โรคนิ่ว ในทางเดินปัสสาวะ ( โรคนิ่ว 1)


นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในรับบทางเดินปัสสาวะ

โรค “นิ่ว”

นั้นเป็นโรคที่จะว่าไปแล้ว เป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เลยทีเดียว เพราะมีรายงานออกมาว่า พบนิ่วในกระเพาะ ปัสสาวะภายในโครงกระดูกของมัมมี่ ที่ประเทศอียิปต์ มัมมี่ตัวนั้นเข้าใจกันว่าเป็นเด็กชายอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งเสียชีวิตมาแล้วราว 7,000 ปี จนถึงปัจจุบัน โรคนิ่วเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากทั่วโลก และอุบัติการณ์ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีอุบัติการณ์โรคนิ่วในไตสูงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ  จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง และโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้โรคนิ่วในไต ยังมีอุบัติการณ์การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาและป้องกันการ เกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วในไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของ ประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง

โดยทั่วไปแล้ว โรคนิ่วนั้นมักเริ่มเกิดขึ้นที่ไตก่อน ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งไปยังกรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งถ้านิ่วมีขนาดเล็กก็จะหลุดออกมาเองได้ตอนผู้ป่วยปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ก็จะไปอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ

โรคนิ่วนั้นมีอยู่สองชนิดด้วยกัน คือ นิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่ว  ในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อปัสสาวะ ซึ่งนิ่วทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องส่วนประกอบ สาเหตุ และการดูแลรักษา แต่ที่เรียกว่านิ่วเหมือนกัน อันนี้คงเป็นเพราะว่า ลักษณะที่เห็นนั้น คล้ายก้อนหินเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คนเป็นโรคนิ่ว จึงต้องรู้ว่าเป็นนิ่วที่ใด

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคนิ่ว นั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เมตาบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการกินอาหารของแต่ละคน แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง นิ่วอัน เกิดจาก “สารก่อนิ่ว” ที่มีอยู่ในปัสสาวะตามปกติ ได้แก่ แคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลต ยูเรต ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

สารเหล่านี้ สามารถรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนผลึกแข็งและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกลาย เป็นนิ่วอุดตันที่บริเวณต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะ องค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซียมแอมโมเนียม ฟอสเฟต เป็นต้น นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต รองลงมาคือ นิ่วกรดยูริก

สำหรับสารที่ป้องกัน การก่อผลึกในปัสสาวะเรียกว่า “สารยับยั้งนิ่ว” ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ปัจจัยเสี่ยงด้านความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่ว  ในไตของคนไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่ ภาวะ ซิเทรตในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 70-90 และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนิ่ว  อาจแบ่งได้เป็นปัจจัยภายใน เช่น กายวิภาคของไต พันธุกรรม เชื้อชาติ และปัจจัยภายนอก เช่น ปัจจัยทาง ภูมิศาสตร์ อากาศ และฤดูกาล ปริมาณน้ำที่ดื่ม พฤติกรรมการกิน อาชีพ และยาบางชนิด

กลไกการเกิดโรค สามารถตรวจวัดได้จากสาเหตุการเกิดนิ่วใน ไต คือ การมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงกว่าระดับสารยับยั้งนิ่วร่วมกับปัจจัยเสริมคือ ปริมาตรของปัสสาวะน้อย ส่งผลให้เกิดภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ จึงเกิดผลึกที่ไม่ละลายน้ำขึ้น เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต และ ยูเรต ผลึกนิ่วที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้เซลล์บุภายในไตถูกทำลาย ตำแหน่งถูกทำลายนี้จะเป็นพื้นที่ให้ผลึกนิ่วเกาะยึดและรวมกลุ่มกันจนเกิดการ ทับถมของผลึกนิ่วเป็นเวลานาน จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

ในคนปกติที่มีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะสูงเพียงพอจะสามารถยับยั้งการก่อ ตัวของผลึกนิ่วได้ โดยสารเหล่านี้จะไปแย่งจับกับสารก่อนิ่ว เช่น ซิเทรตจับกับแคลเซียม หรือแมกนีเซียมจับกับออกซาเลต ทำให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี และขับออก ไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ปริมาณสารก่อนิ่วในปัสสาวะลดลงและไม่สามารถรวมตัวกันเป็น ผลึกนิ่วได้

นอกจากสารยับยั้งนิ่ว ในกลุ่มนี้แล้ว โปรตีนในปัสสาวะ หลายชนิดยังทำหน้าที่ป้องกัน การก่อผลึกในปัสสาวะ และเมื่อเคลือบที่ผิวผลึกจะช่วยขับผลึกออกไปพร้อมกับปัสสาวะได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีหลายงานวิจัยระบุว่าความผิดปกติของการสังเคราะห์และการทำงานของ โปรตีนที่ยับยั้งนิ่วเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคนิ่วไต

ส่วนนิ่วที่พบได้บ่อยในประเทศไทย อธิบายได้ว่า

ก้อนนิ่วสามารถจำแนกชนิดคร่าว ๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ  

         นิ่วชนิดเนื้อเดียว  ที่มีองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว

และ  นิ่วชนิดเนื้อผสม   ที่มีหลากหลายองค์ประกอบรวมกัน

นิ่วส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยจะเป็นนิ่วเนื้อผสม ซึ่งเราสามารถแบ่งชนิดนิ่วได้จากองค์ประกอบหลักที่สำคัญในก้อนนิ่ว ได้แก่ นิ่วแคลเซียมออกซาเลต นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต นิ่วยูเรตหรือนิ่วกรดยูริก นิ่วสตูไวท์หรือนิ่วติดเชื้อ นิ่วซีสทีน และนิ่วชนิดอื่น ๆ


โดย ผศ.นพ.วิทย์ วิเศษสินธุ์
หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยามหิดล


(ขอบคุณ โรคนิ่วฯจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ )

  ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี


หมายเลขบันทึก: 517191เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2013 06:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอร่วม   ต่อยอด

กินข้าวนึ่ง เสี่ยงเป็น นิ่วซ้ำซาก

กินน้ำมะนาว มีส่วนช่วยรักษานิ่ว

http://www.bmbmd.research.chula.ac.th/knrenal.htm

http://www.bmbmd.research.chula.ac.th/pdf/Kidney%20Stone-%20From%20Molecular%20Lithogenesis%20to%20Stone%20Prevention.pdf


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท