การจัดการความรู้:จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ


KMจากแนวคิดสู๋การปฏิบัติ

                เมื่อเอ่ยคำว่า ศรีธัญญา คงไม่มีใครในประเทศไทยไม่รู้จักโรงพยาบาลที่บำบัดรักษาผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวช ที่ก่อตั้งมานานมากกว่า 60 ปี   และ เพื่อให้โรงพยาบาลศรีธัญญามีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  โรงพยาบาลศรีธัญญาจึงได้นำกระบวนการจัดการความรู้ มาใช้ภายในองค์กร ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาในช่วงแรกของการดำเนินงาน  โรงพยาบาลศรีธัญญาได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้ภายในองค์กร  เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาระบบบริหารความรู้ภายในองค์กร จัดให้มีการประมวลองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ  รวมถึงสร้างระบบสารสนเทศให้บุคลากรทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล  ความรู้และใช้ประโยชน์จากความรู้ได้ง่ายมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ได้จัดทำแผนแม่บททางวิชาการและการวิจัย    จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบบริหารความรู้ภายในองค์กร แก่คณะกรรมการบริหาร  คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้ภายในองค์กร  คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  ประธานทีมนำ และหัวหน้าหน่วยคุณภาพ ทั่วทั้งองค์กร   ในช่วงที่สองของการดำเนินงาน  คณะกรรมการจัดการความรู้ได้มีการศึกษาวิเคราะห์การจัดการความรู้ในโรงพยาบาลศรีธัญญา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับผู้นำหน่วยทุกหน่วย  กำหนดวิสัยทัศน์การจัดการความรู้โรงพยาบาลศรีธัญญาภายใต้วิสัยทัศน์  พันธะกิจ และนโยบายของโรงพยาบาลศรีธัญญาว่า    ภายในปี 2550 เราจะเป็นผู้นำระดับประเทศในการพัฒนาวิชาการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชสู่ชุมชน และเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว  คณะกรรมการการจัดการความรู้จึงจัดการอบรมการจัดการความรู้สำหรับ Knowledge worker  การประชุมเชิงปฏิบัติการ การเป็น Facilitator  การจัดการความรู้   และกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติจัดตั้งชุมชนแนวปฏิบัติขึ้นมาในองค์กรชุมชนแนวปฏิบัติ (Community of practice:CoP) เป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันภายใต้หัวข้อความรู้ที่มีแรงปรารถนาร่วมกัน  และต้องการพัฒนาความรู้ในหัวข้อดังกล่าวให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แล้วนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในงานของตน  นั่นแสดงว่าชุมชนต้องมีโดเมน(Domain) เป็นหัวข้อความรู้ที่ชุมชนมีแรงปรารถนาร่วมกัน  ซึ่งคำว่า แรงปรารถนา นั้นมีความหมายมากกว่าคำว่า ความสนใจ เพราะคำว่าแรงปรารถนาสมาชิกจะมีแรงขับภายในอย่างมหาศาล  ที่จะช่วยผลักดันกิจกรรมของชุมชนอย่างต่อเนื่อง  ไม่ใช่แค่ความสนใจเท่านั้น  นอกจากนี้ชุมชนแนวปฏิบัติต้องมีการนำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนนั้น  ไปใช้เป็นแนวทางการทำงานงานของตนเอง  และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในงานกลับเข้ามาแลกเปลี่ยนในชุมชนใหม่จึงจะกลายเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น                ผู้เขียนได้มีโอกาสรับรู้เรื่องการจัดการความรู้  ตั้งแต่ช่วงแรกของการดำเนินงาน  โดยเข้ารับฟังการบรรยายจากวิทยากร เพื่อปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการจัดการความรู้เป็นเวลา 3 ชั่วโมง  ความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น คือ ไม่เข้าใจแนวคิด  ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างไร  ต่อมาในช่วงที่สองของการดำเนินงานนี้เองที่ทำให้ได้รู้จัก โมเดล ปลาทู ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ทำให้เริ่มเข้าใจการจัดการความรู้มากขึ้น ดร.ประพนธ์ ยาสุขยืด   ได้อธิบายไว้ว่า KM เปรียบเสมือนปลาทูตัวหนึ่ง ปลาทูตัวนี้มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ส่วนหัวปลา ส่วนตัวปลา และส่วนหางปลา                  ส่วนที่หนึ่ง หัวปลา เป็นส่วนที่เรียกว่า“KV”หรือKnowledge Vision หมายถึง ส่วนที่เป็นทิศทางของการจัดการความรู้เป็นส่วนที่สำคัญมาก  เพราะก่อนที่จะทำ KM ต้องตอบให้ได้ว่าเราจะทำ KM ไปเพื่ออะไร ส่วนที่สอง เป็นส่วนกลางของตัวปลาที่เรียกว่า “KS” หรือ Knowledge Sharing ถือว่าเป็นส่วนของหัวใจ  เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มีใจที่จะแบ่งปัน  เพื่อดึงความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลออกมา  และส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย คือ หางปลา ที่เรียกว่า KA หรือ Knowledge Assets เป็นที่เก็บสะสมความรู้ หรือที่เรียกว่า คลังความรู้                นอกจากโมเดลปลาทูแล้ว ยังได้รู้จักคุ้นเคยกับ คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณกิจ และ คุณลิขิต  ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินการจัดการความรู้ คุณเอื้อ คือ ผู้บริหารระดับสูง มีหน้าที่หาคุณอำนวย และร่วมกับ คุณอำนวยในการกำหนดเป้าหมาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรเพื่อใช้ในการจัดการความรู้  คุณอำนวย คือ ผู้ที่ช่วยให้มีการนำความสำเร็จมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ถอดความรู้มาจากประสบการณ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของหัวปลา ส่วนคุณกิจ คือ ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นพระเอกของการจัดการความรู้เพราะเป็นผู้ที่ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสุดท้าย คุณลิขิต คือ ผู้บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคุณกิจ                 นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการจัดการความรู้ กรมสุขภาพจิตได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดการความรู้ ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้มีประสบการณ์เป็นคุณกิจ โดยให้พูดถึง     เรื่องเล่า (Story telling) ที่ประสบความสำเร็จ   ซึ่งเป็นกลวิธีในการดึงความรู้ที่ฝังแน่นอยู่ในตัวบุคคลออกมา  รวมทั้งการฝึกสกัดความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่า  การได้รับข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา  ทำให้ภาพของการจัดการความรู้ชัดเจนขึ้น                 หลังจากได้รับการเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดการความรู้  ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นสมาชิกชุมชนแนวปฏิบัติ 2 ชุมชน คือ CoPบันทึกทางการพยาบาล และ CoPการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า ทั้งสอง CoP เกิดขึ้นจากแรงปรารถนาของกลุ่มคน  ที่จะพัฒนาความรู้เรื่องการบันทึกทางการพยาบาลตามกระบวนการพยาบาล และพัฒนาความรู้เรื่องการบำบัดทางการพยาบาลในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า                  ก่อนดำเนินการชุมชนแนวปฏิบัติ ผู้เขียนในฐานะ คุณอำนวย ของ CoP บันทึกทางการพยาบาล และในฐานะ คุณลิขิต ของ CoP การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า  สิ่งที่เกิดขึ้นหลังตั้งชุมชนชุมชนแนวปฏิบัติ  คือ ความรู้สึกกังวล  กลัวทำไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร โดยเฉพาะในฐานะคุณอำนวย  ผู้เขียนจึงได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลจากเว็บไซด์ (web site) การจัดการความรู้ของโรงพยาบาลศิริราช  และได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณอำนวย CoPบันทึกทางการพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราช ทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้นมาบ้าง และนึกถึงคำกล่าวของท่านผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ที่พูดเน้นอยู่เสมอว่า การจัดการความรู้...ไม่ทำไม่รู้   ทั้งสอง CoP จึงเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือน เมษายน 2549 เป็นต้นมา                CoP แรก คือ  CoP บันทึกทางการพยาบาล มีจุดมุ่งหมาย (KV) ร่วมกัน คือ การพัฒนาการบันทึกทางการพยาบาลส่วน โดนเมนคือ การบันทึกทางการพยาบาลตามกระบวนการพยาบาล เป้าหมายร่วมกัน  คือ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการบันทึกทางการพยาบาล โดยใช้การเล่าเรื่องที่ภูมิใจในการดึงความรู้ที่ฝังแน่นในตัวบุคคลออกมา ในช่วงแรกที่ดำเนินการ คุณอำนวย มีความยากลำบากมาก เพราะในชุมชนไม่มีใครมีความภาคภูมิใจในการบันทึกทางการพยาบาล ในฐานะคุณอำนวย จึงเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยใช้ กรณีศึกษา (Case study) คือ การนำตัวอย่างจริงที่พบมาอภิปราย  กรณีศึกษาจึงเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความรู้อีกวิธีหนึ่ง  ทำให้ คุณอำนวยสามารถดึงความรู้เรื่องการบันทึกที่มีอยู่ในตัว คุณกิจออกมาได้  และในบางสถานการณ์คุณอำนวยก็ทำตัวเป็นคุณกิจ และคุณลิขิตไปด้วย                 CoPบันทึกทางการพยาบาล นัดพบกันทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน ณ ห้องประชุม 3  ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ถึงเดือนสิงหาคม 2549 เวลา 12.30 14.30 น.พบกันทั้งหมด 9 ครั้ง มีสมาชิกCoPเฉลี่ย  9 คนต่อครั้ง  สมาชิกประกอบด้วยพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค จากหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลศรีธัญญา                 ส่วน CoP ที่สอง คือ CoP การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้ามีจุดมุ่งหมายร่วมกัน(KV) คือ การพัฒนาการพยาบาลผู้ป่วยซึมเศร้า โดเมนคือ การบำบัดทางการพยาบาล  เป้าหมายร่วมกันคือ แลกเปลี่ยนความรู้การบำบัดทางการพยาบาลในผู้ป่วยซึมเศร้า โดยใช้การเล่าเรื่องเช่นเดียวกับ CoP บันทึกทางการพยาบาล  สำหรับ CoP นี้ การเล่าเรื่องมีประโยชน์มาก  เพราะคุณกิจมีเรื่องเล่าที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ไม่ต้องปรับวิธีการในการแลกเปลี่ยนความรู้   ชุมชนแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า นัดพบกันทุกวันศุกร์ สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือนเมษายน 2549 ถึงเดือนสิงหาคม 2549 พบกันทั้งหมด 6 ครั้ง สมาชิกเฉลี่ย 5 คนต่อครั้ง สมาชิกทั้งหมดเป็นพยาบาลวิชาชีพ  ส่วนเวลา และสถานที่เช่นเดียวกันกับ CoP บันทึกทางการพยาบาล                ผลการดำเนินงานของCoPที่ผ่านมา พบว่า CoPบันทึกทางการพยาบาลมีคลังความรู้  5 เรื่อง ส่วนCoP การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า มีคลังความรู้ 7 เรื่อง ผู้เขียนในฐานะคุณอำนวย คุณกิจ และคุณลิขิตมีความรู้สึกแตกต่างจากก่อนเริ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน CoP เป็นอย่างมาก   เพราะหลังจากดำเนินงานจนถึงขั้นสกัดความรู้ออกมา  ผู้เขียนรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เพราะภูมิใจกับผลสำเร็จของการทำงานของตนเอง และมีความสุขที่ได้เล่าเรื่องที่ตนเองทำแล้วประสบความสำเร็จ   สิ่งเหล่านี้เป็นพลังชีวิตที่ทำให้มุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง และพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อองค์กรเป็นอย่างยิ่ง  ในการบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นขององค์กร                เมื่อมองย้อนกลับไปยังผลสำเร็จที่เกิดขึ้น  ผู้เขียนมีความเห็นว่าการดำเนินงานการจัดการความรู้จะสำเร็จได้เกิดจากปัจจัยหลายปัจจัย ดังนี้ ปัจจัยแรก คือ แรงปรารถนาร่วมกันของสมาชิกCoP  การกำหนดหัวปลา(KV )การกำหนดโดเมน  และบริบท(Context)ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชัดเจน เพราะสิ่งที่กล่าวมาช่วยกำหนดขอบเขตเรื่องเล่า  รวมถึงสะดวกในการสกัดความรู้จากเรื่องเล่าด้วย เช่น CoP บันทึกทางการพยาบาล  โดเมน คือ การบันทึกตามกระบวนการพยาบาล  เป้าหมายของCoP คือ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการบันทึกทางการพยาบาล  ส่วนบริบทในการแลกเปลี่ยนความรู้นั้น  ใช้ขั้นตอนของกระบวนการพยาบาลเป็นตัวกำหนด  คือ การประเมินภาวะสุขภาพ  การระบุข้อวินิจฉัยการพยาบาล  การปฏิบัติการพยาบาล และการประเมินผลการพยาบาล  หลังจากนั้นใช้บริบทเป็นกรอบแนวคิดในการสกัดความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่า                 ส่วนCoPการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า โดเมน คือ การบำบัดทางการพยาบาล  เป้าหมายคือ การแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการบำบัดทางการพยาบาลในผู้ป่วยซึมเศร้า  ส่วนบริบทในการแลกเปลี่ยนนั้น ใช้กรอบแนวคิดการช่วยเหลือ ตั้งแต่  การประเมินก่อนและหลังการบำบัด  การเตรียมการบำบัด และการบำบัดทางจิต  และใช้บริบทเป็นกรอบแนวคิดในการสกัดความรู้จากเรื่องเล่าเช่นเดียวกัน                  ปัจจัยที่สอง คือ การอำนวยความสะดวกของทีมการจัดการความรู้   ในการจัดห้องประชุม           การนัดหมายสมาชิก  การเตรียมอาหารและอาหารว่าง  สิ่งเหล่านี้ทำให้สมาชิกCoPไม่ต้องเป็นภาระ เมื่อถึงเวลาก็สามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทันที                ปัจจัยที่สาม คือ การเตรียมพร้อมผู้ทำหน้าที่ คุณอำนวย คุณลิขิต คุณกิจ ทั้งในรูปแบบการฟังบรรยาย รวมถึง การฝึกปฏิบัติ ช่วยให้คุณอำนวยมีความรู้และทักษะ  ในการช่วยให้สมาชิกCoPมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เป็นอย่างดี   และการที่คุณกิจสามารถเล่าเรื่องได้ดี  ส่งผลให้คุณลิขิตสามารถบันทึกเรื่องเล่าเพื่อสกัดความรู้ได้   นอกจากนี้ เนื่องจากสมาชิกCoPเป็นพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะในการฟังอย่างตั้งใจ  ทักษะการสรุปประเด็น  รวมทั้งทักษะการสื่อสารต่าง ๆ ที่ ใช้ในการปฏิบัติงาน  กับผู้ใช้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในCoPได้เป็นอย่างดี                
หมายเลขบันทึก: 51698เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะและยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ชาวG2K

เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน.ส่งกำลังใจมาเชียร์...ขนาดเขียนวันนี้วันแรกยังสาระเข้มข้นขนาดนี้...จะรอติดตามต่อค่ะ

สวัสดีคะ...กะปุ๋มมาทักทายคะ...

มาจากคนเล่าเรื่องจิตเวชคะ...

และอีกหลายๆ...Blog...หวังว่าเราคงได้ ลปรร. กันต่อนะคะ....

http://gotoknow.org/planet/kapoom

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท