dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ : เด็กปฐมวัย


กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ : เด็กปฐมวัย

       เด็กปฐมวัยกับการเคลื่อนไหวเป็นของคู่กัน เด็กเรียนรู้และได้ประสบการณ์ต่างๆจากการเคลื่อนไหว สมองส่วนเคลื่อนไหวมีการพัฒนามากในวัยนี้ ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูจำเป็นจะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ  สำหรับจังหวะและดนตรีที่ใช้ประกอบอาจจะเป็น เสียงเพลง การเคาะไม้ กลอง การตบมือ เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องเข้าใจถึงพัฒนาการและความสามารถด้านร่างกายของเด็กในวัยต่างๆด้วย เพราะจะทำให้สามารถฝึกให้เด็กปฏิบัติกิจกรรมได้อย่าง เหมาะสมกับวัย และพัฒนาการด้านร่างกาย อย่างเช่นเด็กวัยต่างๆมีพัฒนาดังนี้

      เด็กอายุ 2-3 ปี เด็กสามารถเดินได้อย่างแข็งแรง มั่นคง ถอยหลัง ยืนขาเดียว โยนลูกบอลโดยใช้อุ้งมือและแขน ทำท่าทางเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินจังหวะเพลง วิ่งไปข้างหน้าได้อย่างคล่องแคล่ว ใช้เท้าทั้งสองกระโดดอยู่กับที่และเดินเขย่งได้

      เด็กอายุ 3-4 ปี ขึ้นลงบันไดสลับเท้า ยืนขาเดียวได้นานขึ้น กระโดดขาเดียว โยนลูกบอลระยะไกลได้ 1 เมตร รับลูกบอลด้วยมือทั้งสอง แกว่งแขนและขาไปตามจังหวะเพลงได้

     เด็กอายุ 4-5 ปี กระโดดสลับเท้า กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางที่ไม่สูงนัก เดินต่อเท้า ถอยหลัง ขว้างโยนลูกบอลและรับลูกบอล รับลูกบอลที่กระดอนจากพื้น แสดงท่าทางเคลื่อนไหวตามจังหวะได้

     เด็กอายุ 5—6 ปี เมื่อวิ่งอย่างเร็ว สามารถหยุดได้ทันที กระโดดขาเดียวตรงไปข้างหน้า รับลูกบอลที่กระดอนขึ้นจากพื้นด้วยมือทั้งสอง เดินต่อเท้า เดินถอยหลังบนขอนไม้หรือกระดานแผ่นเดียว เดินตามจังหวะเพลงหรือตามจินตนาการได้

    เมื่อต้องการพัฒนาเด็กด้านร่างกายในวัยที่กล่าว ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจในหลักการพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงอายุ เด็กก็จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ อย่างการที่ครูต้องการให้เด็กได้เดิน วิ่ง กระโดด สไลด์ ควบม้าอย่างเหมาะสมกับวัย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่จะต้องรู้วิธีการฝึกการเคลื่อนไหวให้กับเด็กด้วยกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้

1  ให้เด็กได้เคลื่อนไหวเลียนแบบท่าทางของสัตว์ต่างๆ เช่น เป็ด กระต่าย ม้า เต่า งู ช้าง ฯลฯ

2  ให้เด็กเคลื่อนไหวประกอบเพลงหรือตามคำบรรยายของครู

3  ให้เด็กเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่างๆ ทั้งด้านหน้า-หลัง  ซ้าย-ขวา ด้วยอัตราช้า-เร็ว

4  ครูกำหนดสัญญาณแล้วให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระเมื่อได้ยินสัญญาณให้หยุดและเปลี่ยนท่า

5  เคลื่อนที่ไปโดยให้มีระยะต่ำกว่าเอว

6  ให้เด็กจับคู่กันแล้วให้เคลื่อนไหวร่างกายไปโดยให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกัน

7  ให้เคลื่อนไหวตามจินตนาการ เช่นทำตัวเหมือนลูกบอล ทำตัวเหมือนนุ่น ทำตัวเหมือนต้นข้าว

แล้วให้เคลื่อนไหวไปตามกระแสลม

    การฝึกการเคลื่อนไหวและจังหวะดังกล่าวข้างต้นครูจะต้องคอยดูแลและสนับสนุน และออกแบบกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด และจะต้องไม่ลืมว่าสิ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวคือ เนื้อที่ในการเคลื่อนไหว ครูจะต้องฝึกเด็กให้รู้จักบริเวณเนื้อที่ที่ใช้ในการเคลื่อนไหว รู้ขอบเขตของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่ชนกัน ไม่เกาะเป็นกลุ่มหรือตามกันเป็นกลุ่ม ทำให้เกิดความมั่นใจในการเคลื่อนไหวนอกจากเนื้อที่แล้วครูต้องฝึกเด็กให้รู้ทิศทางการเคลื่อนไหว เช่น ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย ด้านขวา และรู้ระดับต่างๆของการเคลื่อนไหว เช่น อวัยวะของการเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง กลาง ต่ำ เป็นต้น


หมายเลขบันทึก: 516954เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2013 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท