โรงพยาบาลชุมชนที่แท้จริง


ที่เรียกว่าโรงพยาบาลชุมชนนั้น ของเมืองไทย มันไม่ใช่ มันเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลกลางที่ไปตั้งอยู่ในอำเภอ

             ผมได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับกองทุนของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศนานแล้วและได้ใช้แนวความคิดนี้เพื่อจะมาทำกับโรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่พริก เพื่อดึงพลังชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงพยาบาลแต่ก็ทำได้ไม่มากนัก แต่ความตั้งใจอันหนึ่งที่มีตั้งแต่เริ่มเป็นผู้อำนวยการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2537 ก็คือการตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลโดยมีตัวแทนจากชุมชนมาร่วมกันบริหารจัดการ
              เมื่อวานก่อนได้อ่านเรื่องแบบนี้ซ้ำอีกครั้งจึงได้คัดลอกมานำเสนอให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านตากและผู้สนใจได้อ่านด้วย(คัดลอกมาลงในเว็บบอร์ดwww.bantakhospital.com)
              ผมอยู่ที่แม่พริก 3 ปี ย้ายมาโรงพยาบาลบ้านตากเมื่อ 19 พฤษภาคม 2540 ก็ยังคงมีความตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้ต่อ เริ่มจากการเชิญชวนประชาชนมาพัฒนาโรงพยาบาล 9 ปีที่ผ่านมาได้เงินบริจาคประมาณ 20 ล้านบาท มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลจากภาคประชาชน(กพร)ตั้งแต่ปี 2544จนถึงปัจจุบันเป็นคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลจากภาคประชาชนชุดที่ 2 และในปี 2547 ก็เริ่มจัดตั้งกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากร่วมกับกพรและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านตาก จนในวันที่ 4 เมษายน 2548 จึงได้เงินบริจาคเพียงพอจัดตั้งเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตาก ปัจจุบันมีเงินมูลนิธิทั้งสิ้นประมาณ 5,200,000 บาท บริหารมูลนิธิโดยคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตากจากคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลและหัวหน้ากลุ่มงานในโรงพยาบาลบ้านตาก มีการประชุมติดตามงานทุก 2 เดือน
              คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลมีวาระละ 2 ปี แต่เป็นซ้ำได้ไม่จำกัดวาระ คัดเลือกโดยคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านตาก เสนอชื่อให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากออกคำสั่งแต่งตั้ง ในเดือนตุลาคม 2549 นี้กรรมการชุดที่ 2 จะครบวาระและจะมีการสรรหากรรมการพัฒนาดรงพยาบาลชุดที่ 3 ขึ้นใหม่
               อาจารย์บรรลุ ศิริพานิช เคยกล่าวว่าที่เรียกว่าโรงพยาบาลชุมชนนั้น ของเมืองไทย มันไม่ใช่ มันเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลกลางที่ไปตั้งอยู่ในอำเภอ ถ้าอย่างของต่างประเทศโรงพยาบาลชุมชนเขาจะตั้งโดยชุมชน บริหารโดยชุมชน พัฒนาโดยชุมชน ชาวบ้านร่วมกันลงขันเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆของโรงพยาบาลกันเอง รัฐบาลไม่ได้ออกเงินให้ ชาวบ้านจึงรักและหวงแหนโรงพยาบาลชุมชนของตนเอง
               หากมองโรงพยาบาลชุมชนของไทย เราได้เปรียบตรงที่มีรัฐสนับสนุนอยู่แล้ว หากผลักดันให้ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เข้ามามีหุ้นส่วนในโรงพยาบาล มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ เชื่อมั่นว่าการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนที่ตอบสนองตรงต่อความต้องการของชุมชนจะเป็นไปได้อย่างดีมาก
               โรงพยาบาลบ้านตาก มีคณะกรรมการมูลนิธิที่มีตัวแทนมาจากทั้งชุมชนและของโรงพยาบาล มีมูลนิธิโรงพยาบาล ที่แม้เงินไม่มาก แต่หากระดมทุนศรัทธาจากชาวบ้านได้ ความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของโรงพยาบาลที่สามารถตอบสนองต่อชุมชนได้ก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

มติชนรายวัน วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10424

เวิลด์คลาสยูนิเวอร์ซิตี้

โดย ดร.นิรันดร์ จิวะสันติการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยโยนก



เดือนกันยายน นิตยสารการอุดมศึกษาของสหรัฐ The Chronicle for Higher Education จะออกหนังสือรวมข้อมูลสถิติสำคัญของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา Almanac Issue 2006-2007

นิตยสารฉบับนี้มีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่เป็นประเด็นสำคัญ และเป็นดัชนีชี้ถึงทรัพยากรของชาติ ของมหาวิทยาลัยสหรัฐ ที่บ่งบอกความเป็นเลิศ และการยอมรับเป็นมหาวิทยาลัยเวิลด์คลาส

หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วมหาวิทยาลัยเมืองไทยอยู่ตรงไหน เราจะมีสิทธิเป็นมหาวิทยาลัยเวิลด์คลาสกับเขาหรือเปล่า?

ขอเล่าให้ฟังว่าทำไมมหาวิทยาลัยในสหรัฐ จึงครองความเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยของโลกมาโดยตลอด

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยของสหรัฐ ก้าวสู่ความเป็นเลิศของโลก และรักษาตำแหน่งไว้มานาน และดูน่าจะครองแชมป์ตลอดกาลอีกนาน คือ "ทรัพยากร" โดยเฉพาะเงินและวัฒนธรรมการบริจาคของสหรัฐที่บริจาคให้แก่สาธารณะ (Philanthropy) การศึกษาและการสาธารณสุข

วัฒนธรรมการบริจาคของชาวอเมริกัน เมื่อทำงานก่อร่างสร้างตัว สร้างฐานะ ร่ำรวยแล้วก็บริจาคเงินส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดให้สาธารณะ ตั้งมูลนิธิ สร้างโรงพยาบาล สร้างมหาวิทยาลัย และมีก้อนใหญ่ฝากไว้เอาดอกผลมาดำเนินการและพัฒนา

เช่น ตระกูลร้อกกี้เฟลเลอร์ ฟอร์ด คาร์เนลกี้ สแตนฟอร์ด แวนดาบิสท์ เคลลอก และล่าสุด บิลเกด และวอเรนท์ บัฟเฟท์ ลูกๆ มักจะไม่ได้มรดกเป็นกอบเป็นกำ หรือไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตารอรับมรดก เพราะต้องการเป็นตัวของตัวเอง ส่วนมากเริ่มเป็นอิสระบ้างในเรื่องการเงิน ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยหาเงินสนับสนุนตนเองตั้งแต่เรียน

ความทรงพลังของมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกาที่มีทรัพยากรล้นหลาม ที่จะสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อรักษาความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยต้องรณรงค์หาเงินตลอดเวลา อธิการบดีมีหน้าที่สำคัญคือ หิ้วกระเป๋าหาเงิน มีรองอธิการบดีและทีมงานอยู่ตามรัฐ ตามเมืองต่างๆ ช่วยหาเงินบริจาค เป็นภารกิจและสิ่งท้าทายหนึ่ง

อธิการบดีรูเดนสไตน์ ของฮาร์วาร์ด ถึงกับต้องพัก เนื่องจากการตรากตรำทำงานและเดินทางหาเงิน

Almanac 2005-2006 ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ระดมทุนได้สูงที่สุดตามลำดับในปีก่อน ดังนี้

ม.ฮาร์วาร์ด 540,333,401 เหรียญ หรือ 21,600 ล้านบาท

ม.สแตนฟอร์ด 524,213,993 เหรียญ หรือ 20,960 ล้านบาท

ม.คอร์แนล 385,936,235 เหรียญ หรือ 15,437 ล้านบาท

ม.เพนซิลเวเนีย 332,820,949 เหรียญ หรือ 13,313 ล้านบาท

ม.เซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย 322,090,595 เหรียญ หรือ 12,884 ล้านบาท

ม.จอห์นฮอปคินส์ 311,513,165 เหรียญ หรือ 12,460 ล้านบาท

ม.โคลัมเบีย 290,618,180 เหรียญ หรือ 11,624 ล้านบาท

ม.เอ็มไอที 289,838,445 เหรียญ หรือ 11,593 ล้านบาท

ม.เยล 264,771,841 เหรียญ หรือ 11,590 ล้านบาท

ม.ยูซีแอลเอ 262,148,586 เหรียญ หรือ 10,486 ล้านบาท

สังเกตว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนถึง 9 แห่ง และของรัฐ คือ ยูซีแอลเอ เพียงแห่งเดียว

มูลนิธิหรือบุคคลที่บริจาคให้มหาวิทยาลัยรายใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 ได้แก่

มูลนิธิบิลและเมลินดา เก็ตส์ ให้กับโครงการทุนการศึกษามิเลนเนียม จำนวน 1,000 ล้านเหรียญ หรือ 40,000 ล้านบาท ในปี 1999

มูลนิธิกอร์ดอนและเบตกี้ มัวร์ ให้กับสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) จำนวน 600 ล้านเหรียญ หรือ 24,000 ล้านบาท ในปี 2001

มูลนิธิ เอฟ ที่โอลิน คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยแบ๊บสัน จำนวน 460 ล้านเหรียญ หรือ 18,400 ล้านบาท ในปี 1997

มูลนิธิ วิลเลียม และฟลอลา ฮิวเล็ต ให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จำนวน 400 ล้านเหรียญ หรือ 16,000 ล้านบาท ในปี 2001

มูลนิธิวอลตั้น (ผู้ก่อตั้งวอลมาร์ค ชาวอาร์คันซอ) ให้มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ จำนวน 300 ล้านเหรียญ หรือ 12,000 ล้านบาท

ฯลฯ

หลายมูลนิธิบริจาคซ้ำอีกหลายครั้งให้แก่มหาวิทยาลัยเดิมที่เคยให้ โดยเฉพาะนายฮิวเลค และนายแพคการ์ด และมูลนิธิของเขาทั้ง 2 ให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมแล้วหลายๆ ครั้งเกือบ 1,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 40,000 ล้านบาท

เงินที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งหน้าตั้งตาหากัน จัดเป็นจำนวนใหญ่ๆ 3 จำพวก จำพวกแรกเป็นการระดมเพื่อกองทุนเพื่อพัฒนา หรือ Endowment Fund

จำพวกที่สองเป็นการบริจาคเพื่อลงทุนการก่อสร้าง เช่น อาคารเรียน ห้องสมุด หอพัก สนามกีฬา ฯลฯ (Capital Fund)

และจำพวกที่ 3 เป็นทุนเพื่อดำเนินการประจำปี (Annual Fund) ที่ไม่ระบุวัตถุประสงค์ที่มหาวิทยาลัยสามารถนำไปบริหารตามภารกิจที่ต้องการ

กองทุนพัฒนาหรือ Endowment Fund เป็นกองทุนที่ใช้เฉพาะเงินดอกเบี้ยหรือเงินปันผลการลงทุนไปใช้กับภารกิจของมหาวิทยาลัยที่ระบุวัตถุประสงค์ กองทุน Endowment เป็นกองทุนสำคัญที่ชี้ถึงความมั่นคงของมหาวิทยาลัย

ลองดูว่ามหาวิทยาลัยเวิลด์คลาสเขามีทุนรอนจาก Endowment เท่าไร

ม.ฮาร์วาร์ด ประมาณ 22,000 ล้านเหรียญ หรือ 880,000 ล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายของหลายประเทศในโลก

ม.เยล ประมาณ 13,000 ล้านเหรียญ หรือ 520,000 ล้านบาท

ม.เทกซัสทั้งระบบ ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญ หรือ 400,000 ล้านบาท

ม.พรินซตัน ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญ หรือ 400,000 ล้านบาท

ม.สแตนฟอร์ด ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญ หรือ 400,000 ล้านบาท

และไล่ลงไป 47 อันดับ ที่เป็นสมาชิกพันล้านเหรียญ หรือ Bilion Dollar Club ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะมีอีกหลายมหาวิทยาลัยบรรลุเป้า Endowment เป็นพันล้านเหรียญ

นอกจากเงินระดมจากการบริจาคแล้ว มหาวิทยาลัยเวิลด์คลาสดังกล่าวยังได้เงินสนับสนุนวิจัยและพัฒนาจากรัฐบาลและบริษัทต่างๆ อีก

การจะทำให้ประเทศไทย มีมหาวิทยาลัย World Class ต้องดูบทเรียนและข้อมูลการบริจาคเพื่อสาธารณะ และการรณรงค์หาทุนของมหาวิทยาลัย

แน่นอนว่าเราจะขี้ตามช้างไม่ได้ เพราะความมั่งคั่งของประเทศต่างกันเยอะ วัฒนธรรมการบริจาคและกฎหมายภาษีต่างกัน

แต่ผมเสนอให้รวมทรัพยากรทุ่มไปยังมหาวิทยาลัยไทยที่มีความพร้อมสูงสุด และเสริมพลังเข้าไปก็จะก้าวสู่ World Class ได้

ผมไม่ได้พูดถึงการเอาเงินของรัฐไปลงให้มหาวิทยาลัยดังกล่าวโดยไม่มีเป้าหมายชัดเจน แต่สิ่งที่อยากจะลองนึกดูว่าจะทำได้ คือ

ประการแรก เรามีมหาเศรษฐี คหบดีระดับใหญ่ๆ จำนวนไม่น้อย หากท่านเหล่านั้นอยากจะสร้างคน สร้างชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับตนและตระกูล ร้อยปีพันปีคนก็จะต้องพึ่งพาอาศัยและกล่าวยกย่อง คือ ตั้งกองทุนหรือมูลนิธิเพื่อความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไทย Endowment For Thai University Excellence 70,000 ล้านบาท เหลือไว้ 3,000 ล้านบาท เพื่อส่วนตัวครอบครัวและลูกหลาน

กองทุนเอนเดาเมนท์นี้ ในรูปของมูลนิธิมีผู้บริหารกองทุน (ซีอีโอ) ที่มาจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัย (อดีตอธิการบดีใหญ่ๆ ดังๆ อาทิ อธิการบดีจูดี้ โรแดง ลาออกจากอธิการบดี ม.เพนซิลเวเนีย ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิ รอกกี้เฟลเลอร์ แสดงว่าตำแหน่งดังกล่าวมีคุณค่า มีเกียรติและสามารถบริหารมูลนิธิเอาเงินไปสร้างคน สร้างสังคม สร้างประเทศ สร้างโลก บิลเกตยังจะลาออกจากไมโครซอฟท์มาเป็น CEO มูลนิธิของเขา)

ข้อต่อไป ผมแนะนำให้เลือกเอนเดาเพียง 2-3 มหาวิทยาลัย ที่ใกล้เคียงก้าวสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกแล้วเช่น มหิดล จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ หรือเชียงใหม่

เอนเดา ม.มหิดล 25,000 ล้าน จุฬาฯ 25,000 ล้าน ม.เชียงใหม่ 10,000 ล้าน ม.ทักษิณ 10,000 ล้าน เอาเฉพาะดอกหรือเงินปันผลการลงทุนไปทำสิ่งต่อไปนี้ (บริหารเงินลงทุนเก่งๆ น่าจะได้ผลตอบแทนอย่างต่ำปีละ 10-15 เปอร์เซ็นต์ จะได้ดอกได้ผลปีละนับหมื่นล้านไปเสริมมหาวิทยาลัย)

1.ให้ทุนนักเรียนมัธยมปลาย ที่เป็นเลิศในด้านฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด เอ็มไอที พรินซตัน เยล เพนซิลเวเนีย จอนห์ฮอปกินส์ จนถึงปริญญาเอก และ Post doctor

2.ให้ด็อกเตอร์ที่สำเร็จดังกล่าวกลับมามหาวิทยาลัย ทำวิจัยเป็นหลัก สอนเป็นรอง เอาเงินดอกผลจาก Endowment สมทบเงินเดือนอีกคนละ 30,000-40,000 หรือมากกว่า ต่อเดือน เป็นกรณีพิเศษ เพื่อดึงดูดให้อยู่สร้างผลงานวิจัย และการสอน การเขียนตำรา

3.มีระบบ Sabbatical หรือการพักสอนพักงานให้อาจารย์ เพื่อพัฒนาทุกๆ 3-4 ปี ไป Sabbatiacal ได้ 4 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อไปศึกษาต่อทำวิจัยตามมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยขึ้นชื่อต่างประเทศและสร้างเครือข่ายวิชาการและวิจัย

ผมคิดว่ายังไม่จบ World Class University ต้องมีสมดุลของหลักสูตรที่ให้ความสำคัญ มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ หรือ Liberal Arts ต้องดูแลนักศึกษาที่ 1 ให้ดี ให้เขาเข้าใจการแสวงหาปัญหาไม่ใช่ปริญญาและอาชีพ ให้ได้เรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้แตกฉาน ทั้งการเขียน การอ่าน และวรรณกรรมต่างๆ ให้เรียนประวัติโลก และไทยให้เข้าใจมากขึ้น

ให้เรียนวิชาอารยธรรม ศิลปนิยม (Art Appreciation) สังคีตนิยม (Music Appreciation) ให้เรียนวิชาสุขภาพและพลานามัย เพื่อติดตัวจนสูงวัยในการสร้างพลานามัยและสุขภาพ การเอาจริงจังกับวิชาศิลปศาสตร์ดังกล่าว จะทำให้บัณฑิตเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ เข้าใจเรื่องมนุษย์และสังคมที่จะปรับตนให้เข้ากับสังคมและโลก

รัฐบาลต้องเปลี่ยนกฎหมาย หลายประเภท ภาษีมรดก ภาษีส่วนบุคคล ภาษีมูลนิธิ เพื่อจูงใจการบริจาคให้มหาวิทยาลัย คนที่บริจาคให้มหาวิทยาลัยหรือการศึกษา คือ การลงทุนสร้างสังคมและสร้างชาติ ต้องได้แรงจูงใจ เกียรติ และยกย่องอย่างสูง

ครับ นี่คือมหาวิทยาลัยในอุดมคติและการก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยในแนวหน้า (World Class University) ของไทย

ไม่ใช่จะเสร็จในปีสองปี อาจจะใช้เวลา 10 ปี 20 ปี 50 ปี

"แต่เราต้องเริ่มได้แล้ว"

คำสำคัญ (Tags): #community#hospital#hph
หมายเลขบันทึก: 51740เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไม่มีความรู้เรื่อง กพร. ที่เมืองไทยเลยค่ะ แต่เข้ามาแวะเล่าสู่กันฟังว่า ที่แคนาดานั้นโรงพยาบาลก็เป็นของรัฐไปตั้งอยู่กลางชุมชนเมืองบ้านเราค่ะ

เงินภาษีที่เก็บไปรวมกันที่รัฐส่วนกลาง แล้ว แต่ละปี รัฐส่วนกลางจะแบ่งเงินมาให้แต่ละจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดไปบริหารเอง (จังหวัดที่นี่ใหญ่มาก)

แต่ละจังหวัดก็มีหลายเขต แต่ละเขตก็ดูแลจัดการเงินที่จังหวัดแบ่งมาอีกที (จริงๆ 1 เขตเค้า ขนาดประมาณ 1 จังหวัดบ้านเรา สำนักงานสาธารณสุขเขต เค้า ก็ใหญ่ปละมีหน้าที่ประมาณ สสจ. ของเรา) 

แต่มูลนิธิโรงพยาบาล (hospital foundation) ต่างๆนั้นมักจะเริ่มมากจากการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือการเงินของโรงพยาบาลโดย

1. องค์กรทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวัดคริสต์ พุทธ ยิว ก็ถือเป็นกิจกรรมทำบุญของเค้าไป 

2. ญาติคนไข้ที่รู้สึกผูกพันกับโรงพยาบาลเช่น ผู้ปกครองของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรงเรื้อรัง หรือ ลูกหลานของผู้สูงอายุที่อยู่ extended care เป็นเวลานาน

(ส่วนมหาวิทยาลัยที่นี่ก็มีมูลนิธิโรงพยาบาล แต่ก็สนับสนุนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนั้นๆเอง ไม่ลงไประดับรพ.ชุมชนค่ะ)

ชื่อของมูลนิธีก็จะเป็นไปตามชื่อโรงพยาบาล ก็คงเหมือน กพร.ค่ะ คณะกรรมการ (board of directors) ก็มาจากคนในชุมชน เป็น  มีประธาน รองประธาน เลขา เหฯ แล้วก็กรรมการอีก 5-10 คน แล้วแต่ขนาดโรงพยาบาล ในboardนั้นก็มักจะมีหมอหรือบุคคลากรจากรพ.อยู่ด้วยคนสองคน

วาระประชุมนั้นก็แล้วแต่ที่ บางที่ทุก 2-3 เดือนก็มี บางที่ก็ปีละหน

หน้าที่ของมูลนิธิคือ ระดมทุน (fundraising) เพื่อนำมาใช้

1. ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทั้งชิ้นใหญ่โต ถึง เตียง หรือ รถเข็น ก็แล้วแต่รพ. ขาดอะไร ที่ต้องการเพิ่มจากงบที่ทางจังหวัดแบ่งมา  

2. สนับสนุนวิจัยของโรงพยาบาลเอง

อีกอย่างคือไม่ว่ารพ. จะมีโครงการใดใหม่ๆ หรือทำวิจัยใหม่ รพ. จะเรียกคนในชุมชนผ่านมูลนิธิ หาคนที่เป็น stakeholder ในเรื่องนั้นๆมาคุยเป็นกลุ่มว่าคิดอย่างไร เห็นด้วยไม๊ มีอะไรติชมแนะนำไม๊ 

ทางโรงพยาบาลจะรายงานกลับต่อ มูลนิธิตลอดถึงกิจกรรม หรือ การพัฒนาใดๆในรพ. ส่วนมูลนิธิก็มักจะมีวารสาร (newsletter) หรือ อย่างน้อยก็ใบปลิว แจกคนในชุมชนและผู้บริจาคแจ้งข่าวต่างๆที่รพ.อยากสื่อสารกับชาวบ้าน รวมทั้งรายงานว่าเงินที่ได้นั้นได้นำไปใช้ประโยชน์จริง

ส่วนเรื่องระดมทุนนั้นก็มีทั้งไล่หาผู้บริจาคบ้าง (ทั้งชาวบ้่านชุมชนเอง และ เศรษฐีในประเทศ) แม่บ้านหรือเด็กนร.ทำของที่ระลึกขายบ้าง จัดคอนเสิรต์บ้าง หลายหลายแบบมากค่ะ

การที่แต่ละคนได้มีส่วนร่วมหาทุนให้รพ. (ส่วนมากก็จะบริจาคด้วยไม่มากก็น้อยตามกำลัง) แบบนี้แหละค่ะที่ทำให้เค้ารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรพ. ผู้ที่ร่วมลงขัน หรือ ลงแรงทุกคนจะได้ข่าวสารจาก รพ.ตลอด เคยคุยกับคนแก่แถวๆนี้หลายคน เ้ค้ารออ่าน newsletter นี้เหมือนรออ่ายนิยายในนิตยาสารเลยค่ะ


เขียนมาซะยาว ไม่รู้เกี่ยวบ้างรึเปล่าค่ะ?

 

ขอบคุณมากครับ ทำให้เห็นภาพของโรงพยาบาลในต่างประเทศว่าเขาทำกันอย่างไรบ้าง ทำให้ผมได้แนวคิดดีๆที่จะไปทำอะไรต่อในชุมชนได้มากเลย หากพอมีเวลารบกวรช่วยเขียนเล่ามาทางบันทึกอีกนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท