โรคนิ่วในไต ในกระเพาะปัสสาวะ ( โรคนิ่ว 2 )


โรคนิ่วในไต ท่อไต ในกระเพาะปัสสาวะ

อาการ การตรวจวินิจฉัย การรักษา รวมไปถึงการป้องกันของโรคนิ่ว 2 ประเภท คือ

นิ่วในไตหรือท่อไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

อาการของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นภาพใหญ่ที่ทุกท่านสามารถทำความเข้าใจได้ อาการจะขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว ตำแหน่งที่นิ่วนั้นอุดอยู่ นิ่วนั้นจะไปอุดทางเดินปัสสาวะมากน้อยแค่ไหน หากเป็นในระยะแรกร่างกายอาจขับก้อนนิ่วออกมาได้เองทางปัสสาวะ ซึ่งจะพบตะกอนเหมือนก้อนกรวดเล็ก ๆ ปนออกมาพร้อมกับปัสสาวะ แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีการอุดตันมากขึ้น จึงมีการเสียดสีและทำให้เกิดการบาดเจ็บ จนมีเลือดออก และส่งผลให้ปัสสาวะมีสีแดงขึ้นจากเลือด หรือบางกรณีมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ


( ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)


อาการของนิ่วในไตหรือท่อไต

มักมีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังที่เป็นตำแหน่งของไต เวลาที่ก้อนนิ่วหลุดมาอยู่ใน ท่อไต จะมีอาการปวด ชนิดรุนแรงมาก เหงื่อตก และมักเกิดเป็นพัก ๆ ปัสสาวะอาจมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อร่วมด้วยได้ เรื่องปวดหลังต้อง เข้าใจว่า ถ้าปวดเพราะทำ งานหนักหรือนั่งทำงาน มานาน ๆ กล้ามเนื้อหลังอาจล้าหรือปวดได้ อันนี้เป็นเรื่องของการปวดเมื่อยซึ่งเป็นกันมาก จนอาจสับสนว่าเป็นนิ่วได้

ถ้านิ่วลงมาอุดตันบริเวณท่อไตต่อกับกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองเวลาปัสสาวะ อยากปัสสาวะ แต่ปัสสาวะขัด และกะปริดกะปรอย ในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนจะมีอาการไข้ร่วมด้วย หากปล่อยให้เป็นนิ่วไปนาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ไตบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลให้ไตมีรูปร่างและทำงานผิดปกติมากขึ้น นำไปสู่ภาวะไตวายได้ในที่สุด

อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

มีอาการปัสสาวะขัด สะดุด ถ่ายเจ็บ ไม่สะดวก บางทีออกกะปริดกะปรอยหรือออกเป็นหยดขุ่นหรือขาวเหมือนมีผงแป้งอยู่ บางครั้งมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ อาจมีสิ่งที่คล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ  ถ้านิ่วไปอุดท่อทางเดินปัสสาวะ ก็จะทำให้เกิดการอยากถ่ายปัสสาวะอยู่เสมอ แต่ก็ถ่ายไม่ออก

เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะทำ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาความผิดปกติจากปัสสาวะ โดยแพทย์จะตรวจหาเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ และหากพบว่ามีเม็ดเลือดขาว อาจแสดงให้เห็นถึงภาวการณ์ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และตรวจการทำงานของไตโดยการดูค่าเครตินิน จากการเจาะเลือด

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้วิธีการตรวจทางรังสีร่วมด้วย ซึ่งการตรวจทางรังสี มีดังนี้

1. เอกซเรย์ หากพบว่ามีเงาไตที่เรียก KUB (Kidney Ureter and Bladder) ซึ่งเป็นนิ่วที่ทึบแสงก็สามารถเห็นนิ่วได้ หากเป็นนิ่วที่ไม่ทึบแสงก็ไม่สามารถเห็นได้

2. ไอวีพี (IVP) เป็นการฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งสีจะถูกขับออกทางไต หลังจากฉีดสีแล้วจะทำการเอกซเรย์เงาไตที่เวลาต่าง ๆ หลังฉีดสี เพื่อดูรูปร่างและลักษณะของไตว่ามีการอุดตันจากนิ่วหรือไม่ รวมถึงการ ทำงานของไตว่าดีมากน้อยแค่ไหน

3. อัลตราซาวด์ เพื่อดูลักษณะรูปร่างของไต ดูนิ่วในไต ซึ่ง  บางชนิดไม่สามารถเห็นได้จากการเอกซเรย์ปกติ เนื่องจากนิ่วไม่ทึบแสง  อาจพบว่าไตมีการบวมจากการอุดตันของนิ่ว ข้อดีคือ สามารถตรวจในคนท้องได้ ไม่ต้องเจอรังสี ทำในคนสูงอายุได้อย่างปลอดภัย ข้อเสียคือ มักจะไม่พบนิ่วที่ท่อไตและความไวในการตรวจต่ำ

ด้านการรักษาทางการแพทย์มีหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลเรื่องขนาดของนิ่ว ตำแหน่งของนิ่ว ความแข็งของนิ่วไตบวมมากหรือน้อย รวมทั้งการอักเสบของไต เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย บางรายอาจเหมาะสมที่จะรักษาด้วยการสลายนิ่ว แต่บางรายก็ไม่เหมาะสมที่จะสลายนิ่ว แต่อาจรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อจะได้เข้าใจถึงเหตุผลที่แพทย์เลือกวิธีนั้น ๆ ในการรักษา

การรักษาทางยา เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับในรายที่เป็นนิ่วขนาดเล็กในไตหรือท่อไต  ลักษณะกลม เรียบ มีอาการปวดไตน้อย และไม่อักเสบรุนแรง

การรักษาด้วยการสลายนิ่วด้วยเครื่องช็อกเวฟ (SHOCKWAVE) เหมาะสำหรับนิ่วในไต หรือท่อไตขนาดปานกลาง โตประมาณ 2-3 เซนติเมตร

การรักษาด้วยการใช้กล้องส่องเข้าไปคีบ ขบ กรอนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและท่อไต ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัดสามารถสอดกล้องเข้าไปตามท่อปัสสาวะได้

การรักษาด้วยการเจาะสีข้างเข้าไปในไตเพื่อส่องกล้องและกรอนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วขนาดปาน กลาง และโตแบบไม่แตกแขนง

การรักษาด้วยการผ่าตัด เหมาะสำหรับนิ่วขนาดใหญ่ เช่น นิ่วเขากวางในไต นิ่วในท่อไตที่ติดแน่น ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบรุนแรงซึ่งต้องรีบขจัดนิ่วออก ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมมากแล้ว เป็นต้น


สำหรับการป้องกันการเกิดโรคนิ่ว แพทย์มีคำแนะนำดังต่อไปนี้

1. ให้ดื่มน้ำมากกว่าวันละ 8 แก้ว หรือให้ได้ปริมาตรของปัสสาวะมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดความอิ่มตัวของสารก่อนิ่วในปัสสาวะและลดโอกาสการก่อผลึกนิ่วในระบบ ทางเดินปัสสาวะ

2.บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนที่เหมาะสม ให้ลดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารหวานมาก-เค็มมาก และอาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่ หนังสัตว์ปีก ตับ ไต ปลาซาร์ดีน เป็นต้น

3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น งา ผักโขม ช็อกโกแลต สตรอเบอรี่ ชา ถั่ว แอปเปิ้ล หน่อไม้ฝรั่ง บรอกโคลี ชีส เบียร์ น้ำอัดลม กาแฟ โกโก้ ไอศกรีม นม ส้ม สับปะรด วิตามินซี โยเกิร์ต ฯลฯ

4. ผู้ที่มีนิ่วควรรับประทานอาหารที่มีใยมาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

   สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติและสงสัยว่ามีนิ่วในไตควรปรึกษาแพทย์ ส่วนคำถามสำคัญก็คือ ผู้ที่เคยเป็นนิ่วแล้วมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคนิ่วอีกครั้งได้หรือไม่ ต้องตอบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้น การป้องกันรักษาตัวไม่ให้เกิดโรคนิ่วจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอหลังการรักษานิ่ว

โดย ผศ.นพ.วิทย์ วิเศษสินธุ์
หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


( ขอบคุณ โรคนิ่ว จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ )

ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี


หมายเลขบันทึก: 517192เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2013 06:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท