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศไทยมักจะเป็นเล่มที่ว่าด้วยคำพูด ที่มุ่งเน้นเพียงการพูด พูดและการพูด ซึ่งสิ่งที่พูดก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำ เพราะไม่ได้ทำมีเพียงการสั่งการให้คนอื่นทำ ทั้งสั่งตามระบบ สายบังคับบัญชา พอกล่าวถึงเรื่องของสายบังคับ ชนชั้น ลำดับขั้น ทำให้นึกถึงหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคมตอนนี้ ซึ่งเป็นหลักการที่แตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะหลักการดังกล่าวมุ่งจัดการแก้ไขที่สาเหตุทางสังคม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการกระทำผิดที่แก้ไขได้ยากอย่างยิ่ง ( Criminogenic Needs) ประกอบด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือชนชั้น ความไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้เราเรียกว่า ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ระบบยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพจะต้องจัดการแก้ปัญหาความยุติธรรมทางอาญากับความยุติธรรมทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน (ถอดบทเรียน: โครงการพลังเครือข่ายยุติธรรม แก้ปัญหายาเสพติด.หน้า 22.)

 ไม่ว่าจะมองในมุมไหนของสังคมตอนนี้ภาพที่เห็นมันบ่งบอกถึงความไม่เสมอภาคในการทำงานแก้ปัญหาสังคมคนที่กำหนดไม่ได้ทำ คนที่ทำไม่ได้กำหนด การแก้ไขปัญหาจึงยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ ตราบที่ยังมีการทุ่มงบประมาณโดยไม่ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมบนฐานความเสมอภาคของการทำงานแก้ไขปัญหาในสังคม การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความรู้สึกร่วมถึงการมีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders) ของงบประมาณที่ทุ่มลงไปปี ๆ หนึ่งไม่ใช่น้อย ทั้งในมุมผู้ทำและผู้สั่ง ลองมองภาพนี้แล้วลองคิดเล่น ๆ


ระบบยุติธรรมทางอาญาที่ทอดทิ้งความยุติธรรมทางสังคมก็เท่ากับระบบยุติธรรมทางอาญาเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมต่าง ๆ ด้วย ในโลกใบนี้กำลังพัฒนาศิลปวัฒนธรรมที่เป็นคุณค่า พัฒนาให้เป็นมูลค่า พัฒนาฉาบฉวยตื่นเขินเพียง สังคมไทยวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและน่ากลัว สังคมสมัยใหม่ สังคมโลกาภิวัตน์กำลังทำลายศิลปวัฒนธรรม ชุมชน ระบบครอบครัว อัตลักษณ์เฉพาะตัวของท้องถิ่นชุมชนอย่างเลือดเย็น การพัฒนาที่ทำร้ายความเสมอภาคของคนจะนำไปสู่ความแปลกแยก.....


หมายเลขบันทึก: 518628เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท