เข้าเมือง เด็กวัด ไปโรงเรียนและเข้าออกห้องสมุด


จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 (พ.ศ.2513) พ่อ-แม่ก็ให้ลองสอบเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ “โรงเรียนจังหวัด” ทั้ง ๆ พี่ ๆ ทุกคนจะเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนราษฎร์ในตลาดปากคลองทั้งสิ้น  คงไม่ใช่เพราะความเก่งกาจความสามารถหรอกครับ  แต่เป็นเพราะเป็นช่วงเวลาที่การเดินทางระหว่างบ้านกับตัวเมืองพัทลุงสะดวกขึ้นกว่าเดิม  ประจวบกับมีพระที่เป็นญาติผู้ใหญ่ได้บวชและพำนักอยู่ที่วัดภูผาภิมุข (วัดต่ำ) พ่อและแม่จึงตกลงใจให้ลองสอบดู

ความจริงแล้วในขณะนั้นโรงเรียนราษฎร์ที่ตลาดปากคลอง คือ โรงเรียนศิริราษฎร์วิทยา จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดพัทลุง  ครูและ “ไม้เรียว” ของครูโรงเรียนนี้สร้างคนมามากต่อมาก  ควบคู่กับโรงเรียนช่วยมิตรซึ่งตั้งอยู่ที่ควนขนุน  และ “โรงเรียนราษฎร์” อีกจำนวนมากในจังหวัดพัทลุงที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนที่จบระดับประถมศึกษาในช่วงเวลาที่โรงเรียนของรัฐมีจำกัด  เมื่อโรงเรียนของรัฐขยายตัวมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงต้นทศวรรษ 2520 โรงเรียนราษฎร์เหล่านี้ก็ค่อย ๆ ทยอยปิดตัวเองลงเรื่อย ๆ จนเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในปัจจุบัน

เมื่อสอบเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนพัทลุงได้  ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป  จากเด็กบ้านชนบทที่ห่างไกลความเจริญมาอยู่ในเมือง  จากที่เคยอยู่บ้านกับพ่อแม่มาตลอดก็ต้องออกจากบ้านมาเป็น “เด็กวัด” เดือนหนึ่งจึงจะได้กลับบ้านสักครั้งหนึ่ง  จากเด็กที่เคยดูแต่หนังตะลุง โนรา หนังกลางแปลง และ/หรือหนังฉายกั้นผ้าประเภท “สองมือล้วงกระเป๋าสองเท้าก้าวเข้ามา” ก็เริ่มรู้จักโรงภาพยนตร์  เริ่มดู “ภาพยนตร์” ในโรงหรือในวิก และมีเพื่อนที่เป็น “ลูกจีน” ในตลาด

ชีวิตในโรงเรียนพัทลุงสมัยนั้นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากโรงเรียนในระดับชั้นประถมมากนัก  เพราะครูที่โรงเรียนพัทลุงก็คือครูที่มีความเป็น “ครู” เหมือนกับครูในตอนที่เรียนชั้นประถม  ดุ ตีเจ็บ(บางคนก็หยิกเจ็บ - ยิ่งครูประจำชั้นหรือที่ในยุคนี้เรียนเป็นครูที่ปรึกษา ยิ่งตีเจ็บ - ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ท่านเหล่านั้นล้วนรักเด็ก เอาอกเอาใจเด็ก) เข้มงวด เหมือน ๆ กัน  ตั้งใจสอนและให้ความสำคัญกับการสอนเหมือน ๆ กัน  จะแตกต่างกันก็ตรงที่มีครูและนักเรียนจำนวนมากกว่า  มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่พร้อมกว่า  แต่ก็ไม่ได้มากเหมือนปัจจุบัน  ที่มากหน่อยก็เห็นจะเป็นอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ (ซึ่งผู้มีโอกาสได้ใช้ก็มักจะเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย)  การสอนของครูส่วนใหญ่จึงเป็นแบบ “ชอล์ค & ทอล์ค” ประเภทซิปป้าโมเดลและอีกหลาย ๆ วิธีที่พูดกันมากในปัจจุบัน  ก็ไม่เห็นว่ามีครูคนใดพูดถึงหรือใช้  จะเห็นก็เพียง “ซิปโป” (ที่ครูผู้ชายบางคนควักออกมาให้เด็ก ๆ ได้เห็นกันบ้างเป็นครั้งคราว  เมื่อจะสูบบุหรี่) สอบตกก็เรียนซ้ำชั้น  เรียนกันจนกว่าจะรู้เรื่อง เข้าใจ หรือมีความรู้จริง ๆ จึงจะจบกันได้  ยิ่ง ม.ปลาย มีหลาย ๆ คน (หรืออาจส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป) ที่กว่าจะจบกันได้ก็เรียนกันชั้นละ 2 ปีก็มี  หลักสูตร ม.ปลาย 2 ปี (ม.ศ.4- ม.ศ.5) มีไม่น้อยที่ต้องใช้เวลาเรียน 3-5 ปี 

หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนสมัยโน้นอาจจะเน้นความรู้ความจำเป็นหลัก จนกระทั่งมีผู้ค่อนขอดว่าเรียนรู้แบบ “นกแก้วนกขุนทอง” ข้าพเจ้าเองก็เคยคิดแบบเดียวกันนี้  เคยปฏิเสธการเรียนรู้แบบท่องจำ  แต่เมื่อเริ่มทำงานที่ต้องใช้ความคิด ใช้การวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์อย่างการเขียนหนังสือ (หรือแม้แต่การเป็นครู – เอ๊ะใช้คำผิดหรือเปล่า เพราะคนเป็นครูต้องใช้ความคิดวิพากษ์วิจารณ์สูงทีเดียว) ต้องกลับไปขอบคุณครูเก่า ๆ หลักสูตรและวิธีการสอนเก่า ๆ ที่บังคับให้ท่องจำจนมีข้อมูลความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการคิดการวิเคราะห์ได้ในปัจจุบัน  เพราะหากจำอะไรไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลที่ไหนมาคิดมาวิเคราะห์ (อย่างในขณะนี้ผู้เขียนกำลังทำงานวิจัยอยู่เรื่องหนึ่ง  เลยกำหนดส่งมานานแสนนานแล้วก็ยังเขียนไม่จบสักทีหนึ่ง หลายครั้งตั้งใจว่าวันหนึ่งต้องเขียนให้ได้สักประเด็นหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่บางทีนั่งคิดจะเขียนอยู่ค่อนวันก็ยังเขียนไม่ได้  เพราะสมองชักจะเสื่อมครับ  อ่านข้อมูลแล้วจำไม่ค่อยได้ ต้องเปิดเอกสารตลอดเวลา  เวลาเขียนก็คิดไม่ออกว่าจะลงมือเขียนว่าอย่างไร - เฮ้อ... ความจำมันไม่ดีตรงไหน (ว่ะ) จึงต้องเลิกจำ)

ชีวิตในโรงเรียนแม้จะมีความน่าตื่นเต้นเร้าใจอยู่ไม่น้อย  แต่ชีวิตเด็กวัดกลับมีสิ่งที่น่าสนใจน่าจดจำมากกว่า  ในโรงเรียนเป็นการเรียนไปตามระบบ  มีเนื้อหาวิชาที่แน่นอน  ในขณะที่ชีวิตเด็กวัดเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบและวิธีการ  ทั้งเรียนรู้การใช้ชีวิต เรียนรู้และฝึกฝนคุณธรรมจริยธรรม  รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้แม้กระทั่งปัจจุบัน

ชีวิต “เด็กวัดต่ำ” ในช่วง 3 ปีที่เรียนอยู่โรงเรียนพัทลุงค่อนข้างจะเป็นชีวิตที่มีช่วงเวลาการทำกิจกรรมที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องตื่นตั้งแต่เวลาตีสี่ครึ่งหรือตีห้าเพื่อสวดมนต์ไหว้พระประจำวัน  พระอาจารย์จะสอนเรื่องต่าง ๆ แล้วให้กลับไปเตรียมตัวเพื่อไปบิณฑบาตกับพระหรือไปรับปิ่นโตจากบ้านของอุบาสก อุบาสิกามาถวายพระ  กว่าจะเสร็จภารกิจในวัดก็เกือบแปดโมงเช้า  จากนั้นจึง “เดิน” ไปโรงเรียน (เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าโดยสารรถตุ๊ก ๆ) กลับจากโรงเรียนก็ช่วยงานวัด พอตกค่ำก็อ่านหนังสือทำการบ้านตามเวลาที่พระอาจารย์กำหนด (มีบางคนนึกว่าตนฉลาด  เปิดไฟทิ้งไว้และนอนหลับหรือหนีไปดูหนังเพื่อแสดงว่ากำลังอ่านหนังสือ  ซึ่งมักจะถูกจับได้เพราะ “ขยัน” ผิดสังเกต)

วันที่มีความสุขมากที่สุดเห็นจะเป็นวันเสาร์  เพราะเป็นวันที่ใครจะไปเที่ยวไหนก็ได้  กลางคืนอยากไปดูหนังในตลาดก็ได้ (ในยุคนั้นมีโรงหนังอยู่ 2 โรง คือ “วิกแกรนด์” กับ “วิกราเมศวร์”) ส่วนวันอาทิตย์ช่วงเช้าก็ทำงานส่วนตัว  พอช่วงบ่ายก็พัฒนาวัด

แม้ชีวิตประจำวันจำมีการกำหนดช่วงเวลาทำกิจกรรมค่อนข้างแน่นอน  แต่ก็เป็นธรรมชาติของเด็กวัดที่ต้องทำอะไรที่เป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการหนีดูหนัง หนีไปเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็หาได้พ้นจากสายตาหรือการรับรู้ของพระอาจารย์ไม่  เพราะประสบการณ์ท่านมากกว่า  ปกครองเด็กวัดมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น สิ่งที่เด็กวัดจำนวนหนึ่งต้องพบอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ตอนหนีเที่ยวไปสบาย (เพราะนึกว่าไม่มีใครรู้)  แต่พอกลับมาถึงโดนจับได้ทุกที  ตอนดึก ๆ จึงมักได้ยินเสียงก้นโดนไม้เรียวบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือในช่วงที่มีโปรแกรมหนังดังหนังดีเข้าฉาย  และที่มีมากก็คือช่วงที่มีการฉายหนังรอบละ 50 สตางค์ (เท่าที่พอจะรับรู้ข้อมูลในขณะนั้น ทราบว่าเจ้าของโรงหนังหลีกเลี่ยงการเสียภาษี  ก็ไม่แน่ว่าจะโดนปรับหรืออย่างไร  ทำให้มีการฉายหนังโดยเก็บค่าเข้าชมรอบละ 50 สตางค์ ชมกันตาเปียกตะแฉะครับ)

เนื่องจากในวันเสาร์เป็นวันที่เด็กวัดมีอิสระจะไปไหนก็ได้หนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์  กิจกรรมที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุดก็เห็นจะเห็นการได้เข้าห้องสมุดประชาชนซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับโรงเรียนการช่างพัทลุง (ต่อมาเป็นโรงเรียนเทคนิค และวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง ตามลำดับ) เพื่ออ่านหนังสือนวนิยาย  ทั้งที่เป็นนวนิยายที่ตีพิมพ์รวมเล่มและที่ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารต่าง ๆ นวนิยายอย่างเพชรพระอุมาในนิตยสารจักรวาล(หรือจักรวาลปืน-จำได้ไม่แม่นนัก)ที่เริ่มอ่านตั้งแต่เรียนชั้นประถม(พี่ชายซึ่งไปเรียนต่อต่างจังหวัดซื้อและขนกลับมาบ้าน) ก็ได้อ่านต่อในห้องสมุดประชาชน  นวนิยายในนิตยสารบางกอกก็ต้องติดตามอ่านทุกสัปดาห์  นิยายจีนกำลังภายในที่ตีพิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๆ ก็ถูกหยิบขึ้นมาอ่าน (โดยเฉพาะผลงานแปลของ ว. ณ เมืองลุง จะอ่านมากน้อย ด้วยความรู้สึกว่าเป็น ณ เมืองลุง - ท้องถิ่นนิยมหรือเปล่าก็ไม่รู้) เฉพาะวันเสาร์วันเดียวจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จะอ่าน  บ่อยครั้งที่แอบไปอ่านในวันอาทิตย์ด้วย (ห้องสมุดประชาชนยุคนั้นจะเปิดตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์)  ดังนั้นจึงมีบ่อยครั้งที่โดนฟาดก้นเพราะอ่านจนเพลินกลับมาพัฒนาวัดในช่วงบ่ายไม่ทัน

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว  ด้วยคิดว่าตนเองน่าจะเรียนสายวิทย์ได้จึงสมัครเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพัทลุง  ประจวบกับตอนนั้นท่านผู้อำนวยการต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพของนักเรียน  จึงนำข้อสอบของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามาใช้กับนักเรียนโรงเรียนพัทลุง  ผลก็คือนักเรียนสอบตกกันมาก  จำได้ว่าห้องข้าพเจ้าเรียนอยู่มีนักเรียนประมาณ 40 คน  ที่สอบผ่านการสอบกลางปีมีไม่ถึง 10 คน  ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนั้นไม่มีชื่อของข้าพเจ้า  ดูท่าไม่ไหว  เมื่อพ่อ-แม่อยากให้ไปเรียนครู จึงตัดสินใจสอบไปเรียนครู  แม้ว่าการสอบปลายปีจะได้ 50 % พอดี ก็เห็นทีจะต้องอำลา

ในปี พ.ศ.2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา  ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ได้รับรู้อะไรมากนัก  รู้แต่ว่าเริ่มมีปัญหาภายในโรงเรียน  มีการประท้วงขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้นำนักเรียนสมัยนั้นก็ได้ผนวกการประท้วงขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอมเข้าไปด้วย  เป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมการประท้วงโดยไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรมากนัก

หมายเลขบันทึก: 518375เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2013 05:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2013 05:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สงสัยรุ่นเดียวกัน จบ ป.7 และ 16 ตุลา

ยินดีต้อนรับค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท